Tuesday, 15 September 2020

NGC6960 & NGC6995 : Veil Nebula

 








กลางเดือนพฤศจิกายนปี 2009 ที่ภูสวนทราย ฟ้ามืดสนิทแม้จะเพิ่งทุ่มครึ่ง ดาวสว่างเต็มฟ้า ทางช้างเผือกสว่างพาดข้ามฟ้า กล่มดาวเปก้าซัสอยู่กลางศรีษะ กลุ่มดาวหงส์ตะแคงข้างอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 8000 ปีก่อนบริเวณปีกทางตะวันออกของหงส์ มีดาวดวงหนึ่งสิ้นอายุขัย ระเบิดเป็นซุปเปอร์โนว่า 

เศษซากที่เหลือขของการระเบิดกระจัดกระจายอยู่รอบๆดาวดวงนั้นนั่นเอง หากดูจากภาพถ่ายจะเห็นว่ามีเนบิวล่าเต็มไปทั่วบริเวณ คล้ายเศษผ้าที่โดนฉีกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่เนบิวล่าตัวที่เราพอจะมองเห็นได้จากกล้องดูดาวขนาดเล็กทั่วไปมีอยู่สองตัว คือ NGC6995 และ NGC6960 Veil Nebula ฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก 

Veil เป็นเนบิวล่าที่ดูยากสำหรับกล้องดูดาวขนาดเล็ก แต่สามารถช่วยให้ดูง่ายขึ้นด้วยฟิลเตอร์พิเศษอย่าง OIII หรือ UHC และอย่าลืมตรวจสอบ NGC6974ที่อยู่ตรงกลาง น่าจะมองเห็น แต่ใครอยากเห็นทั้งสองตัวอยู่ด้วยกันในฟิลด์เดียวต้องใช้เลนส์ตาที่ให้มุมกว้างเกือบๆ 4 องศาจึงสวย

วิลเลี่ยม เฮอร์เชลล์เป็นคนพบค้นแรกเมื่อปี 1784 ด้วยกล้องดูดาวขนาด 18 นิ้ว

NGC6960 หาไม่ยากเพราะมีดาวสว่างแมกนิจูดที่สี่ - 52 Cygni เป็นหมาย เนบิวล่าจะเป็นเส้นโค้งวางตามแนวทิศเหนือใต้ มีขนาดเกือบสององศาในกล้องหักเหแสงสี่นิ้ว

จาก NGC6960 ไปทางตะวันออกราว 3 องศา จะพบ NGC6995 วางตัวตามแนวเหนือ-ใต้ มองเห็นขนาดยาวพอกัน มีรูปร่างโค้ง ปลายฝั่งทิศใต้แตกออกเป็นสองขา หากกล้องดูดาวตัวใหญ่พอจะเห็นโครงสร้างที่เป็นเส้นใยในตัวเนบิวล่าอันเป็นที่มาของชื่อ Filamentary Nebula หรือเนบิวล่าเส้นใย 6960 เป็นตัวที่มองเห็นได้จากกล้องสองตา 8x50 แต่ฟ้าต้องดีมากและมืดสนิท

อย่าลืมที่จะลองมองหา NGC9674 ที่ห่างจาก 52 Cygni ไปทางตะวันออก ไม่ถึงหนึ่งองศาตัวนี้มีชื่อว่า Filamentary เช่นกัน

ใครที่ชอบดูเนบิวล่าก็แนะนำให้หาฟิลเตอร์ multiband อย่าง UHC มาประจำการ Narrow band อย่าง OIII ก็ได้แต่จะมืดกว่า ดูยากกว่า ฟิลเตอร์พวกนี้ช่วยได้มากในสภาวะที่มลพิษทางแสงหนักหนานักในปัจจุบัน 

ขอให้มีความสุขกับการสำรวจท้องฟ้าครับ



Cart du Ceil map



Cart du Ceil map

Name: Veil Nebula 
Catalog Number: NGC6960, 6995
Type: Emission Nebula 
Visual Magnitude: +5.0, +5.0
Dimension: 70.0’ x 6.0’, 60.0’ x 30.0’
Constellation:Cygnus 
Distance: 2600 ly

Coordinates: 
NGC6960
RA: 20h 46m 32.82s
DEC:+30° 47’ 31.5” 

NGC6995 
RA: 01h 47m 10.79s
DEC:+31° 47’ 35.6”

