Friday 13 January 2023

ดาวหางที่มนุษย์นีแอนเดอธัลอาจเคยเห็น

 

ดาวหาง C/2022 E3(ZTF) image credit: Dan Bartlett/NASA/AFP


      นักดาราศาสตร์บอกว่าดาวหางที่เพิ่งค้นพบใหม่ดวงหนึ่งน่าจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเมื่อมันวิ่งผ่านโลกและดวงอาทิตย์ในช่วงนี้ เป็นครั้งแรกในรอบห้าหมื่นปี

     ดาวหางซึ่งมีชื่อว่า C/2022 E3(ZTF) ถูกพบเห็นครั้งแรกเมื่อมันวิ่งผ่านดาวพฤหัสฯ ในเดือนมีนาคม ปี 2022 หลังจากเดินทางจากดงน้ำแข็งที่ชายขอบของระบบสุริยะ จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด(perihelion) ในวันที่ 12 มกราคม และเข้าใกล้โลกมากที่สุด(perigee) ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์

     Thomas Prince ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ที่สถาบันเทคโนโลจีแห่งคาลิฟอร์เนีย(Caltech) ซึ่งทำงานที่ Zwicky Transient Facillity(ZTF) กล่าวว่า ดาวหางดวงนี้จะสว่างที่สุดเมื่อมันเข้าใกล้โลกมากที่สุด ดาวหางซึ่งประกอบด้วยน้ำแข็งและฝุ่น และขณะนี้เรืองออร่าสีเขียวและมีหางที่ยาวแต่สลัว ประเมินว่ามันมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 1 กิโลเมตร Nicolas Biver นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่หอสังเกตการณ์ปารีส กล่าว

     นี่ทำให้มันมีขนาดเล็กกว่า NEOWISE ดาวหางดวงล่าสุดที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งผ่านเข้าใกล้โลกในเดือนมีนาคม 2020 และ เฮลล์-บอพพ์(Hale-Bopp) ซึ่งวิ่งผ่านโลกในปี 1997 ซึ่งมีเส้น่ผ่าศูนย์กลางราว 60 กิโลเมตร แต่ผู้มาเยือนรายล่าสุดจะเข้าใกล้โลกมากกว่า ซึ่งชดเชยข้อเท็จจริงที่มันไม่ได้มีขนาดใหญ่ Biver กล่าว

ภาพดาวหาง C/2022 E3(ZTF) ซึ่งถ่ายโดยนักถ่ายภาพดาราศาสตร์ Hisayoshi Sato ตามที่เห็นในภาพนิ่งจากวีดีโอนาซา image credit: Hisayoshi Sato via NASA/JPL-Caltech

     ในขณะที่ดาวหางมีความสว่างมากที่สุดเมื่อมันผ่านโลกในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ แต่จันทร์ที่จะเต็มดวงขึ้นเรื่อยๆ ก็น่าจะทำให้สังเกตดาวหางได้ยาก สำหรับผู้สังเกตการณ์ซีกโลกเหนือ Biver แนะนำให้ชมดาวหางในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม ทางตะวันตกเฉียงเหนือในตอนฟ้ามืด เมื่อดาวหางจะผ่านระหว่างกลุ่มดาวหมีเล็ก และหมีใหญ่(Ursa Minor and Ursa Major) โดยจันทร์ดับ(New Moon) ในวันที่ 21 และ 22 มกราคม ก็เป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักสังเกตการณ์ด้วย

     และ C/2022 E3(ZTF) จะมองเห็นได้จากซีกโลกใต้ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ โอกาสอีกช่วงที่จะมองหาดาวหางบนท้องฟ้าจะเกิดในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เมื่อมันผ่านเข้าใกล้ดาวอังคาร Prince กล่าว

กราฟฟิคจากนาซาแสดงเส้นทางโคจรของดาวหาง

      ดาวหางดวงนี้ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตของมันอยู่ไกลอย่างน้อย 2500 เท่าระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ Prince กล่าว เชื่อกันว่าดาวหางดวงนี้มาจากเมฆออร์ต(Oort Cloud) ซึ่งเป็นทรงกลมขนาดใหญ่ที่ล้อมรอบระบบสุริยะ เป็นบ้านของวัตถุน้ำแข็ง ครั้งสุดท้ายที่มันผ่านโลกเกิดขึ้นในช่วงยุคหินเก่าตอนต้น(Upper Paleolithic) เมื่อมนุษย์นีแอนเดอธัล(Neandethals) ยังคงย่างเดินบนโลก แม้จะไม่รู้ว่า C/2022 E3(ZTF) คืออะไร

     Prince บอกว่าการเยี่ยมเยือนระบบสุริยะของดาวหางดวงนี้ครั้งต่อไปน่าจะเป็นอีก 5 หมื่นปีข้างหน้า แต่ Biver บอกว่าก็เป็นไปได้ที่หลังจากการเยี่ยมเยือนครั้งนี้ ดาวหางจะถูกขับออกจากระบบสุริยะเป็นการถาวร


แหล่งข่าว phys.org : once in 50000-year comet may be visible to the naked eye
                space.com : possible naked-eye comet will visit Earth for 1st time since Neanderthals in 2023

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...