Tuesday 24 September 2019

Lyra the Harp

Lacerta, Cygnus, Lyra, Vu;pecula and Anser : Sydney Hall (1788-1831)
Cr: Wiki Commons Click

"ไลรา" หรือ "พิณ" กลุ่มดาวที่ขนาดพอดีกับฟิลด์กล้องสองตา แม้จะเล็กแต่หาง่ายเพราะมีดาว “วีก้า” เปล่งประกายสีขาวใสสุกสกาว

ตำนานของไลร้าเป็นหนึ่งในนิทานกรีกที่รู้จักกันดี ไลร้าเป็นพิณอันแรกที่สร้างขึ้นมาในโลก ทำมาจากกระดองเต่าและขึงด้วยเอ็น 7เส้น โดยเฮอร์แมสบุตรแห่งซุสกับมีอาหนึ่งในเจ็ดพี่น้องพรีอาเดสหรือดาวลูกไก่ แต่ภายหลังเจ้าของคือนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ “ออฟิอัส”

ครั้งหนึ่งเฮอแมสไปขโมยฝูงวัวของอพอลโล่ แต่เมื่อได้ยินเสียงพิณ อพอลโล่เลยขอพิณจากเฮอแมสแลกกับการรับโทษ ต่อมาอพอลโล่ก็มอบพิณอันนี้ให้กับออฟิอัส

นักดนตรีและกวีผู้ยิ่งใหญ่ "ออฟิอัส" เชียวชาญการร้องเพลงและดีดพิณยิ่ง ว่ากันว่าเมื่อใดที่ได้ยินเสียงพิณของออฟิอัส สายน้ำก็หยุดไหล สัตว์ร้ายกลับเชื่อง เหล่านิมฟ์หลงไหล แม้แต่ก้อนหินยังกลับมีชีวิตชีวา

ออฟิอัสเป็นหนึ่งในลูกเรื่ออาร์โกที่ช่วยเจสันตามหาขนแกะทองคำ เขาบรรเลงเพลงช่วยลูกเรือทุกคนให้รอดพ้นจากบทเพลงของไซเรนที่นำลูกเรืออาร์โกร์ไปสู่ความตาย



Orpheus and Eurydice : Oil on canvas, Peter Paul Rubens (1577-1640)
ภาพออร์ฟิอัสกำลังแบกพิณจูงมือยูริไดซี ขณะที่เทพฮาเดสและเทวีเพอร์เซปโฟเน่นั่งบนบันลัก์
Cr: Wiki Commons [link ]

แต่ชีวิตรักของนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่กลับเป็นเรื่องเศร้า ออร์ฟิอัสรักกับนิมฟ์ตนหนึ่งชื่อยูริไดซี หลังจากแต่งงานยูริไดซีโดนงูกัดตาย นำความเศร้าโศกมาให้นักดนตรีของเราอย่างมากจนถึงขนาดลงไปขอร้องต่อเจ้าบาดาลฮาเดสให้คืนชีวิตแก่นาง

ระหว่างการเดินทางไปโลกบาดาลออฟิอัสได้ใช้พิณบรรเลงขับกล่อมเหล่าปีศาจและสัตว์ร้ายตลอดทาง จนในที่สุดฮาเดสและเทวีก็ยอมแพ้ต่อเสียงพิณของออร์ฟิอัสจนยอมรับปาก แต่มีข้อแม้ว่าระหว่างทางกลับห้ามหันหลังกลับมาดูคนรักเด็ดขาด

เมื่อใกล้จะถึงทางออกเขาดีใจจนลืมตัวหันกลับไปมองภรรยาที่รัก ผลก็คือยูริไดซีโดนดูดกลับลงไปโลกบาดาลอีกครั้ง ออร์ฟิอัสเสียใจมากจนไม่เล่นพิณอีกต่อไป เขาเดินไปอย่างไร้จุดหมายจนกระทั่งโดนทุบตี ฉีกทึ้ง จนตายที่ดินแดนห่างไกลของชนป่าถื่อนกลุ่มหนึ่ง

ต่อมาซุสได้นำพิณของออร์ฟิอัสไปไว้บนฟ้าเป็นกลุ่มดาวพิณเพื่อระลึกถึงความยอดเยี่ยมทางดนตรีและเรื่องราวความรักอันแสนเศร้าของเขา



กลุ่มดาวพิณหรือ Lyra [คลิกภาพเพื่อขยาย]
Star Chart Credit: Cartes Du Ciel

“วีก้า” ดาวสีฟ้า-ขาว คลาส A0 เป็นหนึ่งในดาวฤกษ์ที่ใกล้โลกห่างออกไป 25 ปีแสง ค่าความสว่างที่ 0.03 แมกนิจูด สว่างลำดับที่ 5 บนท้องฟ้า เป็นหนึ่งในสามมุมของสามเหลี่ยมฤดูร้อน คำว่า “วีก้า” มาจากภาษาอารบิค “Waqi” หมายถึงนกอินทรีหรืออีแร้ง

ในอียิปต์ อาหรับไปจนถึงอินเดีย กลุ่มดาวกลุ่มนี้คือนกอินทรีหรืออีแร้ง แผนที่ดาวยุคเก่าก็จะวาดเป็นรูปพิณที่มีอีแร้งอยู่ด้านหลัง วีก้ายังเป็นดาวสาวทอผ้าในตำนานคลาสสิคความรักระหว่างสาวทอผ้าและหนุ่มเลี้ยงวัวในจีนอีกด้วย ในอีกราว 14,500 ปี วีก้าจะกลายมาเป็นดาวเหนือแทนโพลาริสตามการหมุนส่ายของแกนโลก


ซ้ายมือ ดาววีก้า ภาพโดยคุณตระกูลจิตร จิตตไสยพันธ์
ขวามือ M56 ภาพโดยคุณกีรติ คำคงอยู่

ซ้ายมือ แอพซิลอนไลเร ภาพจาก Sky Safari
ขวามือภาพสเก็ทช์ M57 โดยผู้เขียน

แอพซิลอน ไลเร หรือ Double-Double ดาวสว่างที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวีก้า มองด้วยตาเปล่าจะเห็นจุดสว่างดวงเดียว หากใช้กล้องสองตาส่องดูจะเห็นว่าเป็นมีสองดวงเคียงกัน สีขาวสว่างใกล้เคียงกันมาก และเมื่อดูด้วยกล้องดูดาวจะพบว่าแต่ละดวงก็มีคู่ของตัวเอง ทั้งหมดกลายเป็นสี่ดวง จึงเป็นที่มาของชื่อ Double-Double เป็นดาวคู่ที่รู้จักกันดีคู่หนึ่ง อยู่ห่างออกไป 162ปีแสง ไกลกว่าวีก้าหลายเท่า

ระหว่างดาวเบต้าไลเรกับแกมม่าไลเร เป็นตำแหน่งของเนบูล่าดาวเคราะห์ที่มีชื่อเสียงมากตัวหนึ่งคือ เอ็ม 57 หรือเนบูล่าวงแหวน เนฐูล่าดาวเคราะห์เป็นซากที่เหลือจากการหมดอายุขัยของดาวฤกษ์ที่คล้ายกับพระอาทิตย์ของเรา ภาพจากกล้องดูดาวจะเป็นวงแหวนสีเทาขนาดจิ๋วแปลกตา เอ็ม 57 อยู่ห่างจากเรา 1400 ปีแสง

สุดท้ายเป็นเอ็ม 56 กระจุกดาวทรงกลมขนาดเล็ก ตำแหน่งประมาณตรงกลางระหว่างดาวแกมม่าไลเรกับอัลบริโอหรือหัวหงส์ ลูกบอลดาวตัวนี้อยู่ไกลออกไปจากเรา 32000 ปีแสง ค้นพบโดยชาร์ล แมสซายเออร์ในปี 1779



อ้างอิง
http://www.ianridpath.com/startales/lyra.htm
https://en.wikipedia.org/wiki/Orpheus
SkySafari


Thursday 12 September 2019

สามเหลี่ยมฤดูร้อนกับเทศกาลชีซี (Qixi Festival)


