Thursday, 2 January 2020

Messier45 : Pleaides


เอ็ม45 สเก็ทช์โดยผู้เขียน จากภาพที่เห็นในกล้องดูดาว

อากาศยามโพล้เพล้กำลังสบาย ดวงดาวเริ่มส่องประกายพราวฟ้า คุณตาชี้ให้หลานชายดูดาวกระจุกหนึ่งบนฟ้าระหว่างเดินเล่น “เห็นดาวลูกข่อยมั๊ย” หลายชายแหงนมองฟ้าคอตั้งบ่าแต่ก็ยังมองไม่เห็น “ไหนครับ?” คุณตาฉวยโอกาสกำหมัดต่อยคางหลานเบาๆ “ดาวลูกข่อยก็ต่อยลูกคางไง”

“ดาวลูกไก่” หรือ “กระจุกดาวลูกไก่” ที่มาของดาวลูกข่อยของคุณตา สว่างโดดเด่นมองเห็นด้วยตาเปล่า เป็นที่รู้จักอย่างน้อยก็ 750 ปีก่อนคริสตศักราชจากมหากาพย์โอดิสซี่ มีการอ้างถึงในคัมภีร์ ตำนาน บทกวีและนิทานปรำปราในหลากหลายวัฒนธรรม ทั้งยุโรป ฮิบรู ตะวันออกกลาง อินเดีย จีน ญี่ปุ่น อัฟริกา บอเนียว อบอริจิน อินเดียนแดง แอซแทก มายัน โพลินีเชี่ยน ฯลฯ

นอกจากนั้นยังพบว่าเป็นสัญลักษณ์ฤดูเกษตรกรรม ฤดูดอกไม้บาน เป็นส่วนของเทศกาลเฉลิมฉลองในบางที่ เชื่อมโยงกับโลกแห่งความตายในบางแห่ง เกี่ยวข้องกับทิศของปิระมิดของชาวแอซแทก วิหารในกรีกและอื่นๆอีกมาก เรียกว่ามนุษยชาติรู้จักและให้ความสำคัญกับกระจุกดาวลูกไก่มาตั้งแต่โบราณ

ชื่อเรียกมีหลากหลายตามวัฒนธรรมเช่นดาวลูกไก่ในไทย กฤติกาในอินเดีย ซูบารุในญี่ปุ่น เหม่าในจีน นอกจากนี้ยังมี มาตาริอิ พี่น้องทั้งเจ็ด ฯลฯ สำหรับดาราศาสตร์สากลใช้ชื่อตามปกรณัมกรีกว่า “พลีอาเดส”

พลีอาเดสหมายถึงพี่น้องทั้งเจ็ดผู้เป็นลูกสาวของแอทลาธและพลีโอเน่ พี่น้องพลีอาเดสมีชื่อปรากฎในบทกวีของอราตัสตั้งแต่ 300 ปี ก่อนคริสตศักราชดังนี้ อัลไซโอเน่ มีโรเป้ เซเลโน่ ไทย์เจต้า สเตอร์โรเป้หรือแอสเตอร์โรเป้ อิเลคตร้าและเมียยา ทั้งเจ็ดเป็นชื่อดาวหลักเจ็ดดวงในกระจุกดาวพลีอาเดส นอกจากนั้นยังมีดาวอีกสองดวงชื่อแอทลาธผู้เป็นบิดาและพลีโอเน่ผู้เป็นมารดาด้วย


ภาพถ่ายเอ็ม 45 โดยตระกูลจิตร จิตไสยพันธุ์


กรีกมีตำนานเรื่อง “The lost Pleiades” พี่น้องทั้งเจ็ดได้หายไปหนึ่งคน ซึ่งอาจเป็นอิเลคตร้า เมโรเป้หรือเซเลโนยังไม่ชัดเจน แต่ที่น่าสนใจคือมีเรื่องที่คล้ายกันนี้ในญี่ปุ่น ในชนเผ่าอะบอริจิ้น ในอัฟริกา และในบอเนียว แปลว่าเรื่องที่มีดาวดวงหนึ่งหรี่แสงหรือหายไปอาจเป็นข้อเท็จจริง

ซึ่งหากดูตามดาราศาสตร์สมัยใหม่แล้ว ดาวพลีโอเน่เป็นดวงที่มีโอกาสเป็น “ดาวที่หายไป” มากที่สุดเพราะเป็นดาวแปรแสงชนิดพิเศษ มีความเปลี่ยนแปลงของความสว่างเกือบหนึ่งแมกนิจูด มีรอบราว 35ปี

