Tuesday, 26 September 2023

วัตถุที่สี่ในระบบ HIP 81208

 


     ภาพใหม่โดยกล้องโทรทรรศน์ใหญ่มาก(VLT) ในชิลีจับภาพระบบดาวอันเป็นอัตลักษณ์ HIP 81208 นักดาราศาสตร์คิดว่า HIP 81208 เป็นระบบที่ประกอบด้วยดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ที่ใจกลางระบบ(A, จุดสว่างที่กลางภาพ), ดาวแคระน้ำตาลดวงหนึ่ง(brown dwarf, B) ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ และดาวฤกษ์มวลต่ำอีกดวง(C ) ที่โคจรอยู่ไกลออกมา อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาใหม่ได้เผยให้เห็นสิ่งที่ซ่อนตัวอยู่ซึ่งไม่เคยพบมาก่อน เป็นวัตถุ (Cb) ซึ่งมีมวลราว 15 เท่าดาวพฤหัสฯ โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงเล็กอีกที

     การค้นพบ Cb หมายความว่า HIP 81208 เป็นระบบที่น่าสนใจอย่างเป็นอัตลักษณ์ โดยมีดาวฤกษ์สองดวงและวัตถุขนาดเล็กกว่าอีกสองดวงซึ่งโคจรรอบดาวฤกษ์แต่ละดวงอยู่ หรือพูดอีกอย่างก็คือ เป็นระบบจตุวัตถุแบบลำดับขั้น(hierarchical quadruple system) มวลของวัตถุ Cb ที่เพิ่งพบใหม่ทำให้มันอยู่ที่รอยต่อระหว่างความเป็นดาวเคราะห์กับดาวแคระน้ำตาล ซึ่งเป็นดาวฤกษ์แท้ง(failed star) ที่มีขนาดใหญ่กว่าดาวเคราะห์แต่ก็ไม่ได้มีมวลมากพอและร้อนมากพอที่จะหลอมไฮโดรเจนเป็นฮีเลียมเหมือนที่แกนกลางดาวฤกษ์แท้จริง

      ยักษ์ Cb ที่ซ่อนตัวอยู่ ถูกพบเมื่อทีมนักดาราศาสตร์ซึ่งนำโดย A. Chomez จากหอสังเกตการณ์ปารีส ได้กลับไปวิเคราะห์ข้อมูลจากเครื่องมือ SPHERE ที่ติดตั้งบน VLT ซ้ำอีกครั้ง ในขณะที่เครื่องมืออื่นๆ ใช้วิธีการล่าพิภพที่ห่างไกลโดยอ้อม แต่ SPHERE ใช้เทคนิคที่เรียกว่า การถ่ายภาพโดยตรง(direct imaging) สิ่งที่ได้เห็นนี้จึงเป็นภาพระบบของจริง แต่ก็ยังเป็นระบบจตุวัตถุแบบลำดับขั้นที่ถูกถ่ายภาพได้โดยตรงเป็นแห่งแรกด้วย ซึ่งมีคุณประโยชน์ต่อการเข้าใจว่าระบบที่ซับซ้อนเช่นนี้ก่อตัวและพัฒนาตัวได้อย่างไร

 

แหล่งข่าว eso.org : new planetary-mass object found in quadruple system  

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...