  
สามเหลี่ยมฤดูร้อนกลางเดือนกันยายนยังอยู่กลางฟ้า
หากเป็นคืนที่มีพระจันทร์ดาวทั้งสามจะโดนแสงจันทร์กลบทำให้จางลง
แนะนำให้รอดูช่วงที่ไม่มีพระจันทร์ประมาณอาทิตย์สุดท้ายของเดือน

หนึ่งในสี่ตำนานความรักที่ยิ่งใหญ่ของจีน เกี่ยวข้องกับสามเหลี่ยมฤดูร้อนที่มีดาววีก้า อัลแตร์ เดเนบ ทางช้างเผือกและบางส่วนของกลุ่มดาวหงส์ ซึ่งตอนนี้ยังมองเห็นได้บนท้องฟ้าไปจนราวกลางเดือนหน้า

ครั้งหนึ่งนานมาแล้วเทพเจ้าแห่งสวรรค์มอบหมายให้ธิดาทั้ง 7 ทอผ้าให้ท้องฟ้าและก้อนเมฆสวมใส่ ธิดาคนสุดท้องทอผ้าทอได้สวยที่สุดเป็นผ้า 7 สี เทพเจ้าแห่งสวรรค์จึงประทานนามให้ว่า “จื่อหนี่” แปลว่าสาวทอผ้า

จื่อหนี่ทอผ้าทุกวันอยู่บนฟ้า มองเห็นชายหนุ่มที่ไถนาและเลี้ยงวัวแก่อยู่คนเดียวก็รู้สึกสงสาร หนุ่มคนนี้มีชื่อว่า “หนิวหลาง” หรือหนุ่มเลี้ยงวัว

วันหนึ่งวัวแก่บอกความลับให้หนิวหลางว่าทุกวันที่ 7 เดือน 7 ธิดาแห่งสวรรค์จะลงมาสรงน้ำที่โลกมนุษย์หากท่านเก็บเสื้อผ้านางไว้ นางจะยอมแต่งงานกับท่าน

เมื่อถึงวันหนุ่มเลี้ยงวัวไปแอบอยู่ในพุ่มไม้ริมน้ำ ธิดาสวรรค์ลงมาจริงเหมือนที่วัวแก่บอก เขาจึงรีบคว้าเสื้อผ้าของสาวทอผ้าไว้ แต่ก็ทำให้เหล่าธิดาสวรรค์รู้ตัว ต่างคนต่างรีบขึ้นจากน้ำแต่งตัวแล้วเหาะกลับไป เหลือแต่สาวทอผ้าน้องสุดท้องที่เขินอายเพราะไม่มีเสื้อผ้าสวมใส่


หญิงทอผ้าและหนุ่มเลี้ยงวัว
ภาพจาก english.people.cn
หนุ่มเลี้ยงวัวยื่นเงื่อนไขว่าหากยอมแต่งงานกับเขาจะคืนเสื้อผ้าให้ สาวทอผ้าตกลงด้วยความเหนียมอายเพราะพึงใจในตัวชายหนุ่มเช่นกัน ทั้งคู่มีลูกชายและลูกสาวอย่างละคนใช้ชีวิตกันอย่างมีความสุขมาถึง 7 ปีจนเทพเจ้าแห่งสวรรค์รู้จึงส่งทหารมาจับตัวสาวทอผ้ากลับไปลงโทษในปีที่ 7 นั่นเอง

วันนั้นหนุ่มเลี้ยงวัวหาบลูกสองคนวิ่งตามไปไม่ลดละ วัวแก่ถอดเขาตัวเองออกมาเป็นเรือให้หนุ่มเลี้ยงวัวและลูกขี่แล้วเหาะตามทหารที่จับตัวสาวทอผ้าขึ้นไป ลูกทั้งสองต่างตะโกน แม่ แม่ ตลอดเวลา....

สาวทอผ้าพยายามดิ้นรนจากทหารเพื่อกลับมาหาลูกและสามี ในขณะนั้นเองเทพแห่งสวรรค์ยื่นหัตน์ลงมากรีดท้องฟ้าออกเป็นสองฝั่ง ทำให้เกิดแม่น้ำเทียนเหอแม่น้ำสีเงินสายกว้างไหลเชี่ยวกรากบนท้องฟ้ากั้นระหว่างสาวทอผ้ากับหนุ่มเลี้ยงวัว

ทันใดนั้นเหล่านกสี่เช่ว์หรือนกสาลิกาที่เห็นใจในความรักของทั้งคู่ต่างบินมารวมตัวกันมายมาย เชื่อมตัวเป็นสะพานให้ทั้งคู่ได้มาพบกัน เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ทำให้เทพแห่งสวรรค์จำใจต้องให้ทั้งคู่ได้พบกันปีละหนึ่งครั้งบนสะพานนกสาลิกาในวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี



“จื่อหนี่” ที่แปลว่าสาวทอผ้านั้นก็คือดาววีก้า ส่วน “หนิวหลาง” ผู้หาบ “ลูกน้อยสองคน” อยู่ก็คือดาวอัลแตร์และดาวสองดวงที่ขนาบข้างซ้ายและขวาเป็นลูกน้อยสองคน

หากฟ้ามืดสนืทพอจะเห็นว่าระหว่างอัลแตร์และวีก้าจะมีทางช้างเผือกหรือแม่น้ำเทียนเหอกั้นขวางอยู่ และบริเวณดาวเดเนบนั้นเป็นจุดที่มองเห็นว่าแคบที่สุดของทางช้างเผือก ดาวบริเวณนี้เป็นส่วนของปีกและหางของหงส์(เดเนบ) ดาราศาสตร์จีนเรียกว่า “Tiānjīn - เทียนจิน” หรือสะพาน นี่ก็คือสะพานนกสาริกาในเรื่องนั่นเอง

เนื้อเรื่องของนิทานเรื่องสาวทอผ้ากับหนุ่มเลี้ยงวัว ที่มีนางฟ้าเจ็ดคน ลงมาสรงน้ำในวันที่ 7 เดือน 7 มีเนื้อเรื่องหลายแบบแต่เนื้อหาหลักไม่ต่างกัน มีทั่วไปทั้งในเกาหลี เวียดนาม หรือที่ได้ยินชื่อกันบ่อยคือเทศกาลทานาบาตะในญี่ปุ่น

ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้เทศกาลชีซีเป็นเทศกาลแห่งความรักในเมืองจีนครับ


อ้างอิง
http://www.ianridpath.com/startales/contents.htm
http://finance.hcu.ac.th/เทศกาลชีซี
http://thai.cri.cn/247/2016/08/09/101s244875.htm
https://www.facebook.com/oecschool/photos/a.219896038194493/415917981925630/?type=3&theater

Monday 9 September 2019

Cassiopiea Constellation

ภาพแคสสิโอเปียที่ปรากฎในแผนที่ดาว Urania's Mirror 

ราชินีแคสสิโอเปียแห่งอาณาจักรเอธิโอเปีย ถ้าไม่จองหองและโอ้อวดว่านางสวยกว่าพี่น้องเนเรอิดส์ทั้ง 50 ตนที่เป็นนิมฟ์แห่งท้องทะเล ชาวเมืองเอธิโอเปียคงไม่เดือนร้อนจนต้องให้แอนดรอเมด้าสละชีวิตเป็นเครื่องสังเวยสัตว์ประหลาด “ซีตัส” ที่โพเซดอนส่งมาลงโทษที่นาง โชคดีที่เพอร์เซอุสผ่านมาช่วยแอนโดรเมด้าไว้ได้และขอนางแต่งงาน

ในงานอภิเษกสมรสระหว่างแอนโดรมีด้าและเพอร์เซอุสนั้น ฟิเนอุสผู้เป็นน้องของราชาเซฟิอุสมาทวงสัญญาที่เคยรับปากว่าจะยกนางให้แก่ตนมาก่อน เพอร์เซอุสคัดค้าน ทั้งสองฝ่ายประชันหน้ากันในงานเลี้ยง แต่ฟิเนอุสอาศัยกำลังทหารที่มีมากกว่า เพอร์เซอุสต้องอาศัยอำนาจเมดูซ่าทำให้ฟิเนอุสและกองทหารกลายเป็นรูปปั้นหินไปสิ้น