Friday, 11 September 2020

การสำรวจดาวหาง NEOWISE ของกล้องฮับเบิลและเจมิไน



credit: apod.nasa.gov 


      เมื่อดาวหาง NEOWISE(C/2020 F3) วิ่งผ่านเข้ามาในระบบสุริยะส่วนในในช่วงกลางปี 2020 นักดาราศาสตร์และสาธารณชนได้เห็นว่าลูกบอลหิมะสกปรกก้อนนี้ ได้ปล่อยก๊าซและฝุ่นออกสู่อวกาศ สร้างการแสดงที่เห็นได้เมื่อมองด้วยตาเปล่า

     ในความเป็นจริง มันเป็นดาวหางที่สว่างที่สุดที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าจากซีกโลกเหนือนับตั้งแต่ดาวหางเฮล-บอพพ์(Hale-Bopp) ในปี 1997 ประเมินกันว่า NEOWISE กำลังเดินทางด้วยความเร็วกว่า 60 กิโลเมตรต่อวินาที ดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด(perihelion) เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ระยะทาง 43 ล้านกิโลเมตร และขณะนี้กำลังมุ่งหน้าออกสู่ชายขอบของระบบสุริยะ และจะไม่ผ่านเข้ามาในละแวกใกล้โลกไปอีก 7000 ปี  

     การสำรวจอย่างใกล้ชิดโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้จับภาพผู้มาเยือนรายล่าสุดบนท้องฟ้าหลังจากที่มันผ่านเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ภาพดาวหางภาพใหม่ซึ่งถ่ายในวันที่ 8 สิงหาคม ให้รายละเอียดโคมา(coma) หรือชั้นบรรยากาศรอบนิวเคลียสของมัน และทางฝุ่นที่ปล่อยออกมา การสำรวจ NEOWISE ของฮับเบิลเป็นครั้งแรกที่ได้ถ่ายภาพดาวหางที่สว่างขนาดนี้ด้วยความละเอียดสูงเช่นนี้หลังจากมันผ่านเข้าใกล้ดวงอาทิตย์แล้ว ความพยายามก่อนหน้านี้ที่จะถ่ายภาพดาวหางสว่างดวงอื่น(เช่น ดาวหาง ATLAS) ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากดาวหางแตกสลายจากความร้อนแผดเผาที่รุนแรง



ภาพดาวหาง C/2020 F3(NEOWISE) ภาพนี้ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2020 ภาพจากฮับเบิลเป็นภาพแรกที่ถ่ายดาวหางที่สว่างด้วยความละเอียดสูงเช่นนี้ หลังจากที่มันผ่านเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ จะเห็นโครงสร้าง 2 อย่างปรากฏที่ด้านซ้ายและขวาของใจกลางดาวหาง เป็นไอพ่นที่ประกอบด้วยน้ำแข็งที่ระเหิดจากข้างใต้พื้นผิวนิวเคลียส โดยฝุ่นและก๊าซที่ได้ออกมาถูกฉีดด้วยความเร็วสูง ไอพ่นผุดออกมาเป็นโครงสร้างรูปกรวย และคลี่ออกโดยการหมุนรอบตัวของนิวเคลียสดาวหาง 


      ดาวหางมักจะแตกออกเป็นชิ้นเนื่องจากความเครียดจากอุณหภูมิและแรงโน้มถ่วงจากการผ่านเข้าใกล้ แต่ภาพใหม่จากฮับเบิลบอกว่า นิวเคลียสแข็งของ NEOWISE ยังคงรวมเป็นก้อน ใจกลางของดาวหางนั้นเล็กเกินกว่าที่ฮับเบิลจะเห็นได้โดยตรง ลูกบอลหิมะน่าจะมีความกว้างไม่เกิน 4.8 กิโลเมตร แต่ภาพของฮับเบิลก็ได้จับเมฆก๊าซและฝุ่นขนาดใหญ่ส่วนหนึ่งที่ล้อมรอบนิวเคลียสไว้ ซึ่งเมื่อตรวจสอบพบว่ามีความกว้างประมาณ 18,000 กิโลเมตรในภาพ

     การสำรวจของฮับเบิลยังเผยให้เห็นไอพ่นคู่หนึ่งจากนิวเคลียสที่ยิงออกมาในทิศทางที่ตรงกันข้ามกัน พวกมันโผล่ออกจากแกนกลางของดาวหาง เป็นกรวยฝุ่นและก๊าซ และจากนั้นก็บิดตัวกลายเป็นโครงสร้างคล้ายพัดที่กว้างขึ้นโดยการหมุนรอบตัวของนิวเคลียส ไอพ่นเป็นผลจากน้ำแข็งที่ระเหิดใต้พื้นผิว โดยฝุ่น/ก๊าซที่ได้ถูกบีบฉีดออกด้วยความเร็วสูง

