Monday, 30 January 2023

คู่แคระที่เย็นจัด

 

ดาวแคระน้ำตาลเย็นมากพอที่จะมีเมฆ


    นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น และมหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย ซานดีเอโก ได้พบระบบคู่ที่เป็นแคระเย็นจัดที่อยู่ใกล้กันมากที่สุดเท่าที่เคยพบมา ดาวทั้งสองอยู่ใกล้กันมากจนใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งวันเพื่อโคจรรอบกันและกัน หรือพูดอีกอย่างว่า ปีบนดาวแต่ละดวงยาวนานเพียง 20.5 ชั่วโมงเท่านั้น

      ระบบที่เพิ่งค้นพบใหม่ LP 413-53AB ประกอบด้วยดาวแคระน้ำตาลที่เย็นจัด(ultracool brown dwarfs) คู่หนึ่ง ซึ่งเป็นดาวฤกษ์แท้ง(failed star) มวลต่ำมากๆ ที่เย็นจัดมากจนพวกมันเปล่งแสงในช่วงอินฟราเรดเป็นหลัก ทำให้มองไม่เห็นพวกมัน แต่พวกมันก็เป็นดาวชนิดที่พบได้ทั่วไปที่สุดในเอกภพ ก่อนหน้านี้ นักดาราศาสตร์พบระบบคู่แคระเย็นจัดคาบสั้น 3 ระบบเท่านั้น ทั้งหมดยังมีอายุค่อนข้างน้อย ไม่เกิน 40 ล้านปี แต่ LP 413-53AB มีอายุหลายพันล้านปีแล้ว(ใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ของเรา) แต่มีคาบการโคจรที่สั้นกว่าระบบคู่แคระเย็นจัดอื่นๆ ทั้งหมด อย่างน้อย 3 เท่า

      Chih-Chun DinoHsu นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่นอร์ธเวสเทิร์น ซึ่งนำการศึกษา กล่าวว่า มันน่าตื่นเต้นที่ได้พบระบบที่สุดขั้วอย่างนี้ ในทางทฤษฎีแล้ว เราทราบว่าน่าจะมีระบบลักษณะนี้อยู่ แต่ก็ไม่เคยจำแนกพบระบบแบบนี้ได้มาก่อนเลย Hsu นำเสนองานวิจัยในการประชุมสมาคมดาราศาสตร์อเมริกันครั้งที่ 241 ที่ซีแอตเติล

     Hsu เป็นนักวิจับหลังปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ที่วิทยาลัยศิลปะและวิทยาศาสตร์ไวน์เบิร์ก มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น เขาเริ่มการศึกษานี้ในขณะเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่ ยูซี ซานดีเอโก ซึ่งมีศาสตราจารย์ Adam Burgasser เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

ดาวแคระน้ำตาลสองดวงอยู่ห่างจากกันไม่ถึง 1% ระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ในปัจจุบัน และความใกล้ชิดนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป 

     ในตอนแรก ทีมได้พบระบบคู่ประหลาดแห่งนี้ในขณะศึกษาข้อมูลในคลัง Hsu ได้พัฒนาอัลกอริทึมซึ่งสามารถจำลองดาวโดยใช้ข้อมูลสเปคตรัมของมัน ด้วยการวิเคราะห์สเปคตรัมแสงที่เปล่งจากดาว นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์สามารถตรวจสอบองค์ประกอบเคมี, อุณหภูมิ แรงโน้มถ่วงและการโคจรของดาวได้ การวิเคราะห์นี้ยังแสดงการเคลื่อนที่ของดาวเมื่อมันเคลื่อนเข้าหาและออกห่างจากผู้สังเกตการณ์ ที่เรียกว่า ความเร็วแนวสายตา(radial velocity)

     เมื่อตรวจสอบข้อมูลสเปคตรัมของ LP 413-53AB Hsu ก็สังเกตเห็นบางสิ่งที่ประหลาด การสำรวจในช่วงต้นพบระบบเมื่อดาวซ้อนทับอยู่ตามแนวสายตา เส้นสเปคตรัมของพวกมันจึงซ้อนทับกันด้วย ทำให้ Hsu เชื่อว่ามันเป็นดาวเพียงดวงเดียว แต่เมื่อดาวเคลือนที่ไปตามวงโคจร เส้นสเปคตรัมก็เลื่อนไปในทิศทางตรงกันข้าม แยกออกเป็นคู่ในข้อมูลสเปคตรัมช่วงหลัง Hsu จึงตระหนักว่าแท้จริงแล้วเป็นดาวสองดวงที่อยู่ในระบบคู่ที่ประชิดกันอย่างมาก

      ด้วยการใช้กล้องโทรทรรศน์อย่างกล้องเคก Hsu ก็ตัดสินใจสำรวจด้วยตัวเอง ในวันที่ 13 มีนาคม 2022 ทีมก็หันกล้องไปที่กลุ่มดาววัว(Taurus) ในตำแหน่งที่ระบบคู่แห่งนี้อยู่ และสำรวจมันเป็นเวลา 2 ชั่วโมง จากนั้น พวกเขาก็สำรวจติดตามผลเพิ่มเติมในเดือนกรกฎาคม, ตุลาคม และธันวาคม

     เมื่อเราตรวจสอบแบบนี้ ก็ได้เห็นสรรพสิ่งเปลี่ยนแปลงไปในช่วงไม่นาทีที่สำรวจ Burgassser กล่าว ระบบคู่เกือบทั้งหมดที่เราติดตามมีวงโคจรที่มีคาบหลายปี ดังนั้น เราจึงต้องตรวจสอบมันทุกๆ ไม่กี่เดือน จากนั้น หลังจากเวลาผ่านไปสักพัก ก็จะปะติดปะต่อชิ้นส่วนปริศนาได้ แต่กับระบบนี้ เราได้เห็นเส้นสเปคตรัมที่เคลื่อนที่ออกจากกันในเวลาจริง มันน่าทึ่งที่ได้เห็นบางสิ่งเกิดขึ้นในเอกภพในช่วงชีวิตของมนุษย์

