ฝุ่นและก๊าซที่ลอยขึ้นจากพื้นผิวของดาวหางชูรีเมื่อดาวหางเข้าใกล้จุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด(perihelion) ในวงโคจร
นักวิจัยที่นำทีมโดยมหาวิทยาลัยแห่งเบิร์น
จำแนกความร่ำรวยของโมเลกุลอินทรีย์เชิงซ้อนบนดาวหางดวงหนึ่งอย่างไม่คาดคิดได้เป็นครั้งแรก
ความสำเร็จนี้ต้องขอบคุณการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมได้จากปฏิบัติการยานโรเซตตา(Rosetta)
ขององค์กรอวกาศยุโรป ซึ่งสำรวจดาวหาง
“ชูรี”(67P/Churyumov-Gerasimenko)
ถ้าดาวหางที่อุดมด้วยสารเคมีเชิงซ้อนเหล่านี้เข้ามาชนกับโลกยุคต้น
สารอินทรีย์เหล่านี้ก็อาจจะช่วยริเริ่มการอุบัติของสิ่งมีชีวิตที่มีพื้นฐานจากคาร์บอน(carbon-based
life) อย่างที่เรารู้จัก
ดาวหางเป็นฟอสซิลจากยุคโบราณและจากห้วงลึกในระบบสุริยะ
พวกมันเป็นซากจากการก่อตัวของดวงอาทิตย์, ดาวเคราะห์และดวงจันทร์ ทีมที่นำโดย ดร Nora
Hänni นักเคมีจากแผนกการวิจัยอวกาศและวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์
สถาบันฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยแห่งเบิร์น
ประสบความสำเร็จในการจำแนกโมเลกุลอินทรีย์เชิงซ้อนใหม่เอี่ยมทั้งชุดในดาวหางชูรี
ตามที่รายงานในการศึกษาที่เผยแพร่ใน Nature Communications
ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 องค์กรอวกาศหลายประเทศได้ส่งฝูงยานอวกาศไปโคจรผ่านดาวหางฮัลลีย์(Halley’s
comet) แม้บนยานจะมีสเปคโตรมิเตอร์มวลหลายชิ้นที่สามารถตรวจสอบองค์ประกอบเคมีของทั้งโคมา(coma;
ชั้นบรรยากาศบางๆ
รอบนิวเคลียสดาวหางซึ่งเกิดขึ้นจากการระเหิดของน้ำแข็งในดาวหางเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์)
และของอนุภาคฝุ่นที่มาชน อย่างไรก็ตาม
ข้อมูลที่รวบรวมได้ไม่ได้มีความละเอียดมากพอที่จะช่วยให้เกิดการแปลผลได้
ขณะนี้ เมื่อเวลาผ่านไปกว่าสามสิบปี
สเปคโตรมิเตอร์มวลความละเอียดสูง ROSINA ซึ่งเป็นเครื่องมือจากทีมเบิร์นที่ติดตั้งบนโรเซตตา
รวบรวมข้อมูลจากดาวหางชูรี ระหว่างปี 2014 ถึง 2016
ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้นักวิจัยได้เปิดช่องสู่ขุมทรัพย์สารอินทรีย์เชิงซ้อนบนชูรีได้เป็นครั้งแรก
เมื่อดาวหางชูรีเข้าใกล้จุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด(perihelion)
ดาวหางมีกิจกรรมสูงมาก
น้ำแข็งของดาวหางระเหิดได้สร้างกระแสไหลออกที่ดึงอนุภาคฝุ่นออกมาด้วย
อนุภาคที่ถูกขับออกมาก็ได้รับความร้อนจากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์จนมีอุณหภูมิเลยจากที่พวกมันคุ้นชินบนพื้นผิวดาวหาง
ซึ่งทำให้โมเลกุลที่หนักขึ้นและใหญ่ขึ้นถูกปล่อยออกมา ทำให้ ROSINA-DFMS ตรวจสอบได้
Kathrin Altwegg ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ผู้นำทีมเครื่องมือ ROSINA
และผู้เขียนร่วมในการศึกษาใหม่
กล่าวว่า เนื่องจากสภาพฝุ่นจัดแบบสุดขั้ว ยานจึงต้องถอยออกมาอยู่ในระยะทางปลอดภัยมากกว่า
