หลุมดำส่วนใหญ่ถูกพบจากปฏิสัมพันธ์ที่หลุมดำมีต่อสิ่งแวดล้อม
ในปี 1916 Karl Schwarzchild ได้ตั้งทฤษฎีถึงการมีอยู่ของหลุมดำ
ว่าเป็นผลที่เกิดขึ้นจากสมการสนาม(field equation) จากทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์
ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 นักดาราศาสตร์ก็เริ่มตรวจจับหลุมดำได้เป็นครั้งแรก
โดยใช้วิธีการอ้อม ซึ่งประกอบด้วยการสำรวจผลของหลุมดำที่มีต่อวัตถุและอวกาศรอบข้าง
นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 นักดาราศาสตร์ได้ศึกษาหลุมดำมวลมหาศาล(supermassive
black hole; SMBHs) ซึ่งมีอยู่ในใจกลางกาแลคซีขนาดใหญ่เกือบทุกแห่งในเอกภพ
และในเดือนเมษายน 2019 กล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์(Event
Horizon Telescope) ก็เผยแพร่ภาพหลุมดำยักษ์เป็นครั้งแรก
การสำรวจเหล่านี้เป็นโอกาสอันดีในการทดสอบกฎทางฟิสิกส์ภายใต้สภาวะที่สุดขั้วที่สุด
และได้ให้แง่มุมสู่แรงที่กำกับเอกภพ จากการศึกษางานหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้
ทีมวิจัยนานาชาติที่พึ่งพาข้อมูลจากหอสังเกตการณ์ไกอา(Gaia) ขององค์กรอวกาศยุโรป
ได้สำรวจดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ดวงหนึ่ง ที่มีคุณสมบัติการโคจรที่ประหลาด
เนื่องจากธรรมชาติของการโคจรของดาว ทีมสรุปได้ว่าจะต้องเป็นระบบคู่ที่มีหลุมดำอยู่ด้วย
ซึ่งนี่จะทำให้มันเป็นหลุมดำที่อยู่ใกล้ระบบสุริยะมากที่สุดที่ระยะทาง 1570
ปีแสง
และส่งนัยยะต่อการมีอยู่ของหลุมดำที่จำศีล(dormant black holes) กลุ่มใหญ่ในกาแลคซีของเรา งานวิจัยซึ่งนำโดย Kareem
El-Badry นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่ศูนย์ฮาร์วาร์ดสมิธโซเนียนเพื่อดาราศาสตร์ฟิสิกส์(CfA) และสถาบันมักซ์พลังค์เพื่อดาราศาสตร์(MPIA)
เขาร่วมมือกับนักวิจัยจาก CfA,
MPIA, คาลเทค,
ยูซีเบิร์กลีย์, ศูนย์เพื่อการคำนวณดาราศาสตร์ฟิสิกส์(CCA) สถาบันฟลาติรอน, สถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มันน์,
หอสังเกตการณ์แห่งปารีส, สถาบันคัฟลี่เพื่อดาราศาสตร์ฟิสิกส์และการวิจัยอวกาศ
เอ็มไอที และมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง รายงานเผยแพร่การค้นพบใน Monthly
Notices of the Royal Astronomical Society
ตามที่ Al-Badry อธิบายไว้
การสำรวจเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงงานสำรวจเพื่อจำแนกหลุมดำจำศีลที่อยู่คู่กับดาวฤกษ์ปกติในทางช้างเผือก
ผมได้สำรวจหาหลุมดำจำศีลมาตลอดช่วงสี่ปีหลังโดยใช้ชุดข้อมูลและวิธีการที่หลากหลายมาก
ความพยายามก่อนหน้านี้ให้ระบบคู่ที่มีความคล้ายว่าจะเป็นหลุมดำ
แต่นี่เป็นครั้งแรกที่การสำรวจประสบความสำเร็จ