      การสำรวจได้ยืนยันสิ่งที่แบบจำลองได้ทำนายไว้ ระยะทางระหว่างดาวทั้งสองอยู่ที่ประมาณ 1% ระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ Burgasser กล่าวว่า ดาวแคระน้ำตาลเหล่านี้จะเย็นตัวและหดตัวลง นี่น่าสนใจเนื่องจากเมื่อพวกมันยังอายุน้อย บางทีอาจจะสัก 1 ล้านปี ก็น่าจะเคยเกยทับกัน ทีมสงสัยว่าดาวอาจจะขยับเข้าหากันและกันเมื่อพวกมันโคจรไป หรือพวกมันเข้าใกล้กันหลังจากผลักดาวดวงที่สามซึ่งสาบสูญไปแล้วออกไป ยังต้องการการสำรวจเพิ่มเติมเพื่อทดสอบแนวคิดเหล่านี้ 

ขนาดและระยะทางเปรียบเทียบของแคระน้ำตาล ดวงนี้

     Hsu ยังบอกว่าด้วยการศึกษาระบบดาวที่คล้ายๆ กันนี้ นักวิจัยจะสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับดาวเคราะห์ที่อาจจะเอื้ออาศัยได้นอกเหนือจากโลก ดาวแคระเย็นจัดนั้นสลัวกว่าและมืดกว่าดวงอาทิตย์อย่างมาก ดังนั้น พิภพใดๆ ที่มีน้ำของเหลวอยู่บนพื้นผิว ก็น่าจะอยู่ใกล้ดาวฤกษ์มากกว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับ LP 413-53AB ระยะทางเขตเอื้ออาศัยได้(habitable zone) บังเอิญเท่ากับวงโคจรของดาว ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะก่อตัวดาวเคราะห์ที่เอื้ออาศัยได้ในระบบแห่งนี้

     ดาวแคระเย็นจัดเหล่านี้เป็นเพื่อนบ้านของดวงอาทิตย์ Hsu กล่าว เพื่อจำแนกต้นสังกัดที่อาจเอื้ออาศัยได้ ก็จำเป็นที่ต้องเริ่มต้นจากละแวกเพื่อนบ้านของเรา แต่ถ้าระบบคู่ระยะประชิดนั้นพบได้ทั่วไปในบรรดาแคระเย็นจัดแล้ว ก็อาจได้พบพิภพที่เอื้ออาศัยได้เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น

      เพื่อศึกษาลำดับเหตุการณ์นี้อย่างครบถ้วน Hsu, Burgasser และเพื่อนร่วมงานของเขาหวังว่าจะได้พบระบบคู่แคระเย็นจัดเพิ่มเติมเพื่อทำตัวอย่างข้อมูลที่สมบูรณ์ ข้อมูลการสำรวจใหม่น่าจะช่วยเน้นย้ำแบบจำลองทางทฤษฎีการก่อตัวและวิวัฒนาการของระบบดาวคู่ อย่างไรก็ตาม จนบัดนี้ การพบระบบคู่แคระเย็นจัดก็ยังเป็นโอกาสที่หาได้ยาก ระบบเหล่านี้หาได้ยาก Chris Theissen ผู้เขียนร่วมการศึกษา และประธานกลุ่มนักวิจัยหลังปริญญาเอกที่ UCSD กล่าว

      แต่เราไม่ทราบว่าพวกมันพบได้ยากเพราะ พวกมันมีอยู่น้อยจริงๆ หรือเพราะเราแค่ไม่พบมันเท่านั้น นี่จึงยังเป็นคำถามปลายเปิด ขณะนี้ เรามีจุดเริ่มต้นที่จะต่อยอดต่อไปแล้ว ข้อมูลนี้จะอยู่ในคลังข้อมูลไปอีกนาน อัลกอริทึมของดิโน(Hsu) จะช่วยให้เราได้พบระบบคู่ลักษณะนี้ได้มากขึ้น


แหล่งข่าว phys.org : ultracool dwarf binary stars break records
                ilfscience.com : two ultracool failed stars spin around each other in record-breaking time 

Friday, 27 January 2023

ท้องฟ้าที่ไม่ใช่แค่สีฟ้า

 

ภาพจากสถานีอวกาศนานาชาติแสดงสีต่างๆ ของการเรืองแสงของชั้นบรรยากาศ(airglow)


      เมื่อมองท้องฟ้าวันที่แดดสดใสไร้เมฆ คุณจะเห็นฟ้าสีฟ้า แต่นี่เป็นสีที่แท้จริงของท้องฟ้าหรือไม่ หรือสีฟ้าเป็นสีเดียวของท้องฟ้า

     คำตอบอาจจะซับซ้อนเล็กน้อย แต่ก็เกี่ยวข้องกับธรรมชาติของแสง, อะตอม และโมเลกุล และเรื่องจุกจิกในชั้นบรรยากาศโลก และเลเซอร์ยักษ์ด้วย

     ดังนั้นแล้ว สิ่งแรกๆ เมื่อเรามองท้องฟ้าสีฟ้าในวันที่แดดดี เรากำลังได้เห็นอะไร เรากำลังเห็นสีฟ้าของไนโตรเจน หรือสีฟ้าของออกซิเจนกันแน่ คำตอบง่ายๆ ก็คือ ไม่ใช่ แทนที่จะมองเห็นแสงสีฟ้า สิ่งที่เราเห็นก็คือแสงอาทิตย์ที่เกิดการกระเจิง(scattering) ดวงอาทิตย์ผลิตแสงช่วงตาเห็นในสเปคตรัมที่กว้าง ซึ่งเรามองเห็นเป็นสีขาวนั้นแท้ที่จริงแล้วมันประกอบด้วยสีทั้งหมดบนสายรุ้ง

      เมื่อแสงอาทิตย์ผ่านทะลุอากาศ, อะตอมและโมเลกุลในชั้นบรรยากาศ จะเกิดการกระเจิงของแสงสีฟ้าออกมากกว่าแสงสีแดงในทุกทิศทุกทาง นี่เรียกว่า การกระเจิงเรย์ลีห์(Rayleigh scattering) และผลที่ได้ก็คือ ดวงอาทิตย์สีขาวและท้องฟ้าสีฟ้าในกลางวันที่สดใส