Perseus turns Phineus and his followers to stone (Luca Giordano, 17th century)
เพอร์เซอุสใช้หัวของเมดูซ่าทำให้เซฟิอุสกับกองทหารกลายเป็นหิน

ส่วนพี่น้องเนเรอิดส์เป็นเทพธิดาแห่งท้องทะเลหรือ Sea Nymphs เป็นลูกสาวของเนเรอัสหรือผู้เฒ่าแห่งท้องทะเล (Old Man of the Sea ในโอดิสซี่) โพเซดอนได้ลงโทษแคสสิโอเปียเพราะหนึ่งในพี่น้องเนเรอิดส์คือแอมฟิไทด์เป็นชายาของโพเซดอนเจ้าแห่งท้องทะเลนั่นเอง

กลุ่มดาวแคสสิโอเปียหรือกลุ่มดาวค้างคาวเป็นกลุ่มดาวที่อยู่บนทางช้างเผือกที่พาดผ่านทางซีกฟ้าเหนือ และเป็นหนึ่งในกลุ่มดาวที่อยู่รอบดาวเหนือ มีรูปร่างที่โดดเด่นเป็นรูปตัวอักษร M มองเห็นได้ง่ายทางทิศเหนือ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมจนถึงมกราคม สามารถใช้เป็นเครื่องมือนำทางหาตำแหน่งดาวเหนือได้

วิธีหาดาวเหนือจากกลุ่มดาวแคสสิโอเปีย

วิธีคือลากเส้นจากดาว “เดลต้าแคสสิโอปี” (δ Cas) ผ่านกึ่งกลางระหว่าง “แกมม่าแคสสิโอปี” (γ Cas) กับ “แอบซิลอนแคสสิโอปี” (ε Cas) เส้นนี้จะชี้ไปที่ดาวเหนือพอดี ดาวเหนือไม่ได้สว่างนัก และค่อนข้างต่ำเมื่อดูจากละติจูดของเมืองไทย บ่อยครั้งจะอยู่ในหมอกควันทำให้จางลงไปอีก ทำให้ดูยากขึ้น

แม้จะห่างออกมาจากใจกลางทางช้างเผือกแต่ก็เต็มไปด้วยดาวเล็กดาวน้อย กระจุกดาวจำนวนมาก  มีทั้งที่ดูได้ด้วยกล้องสองตาและต้องอาศัยกล้องดูดาว เช่น NGC457 กระจุกดาวนกฮูก, NGC 7789 Caroline’s Rose, M103 NGC663 NGC654 ทั้งสามตัวมองเห็นอยู่ด้วยกันด้วยกล้องสองตา Stock2 กระจุกดาวนักกล้าม NGC281 แพคแมนเนบูล่า

ทั้งสองตัวนี้ต้องใช้กล้องดูดาวในการสังเกต (คลิกภาพเพื่อขยาย)

ภาพซ้ายเป็นกระจุกดาวรอบดาวเดลต้าแคสสิโอปี
ภาพขวาเป็นกระจุกดาว Stock 2 ซึ่งอยู่ใกล้กับกระจุกดาวคู่ในกลุ่มดาวเพอร์เซอุส
ทั้งสองภาพเป็นภาพจำลองเมื่อดูด้วยกล้องสองตา (คลิกภาพเพื่อขยาย)

ราชินีแคสสิโอเปียแม้จะอวดดีและหลงตัวเองจนเกือบทำลายบ้านเมืองและเสียพระธิดาไป แต่พระนางก็ยังมีของดีเก็บไว้ในหีบสมบัติอีกมาก รอให้เราค้นหายามฟ้าเปิดครับ


อ้างอิง
http://www.ianridpath.com/startales/cassiopeia.htm
SkySafari Software 

Andromeda Constellation

ในขณะที่เพอร์เซอุสกำลังปกป้องดาเน่แม่ของตัวเองจากราชาโพลีเดกเทส ไกลออกมาที่อาณาจักรเอธิโอเปียราชินีแคสสิโอเปียกำลังสางผมอยู่แล้วกล่าวโอ้อวดว่าตัวเธอนั้นงามนัก งามยิ่งกว่าเหล่าซีนิมฟ์ ”เนเรอิดส์” เสียอีก

คำพูดของแคสสิโอเปียทำให้เนเรอิดส์ทั้ง 50 ตนไม่พอใจอย่างยิ่ง เพราะถือกันว่าเหล่านิมฟ์มีความงามเป็นอันดับหนึ่ง แอมฟิไทด์หนึ่งในพี่น้องเนเรอิสด์และเป็นชายาของโพเซดอนเจ้าแห่งท้องทะเลได้ทูลขอให้โพเซดอนลงโทษแคสสิโอเปียผู้จองหองและโอ้อวดเกินตัว

โพเซดอนลงโทษแคสสิโอเปียตามคำขอโดยส่ง “ซีตัส” สัตว์ประหลาดลูกผสมที่มีคำอธิบายว่า มีหัวและฟันมหึมา มีขาหน้าเหมือนสัตว์บก ช่วงล่างลำตัวมีเกล็ดและขดม้วนไปมาเหมือนงูทะเล ซีตัสอาละวาดทำเลายบ้านเมืองตามชายฝั่งของอาณาจักรจนเกือบหมดสิ้น

Andromeda and Perseus, Pierre Mignard -1679
กษัตริย์เซฟิอุสกับราชินีแคสสิโอเปียกำลังขอบคุณเพอร์ซิอุสที่ปลดปล่อยแอนดรอมีด้า
ด้วยการสังหารซีตัสสตว์ประหลาดจากท้องทะเล ภาพนี้มีกลุ่มดาวถึง 6 กลุ่ม [Cr:wikimedia]

ปุโรหิตให้คำแนะนำแก่ราชาเซฟิอุสผู้ครองอาณาจักรว่า หายนะครั้งนี้แก้ไขได้ด้วยการบูชายัญ เราจะสังเวยสัตว์ประหลาดด้วยราชธิดาผู้งามหมดจดของท่าน ราชาผู้โง่เขลาและอ่อนแอจำยอมต่อข้อเสนอของปุโรหิต ก่อนที่ทั้งอาณาจักรจะล่มสลายด้วยฝีมือของซีตัส

เจ้าหญิงแอนดรอมีด้าผู้น่าสงสารจำใจที่จะเป็นเครื่องเซ่น เธอถูกล่ามโซ่ตรวนที่ข้อมือทั้งสองข้างผูกติดผาหินก้อนใหญ่ริมทะเล เหนือขึ้นไปบนหน้าผาใหญ่ ราชินีแคสสิโอเปียเศร้าสร้อยและสำนึกผิดกับสิ่งที่ได้กระทำไปโดยไร้ความยั้งคิด

ต่ำลงมาที่แท่นสังเวย แม้จะสูงเหนือทะเลแต่คลื่นก็ยังซัดสาดโดนกาย สีหน้าทุกข์ระทม หมองหม่น ฉับพลันนั้นเพอร์ซิอุสก็ปรากฎกายขึ้นเหนือฟากฟ้า เขาตกตะลึงกับความงามของแอนดรอมีด้าและตกหลุมรักเธอทันที แว่บแรกเพอร์ซิอุสคิดว่าเป็นรูปปั้นแต่หากเห็นผมที่ปลิวไสวและน้ำตาที่ไหลอาบแก้มถึงแน่ใจว่าเป็นเป็นมนุษย์

เพอร์เซอุสต้องถามถึงสองรอบกว่าที่แอนดรอเมด้าจะยอมเล่าเรื่องที่เกิดให้ฟัง แต่ขณะนั้นเองเจ้าหญิงมองเห็นคมเขี้ยวของซีตัสก็โผล่ขึ้นเหนือคลื่นทะเล และกำลังพุ่งเข้ามาหาเธอ ในช่วงเวลาฉุกละหุกเช่นนี้เพอร์เซอุสขออนุญาติจากเซฟีอุสและแคสสิโอเปียเพื่อแต่งงานกับแอนดรอมีด้สอย่างสุภาพ จากนั้นก็กระโจนลงไปจัดการซีตัสด้วยดาบเพชรของเขา