     ภาพของฮับเบิลยังได้ช่วยเผยให้เห็นสีของฝุ่นดาวหาง และบอกได้ว่าสีเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเมื่อดาวหางถอยห่างออกจากดวงอาทิตย์ ซึ่งนี่อาจจะช่วยอธิบายว่าความร้อนจากดวงอาทิตย์ส่งผลต่อองค์ประกอบและโครงสร้างฝุ่นดังกล่าวและโคมาของดาวหางอย่างไร เป้าหมายสุดยอดจากการสำรวจก็คือเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติดั่งเดิมของฝุ่น นักวิจัยที่ใช้ฮับเบิลเพื่อสำรวจดาวหางกำลังขุดลงไปในข้อมูลให้ลึกขึ้นเพื่อดูว่าพวกเขาจะหาอะไรได้บ้าง

          ฮับเบิลจะจับภาพดาวหางด้วยความละเอียดสูงมากกว่าที่เราจะได้จากกล้องโทรทรรศน์อื่นๆ Qicheng Zhang นักศึกษาที่สถาบันเทคโนโลจีแห่งคาลิฟอร์เนีย(Caltech) ซึ่งนำทีมโครงงานถ่ายภาพ กล่าวในแถลงการณ์ ความละอียดเช่นนี้เป็นหัวใจหลักในการเห็นรายละเอียดที่ใกล้กับนิวเคลียสมากๆ มันช่วยให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในฝุ่นแทบจะทันทีที่ฝุ่นถูกดึงออกจากนิวเคลียสอันเนื่องจากความร้อนของดวงอาทิตย์ ช่วยให้มีการตรวจสอบฝุ่นที่มีสภาพใกล้เคียงกับคุณสมบัติดั่งเดิมของดาวหางมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 



ภาพดาวหางจากภาคพื้นดินจากซีกโลกเหนือเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2020 ภาพเล็กจากกล้องฮับเบิล


      ฮับเบิลยังได้จับภาพผู้มาเยือนอื่นๆ ที่เป็นที่รู้จักดีตลอดปีที่แล้ว ซึ่งรวมถึงภาพการแตกเป็นชิ้นของดาวหาง ATLAS ในเดือนเมษายน 2020 และภาพที่น่าประทับใจของดาวหางจากต่างระบบ(interstellar comet) โบริซอฟ ในเดือนตุลาคมและธันวาคม 2019

      ในเวลาใกล้เคียงกัน การสำรวจในระยะประชิดโดยหอสังเกตการณ์เจมิไนเหนือ บนเมานาคี ฮาวาย ที่นำทีมโดย Michal Drahus และ Piotr Guzik จาก Jagiellonian University ในคราคุฟ โปแลนด์ ได้สำรวจวัสดุสารที่หนีออกจากดาวหาง การสำรวจชุดหนึ่งที่ทำในวันที่ 1 สิงหาคม 2020 ได้แสดงกระแสก๊าซที่หมุนซึ่งเผยให้เห็นการหมุนรอบตัวของนิวเคลียสดาวหาง

     การสำรวจที่ทำภายใต้โครงการวิจัยเพื่อสำรวจพลวัตการหมุนรอบตัวของดาวหาง ใช้เวลาหลายคืน และถูกจำกัดโดยตำแหน่งดาวหางที่อยู่ค่อนข้างใกล้กับดวงอาทิตย์ และมีช่วงการสำรวจที่สั้น แต่เจมิไนก็ช่วยให้นักวิจัยได้ตรวจสอบการหมุนรอบตัวของดาวหางด้วยความเที่ยงตรงสูงมาก และได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอัตราการหมุนรอบตัว

     ดาวหางที่ประกอบด้วยน้ำแข็ง, หินและฝุ่นที่หลงเหลือจากการก่อตัวของระบบสุริยะ ดาวหางบางดวงก็มีเส้นทางโคจรที่รีมากๆ ซึ่งส่งพวกมันเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ซึ่งพวกมันจะอุ่นขึ้นและทำให้ก๊าซที่แข็งตัวกลายเป็นไอ ปล่อยโมเลกุลและเศษซากออกสู่อวกาศ คิดกันว่าดาวหางเกือบทุกดวงจะปล่อยก๊าซเป็นไอพ่นที่คล้ายน้ำพุ และนั้นก็เป็นสิ่งที่นักวิจัยคิดว่ากำลังเกิดขึ้นในภาพเจมิไนเหล่านี้ เมื่อวัสดุสารที่กลายเป็นไอปะทุออกจากดาวหาง การหมุนรอบตัวของนิวเคลียสจะทำให้ไอเหล่านี้ดูเสมือนหมุนวนออกข้างนอก เหมือนกับน้ำจากท่อรดน้ำในสวน วัสดุสารเดียวกันนี้ยังส่งผลต่อการหมุนรอบตัวของดาวหาง ซึ่งทำให้นิวเคลียสหมุนเร็วขึ้น หรือช้าลง แม้ว่าผลเช่นนี้เกิดขึ้นเพียงน้อยนิดจนยากที่จะตรวจสอบในดาวหางเกือบทั้งหมด