      แต่เมื่ออาทิตย์ตก เราจะได้เห็นผลในทางย้อนกลับ เนื่องจากแสงอาทิตย์จะต้องผ่านอากาศมากขึ้นเพื่อมาถึงเรา เมื่อดวงอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า แสงสีฟ้าทั้งหมดก็กระเจิง(หรือถูกดูดกลืนโดยฝุ่น) ดังนั้น เราจึงได้ดวงอาทิตย์สีแดง โดยมีเฉดสีฟ้าอยู่รอบๆ แล้วถ้าแสงที่เราได้เห็นเป็นแสงที่กระเจิงออกมาทั้งหมด แล้วสีที่แท้จริงของท้องฟ้าเป็นสีอะไร บางทีเราจะหาคำตอบได้ในตอนกลางคืน

เงาร่างของต้นไม้ที่มีแอร์โกลว์ที่ท้องฟ้าพื้นหลัง

      ถ้ามองท้องฟ้ายามกลางคืน มันก็ดูจะมืด แต่ก็ไม่ได้ดำปี๋ ใช่เพราะว่ามีดาวอยู่มากมาย แต่ท้องฟ้ายามค่ำคืนก็เรืองสว่างด้วย ไม่ใช่เพราะมลภาวะทางแสง แต่เพราะชั้นบรรยากาศเรืองแสงเองตามธรรมชาติ ในคืนเดือนมืดในย่านชนบทไกลกว่าแสงของเมือง คุณจะมองเห็นต้นไม้และเนินเขาเป็นเงาตัดกับท้องฟ้า แสงเรืองนี้เรียกว่า airglow เกิดขึ้นจากอะตอมและโมเลกุลในชั้นบรรยากาศ ในช่วงแสงที่ตาเห็น ออกซิเจนจะสร้างสีเขียวและสีแดง โมเลกุลไฮดรอกซิล(OH) สร้างสีแดง และโซเดียมสร้างสีเหลือง ไนโตรเจนซึ่งพบได้มากกว่าโซเดียมในอากาศ ไม่ได้มีผลต่อแอร์โกลว์เท่าใดนัก

     สีที่โดดเด่นของ airglow จึงเป็นผลจากอะตอมและโมเลกุลที่เปล่งพลังงานที่จำเพาะ(ควอนตา) ในรูปแบบของแสง ยกตัวอย่างเช่น ที่ระดับความสูงที่มาก แสงอุลตราไวโอเลตจะสามารถแยกออกซิเจน(O2) ออกเป็นอะตอมออกซิเจน 2 อะตอม และเมื่ออะตอมเหล่านี้กลับไปรวมกันกลายเป็นโมเลกุลออกซิเจนเหมือนเดิม จะสร้างแสงสีเขียวออกมา

     โซเดียมซึ่งพบเพียงน้อยนิดในชั้นบรรยากาศ แต่ก็ส่งผลอย่างมากต่อแอร์โกลว์ และก็มีกำเนิดที่ไม่ปกติอย่างมาก คือ มาจากดาวตก เมื่อคุณได้เห็นดาวตกในยามค่ำคืนที่ฟ้ามืด อาจจะมีอุกกาบาตก้อนจิ๋วที่เป็นเม็ดฝุ่นซึ่งร้อนขึ้นและระเหยในชั้นบรรยากาศส่วนบน เมื่อพวกมันเดินทางด้วยความเร็วมากกว่า 11 กิโลเมตรต่อวินาที เมื่อดาวตกวิ่งผ่านท้องฟ้า ที่ราวระดับความสูง 100 กิโลเมตร จะทิ้งรอยอะตอมและโมเลกุลไว้

     บางครั้งก็มองเห็นดาวตกในสีที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นผลจากอะตอมและโมเลกุลที่มีในดาวตก ดาวตกที่สว่างมากๆ จะทิ้งเส้นควันให้มองเห็นได้ และในบรรดาอะตอมและโมเลกุลเหล่านั้น ก็คือโซเดียมจำนวนน้อยนิดด้วย ชั้นของอะตอมโซเดียมที่อยู่สูงนี้แท้จริงแล้วมีประโยชน์สำหรับนักดาราศาสตร์ ชั้นบรรยากาศของเรานั้นมีการเคลื่อนที่แบบตั้งฉาก กล่าวคือ ความปั่นป่วนและทำให้ภาพดาวเคราะห์, ดาวและกาแลคซีเบลอ

ภาพจากสถานีอวกาศนานาชาติจับภาพดาวตกและแอร์โกลว์

     เพื่อชดเชยผลจากความปั่นป่วนในชั้นบรรยากาศนี้ นักดาราศาสตร์ต้องถ่ายภาพดาวที่สว่างอย่างรวดเร็ว และตรวจสอบว่าภาพของดาวบิดเบี้ยวไปแค่ไหน กระจกพิเศษที่บิดไปมาก็จะถูกปรับเพื่อกำจัดการรบกวนนี้ สร้างภาพที่บางครั้งก็คมชัดกว่าที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เทคนิคซึ่งเรียกว่า adaptive optics นี้ทรงพลังแต่ก็ยังมีปัญหาใหญ่ก็คือ ไม่ได้มีดาวที่สว่างตามธรรมชาติพอสำหรับระบบให้ทำงานได้ตลอดทั้งคืน ดังนั้น นักดาราศาสตร์จึงสร้างดาวประดิษฐ์ขึ้นบนท้องฟ้าเรียกว่า ดาวนำทางเลเซอร์(laser guide stars)

     โซเดียมอะตอมเหล่านั้นอยู่สูงเหนือชั้นบรรยากาศที่ปั่นป่วน และเราสามารถทำให้มันเรืองสว่างไสวโดยการยิงเลเซอร์ขึ้นไปเปลี่ยนให้โซเดียมเรืองสีเหลือง ดาวประดิษฐ์ที่ได้ก็จะถูกใช้กับระบบปรับกระจกต่อไป ดาวตกที่คุณได้เห็นจึงช่วยเราให้ได้มองเห็นเอกภพได้ชัดเจนขึ้น