เพอร์ซิอุสและแอนดรอมีด้ามีทายาทด้วยกันหกคนรวมถึงบรรพบุรุษของเปอร์เซีย “เปอร์เสส” และ “กอร์กอฟเฟนเต้” บิดาของ “เทียดาริอัส”​ กษัตริย์สปาต้า 

กลุ่มดาวแอนดรอมีด้า

กลุ่มดาวแอนดรอมีด้า เจ้าหญิงถูกล่ามโซ่ตรวนที่ข้อมือสองข้าง
ภาพจาก Sky Safari

แอนโดรเมด้าจะนำหน้ากลุ่มดาวเพอร์เซอุสไปทางตะวันตก แต่วิธีที่จะมองหาง่ายที่สุดคือเริ่มจากแคสสิโอเปียหรือกลุ่มดาวค้างคาวที่เป็นรูปตัวอักษร M เพราะยอดแหลมของตัวเอ็มจะชี้ไปที่แอนดรอมีด้าพอดี

ภาพแอนดรอมีด้าที่ปรากฎในแผนที่ดาวจะเป็นไปตามตำนาน คือเป็นรูปหญิงสาวกางแขน มีโซ่ลามไว้ทั้งสองข้าง ดาวสว่างที่สุดคือ “อัลฟ่า แอนดรอมีเด” หรือ “อัลฟีรัตส์”​ ดวงดวงนี้อยู่บนศรีษะของแอนดรอมีด้าและเป็นจุดเชื่อมต่อกับกลุ่มดาวเพกาซัสด้วย

ทำให้อีกวิธีที่ใช้หาตำแหน่งกลุ่มดาวแอนดรอมีด้าก็คือมองหาหน้าต่างสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่บนฟ้า ดาวที่เป็นมุมทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือนั่นละคือ อัลฟ่า แอนดรอมีเด

ดาวดวงที่น่าสนใจคือ “แกมม่า แอนดรอมีเด” หรือ “อัลมัค” ดาวดวงนี้เป็นปลายขาซ้ายของแอนดรอเมด้า สามารถมองเห็นได้จากชานเมือง เป็นดาวคู่ที่สีสวยที่สุดคู่หนึ่ง โดยดวงหลักมีสีเหลืองอมส้ม สว่างราว 2.3 แมกนิจูด ส่วนดวงรองสีน้ำเงินไปทางเขียวเล็กน้อยสว่าง 5 แมกนิจูด สามารถดูได้ด้วยกล้องดูดาวขนาดเล็ก กล้องสองตาขนาด 8x40 ไม่สามารถแยกได้เป็นสองดวง 



แกมม่าแอนดรอมีเด (ซ้าย) และแอนดรอมีด้ากาแลกซี่ (ขวา) โดยผู้เขียน
ภาพวาดจากกล้องดูดาวเทคนิคดินสอดำบนกระดาษขาว แล้วกลับค่าสีในโปรแกรมแต่งภาพ
จากอัลมัคลองแพนกล้องสองตาไปทางทิศใต้ (หรือด้านบน) ให้อัลมัคอยู่ขอบๆล่างของจอภาพ สังเกตดูบริเวณกลางจอ มีเป็นจุดที่มีดาวหนาแน่นเป็นพิเศษ ตรงนี้คือกนะจุกดาว NGC752 เป็นกระจุกดาวขนาดใหญ่เหมาะกับการดูด้วยกล้องสองตาขนาด 7x50 ในที่ที่ห่างไกลตัวเมือง



แอนดรอเมด้ากาแลกซี่หรือแมสซายเออร์ 31 เป็นกาแลกซี่ที่อยู่ใกล้เรามากที่สุดและกำลังเคลื่อนที่เข้ามาหาเรา ด้วยความเร็วราว 110กม/วินาที และอีกราว 4000ล้านปีทางช้างเผือกและแอนดรอมีด้าจะชนและควบรวมเป็นกาแลกซี่เดียว


เอ็ม 31 มองเห็นได้ด้วตาเปล่าเป็นขีดสั้นของแสงจางบนฟ้าหากไม่มีมลภาวะทางแสง ด้วยกล้องสองตาเราจะมองเห็นเป็นฝ้าวงรีขอบฟุ้งจาง หากใช้กล้องสองตาขนาดสัก 7x50 อยู่ในที่ๆเหมาะสมอาจจะมองเห็นแมสซายเออร์ 110 ที่เป็นกาแลกซี่บริวารของแอนดรอมีด้ากาแลกซี่ก็เป็นไปได้

แต่หากมองไม่เห็นเราสามารถใช้กลุ่มดาวแคสสิโอเปียและแอนดรอมีด้าในการนำทางได้ โดยลากเส้นสมมติระหว่างดาวดาวเดลต้าแอนดรอมีเดและอัลฟ่าแคสสิโอปี กาแลกซี่แอนดรอมีด้าจะอยู่เกือบครึ่งทางดังรูป 

วิธีหาตำแหน่ง แอนดรอมีด้ากาแลกซี่ ภาพจาก SkySafari เตรียมโดยผู้เขียน


อ้างอิง
RoBert Barnham Jr., Burnham’s Celestial Handbook
SkySafari Software

Perseus constellation

เพอร์เซอุสและหัวของเมดูซ่า จากแผนที่ดาวยูราเนีย มิลเล่อร์, 1825 [ภาพจากวิกิ]

กลุ่มดาวหน้าหนาวที่คุ้นเคยกันดี มีนิทานซ่อนอยู่มากมาย บทความชุดนี้จะแนะนำกลุ่มดาวและออบเจคที่น่าสนใจที่ดูได้จากกล้องสองตาหรือตาเปล่าเป็นหลัก อาจจะมีบ้างที่ต้องดูจากกล้องดูดาวขนาดเล็ก ขอให้สนุกกับการเที่ยวชมท้องฟ้ายามราตรีครับ

ดวงดาวบนฟ้านั้นเมื่อเทียบกับช่วงชีวิตของเราแล้วคล้ายว่าอยู่กับที่ไม่ได้ขยับไปไหน แต่เราผู้เฝ้ามองท้องฟ้าอยู่บนโลกที่กำลังหมุน จะเห็นดวงดาวบนฟ้าเคลื่อนที่ข้ามท้องฟ้าจากตะวันออกไปตะวันตกตลอดเวลา

นอกจากหมุนรอบตัวเองแล้ว โลกเรายังหมุนรอบดวงอาทิตย์อีกด้วย ทุกเย็นดาวฤกษ์ดวงเดียวกันเปลี่ยนตำแหน่งสูงจากขอบฟ้าตะวันออกมากขึ้นทุกวันทีละน้อย ทำให้แต่ละเดือนแต่ละฤดูในเวลาเดียวกันกลุ่มดาวบนท้องฟ้าจะแตกต่างกัน สำหรับผู้ที่เข้าใจ ดวงดาวและท้องฟ้าก็คือปฎิทินและนาฬิกาชั้นดี

กลุ่มดาวที่จดจำและบันทึกสืบทอดกันมายาวนานมักจะมีนิทานเคียงข้าง ต่างวัฒนธรรมต่างชนชาติชื่อตัวละครอาจต่างกันบ้าง กลุ่มดาวหน้าหนาวในชุดนิทานเพอร์เซอุสกลุ่มแรกที่จะแนะนำให้รู้จักเป็นพระเอกของเรื่องนั่นคือ “เพอร์เซอุส” เชื่อว่าเป็นที่รู้จักกันมาอย่างน้อย 2000-3000 ปี เป็นกลุ่มดาวเก่าแก่ที่ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน

ในอียิปต์โบราณกลุ่มดาวที่มีรูปร่างคล้ายคนมีสองขานี้คือเทพเจ้า Khem หรือ Khnum เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ ในเปอร์เซียคือพระมิถราของศาสนาผู้นับถือดวงอาทิตย์ ในไบเบิ้ลคือเดวิดกำลังหิ้วหัวของโกไลแอท หรือเป็นนักบุญจอร์จผู้ฆ่ามังกรในยุคกลาง สำหรับแขกมัวร์หมายถึงอัลมิราซกูล (Almirazgual) คนหิ้วหัวปีศาจ ฯลฯ ทั้งหมดถ้าไม่ใช่เทพเจ้าก็จะเป็นวีรบุรุษ

