นักวิทยาศาสตร์เพิ่งรายงานว่า ดาวแม่เหล็กความหนาแน่นสูงดวงหนึ่งเพิ่งปะทุพลังงานอย่างรุนแรงมากในระดับถึงหนึ่งพันล้านเท่าของดวงอาทิตย์
และเกิดในเพียงช่วงเสี้ยววินาที
ดาวชนิดนี้ ซึ่งเรียกว่า มักนีตาร์(magnetar)
เป็นดาวนิวตรอนกลุ่มย่อยชนิดที่มีสนามแม่เหล็กที่รุนแรงเป็นพิเศษ
และมักนีตาร์ก็มักจะเกิดการลุกจ้าที่น่าตื่นตามากโดยไร้วี่แววล่วงหน้า
แต่แม้ว่ามักนีตาร์จะสว่างกว่าดวงอาทิตย์ของเราหลายพันเท่า
แต่การปะทุของพวกมันก็เกิดเพียงชั่วพริบตาและทำนายไม่ได้
จนท้าทายนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ให้ค้นหาและศึกษา
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเพิ่งได้พบการลุกจ้าเหล่านี้เหตุการณ์หนึ่ง
และคำนวณการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดาวเมื่อเกิดการปะทุพลังงาน
นักวิทยาศาสตร์พบว่า มักนีตาร์ที่ห่างไกลดวงนี้เปล่งพลังงานมากพอๆ
กับที่ดวงอาทิตย์ของเราสร้าง 1 แสนปี
และมันก็ปล่อยออกมาในเวลาเพียง 0.1 วินาที
ตามแถลงการณ์ที่แปลจากภาษาสเปน
ดาวนิวตรอน(neutron stars) ก่อตัวขึ้นเมื่อดาวฤกษ์มวลสูงดวงหนึ่งยุบตัวลงเมื่อถึงจุดจบของชีวิต
เมื่อดาวตายในการระเบิดซุปเปอร์โนวา
โปรตอนและอิเลคตรอนในแกนกลางของมันจะถูกบีบเข้าด้วยกันจนมวลขนาดดวงอาทิตย์ถูกบีบจนมีแรงโน้มถ่วงที่รุนแรงมาก,
มีการหมุนรอบตัวที่เร็วมาก และสนามแม่เหล็กที่ทรงพลัง ดาวนิวตรอนมีขนาดตั้งแต่ 1.3
ถึง 2.5 เท่ามวลดวงอาทิตย์
บีบอัดในทรงกลมที่มีความกว้างเพียงราว 20 กิโลเมตรเท่านั้น
ส่วนมักนีตาร์ก็เป็นดาวนิวตรอนที่สนามแม่เหล็กรุนแรงกว่าดาวนิวตรอนทั่วไปได้ถึง 1000
เท่า หรือรุนแรงกว่าสนามแม่เหล็กโลก 1
พันล้านล้านเท่า
เป็นแม่เหล็กที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยพบในเอกภพ
วัฏจักรชีวิตของดาวฤกษ์มวลสูง(อย่างน้อย
8 เท่ามวลดวงอาทิตย์ขึ้นไป) จะมีชีวิตที่สั้นและโชติช่วง
โดยจะจบชีวิตด้วยการระเบิดเป็นซุปเปอร์โนวา
เหลือซากแกนกลางที่มีความหนาแน่นสูงมากทิ้งไว้เป็นดาวนิวตรอน หรือกระทั่งหลุมดำ
Alberto J.