      ดังนั้น ท้องฟ้าจึงไม่ได้เป็นสีฟ้าตลอด เมื่อมีการเรืองแสงบนท้องฟ้ายามค่ำคืนด้วย ซึ่งมีสีผสมระหว่างเขียว, เหลือง และแดง สีของมันเป็นผลจากแสงอาทิตย์ที่กระเจิงออก, ออกซิเจนและโซเดียมจากดาวตก


แหล่งข่าว space.com : the sky isn’t just blue – airglow makes it green, yellow and red too
                astronomy.com :  the sky isn’t just blue – airglow makes it green, yellow and red too

Tuesday, 24 January 2023

คู่หลุมดำที่กำลังควบรวมที่อยู่ใกล้ที่สุด

 

ภาพจากศิลปินแสดงช่วงปลายของการควบรวมกาแลคซี และหลุมดำในใจกลางที่เพิ่งค้นพบใหม่ แห่ง หลุมดำคู่นี้อยู่ใกล้กันมากที่สุดเท่าที่เคยสำรวจพบในพหุความยาวคลื่น(multiple wavelengths)


     กาแลคซีมักจะชนกันและกันในกระบวนการที่เกิดช้าที่เรียกว่า การควบรวม หลุมดำมวลมหาศาลที่ใจกลางกาแลคซีเองก็สามารถควบรวมได้เมื่อเวลาผ่านไป นักดาราศาสตร์ได้พบหลุมดำลักษณะดังกล่าว 2 แห่งที่ได้เจอกันและจะควบรวมกัน พวกมันยังไม่ได้ชนกันจริง แต่กลับกำลังกลืนก๊าซที่หมุนวนรอบๆ เป็นคู่หลุมดำมวลมหาศาลที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดเท่าที่เคยพบมา

     พวกมันยังอยู่ห่างจากกันและกันเพียง 750 ปีแสงในกาแลคซีที่มีชื่อว่า UGC 4211 ซึ่งอยู่ห่างจากโลกออกไปเพียงราว 5 ร้อยล้านปีแสงในกลุ่มดาวปู(Cancer) ต้องขอบคุณพลังของเครือข่ายมิลลิเมตร/เสี้ยวมิลลิเมตรขนาดใหญ่อะตาคามา(ALMA) นักวิจัยจึงสามารถซูมเข้าไปในแกนกลางของกาแลคซีแห่งนี้ และพบหลุมดำสองแห่งที่กำลังกลืนกินก๊าซที่เป็นผลพลอยได้จากการควบรวมของกาแลคซีอย่างตะกละ และเมื่อหลุมดำยักษ์เหล่านี้กลืนกินวัสดุสารใกล้เคียงอย่างมูมมาม พวกมันจะเปล่งไอพ่นและลมรุนแรงออกมา สร้างเป็นนิวเคลียสกาแลคซีกัมมันต์(active galactic nucleus) ให้ ALMA ได้ตรวจพบ  

     แบบจำลองเสมือนจริงบอกว่าประชากรหลุมดำคู่เกือบทั้งหมดในกาแลคซีใกล้ๆ น่าจะจำศีลอยู่ เนื่องจากพวกมันมีมากกว่ามาก แต่ไม่ใช่หลุมดำที่กำลังเจริญเติบโตสองแห่งอย่างที่เราได้พบนี้ Michael Koss ผู้เขียนนำ นักวิทยาศาสตร์วิจัยอาวุโสที่ Eureka Scientific กล่าวในแถลงการณ์

     ALMA มีความอัตลักษณ์จนเราสามารถมองทะลุกลุ่มก๊าซและฝุ่นขนาดใหญ่ และเข้าถึงความละเอียดที่สูงมากจนได้เห็นสิ่งที่อยู่ใกล้กันมากๆ นี้ การศึกษาของเราได้จำแนกหนึ่งในคู่หลุมดำที่อยู่ใกล้ที่สุดในกาแลคซีที่ควบรวมแห่งหนึ่ง และเนื่องจากเราทราบว่าในเอกภพยุคต้นเกิดการควบรวมของกาแลคซีได้บ่อยกว่า จึงอาจจะมีหลุมดำคู่เหล่านี้อยู่มากมายกว่าที่เคยคิดไว้

การสำรวจหลุมดำมวลมหาศาลสองแห่งที่เพิ่งพบใหม่ที่กำลังจะชนกัน กาแลคซีต้นสังกัดของพวกมัน(ซ้าย) เป็นซากจากความวุ่นวายเมื่อกาแลคซีสองแห่งชนกัน ช่องสีชมพูแสดงตำแหน่งของหลุมดำเหล่านี้ การสำรวจหลุมดำคู่ในระยะใกล้(ขวา) เผยให้เห็นหลุมดำสองแห่งอย่างชัดเจน(จุดสีขาว) ซึ่งอยู่ห่างกันและกันเพียง 750 ปีแสงเท่านั้น

     การควบรวมของหลุมดำมวลมหาศาลยังเป็นกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อนมาก พวกมันไม่ได้แค่เพียงชนกันหรือเข้าใกล้กันและกันอย่างอัตโนมัติ คู่ในการศึกษานี้น่าจะพบกับแรงเสียดทานพลวัตอันเนื่องจากก๊าซที่ล้อมรอบพวกมัน ซึ่งทำให้พวกมันสูญเสียพลังงานการโคจรและเข้าใกล้กันและกันมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดช่วงหนึ่งแสนปีที่ผ่านมา แต่ระยะทางอีกไม่กี่ปีแสงท้ายๆ จะช่วยเวลายาวนานกว่า ดาวและก๊าซที่เหลืออยู่จะช่วยผลักพวกมันเข้าหากันอย่างช้ามากๆ น่าจะเกือบ 180 ล้านปี

     และต่อเมื่อพวกมันใกล้กันมาก ที่ผลจากคลื่นความโน้มถ่วงจะมากพอที่จะชักนำพวกมันให้ชนกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าคู่ลักษณะนี้มีอยู่ทั่วไป พวกเราก็จะตรวจจับเหตุการณ์เหล่านี้ได้มากมายด้วยหอสังเกตการณ์ในอนาคต