แต่เรื่องที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากที่สุดในปัจจุบันเป็นของกรีก นั่นคือเรื่องของ “เพอร์เซอุส” ที่มีชื่อกลุ่มดาวเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องถึง 6 กลุ่มคือ เพอร์เซอุส เปกาซัส แอนดรอมีด้า ซีตัส คาสสิโอเปียและเซฟิอุส

กลุ่มดาวเพอร์เซอุสในหนังสือ The Book of Fixed Star โดยAbd al-Rahman al-Sufi ปี 964
อาจจะเป็นเป็นภาพ "อัลมิราชกูล" ภาพจาก The Metropolitan Museum of Art 

เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นที่ชายหาดของเกาะเซรีฟอสในทะเลอีเจียน

ลังไม้ขนาดใหญ่ลอยมาติดชายหาดที่เกาะเซรีฟอส ดิกเทสชายชาวประมงผู้ถือสันโดษเปิดออกดูพบว่าภายในมีหญิงสาวผิวพรรณงามเครื่องแต่งกายดูสูงศักดิ์กับทารกน้อยในอ้อมกอด ดิกเทสรับหญิงสาวกับทารกน้อยมาเป็นภรรยาและบุตร ทารกน้อยได้รับนามว่า “เพอร์เซอุส” ส่วนหญิงสาวนั้นมีชื่อว่า “ดาเน่”

เวลาผ่านไป โพลีเดกเทสกษัตริย์ผู้ครองเกาะเซรีฟอสและน้องชายของดิกเทส ต้องการตัวพี่สะใภ้ดาเน่มาเป็นชายา แต่เพอร์เซอุสที่ตอนนี้โตเป็นหนุ่มคอยขัดขวาง ราชาโพลีเดกเทสไม่สามารถจัดการเสี้ยนหนามอย่างเพอร์เซอุสได้ จึงออกอุบายให้เพอร์เซอุสไปนำหัวเมดูซ่ามาเป็นของกำนัล เพราะเชื่อว่าอย่างไรเพอร์เซอุสต้องจบชีวิตจากงานนี้แน่นอน

ความผิดพลาดของโพลีเดกเทสก็คือไม่ทราบว่าเพอร์เซอุสเป็นบุตรของเซอุสผู้เป็นใหญ่เหนือเทพทั้งปวง ความช่วยเหลือถูกส่งเข้ามา อธีน่ามอบโล่บรอนซ์ขัดเงาและให้คำแนะนำ ไฮเฟสเตสมอบดาบเพชรที่แกร่งกว่าโลหะใดๆ หมวกแห่งความมืดจากฮาเดสทำให้ล่องหนไม่มีใครมองเห็น และรองเท้าติดปีกช่วยให้บินได้จากเฮอร์เมส

เพอร์เซอุสไปพบแกรอี แม่มดแก่ อัปลักษณ์และตาบอด 3พี่น้องและเป็นพี่น้องกับกอร์กอนเช่นกัน ที่เชิงเขาแอทลาส ทั้ง 3 ผลัดกันใช้ลูกตาที่มีอยู่ลูกเดียวเพื่อให้มองเห็น เพอร์ซิอุสต้องแย่งลูกตาและขู่เพื่อให้บอกที่อยู่ของเมดูซ่าและพี่น้องกอร์กอนที่แม้แต่เทพยังไม่ทราบว่าพวกนางอยู่ที่ไหนแน่นอน

สามพี่น้องกอร์กอน “ยูไรอลี” “สธีโน” และ “เมดูซ่า” เป็นธิดาของเจ้าทะเลฟอซีสและซีโต มีรูปลักษณ์ที่น่ากลัว ผิวเป็นเกล็ดมังกร จมูกเหมือนหมูป่า แขนเป็นทองเหลืองและปีกเป็นทอง พี่น้องกอร์กอนหันไปมองใคร คนผู้นั้นจะกลายเป็นหิน

เมดูซ่าเป็นผู้เดียวที่มีหน้าเป็นสาวสวย มีผมเป็นงูแแต่ไม่มีชีวิตเป็นอมตะเหมือนพี่สาวอีกสองคน เล่ากันว่าในอดีตเมดูซ่าเกิดมาเป็นหญิงสาวที่มีความฉลาดเฉียวและมีความงามเป็นที่เลื่องลือ จนกระทั่งโดนโพเซดอนฉุดไปข่มขืนในวิหารของอธีน่า เป็นเหตุให้อธีน่าสาปให้นางมีรูปที่อัปลักษณ์เช่นนี้

เมื่อไปถึงที่อยู่ของพี่น้องกอร์กอน เพอร์ซิอุสอาศัยหมวกแห่งความมืดล่องหนหายตัวเดินตามเส้นทางที่มีรูปปั้นหินของคนที่แข็งเป็นหินไปด้านในของเกาะ รอจนกระทั่งเมดูซ่าหลับสนิท เพอร์ซิอุสเดินถอยหลังโดยอาศัยการมองจากภาพสะท้อนที่เห็นในโล่ขัดเงาเพื่อเลี่ยงการมองหน้าเมดูซ่าโดยตรง เมื่อถึงระยะก็ฟันคอนางด้วยดาบเพชร หัวเมดูซ่าขาดหล่นลงพื้นด้วยดาบเดียว


ซ้าย: เมดูซ่า - Caravaggio (1595) [ภาพจากวิกิ]
ขวา: เพอร์เซอุสกับหัวเมดูซ่า- Benvenulo Cellini (1554) [ภาพจากวิกิ] 

เพอร์เซอุสคว้าหัวเมดูซ่าใส่ถุงหนัง พร้อมกับมองเห็นม้าเปกาซัสและนักรบไครเซเออร์พุ่งออกมาจากคอของเมดูซ่า ทั้งคู่เป็นบุตรของนางกับโพเซดอนตั้งแต่ครั้งที่โดนข่มขืน เพอร์เซอุสรีบบินกลับไปก่อนที่พี่น้องกอร์กอนอีกสองคนจะตื่นขึ้นมา ระหว่างทางกลับ เพอร์เซอุสผ่านเอธิโอเปีย ต้องช่วยแอนดรอมีด้าที่โดนตรึงด้วยโซ่ที่หน้าผาริมทะเลจากคมเขี้ยวของอสูรร้ายจากท้องทะเลซีตัส ตอนนี้จะขอแยกไปเล่าในเรื่องแอนดรอมีด้า

เมื่อกลับไปถึงเกาะเซรีฟอส เพอร์เซอุสชูหัวของเมดูซ่าเป็นอาวุธจัดการกษัตริย์โพลีเดกเทสและกองทหารที่ไล่ล่าตน แม่และพ่อบุญธรรมให้กลายเป็นหิน สถาปนาดิกเทสพ่อบุญธรรมของตนขึ้นเป็นกษัตริย์ ส่วนหัวของเมดูซ่า อธีน่าได้ฝังลงไปในโล่ของตน และกลายเป็นเครื่องรางใช้ป้องกันภูตผีปีศาจสืบต่อกันมา

ดาเน่หญิงผู้เป็นแม่ของเพอร์เซอุสนี้แท้จริงคือเจ้าหญิงดาเน่ราชธิดาของกษัตริย์อครีซิอัสแห่งอาร์กอส ราชาอครีซิอัสได้รับคำนายว่าจะถูกหลายชายคนโตปลงพระชนม์ จึงได้คุมขังเจ้าหญิงดาเน่ไว้ในคุกใต้ดินพร้อมกองกำลังอารักขาแน่นหนา เพื่อกันไม่ให้มีชายคนใดเข้าไปหานางได้ แต่ไม่ว่าแน่นหนาแค่ไหนก็หยุดราชาแห่งเทพอย่างซุสที่ลักลอบเข้าไปในรูปสายฝนสีทองไม่ได้

เมื่อราชาอครีซิอัสพบว่าดาเน่คลอดทารกชายออกมา จึงได้จับใส่หีบไม้ขนาดใหญ่ปล่อยออกไปลอยทะเล แล้วก็ไปติดที่ชายหาดเกาะเซรีฟอสที่เล่ามาเมื่อต้นเรื่อง และสุดท้ายในการแข่งขันกรีฑา พระราชาอครีซิอัสโดนจักรของเพอร์เซอุสที่กระเด็นผิดทิศทางระหว่างทอดพระเนตรการแข่งขันถึงแก่ความตาย คำทำนายกลายเป็นจริงฉะนี้