จอห์น มิเชลล์เป็นคนแรกที่พิสูจน์ว่าพรีอาเดสเป็นกระจุกดาวในปี 1767 ชาร์ล แมสซายเออร์ได้เพิ่มพรีอาเดสเข้าไปในแคตาลอคชุดแรกและให้หมายเลข 45 ในปี 1769 ไม่มีใครทราบถึงเหตุผลที่แมสซายเออร์เพิ่ม M45 เข้าไปทั้งที่เป็นที่รู้จักดีอยู่แล้วในยุคนั้น

ในปี 1859 Prof. Wilhelm Tempel พบเนบูล่ารอบดาวมีโรเป้ด้วยกล้องหักเหแสง 4 นิ้วที่เวนิส เนบูล่าตัวอื่นพบทีละตัวต่อเนื่องกันโดยการภาพถ่ายตั้งแต่ปี 1885 เป็นต้นมา แต่ในความเป็นจริงเนบูล่าสะท้อนสีฟ้ารอบเอ็ม 45 นี้ “ไม่ใช่” เนบูล่าที่ส่วนหนึ่งกับกระจุกดาวมาตั้งแต่ต้น แต่เป็นกลุ่มกาซที่เอ็ม 45เคลื่อนผ่าน

ตัวกระจุกดาวมีอายุราว 100ล้านปี ข้อมูลปัจจุบันระบุว่ามีขนาดปรากฎถึง 4 องศา ประกอบด้วยดาวอย่างน้อย 500 ดวง และห่างออกไป 380 ปีแสงเป็นหนึ่งในกระจุกดาวที่ใกล้เราที่สุด


แผนที่กระจุกดาวลูกไก่แสดงชื่อดาวแต่ละดวง [คลิกภาพเพื่อขยาย]

ตำแหน่งไม่ยากเพราะโดดเด่นและสว่าง ให้ลากเส้นต่อเนื่องจากเข็มขัดนายพรานไปทางตะวันตกจะพบกระจุกดาวขนาดใหญ่รูปตัววีชื่อว่าไฮยาเดส มีดาวสว่างสีแดง-ส้มชื่ออัลเดอร์เบอรันหรือโรหิณีอยู่ภายใน ให้มองเลยไปก็จะพบกระจุกดาวลูกไก่หรือเอ็ม 45 หากมองด้วยตาเปล่าจะเห็นดาว 6-7 ดวงเรียงเป็นรูปกระบวยขนาดจิ๋ว หากฟ้าเป็นใจ คนตาดีอาจมองเห็น 9-11 ดวง มีรายงานว่าบางคนมองเห็นได้ถึง 16 ดวง!

เอ็ม 45 จะดูสวยมากด้วยกล้องสองตาหรือกล้องดูดาวที่กำลังขยายต่ำและให้ภาพมุมกว้าง เราจะเห็นดาวหลักทั้ง 9 ในกระจุก มีขนาดรวมๆกันถึง 1 องศา ช่องว่างระหว่างมีโรเป้ อิเลคตร้า เมียอาและอัลไซโอเน่สามารถใส่พระจันทร์ลงไปได้ทั้งดวง

คืนวันที่ 26 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา กระจุกดาวลูกไก่อยู่กลางฟ้าฟิตพอดีกับฟิล์ดกล้องดูดาว Borg 101ED ที่กำลังขยาย 21 เท่า เป็นเรื่องแปลกที่ผมมองเห็นเนบูล่าฟุ้งกระจายทั่วไปจางๆ โดยเฉพาะรอบดาวสว่างแม้จะมีฝุ่นควันหนาตาที่ขอบฟ้า

จุดที่น่าสนใจมี เนบูล่ารอบมีโร้เป้จะสว่างที่สุด แต่ที่กินบริเวณกว้างที่สุดกลับเป็นเนบูล่ารอบดาวอัลไซโอเน่ตรงกลาง ดาวเล็กๆที่เรียงเป็นรูปสามเหลี่ยมข้างอัลไซโอเน่ แอทลาธและพลีโอเน่เป็นดาวคู่ของกันและกัน

ฟิลเตอร์อย่าง UHC และการมองเหลือบจะช่วยเพิ่มคอนทราสและทำให้เห็นเนบูล่าได้มากขึ้นครับ


 [คลิกภาพเพื่อขยาย]

Name: Pleiades
Catalog number: M45
Type: Open cluster
Constellation: Taurus
Visual Magnitude: +1.5
Apparent Size: 120’
Distance: 430 ly
R.A. 03h 48m 12.01s
Dec. +24° 10’ 40.0”

อ้างอิง
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
SkySafari
Stephen O’Mera, Messier Objects
http://www.messier.seds.org/m/m045.html
http://stars.astro.illinois.edu/sow/pleione.html
https://th.wikipedia.org/wiki/กระจุกดาวลูกไก่
http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-article/2490-astronomy-thailand-china-korea-08

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...