     Ezequiel Treister ผู้เขียนร่วม นักดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยคาทอลิคในชิลี กล่าวเสริมว่า ก็อาจจะมีคู่ของหลุมดำมวลมหาศาลที่กำลังโตอีกมากมาย ในใจกลางกาแลคซีที่เราไม่สามารถจำแนกได้เลย ถ้าเป็นกรณีนี้ ในอนาคตอันใกล้ เราก็จะสำรวจเหตุการณ์คลื่นความโน้มถ่วงที่เกิดจากการควบรวมโดยวัตถุเหล่านี้ได้บ่อยครั้ง

      การค้นพบนี้ยังเป็นการสำรวจจากโครงการวิจัยและกล้องโทรทรรศน์หลายแห่งในหลายช่วงความยาวคลื่น ใช้กล้องโทรทรรศน์ที่แตกต่างกันหลายตัวเพื่อให้เข้าใจคู่ที่น่าเหลือเชื่อนี้ให้ดีที่สุด Treister กล่าวว่า ในแต่ละช่วงความยาวคลื่นก็บอกเล่าส่วนที่แตกต่างกันในเรื่องราว ในขณะที่การถ่ายภาพช่วงตาเห็นจากภาคพื้นดินได้แสดงให้เห็นถึงกาแลคซีที่กำลังควบรวมกันโดยรวม กล้องฮับเบิลเผยให้เห็นพื้นที่ใจกลางด้วยความละเอียดสูง การสำรวจในช่วงรังสีเอกซ์เผยให้เห็นว่ามีนิวเคลียสกาแลคซีกัมมันต์อย่างน้อยหนึ่งแห่งในระบบแห่งนี้ และ ALMA ก็แสดงให้เห็นตำแหน่งที่แน่ชัดของหลุมดำมวลมหาศาลสองแห่งที่กำลังหิวโหยและเจริญเติบโต

ภาพจาก VLT ผ่านอุปกรณ์ MUSE ภาพซ้ายแสดงกาแลคซี UGC 4211 ในสภาพที่มีแถบฝุ่นปกคลุมแสงดาวไว้ ภาพขวาแสดงการเปล่งคลื่นจากออกซิเจน, ไนโตรเจนและไฮโดรเจน เป็นสีฟ้า, เขียว และแดง ตามลำดับ สีแดงระบุพื้นที่การก่อตัวดาว และพื้นที่ใจกลางสีขาวสว่างระบุการมีอยู่ของหลุมดำมวลมหาศาลสองแห่งที่กำลังกลืนกินวัสดุสารจากรอบๆ

     ข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้ช่วยให้เรามีภาพที่ชัดเจนขึ้นว่า กาแลคซีอย่างทางช้างเผือกของเราเปลี่ยนแปลงมาเป็นแบบที่มันเป็นในปัจจุบันได้อย่างไร และในอนาคตมันจะเป็นอย่างไรต่อไป การค้นพบเผยแพร่ใน Astrophysical Journal Letters วันที่ 9 มกราคม และนำเสนอในการแถลงข่าวการประชุมสมาคมดาราศาสตร์อเมริกัน ครั้งที่ 241 ที่ซีแอตเติล วอชิงตัน


แหล่งข่าว iflscience.com : supermassive black holes spotted feeding side by side in nearby galaxy
                space.com : hungry black holes trapped in an intimate dance feast on leftovers from a galactic merger  

Thursday, 19 January 2023

กล้องเวบบ์ยืนยันดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรก LHS 475b

 
หลักฐานใหม่จากกล้องเวบบ์ ภาพนี้แสดงดาวเคราะห์นอกระบบ LHS 475b ว่ามันเป็นดาวเคราะห์หินที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลกอย่างมาก ดาวเคราะห์วิ่งไปรอบดาวฤกษ์แม่ในเวลาเพียงสองวันเท่านั้น นักวิจัยจะใช้กล้องเวบบ์ทำการสำรวจเพิ่มเติมในฤดูร้อนนี้ โดยหวังว่าจะช่วยให้สรุปได้ว่าดาวเคราะห์นี้มีชั้นบรรยากาศหรือไม่


     เป็นครั้งแรกที่นักวิจัยยืนยันการมีอยู่ของดาวเคราะห์นอกระบบดวงหนึ่งโดยใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ ดาวเคราะห์ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า LHS 475b มีขนาดพอๆ กับโลกของเรา ที่ 99% เส้นผ่าศูนย์กลางโลก

     ทีมวิจัยที่นำโดย Kevin Stevenson และ Jacob Lustig-Yaeger จากห้องทดลองฟิสิกส์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอบกินส์(JHUAPL) ทั้งคู่ ได้เลือกสำรวจเป้าหมายนี้ด้วยเวบบ์หลังจากตรวจสอบข้อมูลจากดาวเทียม TESS(Transiting Exoplanet Explorer Satellite) อย่างระมัดระวัง สเปคโตรกราฟอินฟราเรดใกล้(NIRSpec) ของเวบบ์ก็จับดาวเคราะห์ได้ง่ายและชัดเจนโดยทำการสำรวจผ่านหน้า(transit) เพียงสองครั้งเท่านั้น ดาวเคราะห์อยู่ที่นั่นอย่างไม่มีคำถาม ข้อมูลของเวบบ์ยืนยันมัน Lusig-Yaeger กล่าว ความจริงที่มันยังเป็นดาวเคราะห์หินขนาดเล็กนั้นที่กล้องได้พบสร้างความประทับใจ Stevenson กล่าวเสริม

     ผลสรุปจากการสำรวจพบดาวเคราะห์หินขนาดเท่าโลกเป็นครั้งแรกนี้ ยังเปิดประตูสู่ความเป็นไปได้มากมายในอนาคตในการศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์หินด้วยกล้องเวบบ์ Mark Clampin ผู้อำนวยการแผนกดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่สำนักงานใหญ่นาซา ในวอชิงตัน ดีซี กล่าวอย่างเห็นพ้อง เวบบ์กำลังนำเราเข้าใกล้ความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับพิภพคล้ายโลกนอกระบบสุริยะมากขึ้นเรื่อยๆ และปฏิบัติการก็เพียงแค่เริ่มต้น

