การสำรวจใหม่จากกล้องโทรทรรศน์ใหญ่มาก(VLT)
ของหอสังเกตการณ์ทางใต้ของยุโรป(ESO)
ได้บ่งชี้ว่า ดาวหางพเนจรโบริซอฟ(2I/Borisov)
ซึ่งเป็นวัตถุที่ข้ามระบบ(interstellar
object) ดวงที่สองและเป็นดวงล่าสุดที่มาเยี่ยมเยือนระบบสุริยะของเรา
เป็นวัตถุที่ดึกดำบรรพ์ที่สุดเท่าที่เคยพบมาดวงหนึ่ง
นักดาราศาสตร์สงสัยว่าดาวหางไม่น่าจะเคยผ่านเข้าใกล้ดาวฤกษ์ใดๆ มาก่อน
ทำให้มันอยู่ในสภาพที่ไม่ถูกรบกวนเลยนับตั้งแต่ที่ก่อตัวขึ้นจากเมฆฝุ่นก๊าซที่ให้กำเนิดมา
ดาวหางโบริซอฟถูกพบโดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวไครเมีย Gennadiy
Borisov ในเดือนสิงหาคม
2019 และได้รับการยืนยันว่ามาจากนอกระบบสุริยะในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา
ในช่วงต้น การสำรวจเกือบทั้งหมดได้แสดงว่าโบริซอฟนั้นธรรมดามากๆ
เป็นวัตถุสีแดงมืดที่ก็เหมือนกับดาวหางคาบยาว(long-period comet) ใดๆ ที่วิ่งจากขอบนอกสุดของระบบสุริยะเข้ามา
แต่ขณะนี้ ทีมวิจัย 2 ทีมได้แสดงว่าแท้จริงแล้ว
โบริซอฟนั้นค่อนข้างมีอัตลักษณ์ในตัว
การศึกษางานแรก Stefano Bagnulo จากหอสังเกตการณ์และท้องฟ้าจำลองอาร์มาธ์
ไอร์แลนด์เหนือ สหราชอาณาจักร ซึ่งนำการศึกษาใหม่ที่เผยแพร่ใน Nature
Communications กล่าวว่า
โบริซอฟน่าจะเป็นดาวหางที่มีเนื้อสารเดิมอย่างแท้จริงดวงแรกที่เคยพบมา
ทีมเชื่อว่าดาวหางไม่เคยผ่านเข้าใกล้ดาวฤกษ์ใดๆ ก่อนที่จะวิ่งผ่านดวงอาทิตย์ในปี 2019
Bagnulo และเพื่อนร่วมงานใช้เครื่องมือ FORS2 บน VLT ซึ่งอยู่ในชิลี
เพื่อศึกษาการกระเจิงของแสงในโคมา(coma;
ชั้นบรรยากาศฝุ่นก๊าซรอบๆ นิวเคลียส) ดาวหางในรายละเอียด
เมื่อก๊าซปะทุออกจากดาวหาง(เป็นโคมาก๊าซ)
พวกมันจะนำอนุภาคฝุ่นออกมาด้วยสร้างเป็นโคมาฝุ่น จากนั้น แรงดันการแผ่รังสีและลมสุริยะจะผลักก๊าซและฝุ่นออกไป
สร้างเป็นหางของดาวหาง
นั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมหางของดาวหางที่มักหันออกจากดวงอาทิตย์ ด้วยการใช้เทคนิคที่เรียกว่า
การตรวจสอบโพลาไรซ์(polarimetry) เทคนิคนี้ถูกใช้ในการศึกษาดาวหางและวัตถุขนาดเล็กอื่นๆ
ในระบบของเราเป็นปกติ ช่วยให้ทีมได้เปรียบเทียบผู้มาเยือนจากต่างระบบกับดาวหางท้องถิ่นของเรา
ทีมพบว่าโบริซอฟมีคุณสมบัติโพลาไรซ์ที่แตกต่างจากดาวหางในระบบยกเว้นแต่ เฮลล์-บอพพ์(Hale-Bopp)
การเกิดโพลาไรซ์(polarization)
ของแสง
แสงมีคุณสมบัติเป็นคลื่นจึงมีการสั่นในหลายๆ ระนาบ
เมื่อแสงกระทบกับโมเลกุลจะเกิดสะท้อนในระนาบที่จำเพาะ เรียกว่าแสงเกิดโพลาไรซ์
ดาวหางเฮลล์-บอพพ์ ได้รับความสนใจจากสาธารณชนในช่วงปลายทศวรรษ
1990 ซึ่งเป็นผลจากที่มันเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่า