El-Badry และเพื่อนร่วมงานพึ่งพาข้อมูลที่ได้จากหอสังเกตการณ์ไกอา
ปฏิบัติการนี้ใช้เวลาเกือบหนึ่งทศวรรษ ตรวจสอบตำแหน่ง,
ระยะทางและการเคลื่อนที่จำเพาะของวัตถุทางดาราศาสตร์เกือบ 1 พันล้านดวง ได้แก่ ดาวฤกษ์, ดาวเคราะห์, ดาวหาง,
ดาวเคราะห์น้อย และกาแลคซี ด้วยการตามรอยการเคลื่อนที่ของวัตถุเมื่อพวกมันโคจรไปรอบๆ
ใจกลางทางช้างเผือก(ในเทคนิคที่เรียกว่า การตรวจสอบตำแหน่ง; astrometry)
ไกอาก็สร้างบัญชีรายชื่ออวกาศในห้วงสามมิติที่เที่ยงตรงที่สุดได้
จากการเผยแพร่ข้อมูลครั้งที่สามของไกอา(Gaia
Data Release 3; GDR3) ทีมได้ตรวจสอบดาวทั้งหมด
168,065 ดวง ที่มีการส่ายดูคล้ายเป็นวงโคจรของวัตถุคู่
การวิเคราะห์ได้พบว่าที่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ เป็นดาวฤกษ์สีเหลือง(G-type) ที่มีชื่อว่า Gaia DR3
4373465352415301632 ซึ่งทีมตั้งชื่อว่า
Gaia BH1 จากข้อมูลการโคจรที่สำรวจพบ
ทีมบอกว่าดาวดวงนี้จะต้องมีหลุมดำเป็นวัตถุข้างเคียงในระบบคู่
ข้อมูลจากไกอาบอกว่าดาวเคลื่อนที่บนท้องฟ้าอย่างไร โดยวิ่งเป็นวงรีเมื่อมันโคจรรอบหลุมดำ ขนาดของวงโคจรและคาบการโคจรช่วยให้ข้อมูลมวลของวัตถุที่มองไม่เห็นนี้ว่าอยู่ที่ 10 เท่ามวลดวงอาทิตย์ คู่โคจรรอบกันและกันราวครึ่งปี เพื่อที่จะยืนยันว่าคำตอบจากไกอาถูกต้อง และกำจัดคำอธิบายทางเลือกที่ไม่ใช่หลุมดำออกไป เราได้ตรวจสอบสเปคตรัมของดาวจากกล้องโทรทรรศน์หลายตัว ซึ่งช่วยสนับสนุนมวลของวัตถุข้างเคียง และบอกได้ว่ามัน “มืด” จริงๆ
เพื่อยืนยันการสำรวจ
ทีมวิเคราะห์การรตรวจสอบความเร็วแนวสายตา(radial velocity) ของ Gaia BH1 จากกล้องหลายตัว
เช่นเดียวกับวิธีการที่ใช้ในการตามล่าดาวเคราะห์นอกระบบ
จากการตรวจสอบสเปคตรัมที่เกิดปรากฏการณ์ดอปเปลอร์
(Doppler effect)
สเปคตรัมที่ได้จะช่วยให้ทีมได้สำรวจและตรวจสอบแรงโน้มถ่วงที่ส่งผลต่อวงโคจร
การสำรวจติดตามผลได้ยืนยันคำตอบวงโคจรของ Gaia BH1 และบอกว่ามีวัตถุข้างเคียงมีมวลราว 10 เท่าดวงอาทิตย์ โคจรอยู่รอบๆ
El-Badry บ่งชี้ว่าการค้นพบนี้น่าจะเป็นหลุมดำแห่งแรกในกาแลคซีที่ไม่ได้ถูกพบจากการสำรวจการเปล่งรังสีเอกซ์หรือการปล่อยพลังงานอื่นๆ
แบบจำลองได้ทำนายว่าทางช้างเผือกจะมีหลุมดำราว 1 ร้อยล้านแห่ง แต่เราสำรวจพบเพียง 20 แห่งเท่านั้น
ทั้งหมดที่พบก่อนหน้านี้เราพบในระบบคู่รังสีเอกซ์(x-ray binaries) เมื่อหลุมดำกลืนวัสดุสารจากดาวข้างเคียงและสว่างเจิดจ้าในช่วงรังสีเอกซ์เมื่อพลังงานศักย์แรงโน้มถ่วงของวัตถุถูกเปลี่ยนเป็นแสง
แต่นี่เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น
ยังน่าจะมีประชากรหลุมดำจำศีลอีกจำนวนมากอยู่ข้างนอกนั้น
ซ่อนตัวในระบบคู่ที่อยู่ห่างจากกันมาก การค้นพบ Gaia BH1 จึงเป็นหน้าต่างสู่ประชากรกลุ่มนี้