     ในบรรดากล้องโทรทรรศน์ที่กำลังทำงานอยู่ทั้งหมด มีแต่เพียงเวบบ์ที่สามารถแจกแจงคุณสมบัติชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์คล้ายโลกนอกระบบได้ ทีมพยายามจะประเมินว่าชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์เป็นอย่างไร โดยการวิเคราะห์สเปคตรัมส่องผ่าน(transmission spectrum) แม้ว่าข้อมูลจะแสดงว่าเป็นดาวเคราะห์หินที่มีขนาดพอๆ กับโลก แต่พวกเขาก็ยังไม่ทราบว่ามันมีชั้นบรรยากาศอยู่หรือไม่ ข้อมูลจากเวบบ์ช่างสวยงาม Erin May จาก APLJHU กล่าว กล้องมีความไวมากจนตรวจสอบโมเลกุลชนิดต่างๆ ได้โดยง่าย แต่เราก็ยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ เกี่ยวกับชั้นบรรยากาศดาวเคราะห์นี้

นักวิจัยพบดาวเคราะห์นอกระบบได้อย่างไร ก็โดยการสำรวจการเปลี่ยนแปลงของแสงเมื่อมันโคจรรอบดาวฤกษ์แม่ กราฟแสงจากสเปคโตรกราฟอินฟราเรดใกล้(NIRSpec) บนเวบบ์แสดงการเปลี่ยนแปลงความสว่างจากระบบ LHS 475 เมื่อดาวเคราะห์ผ่านหน้า(transit) ดาวฤกษ์แม่ในวันที่ 31 สิงหาคม 2022 ภาพกราฟฟิคแสดงการเปลี่ยนแปลงความสว่างเปรียบเทียบในระบบดาวฤกษ์-ดาวเคราะห์ ตลอด ชั่วโมง สเปคตรัมแสดงว่าความสว่างของระบบที่คงที่จนกระทั่งดาวเคราะห์เริ่มต้นผ่านหน้าดาวฤกษ์ ความสว่างจึงลดลงซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่าดาวเคราะห์กำลังเคลื่อนที่ผ่านหน้าดาวฤกษ์โดยตรง ความสว่างเพิ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อดาวเคราะห์ไม่ได้กันแสงดาวอีกต่อไป เมื่อมันเคลื่อนผ่านไปแล้ว

      แม้ว่าทีมจะไม่สามารถสรุปสิ่งที่มีอยู่ได้ แต่พวกเขาก็บอกได้แน่ชัดว่าอะไรที่ไม่มี Lustig-Yaeger อธิบายว่า มีชั้นบรรยากาศแบบที่พบบนดาวเคราะห์หินบางส่วนที่เราตัดทิ้งไปได้ มันไม่อาจมีชั้นบรรยากาศที่อุดมด้วยมีเธนหนาทึบคล้ายกับที่มีบนดวงจันทร์ไททัน(Titan) ของดาวเสาร์ ทีมยังบอกว่าเป็นไปได้ที่ดาวเคราะห์จะไม่มีชั้นบรรยากาศ แม้จะมีองค์ประกอบชั้นบรรยากาศบางส่วนที่ยังไม่สามารถตัดออกได้ เช่น ชั้นบรรยากาศที่เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ล้วน

     โดยปกติ ชั้นบรรยากาศที่เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ 100% จะมีขนาดกะทัดรัดอย่างมากจนยากที่จะตรวจพบได้ Lustig-Yaeger กล่าว แม้ว่ายังต้องมีการตรวจสอบอย่างแม่นยำเพื่อแยกแยะระหว่างชั้นบรรยากาศคาร์บอนไดออกไซด์ล้วน กับการไม่มีชั้นบรรยากาศอยู่เลย นักวิจัยจึงวางแผนจะเก็บสเปคตรัมเพิ่มเติมในฤดูร้อน

      กล้องเวบบ์ยังเผยให้เห็นว่าดาวเคราะห์มีอุณหภูมิสูงกว่าโลกหลายร้อยองศา จนถ้าพบว่ามีเมฆอยู่ ก็อาจชักนำให้นักวิจัยสรุปว่าดาวเคราะห์น่าจะคล้ายกับดาวศุกร์มากกว่า ซึ่งเป็นคาร์บอนไดออกไซด์และปกคลุมด้วยเมฆหนาทึบ Lustig-Yaeger กล่าวว่า เราอยู่แค่หน้ารั้วการศึกษาดาวเคราะห์หินนอกระบบขนาดเล็ก เราแค่เริ่มสะกิดเกาผิวว่าชั้นบรรยากาศของพวกมันน่าจะมีสภาพอย่างไร

      นักวิจัยยังยืนยันว่าดาวเคราะห์นี้โคจรครบรอบในเวลาเพียงสองวันเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อมูลที่แทบจะเผยให้เห็นในทันทีจากกราฟแสงของเวบบ์ที่แม่นยำ แม้ว่า LHS 475b จะอยู่ใกล้ดาวฤกษ์แม่ของมันมากกว่าดาวเคราะห์ใดๆ ในระบบสุริยะ แต่ดาวฤกษ์แม่ที่เป็นแคระแดงวัยกลางคนก็มีอุณหภูมิไม่ถึงครึ่งหนึ่งของดวงอาทิตย์ ดังนั้น นักวิจัยจึงคิดว่ามันยังคงรักษาชั้นบรรยากาศไว้ได้

เส้นราบเรียบในสเปคตรัมแบบส่องผ่าน ก็บอกเกี่ยวกับดาวเคราะห์ได้มากมาย นักวิจัยใช้ NIRSpec สำรวจ LHS 475b ในวันที่ 31 สิงหาคม 2022 ตามที่เห็น เวบบ์ไม่ได้สำรวจพบธาตุหรือโมเลกุลใดๆ ในระดับที่ตรวจจับได้ ข้อมูล(จุดสีขาว) สอดคล้องกับสเปคตรัมที่ไร้รายละเอียดที่บอกว่าดาวเคราะห์ไม่มีชั้นบรรยากาศ(เส้นสีเหลือง) เส้นสีม่วงแสดงถึงชั้นบรรยากาศคาร์บอนไดออกไซด์ล้วน และแยกไม่ออกจากเส้นแบนในระดับความเที่ยงตรงปัจจุบัน เส้นสีเขียวแสดงชั้นบรรยากาศมีเธนล้วนซึ่งไม่สอดคล้องเลย เนื่องจากถ้ามีมีเธนอยู่ ก็น่าจะกันแสงดาวที่ 3.3 ไมครอน