200 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวดาวหาง
เพื่อที่เครื่องมือจะสามารถทำงานภายใต้สภาวะที่คงที่ได้ แต่กระนั้น
มันก็ยังสามารถตรวจจับสารประกอบที่มีอะตอมประกอบอยู่จำนวนหนึ่ง
ซึ่งเคยถูกซ่อนไว้ในฝุ่นดาวหาง
ทีมนักวิจัยจากเบิร์นประสบความสำเร็จในการจำแนกโมเลกุลอินทรีย์เชิงซ้อนจำนวนหนึ่งซึ่งไม่เคยพบเห็นบนดาวหางใดๆ
มาก่อน เราได้พบแนฟธาลีน(naphthalene) ซึ่งก็ให้กลิ่นลูกเหม็น
เรายังพบกรดเบนโซอิก(benzoic acid)
ซึ่งเป็นองค์ประกอบตามธรรมชาติในธูป นอกจากนี้ ยังจำแนกเบนซัลดีไฮด์(benzaldehyde)
ซึ่งใช้เพื่อเติมกลิ่นอัลมอนด์ในอาหาร
และโมเลกุลอื่นๆ อีกมากมาย
สารอินทรีย์เหล่านี้น่าจะทำให้ดาวหางชูรีมีกลิ่นที่ซับซ้อนมากขึ้น
แต่ก็น่าดึงดูดใจมากขึ้ด้วย Hänni กล่าว
นอกเหนือจากโมเลกุลกลิ่นหอม
ยังพบโมเลกุลอีกหลายชนิดที่มีคุณสมบัติ “ตั้งต้นชีวิต”(prebiotic) ในคลังสารอินทรีย์ของชูรีด้วย เช่น ฟอร์มาไมด์(formamide)
สารประกอบเหล่านี้เป็นสารตัวกลางที่สำคัญในการสังเคราะห์ชีวโมเลกุลเช่น
น้ำตาลหรือกรดอะมิโน ถ้าดาวหางซี่งมีคลังสารอินทรีย์เหล่านี้ ไปชนกับโลก
สารอินทรีย์เหล่านี้ก็อาจจะช่วยริเริ่มการอุบัติของสิ่งมีชีวิตที่มีพื้นฐานจากคาร์บอน(carbon-based
life) อย่างที่เรารู้จัก
Hänni อธิบาย
และนอกจากการจำแนกโมเลกุลทีละชนิด
นักวิจัยยังทำการแจกแจงโมเลกุลอินทรีย์เชิงซ้อนทั้งหมดในดาวหางชูรีด้วย
ซึ่งช่วยให้นำไปเปรียบเทียบกับบริบทของระบบสุริยะได้ ตัวแปรสำคัญอย่าง
สูตรเฉลี่ยโดยรวมของสสารอินทรีย์นี้
หรือเรขาคณิตการสร้างพันธะโดยเฉลี่ยของอะตอมคาร์บอนในดาวหาง
มีความสำคัญต่อประชาคมวิทยาศาสตร์โดยกว้าง ตั้งแต่
นักดาราศาสตร์จนถึงนักวิทยาศาสตร์ระบบสุริยะ
ดูเป็นว่า โดยเฉลี่ยแล้ว
คลังสารอินทรีย์เชิงซ้อนในชูรีนั้นเหมือนกันอย่างไม่ผิดเพี้ยนกับสารอินทรีย์ส่วนที่ละลายได้ในอุกกาบาต
Hänni อธิบาย
ยิ่งกว่านั้น นอกเหนือจากปริมาณอะตอมไฮโดรเจนเปรียบเทียบ
คลังโมเลกุลของชูรียังคล้ายกับสสารอินทรีย์ที่ตกจากวงแหวนในสุดลงสู่ดาวเสาร์
ซึ่งตรวจพบโดยสเปคโตรมิเตอร์มวล INMS บนยานคาสสินี
เราไม่เพียงแต่พบความคล้ายคลึงกับแหล่งสารอินทรีย์ในระบบสุริยะ
แต่โมเลกุลอินทรีย์หลายชนิดของชูรียังปรากฏในเมฆโมเลกุล
ซึ่งเป็นที่ให้กำเนิดดาวฤกษ์ใหม่ๆ Susanne Wampfler นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่ศูนย์เพื่ออวกาศและความสามารถในการเอื้ออาศัยได้(CSH)
มหาวิทยาลัยแห่งกรุงเบิร์น
และผู้เขียนร่วมงานวิจัยนี้ กล่าว การค้นพบของเราสอดคล้องและสนับสนุนแนวคิดกำเนิดของแหล่งสารอินทรีย์ต่างๆ
ในระบบสุริยะ ว่ามาจากแหล่งก่อนดวงอาทิตย์ก่อตัว(pre-solar) แห่งเดียวกัน
ยืนยันว่าดาวหางนั้นแท้ที่จริงแล้วนำพาวัสดุสารจากช่วงเวลาที่ยาวนานก่อนที่ระบบสุริยะของเราจะอุบัติขึ้นด้วยซ้ำ
แหล่งข่าว phys.org
: shedding light on comet Chury’s unexpected chemical complexity
No comments:
Post a Comment