กลุ่มดาวเพอร์เซอุส

กลับมาที่ท้องฟ้า กลุ่มดาวเพอร์เซอุสอยู่บนทางช้างเผือกในซีกฟ้าเหนือ มองเห็นได้ตลอดหน้าหนาวเวลาหัวค่ำ มือข้างหนึ่งหิ้วหัวเมดูซ่า อีกข้างหนึ่งถือดาบชูขึ้นเหนือหัว สังเกตได้ง่ายเพราะตามหลังกลุ่มดาวคาสสิโอเปียและนำหน้าสารถี

กลุ่มดาวเพอร์ซิอุส จาก IAU 

ใจกลางกลุ่มดาว มีดาวสว่าง มีค่าความสว่างแมกนิจูดที่ 2 เป็นดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่ม มองเห็นได้จากชานเมืองใหญ่ เรียกชื่อตามระบบของเบเยอร์ว่า “อัลฟ่า เปอร์เซอิด” ชื่อสามัญคือ “เมอร์เฟค” (Mirfek) หรือตามแผนที่ดาวเก่าบางฉบับจะเรียกว่า “อัลเจนิบ” (Algenib) คำว่าเมอร์เฟคมาจากภาษาอาหรับหมายถึง “ข้อศอก”

เมอร์เฟคอยู่ห่างออกไป 590 ปีแสง สเปคตรัม F5 lb Supergiant อุณหภูมิที่พื้นผิว 6180 องศาเคลวิน ทำให้มีสีขาวอมเหลือง มีความสว่าง 5000 เท่าของดวงอาทิตย์ และมีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ 62 เท่า
เมอร์เฟคเป็นดาวที่อยู่ในกระจุกดาวขนาดใหญ่ “เมลล๊อตเต้ 20” เป็นกระจุกดาวเปิดที่ห่างออกไป 575 ปีแสง เมลล๊อตเต้ 20 มองเห็นด้วยตาเปล่าและจะสวยที่สุดเมื่อดูด้วยกล้องสองตาเพราะมองเห็นดาวดวงเล็กจำนวนมากรอบดาวเมอร์เฟค 

เบต้า เปอร์เซอิดหรือ “อัลกอล” (Algol) ดาวสว่างลำดับที่สองในกลุ่มดาวเพอร์เซอุส แต่เป็นดาวที่มีคนรู้จักมากที่สุดดวงหนึ่ง มีความสว่าง 2.1 แมกนิจูด สเปคตรัม B8V เป็นดาวลำดับหลัก อุณหภูมิพื้นผิว 11400 องศาเคลวิน มองเห็นเป็นสีขาว ไกลจากโลก 90 ปีแสง เป็นดาวคู่คราสที่รู้จักกันมากที่สุด และใกล้โลกที่สุด

ชื่ออัลกอลมาจากภาษาอาหรับหมายถึง “หัวปีศาจ”​ บริเวณดาวดวงนี้มีดาวเรียงเป็นหัวเมดูซ่ารูปสี่เหลี่ยมคางหมูเด่นอยู่ 4 ดวง หากใช้กล้องสองตาจะชัดเจนขึ้น โดยอัลกอลเป็นตาข้างหนึ่งของนาง บางพื้นที่จะเรียกชื่อดาวดวงนี้ต่างออกไป และทั้งหมดจะเป็นตัวแทนสิ่งที่ไม่ดี เช่น “หัวกอร์กอน” “หัวซาตาน” “หัวผี” มีการเชื่อมโยงดาวดวงนี้กับลิลิธภรรยาคนแรกของอดัม แม้กระทั่งดาราศาสตร์จีนโบราณยังเรียกดาวดวงนี้ว่า “กองซากศพ”

ภาพจำลองเมื่อดูดาวอัลกอลด้วยกล้องสองตาขนาด 8x40
หัวเมดูซ่าเป็นดาวเรียงรูปสี่เหลี่ยมคางหมู

เหตุที่ดาวดวงนี้ถูกมองเป็นสิ่งชั่วร้ายอาจเป็นเพราะดาวดวงนี้บางวันก็สว่างบางวันก็หรี่แสง เชื่อว่าข้อสังเกตนี้มีมาตั้งแต่ยุคอาหรับหรือยุคกลาง แต่คนแรกที่บันทึกเรื่องการแปรแสงของดาวอัลกอลคือเจมิเนียโอ มอนทานาริ เมื่อปี 1667 และตรวจวัดคาบของความสว่างได้คนแรกคือ จอร์น กู๊ดริคเมื่อปี 1782
อัลกอลเป็นดาวดวงแรกที่เราทราบว่าเป็นดาวคู่คราส ทุก 2วัน 20ชั่วโมง 49นาที ความสว่างจะลดลงจาก 2.1 เหลือ 3.4 จะเกิดคราสราว 10 ชั่วโมงก็จะสว่างขึ้นอีกครั้ง นับเป็นดาวดวงหนึ่งที่น่าสนใจมากดวงหนึ่ง

เรียงจากซ้ายไปขวาดับเบิ้ลคลัสเตอร์ แมสซายเออร์34 แมสซายเออร์76
ภาพวาดจากที่มองเห็นจริงด้วยกล้องดูดาวโดยผู้เขียน

ดีพสกายออบเจ็คที่น่าสนใจในกลุ่มดาวเพอร์เซอุสมีหลายตัวอย่างเช่น กระจุกดาวคู่แฝด ดับเบิ้ลคลัสเตอร์ (NGC869, NGC884) อยู่ระหว่าง กลุ่มดาวเพอร์ซิอุสและคาสสืโอเปีย ประมาณครึ่งทางจากดาวอัลกอลไปที่ดาวอัลมัคในกลุ่มดาวแอนดรอมีด้า จะมีกระจุกดาวเปิดอีกตัวคือแมสซายเออร์ 34 ทั้งเอ็ม 34 และ ดับเบิ้ลคลัสเตอร์ สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า และเหมาะสำหรับดูด้วยกล้องสองตาหรือกล้องดูาวขนาดเล็ก

แมสซายเออร์ 76 หรือ Little Dumbel เป็นเนบูล่าดาวเคราะห์มีรูปร่างคล้ายดัมเบลหรือเมล็ดถั่ว อยู่บริเวณเขตติดต่อเพอร์เซอุสกับแอนดรอมีด้า ห่างจากดาวสว่างแมกนิจูด 4 ชื่อ ฟี เพอร์เซอิด (φ Perseid) ราว 1 องศาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ดูได้จากกล้องดูดาว

NGC1499 แคลิฟอร์เนียเนบูล่า เป็นเนบูล่าขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นเนบูล่าที่ยากจะมองเห็นเพราะความสว่างต่และมีขนาดใหญ่กว่ามุมมองของกล้องดูดาวขนาดใหญ่ แต่เป็นออบเจคยอดนิยมของนักถ่ายรูป อยู่บริเวณขาของเพอร์เซอุส

คาลิฟอร์เนียเนบูล่าโดยคุณตระกูลจิตร จิตตไสยพันธ์

อ้างอิง
http://kindredsubjects.blogspot.com/2013/02/kitab-suwar-al-kawakib-al-thabita-book.html
http://www.ianridpath.com/startales/perseus.htm
Burnham’s Celestial Handbook
SkySafari Software

Saturday 7 September 2019

Equinox, Solstice, Aries, Libra, Cancer and Capricorn



ทรงกลมท้องฟ้า แกนโลกเอียง 23.5องศาจาก ระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์
หรือที่เรียกว่า ระนาบสุริยะวิถี - Ecliptic Plan
 ภาพจาก http://www.physast.uga.edu/~loris/astr1020l/prob_FA16.html