Castro-Tirado ผู้เขียนนำการศึกษา
ศาสตราจารย์การวิจัยที่สถาบันเพื่อดาราศาสตร์ฟิสิกส์แห่งอันดาลูเชีย
ที่สภาวิจัยแห่งสเปน กล่าวว่า ดวงอาทิตย์ของเราดูซีดเซียวไปเลยเมื่อเทียบกับดาวสว่างและมีหนาแน่นสูงเหล่านี้
แม้แต่เมื่อพวกมันไม่ได้ปะทุพลังงานออกมา
มักนีตาร์ก็อาจสว่างกว่าดวงอาทิตย์ของเราได้ถึง 1 แสนเท่า แต่ในกรณีของการลุกจ้าที่เราได้ศึกษา GRB2001415
พลังงานของมันที่ปล่อยออกมาเทียบเท่ากับที่ดวงอาทิตย์ผลิตในช่วง
1 แสนปี
มักนีตาร์ดวงนี้อยู่ในกาแลคซีช่างแกะสลัก(Sculptor
Galaxy/Silver Coin Galaxy; NGC 253) ซึ่งเป็นกาแลคซีกังหันแห่งหนึ่งที่อยู่ห่างออกไปประมาณ
13 ล้านปีแสง Victor
Reglero ผู้เขียนร่วม
กล่าวว่า มันเป็นปีศาจในอวกาศอย่างแท้จริง การลุกจ้าครั้งใหญ่นั้นถูกพบในวันที่ 15
เมษายน 2020 โดยเครื่องมือ ASIM(Atmosphere-Space
Interactions Monitor) บนสถานีอวกาศนานาชาติซึ่งเป็นกล้องที่ออกแบบมาเพื่อตรวจสอบปรากฏการณ์ต่างๆ
ในชั้นบรรยากาศโลก ไม่ใช่เพื่อตรวจการปะทุเลย นักวิจัยรายงานในวารสาร Nature
วันที่ 22 ธันวาคม 2021
โดยปกติ
การปะทุพลังงานลักษณะนี้จะทำให้อุปกรณ์ที่ออกแบบมาอิ่มแสงจนศึกษาในรายละเอียดไม่ได้เลย
แต่ปัญญาประดิษฐ์ในระบบ ASIM ได้ตรวจพบการลุกจ้านี้
ช่วยให้นักวิจัยได้วิเคราะห์ระดับพลังงานที่พุ่งขึ้นอย่างเกรี้ยวกราดแต่เป็นเวลาชั่วพริบตาเพียง
0.16 วินาที
และจากนั้นสัญญาณก็สลายไปอย่างรวดเร็ว
จนแทบจะแยกแยะจากสัญญาณกวนพื้นหลังในข้อมูลไม่ออก
ผู้เขียนการศึกษาใช้เวลามากกว่าหนึ่งปีเพื่อวิเคราะห์การรวบรวมข้อมูลสองวินาทีของ ASIM
แบ่งเหตุการณ์การลุกจ้าออกเป็น 4
สถานะ
โดยมีพื้นฐานจากการปล่อยพลังงานของมักนีตาร์
และจากนั้นก็ตรวจสอบการแปรผันในสนามแม่เหล็กดาว
ซึ่งเกิดขึ้นจากสัญญาณพลังงานในจุดที่พุ่งสูงสุด
แทบจะราวกับว่ามักนีตาร์ดวงนี้ตัดสินใจประกาศการมีอยู่ของมันท่ามกลางความโดดเดี่ยวในอวกาศ
โดยการตะโกนออกมาด้วยพลังเทียบเท่ากับ 1 พันล้านดวงอาทิตย์
Reglero กล่าว
จากบรรดาดาวนิวตรอนราว 3 พันดวงที่พบ
จำแนกว่าเป็นมักนีตาร์ได้เพียง 30 ดวงเท่านั้น
และนี่ก็เป็นการลุกจ้าจากมักนีตาร์ที่อยู่ไกลที่สุดเท่าที่เคยพบมา
นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่าการปะทุพลังงานเช่นแบบนี้อาจจะเกิดขึ้นจากสิ่งที่เรียกว่า
ดาวไหวสะเทือน(starquakes) ที่เปลือก
ซึ่งสร้างคลื่นอัลเฟียน(Alfven waves) รบกวนชั้นมักนีโตสเฟียร์(magnetosphere)
ของดาวแม่เหล็ก
คลื่นเหล่านี้วิ่งย้อนไปย้อนมาระหว่างเส้นแรงสนามแม่เหล็ก
ปล่อยพลังงานออกมาเมื่อพวกมันมีปฏิสัมพันธ์ในกระบวนการที่เรียกว่า
การเชื่อมต่อใหม่ของเส้นแรงสนามแม่เหล็ก(magnetic reconnection)
และการสำรวจที่พบได้ยากนี้ก็น่าจะช่วยนักวิจัยได้เปิดเผยตัวสร้างความเครียดการสำลักพลังงานของมักนีตาร์ได้
แหล่งข่าว space.com
: “cosmic monster” star spits energy with the force of a
billion suns
iflscience.com :
magnetar’s immense explosion reveals high frequency oscillations for first time
sciencealert.com :
what we learned from a dead star erupting with the fire and fury of 100,000
suns
No comments:
Post a Comment