Thursday 9 April 2020

ดาวศุกร์ ดาวประจำเมืองและดาวประกายพรึก


ภาพสเก็ทช์ดาวศุกร์ในวันที่ 2 เมษายน 2563 จะเห็นว่าดาวศุกร์มีเสี้ยวสว่างน้อยกว่าครึ่งเล็กน้อย
สเก็ทช์จากกล้องหักเหแสง 4" ที่กำลังขยาย 170 เท่า โดยผู้เขียน

เมื่อต้นเดือนเมษายนหน้าฟีด เพจ กลุ่มและข่าวดาราศาสตร์เต็มไปด้วยดาวศุกร์สุกสว่างผ่านเข้าไปในกระจุกดาวลูกไก่ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกแปดปี 

ดาวศุกร์หรือดาวประจำเมืองของไทยเราในวันนั้น หากดูด้วยกล้องดูดาวจะเป็นเสี้ยวสว่าง เล็กกว่าครึ่งดวงเล็กน้อย กาลิเลโอคือผู้พบเสี้ยวดาวศุกร์เป็นคนแรกด้วยกล้องดูดาวที่ทำขึ้นเอง การสังเกตเสี้ยวดาวศุกร์ทำให้กาลิเลโอสรุปว่าโลกและดาวศุกร์โคจรรอบดวงอาทิตย์

ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ชั้นใน หมายถึงอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก การที่อยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ความสัมพันธ์ของตำแหน่งระหว่างโลก ดาวศุกร์และดวงอาทิตย์ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นดาวศุกร์แบบเต็มดวงจากโลกได้

แล้วเหตุใดดาวศุกร์หรือดาวประจำเมืองที่เห็นตอนหัวค่ำถึงย้ายข้างไปเป็นดาวประกายพรึกในตอนเช้ามืดได้ เรามาทำความเข้าใจจากภาพวงโคจรของดาวศุกร์รอบดวงอาทิตย์กัน

ความสัมพันธระหว่างดาวศุกร์ โลก และดวงอาทิตย์





จากรูปด้านบนดาวศุกร์วิ่งวนวงโคจรแบบทวนเข็มนาฬิกา เริ่มจากตำแหน่ง A เรียกว่าว่าซูพิเรียคอนจังชั่น ตำแหน่งนี้ดาวศุกร์จะไกลจากโลกมากที่สุดและเราจะมองไม่เห็นเพราะจากโลกดวงอาทิตย์จะบังไว้ 

(ภาพซ้าย) บนโลกเมื่อสังเกตดาวศุกร์ทุกวันในเวลาเดียวกัน เราจะเห็นดาวศุกร์สูงขึ้นจากขอบฟ้าทีละน้อยหลังพระอาทิตย์ตกดิน คนไทยเรียกดาวศุกร์ตอนนี้ว่า “ดาวประจำเมือง” มีเสี้ยวสว่างมากกว่าครึ่งดวงดวงเหมือนพระจันทร์ใกล้เต็มดวง 

เวลาผ่านไปเมื่อดาวศุกร์มาถึงตำแหน่ง B หรืออีลองเกชั่นสูงสุดทางตะวันออก เราจะเห็นดาวศุกร์ครึ่งดวง อยู่ในตำแหน่งสูงที่สุดบนท้องฟ้า จากนั้นจะค่อยๆต่ำใกล้ขอบฟ้าพร้อมดวงอาทิตย์ เสี้ยวสว่างก็จะบางลง จนในที่สุดเราจะมองไม่เห็นดาวศุกร์ช่วงหัวค่ำ

ตอนนี้ดาวศุกร์มาอยู่ในตำแหน่ง C หรืออินฟีเรียคอนจังชั่นเป็นเวลาที่ดาวศุกร์อยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นได้ในเวลากลางคืน ในบางปีที่ตำแหน่งเหมาะสม จะเกิดปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ที่สังเกตได้ในเวลากลางวันจากกล้องดูดาวติดฟิลเตอร์กรองแสง ครั้งสุดท้ายที่เกิดคือปี 2012 และครั้งต่อไปในปี 2117!!!








(ภาพขวา) จากนั้นเราจะเริ่มเห็นดาวศุกร์ที่กลายมาเป็น “ดาวประกายพรึก” ทุกเช้ามืดก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ในมุมมองจากบนโลก เมื่อเราสังเกตในเวลาเดียวกันทุกวันจะเห็นดาวประกายพรึกสูงขึ้นบนท้องฟ้าทีละน้อย


ดาวประกายพรึกช่วงแรกที่กลับมาจะสว่างเหมือนดาวประจำเมืองก่อนจะลับฟ้าช่วงหัวค่ำ และก็เป็นเสี้ยวเหมือนกันแต่คนละฝั่ง เมื่อเคลื่อนที่ไปสู่จุด D หรืออีลองเกชั่นสูงสุดทางตะวันตกและเป็นจุดสูงสุดบนฟ้าก่อนที่จะวนกลับไปที่ตำแหน่ง A เหมือนเดิม

ตำแหน่ง A ดาวศุกร์จะอยู่ไกลโลกที่สุดทำให้ความสว่างน้อยและขนาดเล็กที่สุดด้วย ยิ่งดาวศุกร์ใกล้ตำแหน่ง C มากขึ้นขนาดก็จะใหญ่และสว่างมากขึ้นเพราะใกล้โลกมากกว่านั่นเอง

ดาวศุกร์มีคาบโคจร 225 วัน น้อยกว่าโลกที่ 365 วันและจะเข้าตำแหน่ง C หรืออินฟิเรียคอนจั่งชั่นในวันที่ 4 มิถุนายนที่จะถึงนี้ แปลว่าอีกราวสองเดือนดาวประจำเมืองตอนนี้จะแปลงร่างเปล่งประกายเป็นดาวประกายพรึกตอนเช้ามืดตั้งแต่เดือนมิถุนายนไปอีกราวหนึ่งร้อยวัน ก่อนจะวนกลับมาเป็นดาวประจำเมืองอีกครั้ง



ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ภาพโดยคุณตระกูลจิตร จิตตไสยพันธุ์เมื่อปี 2004

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...