ใกล้วัน Autume Equinox แล้ว ซีกโลกเหนือกำลังก้าวสู่ฤดูใบไม้ร่วง ในหนึ่งปีซีกโลกเหนือจะมีวันที่เป็นเครื่องหมายแห่งการเปลี่ยนผ่านฤดูกาลอยู่ 4 วันคือประมาณวันที่ 21 มีนาคม, 21 มิถุนายน, 23 กันยายน และ 22 ธันวาคม ไล่ตามลำดับก็คือ Vernal Equixnox, Summer Solstice, Autumnal Equinox และ Winter Solstice

หากสังเกตดูวัน Equinox ทั้งสองครั้งจะห่างกัน 6 เดือนและ Soltice จะอยู่ตรงกลางระหว่าง Equinox ทั้งสองครั้ง บทความนี้อาจช่วยให้เข้าใจทรงกลมท้องฟ้าและจะเข้าใจธรรมชาติของวันเหล่านี้มากขึ้น

โลกของเรามีพิกัดทางภูมิศาสตร์สำหรับระบุตำแหน่งเมืองหรือจุดใดก็ได้เป็นละติจูดและลองติจูดที่รู้จักกันดี มีการกำหนดเส้นลองติจูดที่ 0 องศาให้ผ่านหอดูดาวเมืองกรีนิช เราเรียกเส้นนี้ว่า Prime Meridian และยังเป็นจุดอ้างอิงของเวลาทั่วโลก

ลองจินตนาการว่าโลกอยู่ในทรงกลมใส จุดทุกจุด ดาวทุกดวงอยู่บนผิวทรงกลม มีระบบบอกพิกัดเหมือนบนโลกแต่เรียกว่าเส้นเดคคลิเนชั่นแทนละติจูดและไรท์แอสเซนชั่นแทนลองติจูด เดคคลิเนชั่นมีหน่วยเป็นองศาเริ่มต้นที่เส้นศูนย์สูตรฟ้า มีค่าบวกไปเรื่อยจนถึงขั้วโลกเหนือที่ +90องศา และมีค่าลบไปจนสุด -90องศาที่ขั้วโลกใต้

ส่วนไรท์แอสเซนชั่นต่างออกไป จะใช้เวลาเป็นหน่วยวัดตามการหมุนของโลกมี หน่วยคือชั่วโมง นาทีและวินาทีซึ่งจะคล้ายกับ Time Zone ที่เราคุ้นเคย ที่น่าสนใจคือบนโลกเราใช้หอดูดาวกรีนิชเป็นจุดอ้างอิงเวลาแล้วบนท้องฟ้าละจุดอ้างอิงอยู่ที่ไหน?


เดคคลิเนชั่น และไรท์ แอสเซนชั่น ภาพแสดงแกนโลกตั้งฉาก
ทำให้เส้นสุริยะวิถีเอียง 23.5องศา Cr: Wikipedia

ย้อนกลับไปเมื่อ 130 ปีก่อนคริสต์ศักราช ฮิปพาคัสนักคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ชาวกรีกผู้ริเริ่มระบบพิกัดท้องฟ้า พบว่าในวัน Vernal Equinox ตำแหน่งของดวงอาทิตย์จะอยู่ที่จุดตัดระหว่างเส้นสุริยะวิถีและเส้นศูนย์สูตรฟ้าพอดี เขาเรียกจุดนี้ว่า First point of Aries เพราะอยู่ในราศีเมษ

Vernal Equinox ได้รับการยอมรับให้ใช้เป็นจุดอ้างอิง เส้นไรท์แอสเซนชั่นที่ผ่านจุดนี้ได้รับชื่อว่าเส้น “Zero Hour” มีค่าเป็น 0ชั่วโมง 0นาที ทำนองเดียวกับเส้น Prime Meridian ที่ผ่านหอดูดาวเมืองกรีนิช

เส้นศูนย์สูตรฟ้าหรือเส้นเดคคลิเนชั่นที่ 0 องศาก็เหมือนกับเส้นศูนย์สูตรบนโลกต่างกันที่อยู่บนท้องฟ้าทำหน้าที่แบ่งท้องฟ้าเป็นสองส่วนคือซีกเหนือ (มีค่าเดคคลิเนชั่นเป็น +) และซีกใต้ (มีเดคคลิเนชั่นเป็น -) แนวเส้นศูนย์ฟ้าจะเบี่ยงไปทางเหนือหรือใต้ขึ้นกับตำแหน่งของเราบนโลกเช่นเราอยู่ที่กรุงเทพซึ่งพิกัดละติจูด 13 องศาเหนือ เส้นศูนย์สูตรฟ้าก็จะเบี่ยงไปทางใต้ 13 องศาเช่นกัน


กรุงเทพฯตั้งอยู่ที่ละติจูดประมาณ 13 องศาเหนือ ดาวเหนือก็จะสูงจากขอบฟ้า 13 องศา
เส้นศูนย์สูตรฟ้าก็เบี่ยงไปทางใต้ 13 องศาองศา ส่วนละติจูดเชียงราย 20 องศาเหนือ
ดาวเหนือก็จะสูงจากขอบฟ้า 20 องศา  เส้นศูนย์สูตรฟ้าก็เบี่ยงไปทางใต้20 องศาเช่นกัน
[คลิกภาพเพื่อขยาย]

ส่วนเส้นสุริยะวิถีเกิดจากระนาบการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ตัดกับทรงกลมท้องฟ้า หากมองจากบนโลก ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่อยู่บนเส้นนี้

เส้นศูนย์สูตรฟ้าและเส้นสุริยะวิถีต่างก็เป็นวงกลมที่ตัดกันบนทรงกลมท้องฟ้า ทำให้นอกจาก Vernal Equinox แล้วยังมีจุดที่ตัดกันอีกจุดหนึ่ง ดวงอาทิตย์จะผ่านจุดนี้ในวัน Autumnal Equinox เรียกว่าจุด First point of Libra เพราะอยู่ในราศีตุลย์ จะมีเส้นไรท์แอสเซนชั่น 12h 0m ลากผ่าน

หากนับเวลา Equinox ทั้งสองจุดจะห่างกัน 6 เดือน และอยู่ตรงข้ามกันบนทรงกลมท้องฟ้า เรียกว่าหากเราเล็งกล้องดูดาวไปที่ Vernal Equinox ทิ้งให้เวลาผ่านไป 12 ชั่วโมง ทรงกลมท้องฟ้าจะหมุนไปครึ่งรอบ จุด Autumal Equinox ก็จะมาอยู่ในกล้องดูดาวของเราเอง

มาถึงตรงนี้บางคนอาจสับสนว่าตกลงแล้ว Equinox ห่างกัน 6 เดือนหรือ 12 ชั่วโมง ความจริงแล้วถูกทั้งคู่  เป็นการอ้างอิงคนละแบบ ที่เป็น 6 เดือนเพราะเป็นครึ่งหนึ่งของคาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ และเป็นเวลาที่ดวงอาทิตย์ผ่านจุด Equinox จริง ส่วน 12 ชั่วโมงนั้นมาจากระยะห่างของจุดสองจุดบนทรงกลมท้องฟ้าที่หมุนรอบตัวเอง 24 ชั่วโมง เท่านั้นเอง


ทรงกลมท้องฟ้าแบบยืดออกเพื่อให้ดูง่ายขึ้น เป็นแผนที่เมื่อ 150ปีก่อน คศ.
Vernal equinox จะอยู่ในราศีเมษ -Ariesใกล้เขตแดนราศีมีน -Piscs
[คลิกภาพเพื่อขยาย]


ในวิชาภูมิศาสตร์คงจำกันได้ว่าเส้นละติจูดที่ 23.5 องศาเหนือเรียกว่าเส้น Tropic of Cancer ส่วนเส้น Tropic of Capricorn จะใช้เรียกเส้นละติจูดที่ 23.5 องศาใต้ พื้นที่ระหว่างเส้นละติจูดสองเส้นนี้คือเขตร้อนชื้นหรือเขตศูนย์สูตร ทั้ง Cancer และ Capricorn เป็นชื่อกลุ่มดาวประจำเดือนหรือจักรราศีทั้งคู่ ลองเดาดูว่าชื่อนี้มีที่มาอย่างไร

