ดาวนิวตรอนในระบบคู่ ดึงมวลสารจากดาวข้างเคียง ซึ่งนอกจากจะได้มวลแล้วยังมีโมเมนตัมเชิงมุมเพิ่มเ้ามา มันจึงหมุนรอบตัวเร็วขึ้น
ซากดาวที่มีความหนาแน่นสูงดวงหนึ่งกำลังหมุนรอบตัว
707 รอบต่อวินาที
ทำให้มันเป็นหนึ่งในดาวนิวตรอนที่หมุนรอบตัวเร็วที่สุดในกาแลคซีทางช้างเผือก
และมันได้ฉีกและกลืนมวลเกือบทั้งหมดของดาวข้างเคียง
ซึ่งจากกระบวนการฉีกทึ้งนี้ทำให้มันเจริญเป็นดาวนิวตรอนที่หนักที่สุดเท่าที่เคยพบมา
ด้วยมวลที่ถือครองสถิติ 2.35 เท่ามวลดวงอาทิตย์
ได้ช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้เข้าใจสสารในสถานะควอนตัมประหลาดภายในวัตถุที่หนาแน่นสูงเหล่านี้ได้
ซึ่งถ้าพวกมันมีมวลสูงกว่านี้ จะยุบตัวลงโดยสิ้นเชิงและหายวับไปกับตา
กลายเป็นหลุมดำ
Alex Filippenko ศาสตราจารย์พิศิษฐ์ด้านดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย
เบิร์กลีย์ กล่าวว่า เราทราบคร่าวๆ
ว่าสสารจะมีพฤติกรรมอย่างไรในความหนาแน่นระดับนิวเคลียส
อย่างในนิวเคลียสของอะตอมยูเรเนียม
ดาวนิวตรอนก็เหมือนเป็นนิวเคลียสขนาดยักษ์ก้อนหนึ่ง แต่เมื่อเอามวลประมาณ 1.5
เท่าดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นนิวเคลียสที่หนักราว
5 แสนเท่ามวลโลกมาบีบอัดอยู่ด้วยกัน
ก็ยังไม่ชัดเจนว่าพวกมันจะมีพฤติกรรมอย่างไร
Roger W. Romani ศาสตราจารย์สาขาดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
บอกว่าดาวนิวตรอนนั้นมีความหนาแน่นสูงมาก มวลสารเพียง 1 ลูกบาศ์กนิ้วมีน้ำหนัก 1 หมื่นล้านตัน จนแกนกลางของพวกมันเป็นวัสดุสารที่หนาแน่นที่สุดเท่าที่เคยพบในเอกภพเป็นรองแค่หลุมดำ
ดาวนิวตรอนดวงนี้ซึ่งเป็นพัลซาร์ที่มีชื่อว่า PSR J0952-0607 จึงเป็นวัตถุที่มีความหนาแน่นสูงที่สุดในสายตามนุษย์
นักดาราศาสตร์เห็นพ้องกันว่าเมื่อดาวฤกษ์ที่มีแกนกลางมวลสูงกว่า
1.4 เท่าดวงอาทิตย์
ได้ยุบตัวลงในช่วงจุดจบของชีวิต
แกนกลางจะก่อตัวเป็นวัตถุขนาดกะทัดรัดและมีความหนาแน่นสูงมาก
โดยภายในที่มีสภาพแรงดันสูงมากจนอะตอมทั้งหมดเบียดกัน
โปรตอนและอิเลคตรอนรวมตัวเป็นนิวตรอน และองค์ประกอบที่เรียกว่า ควาร์ก(quarks)
สิ่งเดียวที่รักษาไม่ให้ลูกบอลนิวตรอนนี้ยุบตัวกลายเป็นหลุมดำได้ก็คือ
แรงดันเสื่อมถอย(degeneracy pressure)
ดาวนิวตรอนเหล่านี้เกิดขึ้นมาก็หมุนรอบตัวแล้ว
และแม้ว่าจะสลัวเกินกว่าจะเห็นได้ในช่วงแสงที่ตาเห็น
แต่ก็เผยตัวตนออกมาเป็นพัลซาร์ ที่กวาดลำแสง(คลื่นวิทยุ, รังสีเอกซ์หรือกระทั่งรังสีแกมมา)
เข้าใส่โลกเมื่อพวกมันหมุนรอบตัว เหมือนกับลำแสงจากประภาคาร
การตรวจสอบมวลของดาวนิวตรอนเกิดขึ้นได้ต้องขอบคุณความไวอย่างสุดขั้วของกล้องโทรทรรศน์เคก
