เฉกเช่นเดียวกับมังกรในตำนาน ดาวฤกษ์ EK Draconis เองก็พ่นก๊าซร้อนแรงออกมา นี่เป็นครั้งแรกที่มีการสำรวจพบการปะทุเส้นใยก๊าซขนาดใหญ่มากจากดาวฤกษ์ที่คล้ายดวงอาทิตย์
เนื่องจาก EK Draconis มีความคล้ายกับดวงอาทิตย์ในแง่ของขนาดและมวล แต่มีอายุน้อยกว่า
นี่อาจจะบ่งชี้ว่าดวงอาทิตย์เองก็เคยพ่นก๊าซรุนแรงลักษณะเดียวกันเมื่อนานมาแล้ว
ก๊าซร้อนแรงจำนวนมากจากดวงอาทิตย์น่าจะทำให้ดาวเคราะห์พบกับสภาพแวดล้อมที่ทารุณ
ซึ่งรวมถึงโลกในวัยเยาว์ที่เพิ่งมีสิ่งมีชีวิตเริ่มอุบัติขึ้น
ทีมวิจัยที่นำโดย Kosuke Namekata และ Hiroyuki Maehara จากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติญี่ปุ่น(NAOJ)
ได้จับตาดู EK Draconis ดาวฤกษ์ชนิดเดียวกับดวงอาทิตย์(ดาวฤกษ์แคระเหลือง สเปคตรัมชนิด G-ผู้แปล) อายุน้อยราว
50 ถึง 125
ล้านปี อยู่ห่างออกไป 111 ปีแสงในกลุ่มดาวมังกร(Draco) ด้วยการใช้ดาวเทียมและกล้องโทรทรรศน์หลายแห่ง
ซึ่งรวมถึง TESS และ กล้องโทรทรรศน์เซเมขนาด
3.8 เมตรทางตะวันตกของญี่ปุ่น
งานก่อนหน้านี้ได้พบว่า EK Draconis
มักจะเกิดการลุกจ้า(flares) ซึ่งบอกว่านักดาราศาสตร์ที่จับตาดูมัน
อาจจะโชคดีถ้าจะตามล่าการลุกจ้า ทีมสำรวจดาว 32 คืนตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเมษายน 2020 และในวันที่ 5 เมษายน 2020 ก็พบการลุกจ้าครั้งใหญ่-ซุปเปอร์แฟลร์(superflare) จากดาวฤกษ์นี้
นี่เป็นการสำรวจสเปคตรัมช่วงตาเห็นครั้งแรกที่พบซุปเปอร์แฟลร์จากดาวฤกษ์ที่คล้ายดวงอาทิตย์
ที่พ่วงมากับซุปเปอร์แฟลร์ในอีก 30 นาทีต่อมา
ทีมยังพบหลักฐานการปะทุเส้นใยก๊าซร้อนแตกตัวมีประจุหรือพลาสมา(plasma) ขนาดใหญ่มากสายหนึ่ง
ซึ่งดูคล้ายกับเป็นการผลักมวลในชั้นโคโรนา(coronal mass ejection; CMEs)
และนี่ก็เป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่พบในดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ เส้นใยพลาสมามีขนาดใหญ่
มวลสูงเป็นสิบเท่าของ CMEs ที่ใหญ่ที่สุดจากดวงอาทิตย์
และมีความเร็วสูงถึง 500 กิโลเมตรต่อวินาที
Yuta Notsu ผู้เขียนร่วมการศึกษา
นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ บอกว่า
ทีมทำได้แค่จับสถานะเริ่มต้นของ CME(เป็นการปะทุเส้นใย;
filament eruption phase) ดังนั้นจึงยังไม่แน่ชัดว่ามันจะตกกลับสู่ดาวฤกษ์
หรือถูกผลักออกสู่อวกาศ
การวิจัยในอนาคตน่าจะต้องใช้กล้องโทรทรรศน์เพื่อสำรวจสถานะต่อมาของ CME รอบๆ ดาวฤกษ์อื่นด้วย
เมื่อ CMEs จากดวงอาทิตย์ชนกับโลก
สามารถเผาดาวเทียมในวงโคจรและเกิดการรบกวนครั้งรุนแรงที่เรียกว่า พายุสุริยะ(geomagnetic
storm) ที่สามารถสร้างหายนะให้กับเส้นไฟฟ้า
ยกตัวอย่างเช่น ในปี 1989 CME เหตุการณ์หนึ่งได้ทำให้มณฑลควิเบคของคานาดาไฟดับในเวลาไม่กี่วินาทีและเกือบจะทำให้ไฟฟ้าในสหรัฐฯ
ตั้งแต่แอตแลนติกกลางจนถึงแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือดับ Notsu กล่าวว่า
การผลักมวลในชั้นโคโรนาส่งผลอย่างรุนแรงต่อโลกและสังคมมนุษย์
ถ้าสมมุติว่า EK
Draconis
เป็นตัวอย่างทั่วไปของดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์เมื่ออายุน้อย
เส้นใยขนาดใหญ่มากก็อาจจะพบได้ทั่วไปรอบดาวฤกษ์อายุน้อย
เส้นใยความเร็วสูงที่ร้อนที่หลั่งไหลออกจากดวงอาทิตย์อายุน้อยน่าจะส่งผลอย่างร้ายแรงต่อสภาพแวดล้อมของโลกและดาวเคราะห์อื่น
เราต้องคำนึงถึงปรากฏการณ์เหล่านี้เมื่อคิดถึงกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนโลกและการค้นหาชีวิตบนดาวเคราะห์อื่น
ถ้าดวงอาทิตย์ปล่อยการปะทุลักษณะนี้ออกมา
มันก็น่าจะฉีกชั้นบรรยากาศของโลกออกไป และทำให้ดาวเคราะห์ของเราปลอดเชื้อเป็นบริเวณกว้าง
Notsu บอกว่าซุปเปอร์แฟลร์ของดาวฤกษ์อายุมากอย่างดวงอาทิตย์นั้นดูเหมือนจะพบได้ยาก
แต่ข้อมูลจากวงปีต้นไม้และแหล่งอื่นๆ ได้บอกว่า
ดวงอาทิตย์อาจจะเคยสร้างซุปเปอร์แฟลร์มาชนโลกหลายครั้งในช่วงหนึ่งหมื่นปีที่ผ่านมา
การถกเถียงถึงความเป็นไปได้และผลกระทบของซุปเปอร์แฟลร์และซุปเปอร์ CMEs ในประชาคมวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ เขากล่าว ผลสรุปเผยแพร่ใน
Nature Astronomy วันที่ 9
ธันวาคม 2021
space.com : astronomers spy record-breaking eruption on young sunlike star
sciencealert.com : gigantic eruption from “Dragon” star is a dire warning about the Sun
No comments:
Post a Comment