Friday 24 April 2020

Messier 67




จากกระจุกดาวรวงผึ้งไปทางตะวันอกเฉียงใต้ราว 9 องศา เป็นตำแหน่งของดาวชั้น A5 สีฟ้า-ขาวที่ชื่อว่า “อคูเบน” คำนี้แปลว่าก้ามปู ดาวดวงนี้สว่างอันดับสี่ในกลุ่มดาวแคนเซอร์แต่กลับได้ชื่อตามระบบของเบเยอร์ว่า “อัลฟ่า แคนครี่” หมายถึงดาวสว่างที่สุดในกลุ่มดาวแคนเซอร์

ทางตะวันตกของอคูเบนเกือบ 2 องศา ในคืนที่ฟ้าดีและไกลจากตัวเมืองสักหน่อยเราจะเห็นฝ้ากลมจางด้วยกล้องสองตา กะจุกดาวเปิดอีกตัวในกลุ่มดาวปู แมสซายเออร์ 67 มีขนาดเล็กกว่าพระจันทร์เต็มดวงเล็กน้อย สว่าง 7 มัคนิจูดทำให้ค่อนข้างยากสำหรับชานเมืองใหญ่ที่มีมลภาวะทางแสงสูง

ไม่นานนี้ผมดูด้วยกล้องหักเหแสง 4 นิ้วจากบางพลี แต่ท้องฟ้าค่อนข้างสว่างทำให้คอนทราสไม่ดี ต้องเพิ่มกำลังขยายเพื่อให้คอนทราสดีขึ้น ทำให้ภาพจางตามไปด้วย ที่กำลังขยาย 85 เท่ามองเห็นดาวราว 10-20 ดวง แต่ก็จางมาก

ต่างจากที่เคยดูที่หมูสี เชิงเขาใหญ่ด้วยอุปกรณ์ชุดเดียวกัน ครั้งนั้นแค่กำลังขยายต่ำกระจุกดาวก็สว่างดูง่าย แถมยังมองเห็นได้จากกล้องสองตาขนาด 8x40 ด้วย

กระจุกดาวตัวนี้ค้นพบโดยโยฮานน์ ก็อตฟรายด์ โคห์เลอร์ก่อนปี 1779 แต่บันทึกไว้ว่าเป็นเนบิวล่า แมสซายเออร์พบกระจุกดาวตัวนี้ในเดือนเมษายน ปี1780 และพบว่าเป็นกระจุกดาวไม่ใช่เนบิวล่าเป็นคนแรก

เอ็ม 67 ห่างจากราวราว 2500-3000 ปีแสงเป็นหนึ่งในกระจุกดาวที่มีอายุมากที่สุดที่ค้นพบ คาดว่าอายุประมาณ 3,500ล้านปี น้อยโลกของเราที่ 4,500ล้านปีไม่มากนัก ถือเป็นเรื่องไม่ปกติ เพราะกระจุกดาวเกือบทั้งหมดอายุไม่มาก เมื่อเวลาผ่านไปดาวฤกษ์ในกระจุกจะกระจายตัวออกไป ไม่เหลือความเป็นกระจุกดาวอีก ทำให้ไม่ค่อยพบกระจุกดาวที่เก่าแก่ขนาดนี้

ภาพเอ็ม 67 ข้างบนสเก็ทช์จากกล้องหักเหแสงขนาด 5 นิ้วที่กำลังขยาย 76 เท่า กระจุกดาวสว่างชัดเจน เมื่อมองเหลือบจะเห็นแสงฟุ้งตามแนวดาวในกระจุก คืนนั้นฟ้าไม่ดีนัก ความชื้นสูงทำให้มองเห็นดาวได้น้อยกว่าที่เป็น และหากดูด้วยกล้องดูดาวขนาดสัก 10 นิ้วขึ้นไปน่าจะเป็นอีกตัวที่สวยตรึงตาตรึงใจอีกตัว

นายพลเรือนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ W.H Smyth บันทึกว่ามองเห็นเป็นหมวก Phrygian หรือหมวกทรงแหลมแบบคนแคระในการ์ตูน บางคนก็เห็นเป็นรูปฝักข้าวโพด สำหรับผมดูเหมือนมือปีศาจที่พร้อมขย้ำเหยื่อ

ใครมีโอกาสลองดูครับ เป็นตัวที่ดีตัวนึงสำหรับกล้องสองตาครับแม้ว่าค่อนข้างจางก็ตาม


คลิกภาพเพื่อขยาย
Cartes du Ciel Map


ข้อมูลทั่วไป
Catalog number: Messie67, NGC2682
Type: Open Cluster
Constellation: Cancer
Visual Magnitude: +6.90
Apparent Size: 25’
Distance: 2600 ly


Coordinates
R.A. 8h 52m 23.38s
Dec. +11° 43’ 27.6”

อ้างอิง
SkySafari
Stephen O'Mera, Messier Object
Robert Burnham, Celestial Handbook
Walter Scott, Deep Sky Wonder

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...