1 ขนาด 10
เมตรบนเมานาคี ในฮาวาย
ซึ่งเพิ่งจะบันทึกสเปคตรัมช่วงแสงที่ตาเห็นได้จากดาวข้างเคียงของพัลซาร์ ที่เรืองสว่างร้อนซึ่งขณะนี้มีขนาดเล็กลงจนใกล้เคียงกับดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์แล้ว
ระบบซึ่งอยู่ห่างออกไป 3000 ปีแสงในทิศทางกลุ่มดาวเซกซ์แทน(Sextans)
ระบบ PSR J0952-0607 ซึ่งถูกพบในปี 2017 ถูกเรียกว่าเป็นพัลซาร์แม่ม่ายดำ
ซึ่งก็ไม่ต่างจากแมงมุมแม่ม่ายดำเพศเมียที่จะกินตัวผู้ที่มีขนาดเล็กกว่ามาก
หลังจากที่ผสมพันธุ์ Filippenko และ Romani
ได้ศึกษาระบบแม่ม่ายดำมากว่าหนึ่งทศวรรษ
ด้วยความหวังที่จะหาขีดจำกัดสูงสุดที่ดาวนิวตรอน/พัลซาร์จะเจริญได้
ด้วยการรวมการตรวจสอบนี้กับแม่ม่ายดำแห่งอื่นๆ
เราได้แสดงว่าดาวนิวตรอนจะต้องมีมวลขั้นต่ำสุดที่ 2.35± 0.17 เท่ามวลดวงอาทิตย์ Romani กล่าว
จากตัวเลขที่ได้เป็นหลักฐานที่หนักแน่นที่สุดระบุคุณสมบัติของสสารที่ระดับหลายเท่าความหนาแน่นที่พบในนิวเคลียสอะตอม
ในความเป็นจริง มีแบบจำลองฟิสิกส์สสารหนาแน่นสูงหลายงานที่ผลสรุปนี้ได้กำจัดทิ้งไป
ถ้ามวล 2.35 เท่าดวงอาทิตย์นั้นใกล้เคียงกับมวลขีดจำกัดขั้นบนของดาวนิวตรอน
ดังนั้นแล้ว ภายในของดาวนิวตรอนก็น่าจะเป็นซุปของนิวตรอน และซุปของควาร์กอัพ(up) และดาวน์(down) ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของโปรตอนและนิวตรอน
แต่ก็ยังไม่ใช่สสารพิศวงอย่างเช่น ควาร์ก สเตรงจ์(strange) หรือคาออน(kaons) ซึ่งเป็นอนุภาคที่ประกอบด้วยควาร์กสเตรงจ์
มวลขั้นสูงที่สุดที่สูงสำหรับดาวนิวตรอนบอกว่า
มันจะเป็นสารผสมของนิวเคลียสกับควาร์กอัพและดาวน์ที่สลายออกมาตลอดจนถึงแกนกลาง Romani
กล่าว
นี่ได้ตัดสถานะสสารที่เสนอขึ้นมาในทางทฤษฎี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
องค์ประกอบภายในที่เป็นสสารพิศวง
Romani, Fillippenko และ Dinesh Kandel นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
เป็นผู้เขียนร่วมรายงานเผยแพร่ผลสรุปของทีมใน Astrophysical Journal
Letters
พัลซาร์ปกติ
หมุนรอบตัวและส่งลำคลื่นออกมาราว 1 ครั้งต่อวินาที(โดยเฉลี่ย)
ซึ่งเป็นความเร็วที่อธิบายได้จากการหมุนรอบตัวปกติของดาวฤกษ์ก่อนที่จะยุบตัวลง
แต่พัลซาร์บางส่วนก็หมุนรอบตัวหลายร้อยจนถึงหนึ่งพันรอบต่อวินาที
ซึ่งยากจะอธิบายได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับมวลที่ตกลงสู่ดาวนิวตรอน
และทำให้มันหมุนเร็วขึ้น แต่สำหรับพัลซาร์เสี้ยววินาที(millisecond pulsar)
บางส่วน ก็ไม่พบดาวข้างเคียงอยู่เลย
คำอธิบายที่เป็นไปได้สำหรับพัลซาร์เสี้ยววินาทีที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวก็คือ