      การค้นพบของทีมวิจัยได้เปิดความเป็นไปได้สู่การระบุดาวเคราะห์ขนาดพอๆ กับโลกในวงโคจรรอบดาวแคระแดงที่มีขนาดเล็กลงไปอีก การยืนยันดาวเคราะห์หินดวงนี้เน้นให้เห็นความแม่นยำของเครื่องมือของเวบบ์ Stevenson กล่าว และมันก็เป็นเพียงงานแรกๆ ในการค้นพบมากกว่าที่จะตามมา Lustig-Yaeger เห็นพ้องด้วยว่า ด้วยกล้องเวบบ์ ดาวเคราะห์หินนอกระบบจึงเป็นพรมแดนใหม่

     ไม่ว่าพิภพแห่งนี้จะมีชั้นบรรยากาศหรือไม่ บางทีสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือข้อมูลปัจจุบันส่งผลต่อการสำรวจในอนาคตอย่างไร การตรวจสอบของเราได้บรรลุถึงความไวที่ต้องการเพื่อสามารถใช้ตรวจจับชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ขนาดพอๆ กับโลกได้ Lustig-Yaeger บอก แม้ว่าดาวเคราะห์เหล่านี้อาจจะไม่เอื้ออาศัยเลย

     การสำรวจในอนาคตทั้งพิภพที่มีชั้นบรรยากาศและไม่มี จะช่วยเปิดช่องสู่สภาวะที่อาจเป็นสาเหตุให้ดาวเคราะห์สูญเสียชั้นบรรยากาศของมันได้ เราสนใจว่าเส้นแบ่งนี้ระหว่างดาวเคราะห์ที่มีและไม่มีชั้นบรรยากาศ อยู่ตรงไหน Lustig-Yaeger กล่าว คงจะน่าสนใจที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการที่ทำให้ดาวฤกษ์ที่แตกต่างกันมากเหล่านี้และระบบดาวเคราะห์ของพวกมันมีความแตกต่างจากระบบสุริยะของเรา

     LHS 475b อยู่ค่อนข้างใกล้โดยห่างออกไปเพียง 41 ปีแสงในกลุ่มดาวออกแทนส์(Octans) ผลสรุปของทีมนำเสนอในการแถลงข่าวที่การประชุมสมาคมดาราศาสตร์อเมริกัน วันพุธที่ 11 มกราคม 2023


แหล่งข่าว spaceref.com : Webb Space Telescope confirms its first exoplanet
                skyandtelescope.com : Webb telescope confirms Earth-sized exoplanet, tries to sniff its air  

Sunday, 15 January 2023

กล้องเวบบ์พบกาแลคซีโบราณที่คล้ายทางช้างเผือก

 

ภาพกาแลคซี EGS 23205 ทั้งสองภาพซึ่งพบเห็นเมื่อ 11 พันล้านปีก่อน ในภาพจากฮับเบิล(ซ้าย, ถ่ายผ่านฟิลเตอร์อินฟราเรดใกล้) ภาพจากเวบบ์(ขวา ซึ่งถ่ายในช่วงอินฟราเรดกลาง)


     เป็นครั้งแรกที่ภาพใหม่จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ของนาซา ได้เผยให้เห็นกาแลคซีที่มีคานกลาง ซึ่งเป็นรายละเอียดกลุ่มของดาวรูปเรียวยาวพาดจากใจกลางกาแลคซีออกสู่ดิสก์รอบนอกของมัน ในช่วงเวลาที่เอกภพมีอายุเพียงหนึ่งในสี่ของอายุปัจจุบันเท่านั้น

     ทางช้างเผือกของเราเป็นกาแลคซีกังหันมีคานกลาง(barred spiral galaxy) แขนกังหันของมันไม่ได้หมุนวนไปรอบๆ แกนกลางทรงกลมที่เป็นดาวอยู่กันอย่างหนาแน่น แต่กลับเป็นโครงสร้างเรียวยาวที่เรียกว่า คานกลาง

     การค้นพบกาแลคซีซึ่งคล้ายกับทางช้างเผือกในช่วงต้นของเอกภพอย่างนี้ ทำให้นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ต้องหวนกลับมาคิดเกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการกาแลคซีเสียใหม่ ก่อนที่จะมีกล้องเวบบ์ ภาพจากกล้องฮับเบิลไม่เคยตรวจพบคานกลางในช่วงที่เอกภพอายุน้อยอย่างนี้ ในภาพฮับเบิลภาพหนึ่ง กาแลคซีแห่งหนึ่ง EGS-23205 ดูไม่คล้ายจากก้อนที่ดูคล้ายดิสก์ แต่ในภาพจากเวบบ์ซึ่งถ่ายเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา มันปรากฏเป็นกาแลคซีกังหันสวยงามที่มีคานกลางอย่างชัดเจน


แบบจำลองเสมือนจริงแสดง คานกลางดาวก่อตัวอย่างไร(ซ้าย) และการไหลเข้ามาของก๊าซซึ่งผลักดันโดยคานกลาง(ขวา) คานกลางมีบทบาทสำคัญในวิวัฒนาการกาแลคซีโดยการหมุนฟั่นก๊าซใหม่ๆ เข้าสู่พื้นที่ใจกลางกาลแคซี ซึ่งก๊าซจะถูกเปลี่ยนเป็นดาวฤกษ์ใหม่อย่างรวดเร็ว ด้วยอัตราตั้งแต่ 10 ถึง 100 เท่าของพื้นที่ส่วนที่เหลือของกาแลคซี คานกลางยังช่วยเลี้ยงหลุมดำในใจกลางกาแลคซีในทางอ้อม โดยดึงก๊าซบางส่วนไปทางหลุมดำ 

