ตึก ตึก ตึก ตึก เสียงเครื่องสูบน้ำดังลอยตามลม...
กรู๊ก กรู๊ กรูก๊ก กรู๊ กรู้ๆ จิ๊บๆ แกร๊กๆ แก๊วๆ...
เสียงนกเขาและนกอีกสารพัดชนิดที่ไม่รู้จัก...
แมลง กบ เขียด แข่งกันส่งเสียงระงม...
เป็นบทเพลงความรื่นรมย์ยามสนธยาจากท้องทุ่ง
สูดลมหายใจจนเต็มปอด เงยหน้ามองฟ้าที่ยังไม่มืดสนิททิศใต้ ดาวเริ่มสว่างพราวพราย ดาวพฤหัสสว่างจ้าข้างดาวเสาร์ ใกล้กันดาวเรียงรูปกาน้ำชาที่เอียงรินน้ำลงมาตรงหางแมงป่องที่กำลังนอนตะแคงข้าง
จุดแสงที่เรียกว่าดาวฤกษ์เป็นเหมือนดวงอาทิตย์ของเราดวงหนึ่งที่อยู่ห่างออกไปไกล “พร๊อกซิม่าเซ็นทอรี่” เป็นดาวดวงที่ใกล้เราที่สุด ห่างออกไปเพียง 40 ล้านล้านกิโลเมตร ลองเทียบกับระยะห่างจากโลกถึงดวงอาทิตย์ที่ 150 ล้านกิโลเมตร ที่ว่าใกล้นั้นกลับไกลจนเกินคิด
เมื่อมืดสนิท แถบสีขาวสว่างพาดผ่านข้ามฟ้าจากใต้ไปทางเหนือ ภาพของแม่น้ำเทียนเหอที่ข้ามท้องฟ้าแบ่งแยกหนุ่มเลี้ยงวัวและลูกน้อยสองคนกับสาวทอผ้าออกจากกัน ปรากฎขึ้นในความคิด
แถบขาวคล้ายเมฆนั่นคือทางช้างเผือก เป็นดาวจางหลายร้อยล้านดวงที่อยู่ซ้อนกันในระนาบเดียวกัน เป็นระบบที่เรียกว่า "ดาราจักร" ดวงอาทิตย์ โลกและดาวทุกดวงที่เราเห็น ต่างหมุนวนอยู่ในดาราจักรทางช้างเผือกทั้งสิ้น
นอกจากดาวในดาราจักรยังมีกลุ่มกาซและฝุ่นอีกจำนวนมาก เรียกว่า "เนบิวลา" ที่เป็นวัตถุดิบต้นกำเนิดของดวงดาวทุกดวงบนฟ้า
ในช่วงแรกของชีวิตดาวเกิดใหม่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเรียกว่า "กระจุกดาว" เมื่อเวลาผ่านไปดาวแต่ละดวงต่างแยกย้ายกันออกไปใช้ชีวิตของตัวเองโดยไม่กลับมาเจอกันอีกเลย อย่างเช่นดวงอาทิตย์ของเรา
นอกทางช้างเผือกยังมีดาราจักรอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน ทำให้เมื่อมองย้อนกลับมาที่ตัวเราเองแล้ว พวกเราเล็กเสียยิ่งกว่าอะตอมเมื่อเทียบกับทั้งเอกภพ
หยิบกล้องสองตาขึ้นมาส่องดูทางช้างเผือกทางทิศใต้ ภาพที่เห็นงามจนลืมหายใจ จุดแสงคมของดาวจำนวนนับไม่ได้เต็มผืนผ้ากำมะหยี่สีเข้มที่เป็นฉากหลัง ต่ำลงไปมีจุดแสงสว่างน้อยใหญ่ขมวดเป็นปมมีแสงเรืองสว่างฟุ้งออกมา
เมื่อกวาดกล้องไปโดยรอบก็พบปมแสงหลายจุด ช่วยให้ภาพที่เห็นมีมิติและเรื่องราวมากกว่าเดิม ท้องฟ้าบริเวณนี้มีดาวระยิบระยับ บ้างก็มีดาวเล็กจางจำนวนมากรวมกันเหมือนเป็นเมฆบาง บ้างแม้จะดูเวิ้งว้าง แต่เมื่อกลอกตาไปมากลับมองเห็นดาวจางๆอีกหลายสิบดวง
พื้นที่ตรงนี้คือใจกลางทางช้างเผือก ที่เห็นเป็นปมแสง ฝ้าฟุ้งนั่นคือกระจุกดาวและเนบิวล่าซึ่งมีกระจายทั่วบริเวณ
ภาพจากกล้องสองตามุมจะแคบกว่าการมองด้วยตาเปล่า แต่จะคมชัดและได้รายละเอียดมากกว่า ส่วนการดูด้วยกล้องดูดาวมุมมองก็ยิ่งแคบลงไปอีก แต่รายละเอียดก็จะเพิ่มขึ้นตามขนาดของกล้องดูดาว
ธรรมชาติเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ช่วยเยียวยาจิตใจได้ชะงัด ปัจจุบันพวกเราหลงลืมดวงดาว หนึ่งในธรรมชาติที่ใกล้ชิดที่สุดจากการใช้แสงสว่างที่มากเกินพอดี จนเกิดเป็นมลภาวะทางแสง
มลภาวะชนิดนี้ไม่เพียงแต่บดบังท้องฟ้า ยังส่งผลกระทบกับเพื่อนร่วมโลกที่อาศัยแสงสว่างเป็นนาฬิกาชีวิตอย่างสัตว์ป่า นก พืช แมลงและยังเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานโดยเปล่าประโยชน์
ลองปิดไฟที่ไม่จำเป็น เปิดใจ ก้าวออกมา ซึมซับธรรมชาติรอบตัว เงยหน้ามองฟ้า ไม่ว่าจะชมจันทร์ ชมดาว ชมเมฆ ใจก็จะคลาย ความสุขเบาๆกรุ่นโชยขึ้นมา ดีต่อใจ
No comments:
Post a Comment