แต่ละดวงครั้งหนึ่งเคยมีดาวข้างเคียงอยู่ แต่ถูกดึงมวลสารไปจนหมดสิ้น
เส้นทางวิวัฒนาการนี้เป็นเรื่องมหัศจรรย์อย่างแท้จริง!! Fillippenko กล่าว
เมื่อดาวข้างเคียงพัฒนาตัวและเริ่มกลายเป็นดาวยักษ์แดง(red giant) วัสดุสารก็ทะลักเข้าสู่ดาวนิวตรอน
และทำให้ดาวนิวตรอนหมุนเร็วขึ้น เมื่อหมุนเร็วขึ้นมันก็มีพลังเพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
และดาวนิวตรอนก็เริ่มส่งลมอนุภาคออกมา
ลมนี้จะฟาดดาวข้างเคียงและเริ่มฉีกวัสดุสารของมันออกมา และเมื่อเวลาผ่านไป
มวลของดาวข้างเคียงก็ลดลงจนเหลือเท่าดาวเคราะห์ และยิ่งเวลาผ่านไปอีก
มันก็หายไปจนหมด
นี่อาจเป็นวิถีที่พัลซาร์เสี้ยววินาทีที่โดดเดี่ยวก่อตัวขึ้น
พวกมันทั้งหมดไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวมาตั้งแต่ต้น พวกมันเคยอยู่ในระบบดาวคู่(binary
pair) แต่พวกมันก็ค่อยๆ
สูบเลือดเนื้อของดาวข้างเคียงหายไป แล้วตอนนี้พวกมันอยู่เพียงลำพัง ซึ่งพัลซาร์ PSR J0952-0607 และดาวข้างเคียงสลัวๆ
ของมันก็สนับสนุนเรื่องราวกำเนิดพัลซาร์เสี้ยววินาทีนี้ วัตถุขนาดพอๆ
กับดาวเคราะห์เหล่านี้เป็นเศษของดาวฤกษ์ปกติที่ได้ส่งมวลและโมเมนตัมเชิงมุม
ทำให้คู่พัลซาร์ของพวกมันหมุนเร็วขึ้นจนมีคาบเสี้ยววินาที
และเพิ่มมวลให้ด้วยจากกระบวนการนี้ Romani กล่าว
ในกรณีของพัลซาร์แม่ม่ายดำแห่งนี้
ซึ่งกลืนมวลส่วนใหญ่ของคู่ขาของมันไป
ขณะนี้ก็เผาและระเหยวัตถุข้างเคียงจนเหลือมวลพอๆ กับดาวเคราะห์
และบางทีอาจจะทำลายล้างจนเกลี้ยงเกลา Fillippenko กล่าว ด้วยอัตราการหมุนรอบตัว 707 รอบต่อวินาที
ทำให้มันอยู่ในพัลซาร์ที่หมุนรอบตัวเร็วที่สุดเป็นลำดับที่สอง(โดยผู้ครองสถิติ PSR
J1748-2446 มีอัตราการหมุนรอบตัวที่
716 รอบต่อวินาที)
ถ้ามันกลืนดาวข้างเคียงไปจนหมด พัลซาร์ก็จะหนักขึ้นไปอีก(ถ้าไม่ยุบตัวกลายเป็นหลุมดำไปซะก่อน)
การได้พบพัลซาร์แม่ม่ายดำที่มีดาวข้างเคียงขนาดเล็ก
แต่ก็ไม่ได้เล็กเกินจนตรวจจับไม่ได้
เป็นหนึ่งในไม่กี่วิธีที่จะชั่งน้ำหนักของดาวนิวตรอน ในกรณีของระบบคู่แห่งนี้
ดาวข้างเคียงซึ่งขณะนี้มีมวลเหลือเพียง 20 เท่ามวลดาวพฤหัสฯ
ถูกรบกวนโดยมวลของดาวนิวตรอนและอยู่ในสภาพล๊อคด้วยแรงบีบฉีก(tidally
locked) คล้ายกับดวงจันทร์ของโลกที่หันด้านเดียวด้านเดิมเมื่อโคจร
ด้านที่หันเข้าหาดาวนิวตรอนร้อนขึ้นจนมีอุณหภูมิสูงถึง 6200 เคลวิน ร้อนกว่าดวงอาทิตย์ของเราพอสมควร
และก็สว่างมากพอที่จะมองเห็นได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่
Fillippenko
และ Romani หันเคก 1 ไปที่ PSR J0952-0607 ในหกวาระตลอดช่วง
4 ปีที่ผ่านมา