     Shardha Jogee ศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเทกซัส ออสติน กล่าวว่า ฉันหันไปมองข้อมูลแวบหนึ่ง และก็พูดว่า พวกเราคงต้องทิ้งทุกอย่างซะแล้ว คานกลางซึ่งเห็นได้ยากในภาพฮับเบิล กลับโผล่ขึ้นมาในภาพเวบบ์อย่างง่ายดาย แสดงถึงพลังที่เกินต้านทานของกล้องเวบบ์ในการมองเห็นโครงสร้างที่ซ่อนอยู่ในกาแลคซี เธอกล่าวในระหว่างอธิบายข้อมูลจากการสำรวจ CEERS(Cosmic Evolution Early Release Science Survey) ที่นำทีมโดย Steven Finkelstein ศาสตราจารย์ที่เทกซัส ออสติน

     ทีมยังจำแนกกาแลคซีมีคานอีกสองแห่งคือ EGS-24268 ซึ่งก็ปรากฏเมื่อราว 11 พันล้านปีก่อน ซึ่งทำให้กาแลคซีมีคานทั้งสองแห่งมีอยู่ย้อนเวลากลับไปได้ไกลกว่าที่สำรวจพบและเป็นสถิติมา ในบทความที่เผยแพร่ใน Astrophysical Journal Letters พวกเขาเน้นกาแลคซีทั้งสอง และยังแสดงตัวอย่างกาแลคซีมีคานกลางอื่นๆ อีก 4 แห่งจากเมื่อกว่า 8 พันล้านปีก่อน

     Yuchen KayGuo นักศึกษาปริญญาโทซึ่งนำทีมวิเคราะห์ กล่าวว่า สำหรับการศึกษานี้ เราได้มองหาหนทางใหม่ๆ ที่ไม่มีใครเคยใช้ข้อมูลในแบบนี้ หรือทำการวิเคราะห์ในเชิงปริมาณแบบนี้มาก่อน ดังนั้นทุกๆ อย่างจึงเป็นเรื่องใหม่ ก็เหมือนกับการเดินป่าที่ไม่มีใครเคยเข้าไปมาก่อน Eden Wise และ Zilei Chen นักศึกษาปริญญาตรีสองคนก็มีบทบาทสำคัญในงานวิจัยโดยการแยกแยะกาแลคซีหลายร้อยแห่งด้วยสายตา เพื่อหากาแลคซีที่ดูเหมือนจะมีคานกลาง ช่วยสร้างบัญชีรายชื่อให้นักวิจัยคนอื่นๆ ได้วิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์


ภาพจากกล้องเวบบ์ยังแสดงตัวอย่างกาแลคซีมีคานกลางอีก แห่ง สองในนั้นมองย้อนเวลากลับไปมากที่สุดเท่าที่เคยจำแนกได้ ตัวเลขด้านซ้ายบนของแต่ละภาพแสดงเวลาที่ย้อนไปของกาแลคซีแต่ละแห่ง ตั้งแต่ 8.4 จนถึง 11 พันล้านปีก่อน(Gyr) เมื่อเอกภพมีอายุราว 40% ถึง 20% ของอายุปัจจุบัน

      คานกลางในกาแลคซีแสดงบทบาทสำคัญในวิวัฒนาการกาแลคซี โดยการหมุนฟั่นก๊าซเข้าสุ่พื้นที่ใจกลาง เพิ่มการก่อตัวดาวให้สูงขึ้น คานกลางช่วยแก้ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนในกาแลคซี Jogee กล่าว ก็เหมือนกับที่เราต้องการวัตถุดิบใหม่ๆ จากท่าเรือเข้าสู่โรงงานบนแผ่นดินเพื่อสร้างผลิตผลใหม่ คานกลางเองก็นำส่งก๊าซเข้าสู่พื้นที่ใจกลางอย่างมีประสิทธิภาพ ที่นั่นก๊าซจะถูกเปลี่ยนเป็นดาวฤกษ์ใหม่ๆ อย่างรวดเร็วในอัตรา 10 ถึง 100 เท่าของส่วนที่เหลือในกาแลคซี คานกลางยังช่วยในการเลี้ยงดูหลุมดำมวลมหาศาล(supermassive black holes) ในใจกลางกาแลคซี โดยการหมุนฟั่นก๊าซบางส่วนไปที่หลุมดำ

     การค้นพบคานกลางในช่วงยุคต้นๆ จึงสั่นสะเทือนลำดับเหตุการณ์วิวัฒนาการกาแลคซีในหลายทาง การค้นพบคานกลางจากยุคต้นของเอกภพหมายความว่า ตอนนี้แบบจำลองวิวัฒนาการกาแลคซีมีเส้นทางใหม่ผ่านคานกลางเพื่อเร่งการสร้างดาวใหม่ๆ ในยุคต้นของเอกภพ Jogee กล่าว และการมีอยู่ของคานกลางในยุคต้นๆ เหล่านั้นก็ท้าทายแบบจำลองทฤษฎีเมื่อต้องระบุรูปร่างของกาแลคซีให้ถูกต้อง เพื่อที่จะทำนายปริมาณของคานกลางให้ถูกต้องด้วย

     กล้องเวบบ์สามารถเผยให้เห็นโครงสร้างในกาแลคซีที่ห่างไกลได้ดีกว่ากล้องฮับเบิล ด้วยเหตุผล 2 ประการ อย่างแรกคือ กระจกของเวบบ์ที่ใหญ่กว่าจึงมีความสามารถในการรวมแสงได้มากกว่า ช่วยให้เห็นได้ไกลขึ้นและมีความละเอียดสูงขึ้น อย่างที่สองคือ มันมองผ่านฝุ่นได้ดีกว่า เมื่อสำรวจในช่วงความยาวคลื่นอินฟราเรดที่มากกว่าที่ฮับเบิลทำ


แหล่งข่าว scitechdaily.com : James Webb Space Telescope looks back into the early universe, sees galaxies like our Milky Way
                iflscience.com : JWST spots ancient galaxies that look just like the Milky Way    

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...