Wednesday, 22 January 2020

Trapezium : Theta1 Orionis

Huygeniun region และ Trapezium ภาพสเกตที่กำลังขยาย 400 เท่าโดยผู้เขียน
กลุ่มดาวนายพรานขึ้นมาสูงราว 60 องศาจากขอบฟ้า กลุ่มดาวหมาใหญ่ตามติด ทางเหนือเพอร์ซิอุสมองเห็นไม่เต็มกลุ่ม เมอร์เฟคและอัลกอร์ไม่สดใสอย่างเคย พรานเบ็ดต้องดูสถานที่ ประเมินอุปกรณ์และเหยื่อที่จะใช้ นักดูดาวก็คล้ายกัน ต้องเลือกขนาดกล้องดูดาว ประมินสภาพท้องฟ้าเพื่อเลือกออบเจคเป้าหมาย และคืนนี้ผมต้องอาศัยโชคมากสักหน่อย

บริเวณที่ยังดูดีที่สุดคือกลุ่มดาวนายพราน เป้าหมายคืนนี้จำต้องเป็นกระจุกดาวหรือระบบดาวหลายดวง เพราะสภาพท้องฟ้าบังคับ ที่ใจกลางของแมสซายเออร์ 42 เนบูล่าที่สว่างที่สุดบนฟ้า มีระบบดาวหลายดวงที่น่าสนใจและผมยังไม่เคยได้สำรวจแบบจริงจัง

เอ็ม 42 หรือโอไรออน เนบูล่าเป็นออบเจคที่ทุกคนที่มีกล้องดูดาวนึกถึงเมื่อได้กล้องดูดาวมาครั้งแรก มันไม่ต้องอาศัยแผนที่ช่วยเพราะ “ดาบของนายพราน” โดดเด่นจนอธิบายตำแหน่งได้ด้วยปากเปล่า ผมเองก็ดูหลายครั้งจากกล้องดูดาวหลายขนาด หลายสถานที่ แต่ละครั้งไม่เคยเหมือนกันเพราะอุปกรณ์และสภาพท้องฟ้าต่างกัน

ภาพสเกต M42 จากกล้องดูดาวขนาด 4" ที่กำลังขยาย 70x
บริเวณที่สว่างตรงกลางคือ Trapezium ล้อมรอบด้วย Huygeniun Region

เกือบทั้งบริเวณของกลุ่มดาวนายพรานเต็มไปด้วยกลุ่มกาซบางเบาจนเราไม่สามารถมองเห็น มีแต่เอ็ม 42 ที่สว่างจนมองเห็นได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใดๆเป็นตัวช่วย ใจกลางเอ็ม 42 เป็นแหล่งอนุบาลดาวเคราะห์เกิดใหม่ที่สังเกตได้ง่าย มีรูปร่างเป็นเรขาคณิต บริเวณนี้ได้รับชื่อตามนักดาราศาสตร์ Christian Huyghens ที่ทำการศึกษาบริเวณนี้คนแรกในศตวรรษที่ 17 ว่า “พื้นที่ฮอยจีเนี่ยน” (Huygenian region)

ตรงกลางพื้นที่ฮอยจีเนี่ยนมีดาวสว่างชื่อเธต้า1 ออไรออนนิส (θ1 Orionis) มองเห็นได้ชัดเจนด้วยกล้องดูดาวขนาดทุกกำลังขยาย แต่หากใช้กล้องดูดาวขนาดตั้งแต่ 80มม หรือ 3 นิ้วขึ้นไป จะเห็นว่าเธต้า1 ออไรออนนิสเป็นระบบดาวหลายดวง และได้รับชื่อเรียกว่า “Trapezium” เพราะเรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู

หน้าหอดูดาวเวลาราวสามทุ่ม ดวงจันทร์คล้อยไปทางตะวันตกแล้ว สายตาที่ปรับคุ้นกับความมืดเมื่อรวมกับแสงจันทร์ขึ้น 8 ค่ำ ทำให้รอบด้านสว่างเห็นภาพชัดเจนไปไกล อากาศกำลังสบาย มีเสียงแมลงดังอยู่ทั่วไป ผมขยับกล้องดูดาวไปที่ดาบนายพรานดวงกลางที่มองตาเปล่าเป็นรอยฟุ้งไม่ชัดเจน

