Thursday 30 January 2020

NGC281 : Pacman Nebula


ภาพสเก็ทช์ NGC281โดยผู้เขียน


ปลายมกราคม ค่อนข้างช้าไปสักหน่อยแล้วสำหรับออบเจคในกลุ่มดาวแคสสิโอเปีย ทำให้ต้องรีบดูตั้งแต่หัวค่ำ เพราะตัวเอ็มเริ่มตะแคงข้างไปแล้ว ไม่ถึงสององศาทางทิศตะวันออกของดาวสีแดงสด “ชีดาร์” ที่เป็นยอดแหลมสูงของตัวเอ็ม ผมพอเห็นแสงฟุ้งจางๆในกล้องเล็งรอบดาวดวงหนึ่งที่มีหมายเลข HD5005

NGC281 หรือ “Pacman” เนบิวล่าที่คล้ายตัวละครในวีดีโอเกมส์ “แพคแมน” ภาพในเลนส์ตากำลังขยายต่ำจากกล้องสะท้อนแสงขนาด 8 นิ้ว มองเห็นท้องฟ้าสว่างขาวจากหมอกควันบางๆที่สะท้อนแสงไฟจากอำเภอบ้านหมี่ แต่ก็ยังมีดาวสว่างน้อยใหญ่จำนวนหนึ่งพอให้หายเหงา มีแสงจางสีขาวที่ฟุ้งรอบดาวดวงหนึ่งและเมื่อเทียบรูปแบบดาวกับแผนที่ทำให้มั่นใจว่าไม่ผิดตัว

ผมเปลี่ยนเลนส์ตาเพิ่มกำลังขยาย สีท้องฟ้าเข้มขึ้น คอนทราสดีขึ้น มองเห็นดวงจางอีก 2 ดวงที่เป็นสมาชิกของระบบดาว HD5005 ถ้ามองเหลือบจะเห็นดาวเพิ่มอีกสองดวงและแสงฟุ้งที่มาจากกระจุกดาวที่จางและเล็กจิ๋ว IC1590 ผมลองใช้ฟิลเตอร์ UHC คอนทราสดีขึ้นมาก เนบิวล่าสว่างขึ้นเป็นวงกลมรอบ HD5005 ลองใช้ผ้าทึบแสงคลุมศรีษะเพื่อกันแสงรอบด้านที่เข้าตา ทำให้เห็นรายละเอียดมากขึ้นและดูง่ายขึ้น

เนบิวล่ามีลักษณะตัวอักษร "J" ที่ล้อมดาวเอาไว้ ส่วนที่เป็นหางยาวของตัว J จางมากต้องสังเกตให้ดี สีของเนบิวล่าสว่างกว่าสีท้องฟ้านิดเดียวและต้องอาศับมองเหลือบจึงจะพอเห็น เมื่อลองใช้ฟิลเตอร์ตัวอื่นพบว่าเนบิวล่าตัวนี้ก็ตอบสนองกับ H-beta ดี แต่ไม่ตอบสนองเลยกับ O-III

เทคนิคการใช้ฟิลเตอร์ดูเนบิวล่าที่เพิ่งได้ลอง คือสลับไปสลับมาระหว่างใช้ฟิลเตอร์กับไม่ใช้แบบเร็วๆ วิธีนี้จะทำให้เนบิวล่า “Blink” ขึ้นมา เป็นวิธีที่ได้ผลดีทีเดียว ช่วยให้ผมมองเห็นความแตกต่างของสีเนบิวล่ากับท้องฟ้าได้ดีขึ้น ทำให้คิดว่าเนบิวล่าตัวนี้ถ้าฟ้าดีมากก็ไม่จำเป็นต้องใช้ฟิลเตอร์ช่วยใดๆ และอาจจะมองเห็นด้วยตาเปล่าอย่างที่มีนักดูดาวตนหนึ่งบอกไว้

NGC281 ค้นพบโดย E.E. Barnard ในปี 1881 ด้วยกล้องดูดาวหักเหแสงขนาด 5 นิ้ว ส่วนกระจุกดาว IC1590 Guillaume Bigourdan เป็นผู้ค้นพบที่หอดูดาวปารีสในภายหลัง การศึกษาล่าสุดบอกว่ามีทั้งระบบมีอายุน้อยมากราว 3.5 ล้านปีเมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์ของเราที่อายุ 4,500 ล้านปี



คลิกภาพเพื่อขยาย


ข้อมูลทั่วไป
Name: Pacman Nebula
Catalog number: NGC891, IC1590
Type: Nebula & Open Cluster
Constellation: Cassiopeia
Visual Magnitude: +7.4
Apparent Size: 35’x30’
Distance: 4,100 ly

Coordinates
R.A. 00h 52m 39.54s
Dec. +56° 42’ 20.1”


อ้างอิง
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
SkySafari



Stephen O’Mera, Hidden Treasure

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...