ถ้ายืนยันความถูกต้อง การค้นพบเหล่านี้ก็น่าจะหมายถึงประชากรหลุมดำจำศีลจำนวนมากมายในทางช้างเผือก
ซึ่งเป็นหลุมดำที่ไม่พบดิสก์สว่าง, การปะทุหรือแผ่รังสีใดๆ
หรือมีไอพ่นความเร็วสูงพุ่งออกจากขั้วหลุมดำ
นักวิจัยค่อนข้างอธิบายการมีอยู่ของดาวฤกษ์ขนาดพอๆ
กับดวงอาทิตย์ที่มาเกาะอยู่กับหลุมดำขนาดใหญ่ได้ยาก
ดาวที่มีมวลต่ำจับอยู่กับหลุมดำ เป็นคู่วัตถุที่แปลกประหลาด
และก็ไม่ชัดเจนว่าพวกมันก่อตัวได้อย่างไร
แต่นักวิจัยคิดว่าระบบแห่งนี้ไม่ได้ก่อตัวขึ้นอย่างโดดเดี่ยว
มีลำดับเหตุการณ์การกำเนิดหลายงาน ซึ่งรวมถึงแบบหนึ่งที่บอกว่าวัตถุมืดนั้น แท้จริงแล้วเป็นหลุมดำขนาดเล็กสองแห่งแทนที่จะเป็นแห่งเดียว
ลำดับเหตุการณ์หลุมดำคู่กับดาวฤกษ์นี้น่าสนใจเนื่องจากมันสามารถทดสอบได้
ทีมกำลังวางแผนที่จะทำการสำรวจความเร็วแนวสายตาเพิ่มเติมให้แม่นยำมากๆ
เพื่อหวังที่จะพบความผิดปกติในการเคลื่อนที่ของดาวฤกษ์ซึ่งอาจจะบ่งชี้ถึงหลุมดำคู่ที่อยู่ใกล้ๆ
ถ้าพบวัตถุเหล่านี้จำนวนมากในกาแลคซี
ก็จะส่งนัยยะต่อวิวัฒนาการดาวและกาแลคซี อย่างไรก็ตาม
เป็นไปได้ที่หลุมดำจำศีลนี้เป็นพวกนอกคอก
และไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ถึงประชากรที่สงบนิ่งอยู่ เพื่อตอกย้ำการค้นพบ El-Badry
และเพื่อนร่วมงานกำลังรอคอย DR
4 ซึ่งกำลังตรวจสอบข้อมูลอยู่
จะรวมข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมได้ในปฏิบัติการห้าปี
การเผยแพร่ครั้งนี้จะรวมการตรวจสอบตำแหน่ง, ปริมาณแสง(photometry) และความเร็วแนวสายตาที่ทันสมัยที่สุด ของดาวฤกษ์,
ระบบคู่, กาแลคซีและดาวเคราะห์นอกระบบที่สำรวจ
ส่วนการเผยแพร่ข้อมูลครั้งที่ห้า(GDR
5) ครั้งสุดท้ายจะรวมข้อมูลจากปฏิบัติการหลัก
และภาคขยาย(รวมสิบปีเต็ม) จากอัตราการปรากฏวัตถุข้างเคียงของหลุมดำตามที่ได้จาก Gaia
BH1 เราประเมินว่าการเผยแพร่ข้อมูลครั้งต่อไปจากไกอา
จะทำให้เกิดการค้นพบระบบที่คล้ายๆ กันอีกหลายสิบแห่ง El-Badry กล่าว
ด้วยวัตถุที่มีเพียงแห่งเดียว
ก็ยังยากที่จะทราบแน่นอนว่ามันจะบอกเกี่ยวกับประชากรได้อย่างไร(ว่ามันเป็นตัวประหลาดเรื่องบังเอิญหรือไม่)
เราสนใจการศึกษาลักษณะประชากร(demographic) ที่เราจะได้จากตัวอย่างกลุ่มใหญ่ขึ้น ถ้าหลุมดำในระบบคู่มีเพียงสัดส่วนน้อยในประชากรหลุมดำจำศีลในทางช้างเผือก
สัดส่วนใหญ่ก็น่าจะไปตกที่หลุมดำพเนจร
ซึ่งจะมีความสำคัญต่อนักวิทยาศาสตร์เพื่อปรับปรุงสำมะโนประชากรหลุมดำในทางช้างเผือก
แหล่งข่าว sciencealert.com
: the orbit of a sun-like star reveals the nearest black hole ever found
phys.org : astronomers
find a sun-like star orbiting a nearby black hole
skyandtelescope.com :
wobble star reveals the closest black hole yet
No comments:
Post a Comment