แม้จะถูกรบกวนจากเมฆหมอกและแสงจันทร์ แต่เนบูล่านายพรานก็ยังสว่างพอควร ที่กำลังขยายต่ำปีกทั้งสองฝั่งแสดงให้เห็นในเลนส์ตา ผมเพิ่มกำลังขยายไปเรื่อยๆ จนสุดทางของเลนส์ตาที่มีคือ 5 มิลลิเมตร เมื่อรวมกับบาร์โลว์ที่เพิ่มกำลังขยายได้อีก 2 เท่า ทำให้คืนนี้เป็นครั้งแรกที่ผมดูเอ็ม 42 ด้วยความรู้สึกแปลกใหม่ ที่กำลังขยาย 400 เท่า!

เมื่อกำลังขยายสูงขึ้นภาพที่เรามองเห็นจะแคบตามไปด้วย ใจกลางเอ็ม 42 หรือพื้นที่ฮอยจีเนี่ยนถูกขยายขึ้นมาเต็มพอดีที่เลนส์ตา มีเนบูล่าสว่างเรืองโดยรอบ ตรงกลางดาวเธต้า1 โอไรออนนิสทั้ง 4 ดวงเรียงเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู เปล่งแสงสีฟ้า-ขาวสดใสตามสีของดาวอายุน้อย ไล่ลำดับความสว่างตามลำดับเป็น C D A B

ดาวที่เป็นส่วนประกอบย่อยของ θ1 Ori ระยะห่างมีหน่วยเป็นอาร์คเซคั่น
E และ F ต้องใช้กล้องดูดาว 6 นิ้วขึ้นไป G และ H ต้องใช้ 12 นิ้วหรือใหญ่กว่า

เราควรจะมองเห็นอีก 2 ดวงคือ E และ F ด้วยกล้องดูดาวขนาด 6 นิ้วขึ้นไป คืนนั้นแม้ว่าผมจะใช้กล้องดูดาว 8 นิ้วที่ให้ภาพสว่างกว่า 6 นิ้ว ยังต้องใช้วิธีมองเหลือบสำหรับ E และเห็น F เพียงครั้งเดียวระหว่างขยับกล้องไปมา แสดงถึงคุณภาพท้องฟ้าได้เป็นอย่างดี

เนบูล่าที่สว่างเรืองในพื้นที่ฮอยจีเนี่ยนไม่ได้สว่างเรียบเนียนแบบในภาพสเก็ต บางครั้งลักษณะดูคล้ายเมฆอัลโตคิวมูลัสอยู่มาก คือมีก้อนสว่างเป็นจ้ำทั่วไป น่าเสียดายที่ฟ้าไม่นิ่งดูไม่ถนัดทำให้จับภาพมาวาดไม่ได้ มุมทางตะวันตกเป็นส่วนที่สว่างที่สุด ส่วนทางทิศตะวันออกจะเป็นเส้นตรงสว่างตรงนี้ Bob King คอลัมนิสต์ในวารสาร Sky & Telescope เรียกว่า “หน้าผา”

องค์ประกอบทั้งหมดนี้ส่งให้เวลาผมดูพื้นที่ฮอยจีเนี่ยน มีความรู้สึกคล้ายการดูภาพ 3 มิติมากที่สุดในเนบูล่าทั้งหมดบนท้องฟ้า มีตื้น มีลึก มีบริเวณที่สว่างเรืองเหมือนสะท้อนแสงจากดาวที่อยู่ใกล้ น่าชมมากครับ

คลิกภาพเพื่อขยาย


Catalog No.: θ1 Orionis
Name: Trapezium
Type: Multiple Star
Visual Magnitude: 6.7
Constellation: Orion
Distance: 1300 ly

Coordinates:
RA: 5h 36m 12s
DEC:-5° 22’ 46.8”

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...