แต่ละครั้งจะสำรวจด้วยสเปคโตรมิเตอร์ถ่ายภาพความละเอียดต่ำในช่วง 15 นาที
เพื่อจับภาพดาวข้างเคียงที่สลัวที่ตำแหน่งที่จำเพาะในวงโคจร 6.4 ชั่วโมงรอบพัลซาร์ ด้วยการเปรียบเทียบสเปคตรัมกับดาวฤกษ์คล้ายๆ
กันที่คล้ายกับดวงอาทิตย์
ทีมวิจัยก็สามารถตรวจสอบความเร็วการหมุนรอบตัวของดาวข้างเคียงจากดอปเปลอร์ และคำนวณมวลของดาวนิวตรอนได้
Fillippenko และ Romani ได้ตรวจสอบระบบแม่ม่ายดำประมาณหนึ่งโหลซึ่งก็มีแค่
6 ระบบเหล่านี้ที่มีดาวข้างเคียงที่สว่างมากพอที่จะคำนวณมวลได้
ดาวนิวตรอนที่เกิดวิวัฒน์ในระบบเหล่านี้ทั้งหมดมีมวลต่ำกว่าพัลซาร์ PSR J0952-0607 พวกเขาหวังว่าจะได้ศึกษาพัลซาร์แม่ม่ายดำแห่งอื่นๆ
เช่นเดียวกับระบบญาติของมัน เช่น หลังแดง(redbacks) ซึ่งคล้ายกับแม่ม่ายดำ แต่พบในออสเตรเลีย ซึ่งมีวัตถุข้างเคียงที่มีมวล
1/10 ดวงอาทิตย์
และสิ่งที่ Romani เรียกว่า
ไทดาร์เรนส์(tidarrens) ซึ่งดาวข้างเคียงมีมวล
1/100 ดวงอาทิตย์
ตามชื่อญาติของแมงมุมแม่ม่ายดำ Tidarren sisyphoides ซึ่งเพศผู้ของมันมีขนาดเพียง1% ของตัวเมีย
เรายังคงมองหาแม่ม่ายดำและดาวนิวตรอนคล้ายๆ
กันที่เข้าใกล้ข่ายการเป็นหลุมดำมากขึ้น แต่ถ้าเราไม่พบดวงที่หนักกว่า มันก็ย้ำว่า
2.3 เท่ามวลดวงอาทิตย์เป็นขีดจำกัดของจริง
เลยจากนั้นไปพวกมันจะยุบตัวเป็นหลุมดำ Fillippenko กล่าว นี่ก็อยู่ตรงขีดจำกัดที่กล้องเคกจะทำได้ การตรวจสอบระบบ PSR J0952-0607 ให้มีความคลาดเคลื่อนน้อยลง
น่าจะต้องรอการตรวจสอบความเร็วแนวสายตาที่ปรับปรุงในยุคของกล้องโทรทรรศน์ขนาด 30
เมตรไป Romani กล่าวเสริม
PSR J0952-0607 ดาวนิวตรอนที่หนักที่สุดและหมุนเร็วที่สุดในทางช้างเผือก
ดาวนิวตรอนที่กำลังหมุนรอบตัวกวาดลำคลื่นวิทยุ(เขียว) และรังสีแกมมา(สีบานเย็น)
ผ่านโลกในภาพจากศิลปินแสดงพัลซาร์แม่ม่ายดำ ดาวนิวตรอน/พัลซาร์ทำให้ดาวข้างเคียงด้านที่หันเข้ามา(ขวา)
ร้อนขึ้นจนมีอุณหภูมิเป็นสองเท่าของอุณหภูมิพื้นผิวดวงจันทร์ และค่อยๆ ระเหยออกไป
นักดาราศาสตร์ตรวจสอบความเร็วของดาวสลัวดวงหนึ่ง(วงกลมสีเขียว)
ซึ่งถูกดึงมวลสารเกือบทั้งหมดออกไปโดยดาวข้างเคียงที่มองไม่เห็นซึ่งเป็นดาวนิวตรอน
และพัลซาร์เสี้ยววินาทีที่พวกเขาพบก็เป็นดาวนิวตรอนที่หนักที่สุดเท่าที่เคยพบมาและอาจจะเป็นขีดจำกัดมวลขั้นสูงของดาวนิวตรอนแล้ว
แหล่งข่าว sciencedaily.com
: heaviest neutron star to date is a “black
widow” eating
its mate
sciencealert.com : this
record-breaking “black
widow” pulsar
is the most massive neutron star yet
skyandtelescope.com :
black widow pulsar sets mass record
No comments:
Post a Comment