การเอียงของแกนโลกทำให้ระนาบสุริยะวิถีทำมุม 23.5 องศากับระนาบศูนย์สูตร ผลคือในรอบปีดวงอาทิตย์จะค่อยๆเบี่ยงขึ้นไปทางเหนือ 23.5 องศาเหนือและจะค่อยๆเบี่ยงลงใต้จนสุดที่เส้น 23.5 องศาใต้ ตามการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ขึ้นไปเหนือสุดและลงไปใต้สุดนี่เองที่เรียกว่า Solstice

เมื่อมาดูในแผนที่ดาวในยุคฮิปพาคัส ก็จะเห็นว่าจุด Solstice ทางเหนืออยู่ในกลุ่มดาว Cancer หรือปู ส่วน Solstice ทางใต้อยู่ในกลุ่มดาว Capricorn ซึ่งนั่นก็คือตำแหน่งของเส้น Tropic of cancer และ Tropic of Capricon นั่นเอง

เรื่องทั้งหมดก็เอวังด้วยประการฉะนี้



เพิ่มเติม

แผนที่ดาวในยุคปัจจุบัน Vernal equinox
ขยับมาอยู่ในเขตราศีมีน -Pisec และใกล้ราศีกุมภ์ -Aquarius เข้าไปทุกที
[คลิกภาพเพื่อขยาย]


1. ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่ทีละน้อยบนเส้นสุริยะวิถี และใช้เวลา 1 ปีจะวนมาครบรอบที่จุดเดิม เมื่อเราแบ่งเส้นสุริยะวิถีออกเป็น 12 ส่วนแต่ละส่วนจะมีพื้นที่ 30 องศา (30x12=360) ดาวที่อยู่ด้านหลังเส้นสุริยะวิถีก็ผูกเป็นกลุ่มดาวจักรราศีซึ่งก็คือเดือนทั้ง 12 เดือน

ดวงอาทิตย์อยู่ในเขตราศีไหนก็คือเดือนนั้น เช่นดวงอาทิตย์อยู่ในเขตราศีมังกร ก็คือเดือนมกราคม เรียกว่ามนุษย์รู้จักใช้ท้องฟ้าเป็นปฎิทินสุริยะคติมานานเป็นพันปีแล้วก็ได้

2. เนื่องจากว่าแกนโลกนอกจากเอียงแล้วยังหมุนส่ายโดยมีรอบประมาณ 26000 ปี ทำให้ในปัจจุบันดวงอาทิตย์ย้ายราศีหรือย้ายเดือนไม่ตรงกับวันที่ 1 อย่างที่ควรจะเป็น แต่จะขยับไปราววันที่ 20 ของทุกเดือน (เป็นเหตุผลว่าทำไมราศีเกิดถึงไม่ตรงเดือน) และจะขยับออกไปเรื่อยๆ กินเวลาราวสองพันหนึ่งร้อยปีต่อ 1 ราศี

3. นอกจากทำให้วันย้ายราศีขยับแล้วยังทำให้วันสำคัญทั้ง 4 วันขยับด้วยเช่น Vernal Equinox ที่ปัจจุบันขยับจาก Aries มาอยู่ที่ Piscs แล้ว แต่ยังคงเรียกว่า First point of Aries เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จุดอื่นก็ยังคงใช้ชื่อเดิม

4. ผลจากโลกหมุนแบบส่ายอีกอย่างก็คือขั้วฟ้าเหนือ ที่ในยุคฮิปพาคัสไม่ได้ใกล้ดาวเหนือเหมือนตอนนี้ ต่อไปขั้วฟ้าเหนือก็จะค่อยขยับไปเรื่อยๆ ตามการส่ายของแกนโลก

ตำแหน่งขั้วฟ้าเหนือที่จะขยับตามการส่ายของแกนโลก
ปัจจุบันจะใกล้ดาวโพลาริส
Cr: in-the-sky.org [click]



Wednesday 4 September 2019

Direction in sky




ภาพ Star trail รอบดาวเหนือ เห็นได้ชัดว่าดาวมีการเคลื่อนที่เป็นวงกลม

ฝนยังตกฟ้ายังปิด มาทำความเข้าใจเรื่องพื้นฐานที่แสนสับสนและสำคัญกับการดูดาว “ทิศบนท้องฟ้า”

การบอกทิศที่ทุกคนรู้จักกันดีเป็นทิศบนพื้นระนาบ แต่ท้องฟ้ามีลักษณะเป็นทรงกลมที่เรามองขึ้นไปจากภายใน เราใช้วิธีปกติบอกทิศไม่ได้เพราะบนทรงกลมท้องฟ้าไม่มีขอบฟ้าให้เป็นจุดอ้างอิง คล้ายเราหันหน้าไปทางทิศเหนือ ขวามือของเราจะเป็นทิศตะวันออกซ้ายมือจะเป็นทิศตะวันตก

แต่หากหันหน้าไปทางทิศใต้คราวนี้ขวามือของเรากลับกลายเป็นทิศตะวันตก ซ้ายมือเป็นทิศตะวันออก จะเห็นว่าจากซ้ายจะเป็นขวาและจากขวาจะเป็นซ้ายชวนให้สับสน

วิธีที่ใช้แก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ยากนัก การบอกทิศในทรงกลมท้องฟ้าจะมีกฎ 2 ข้อ


  1. ทิศที่ดาวเคลื่อนที่ไปเป็นทิศตะวันตก
  2. ทิศที่ชี้ไปดาวเหนือคือทิศเหนือ


กฎทั้งสองข้อนี้สามารถใช้ได้กับทุกจุดบนทรงกลมท้องฟ้า เมื่อได้สองทิศหลักแล้วก็จะทราบทิศตะวันออกกับทิศใต้ และต้องย้ำว่าทิศบนท้องฟ้ากับทิศบนพื้นโลกแม้ดูคล้ายแถมใช้คำเดียวกัน แต่ความจริงแล้วแตกต่างกัน


ทิศที่ดาวเคลื่อนที่ไปคือทิศตะวันตก จะแตกต่างกับทิศบนพื้นดิน

ทิศเหนือคือทิศที่ชี้ไปที่ดาวเหนือ

กฎนี้จะไม่มีปัญหากับดูดาวตาเปล่าหรือด้วยกล้องสองตา แต่หากจะดูดาวผ่านกล้องโทรทัศน์จะปวดหัวในการระบุทิศมากขึ้น เพราะภาพจากกล้องดูดาวแบบหักเหแสงหรือแบบผสมที่ใช้ไดอะกอนอล ภาพที่เห็นจะเป็นภาพกลับซ้ายขวาหัวตั้ง ส่วนกล้องดูดาวแบบสะท้อนแสงนั้นจะเป็นภาพจริงหัวกลับ


ซ้ายมือเป็นภาพที่มองผ่านไดอะกอนอล
ภาพขวามือมองผ่านกล้องดูดาวแบบสะท้อนแสง


วีดีโอจำลองภาพในเลนส์ตาเมื่อปิดระบบตามดาว
ทิศที่ดาวไหลไปคือทิศตะวันตก

วิธีจะระบุทิศในกล้องดูดาวที่ง่ายที่สุดก็คือปิดระบบตามดาว ดูว่าดาวไหลไปด้านไหนด้านนั้นก็คือทิศตะวันตก หากดูยากและยังสับสนให้วางดาวที่เด่นสักดวงไว้กลางเลนส์ตาแล้วรอเวลาจะเห็นจุดที่ดาวไหลออกไปได้แน่นอนกว่า

และหากคุณใช้ไดอะกอนอลขอให้จำไว้ว่าการบิดไดอะโกนอลจะทำให้ฟิลด์ภาพหมุนตาม ดังนั้นต้องหาทิศตะวันตกใหม่ทุกครั้ง

เมื่อระบุทิศตะวันตกได้แล้วก็ระบุทิศเหนือโดยกล้องดูดาวที่ใช้ไดอะกอนอลทิศเหนือจะตามเข็มนาฬิกาไป 90 องศา ส่วนกล้องดูดาวแบบสะท้อนแสงจะทวนเข็มนาฬิกาไป 90 องศา จำว่า “ไดอะกอนอลตามเข็ม สะท้อนแสงทวนเข็ม” ก็ง่ายดี

ไม่รู้ว่าจะช่วยให้ “หลงฟ้า” มากขึ้นหรือน้อยลงนะครับ :)

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...