และยังเพราะมันเป็นหนึ่งในดาวหางเนื้อสารเดิมที่สุดดวงหนึ่งเท่าที่นักดาราศาสตร์เคยพบมา
ก่อนการผ่านเข้าใกล้ครั้งล่าสุด คิดกันว่าเฮลล์-บอพพ์เคยผ่านเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาแล้วครั้งหนึ่ง
และแทบไม่ได้รับผลจากลมและการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์เลย นี่หมายความว่า มันยังมีสภาพเดิมๆ
มีองค์ประกอบที่คล้ายคลึงอย่างมากกับองค์ประกอบของเมฆฝุ่นและก๊าซที่มันและระบบสุริยะที่เหลือ
ก่อตัวขึ้นมาเมื่อ 4.5 พันล้านปีก่อน
ด้วยการวิเคราะห์การเกิดโพลาไรซ์พร้อมกับสีของดาวหางเพื่อรวบรวมเงื่อนงำองค์ประกอบ
แสงโพลาไรซ์ของมันในระดับสูง บอกถึงเม็ดฝุ่นที่มีจำนวนมากและมีขนาดเล็กกว่า
ซึ่งบอกว่าดาวหางไม่เคยปะทุฝุ่นออกมาเลย แสงโพลาไรซ์ยังเป็นเนื้อเดียวกัน(uniform)
ซึ่งหมายความว่ามันอาจมีสภาพเดิมๆ
มากกว่าเฮลล์-บอพพ์
นี่หมายความว่ามันนำพาสัญญาณจากเมฆก๊าซและฝุ่นที่มันก่อตัวขึ้นมา
มาเปิดเผยให้ได้เห็น Alberto Cellino ผู้เขียนร่วมการศึกษา
จากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์แห่งโตริโน
สถาบันเพื่อดาราศาสตร์ฟิสิกส์แห่งชาติ(INAF) อิตาลี กล่าวว่า
ความจริงที่ว่าดาวหางทั้งสองดวงมีความคล้ายกันมากก็หมายถึงว่า
สภาพแวดล้อมที่ให้กำเนิดโบริซอฟไม่ได้แตกต่างมากนักกับองค์ประกอบในสภาพแวดล้อมในระบบสุริยะช่วงต้น
Olivier Hainaut นักดาราศาสตร์ที่
ESO ในเจอรมนี
ซึ่งศึกษาดาวหางและวัตถุใกล้โลก(Near-Earth Objects) อื่นๆ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษานี้
เห็นด้วยว่า ผลสรุปหลักที่ว่า โบริซอฟไม่คล้ายกับดาวหางอื่นๆ ยกเว้นเฮลล์-บอพพ์ นั้นชัดเจนมากๆ
ก็สมเหตุสมผลที่พวกมันจะก่อตัวขึ้นในสภาวะที่คล้ายกันอย่างมาก
การมาถึงของโบริซอฟจากห้วงอวกาศนอกระบบสุริยะกลายเป็นโอกาสแรกในการศึกษาองค์ประกอบของดาวหางที่มาจากระบบดาวเคราะห์อื่นๆ และตรวจสอบว่าวัสดุสารที่มาจากดาวหางนี้นั้นแตกต่างจากองค์ประกอบท้องถิ่นของเราหรือไม่ Ludmilla Kolokolova จากมหาวิทยาลัยมารีแลนด์ ซึ่งมีส่วนในงานวิจัยนี้ อธิบาย
Bagnulo หวังว่านักดาราศาสตร์จะมีโอกาสอีกครั้งที่ดีกว่าในการศึกษาดาวหางพเนจรในรายละเอียดก่อนสิ้นทศวรรษนี้
องค์กรอวกาศยุโรป(ESA) กำลังวางแผนที่จะส่งปฏิบัติการ
Comet Interceptor ในปี 2029
ซึ่งจะมีความสามารถในการเข้าถึงวัตถุจากนอกระบบอีกดวงซึ่งเป็นดวงที่พบว่ามีเส้นทางที่เหมาะสม
เขากล่าว
แม้ถ้าปราศจากปฏิบัติการอวกาศ
นักดาราศาสตร์ก็ยังสามารถใช้กล้องโทรทรรศน์มากมายบนโลกเพื่อให้ได้แง่มุมสู่คุณสมบัติที่แตกต่างของดาวหางพเนจรอย่างโบริซอฟ
Bin Yang นักดาราศาสตร์ที่
ESO กล่าวว่า
ลองจินตนาการว่าเราโชคดีแค่ไหนที่มีดาวหางดวงหนึ่งจากระบบแห่งหนึ่งที่อยู่ห่างออกไปหลายปีแสง
ดันเดินทางเข้ามาถึงบ้านของเราโดยบังเอิญ Yang ซึ่งนำทีมศึกษาดาวหางดวงนี้อีกงาน
ผลสรุปเผยแพร่ใน Nature Astronomy เธอและทีมใช้ข้อมูลจาก
ALMA(Atacama Large Millimeter/submillimeter Array) เช่นเดียวกับจาก VLT เพื่อศึกษาเม็ดฝุ่นของโบริซอฟ
เพื่อรวบรวมเงื่อนงำเกี่ยวกับการกำเนิดและสภาวะของระบบบ้านเกิดของมัน
พวกเขาพบว่าโคมาดาวหาง ประกอบด้วยก้อนกรวด(pebbles)
ขนาดไม่ใหญ่
เป็นเม็ดที่มีความกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร
แต่ขณะที่เม็ดฝุ่นของดาวหางในระบบสุริยะที่มีขนาดใหญ่กว่า จะปุกปุยกว่า
แต่กรวดรอบๆ โบริซอฟกลับหนาแน่นสูงกว่าดาวหางอื่น นอกจากนี้ พวกเขายังพบว่ามีคาร์บอนมอนอกไซด์จำนวนมาก
ปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์เปรียบเทียบกับไอน้ำ
ในดาวหางยังเปลี่ยนแปลงพอสมควรเมื่อมันเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ทีมซึ่งก็มี Olivier
Hainaut บอกว่านี่บ่งชี้ว่าดาวหางนั้นก่อตัวขึ้นจากหินที่มาชนกันและติดหนึบอยู่ด้วยกัน
ประกอบด้วยชั้นของวัสดุสารที่มีกำเนิดจากพื้นที่ที่แตกต่างกันในระบบดาวเคราะห์ของมัน
การสำรวจของ Yang และทีมบอกว่าสสารของระบบบ้านเกิดของโบริซอฟนั้น
มีการผสมตั้งแต่ส่วนที่อยู่ใกล้ดาวฤกษ์แม่ของมันมากที่สุดจนถึงที่ไกลออกไป
บางทีอาจจะเป็นเพราะการมีอยู่ของดาวเคราะห์ยักษ์ ซึ่งมีแรงโน้มถ่วงที่รุนแรงได้กวนวัสดุสารในระบบจนยุ่งเหยิง
นักดาราศาสตร์เชื่อว่ากระบวนการคล้ายๆ
กันนี้ก็เกิดขึ้นในช่วงต้นของความเป็นมาของระบบของเราด้วยเช่นกัน ภายใต้การรบกวนเหล่านี้
ดาวหางที่กำลังก่อตัวขึ้นน่าจะถูกนำไปยังตำแหน่งที่แตกต่างออกไปเลยจากเส้นเยือกแข็งหรือเส้นหิมะ(frost
line/snow line; จุดที่สารระเหยจะเยือกแข็งกลายเป็นน้ำแข็ง)
ซึ่งมีระดับสารเคมีที่แตกต่างไป
ในขณะที่โบริซอฟเป็นดาวหางพเนจรดวงแรกที่ผ่านเข้าใกล้ดวงอาทิตย์
แต่มันก็ไม่ใช่ผู้มาเยือนจากนอกระบบดวงแรกแต่อย่างใด
วัตถุจากนอกระบบดวงแรกที่ถูกพบว่าผ่านเข้ามาในระบบสุริยะของเราก็คือโอมูอามูอา(‘Oumuamua)
เป็นวัตถุที่พบในปี 2017 เริ่มแรกด้วยการจำแนกว่าเป็นดาวหาง
แต่ต่อมาโอมูอามูอาก็ถูกจำแนกใหม่ว่าเป็นดาวเคราะห์น้อย
เมื่อมันขาดแคลนรายละเอียดโคมา
แหล่งข่าว phys.org
: first interstellar comet may be the most pristine ever found
skyandtelescope.com :
interstellar comet was pristine sample of planet formation
sciencealert.com : this
interstellar object could be the first truly pristine comet we’ve ever seen
No comments:
Post a Comment