ภาพชุดต่อเนื่องแสดงการหมุนของดาวหาง NEOWISE


     วิวัฒนาการของรูปร่างที่สำรวจพบบอกว่าคาบการหมุนรอบตัวอยู่ที่ 7.58 ±0.03 ชั่วโมง โดยไม่พบการแปรผันสำคัญในสถานะการหมุนรอบตัวพื้นฐานตลอดช่วงเวลาที่สำรวจ ทีมนักวิจัยเขียนไว้ในโพสใน The Astronomer’s Telegram

     นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการหมุนรอบตัวของดาวหางได้รับผลกระทบจากการปะทุก๊าซ มีการสำรวจพบความเร็วการหมุนรอบตัวที่สูงขึ้นในดาวหางหลายดวงที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ซึ่งคิดว่าเป็นผลจากอัตราการระเหิดที่เพิ่มขึ้นเมื่อความร้อนเพิ่มขึ้น ถ้าผลกระทบนี้รุนแรงมากพอ ก็อาจทำให้ดาวหางแตกออกเป็นชิ้นภายใต้ความไร้เถสียรภาพจากแรงหนีศูนย์กลาง

     ในภาพจากเจมิไนก็ได้เห็นไอพ่นด้วยเช่นกัน การสำรวจนี้และอื่นๆ น่าจะช่วยคำนวณว่าดาวหางมีการหมุนรอบตัวที่เร็วขึ้นหรือช้าลง ในระหว่างเดินทางไปรอบๆ ดวงอาทิตย์ ทีมเจมิไนบอกว่าการคำนวณของพวกเขาสอดคล้องกับการตรวจสอบคาบการหมุนรอบตัวที่ 7.5 ±2.3 ชั่วโมงที่ทำในวันที่ 21 กรกฎาคม


แหล่งข่าว sci.esa.int : Hubble snaps close-up of comet NEOWISE
                hubblesite.org : first images captured of comet after sizzling Sun flyby
                space.com : Hubble telescope catches stunning view of comet NEOWISE after its spectacular summer sky show   
 
               
phys.org : Gemini observatory images reveal striking details of comet NEOWISE
                 sciencealert.com : this spiraling stream of gas just revealed the rotation of historic comet NEOWISE 

Thursday, 10 September 2020

NGC6231

 


NGC6231 ที่ 133 เท่า


NGC6231 ที่ 21เท่า


ค่ำนี้เป็นคืนที่สองที่มีดาวให้ดูในรอบสองสามเดือน กลุ่มดาวแมงป่องตอนปลายเดือนสิงหาคมตะแคงข้างทางทิศใต้ กระจุกดาวที่เป็นที่รู้จักดีอีกตัว ห่างจากดาวซีต้าสคอร์ปีแต่ครึ่งองศา NGC6231 กระจุกดาวที่ดูคล้ายดาวหางเมื่อดูด้วยตาเปล่าหรือกล้องสองตา

ท้องฟ้าบริเวณนี้หากมืดสนิทจะเป็นบริเวณที่สวยที่สุดจุดหนึ่งบนฟ้า เพราะอยู่บนจุดที่สว่างที่สุดของทางช้างเผือก มีกระจุกดาวและเนบิวล่าให้สำรวจมากมายด้วยกล้องสองตาหรือกล้องดูดาวขนาดเล็กที่กำลังขยายต่ำ 

กระจุกดาวตัวนี้ ค้นพบโดย จีวานนี้ โฮเดียน่า มีการกล่าวถึงว่าเป็น “luminosae” หรือแสงสว่าง ในหนังสือ “De Admirands Coeli Charecteribus” ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1654 เป็นกระจุกดาวเกิดใหม่ที่อายุน้อยมากคือราว 3.2 ล้านปีเท่านั้น

ผมว่าดูสวยด้วยกล้องสองตา ถ้าฟ้ามืดพอจะเห็นดาวพราวพราย นอกจาก NGC6312 แล้วยังมี Tr24 และ NGC6242 ที่เห็นในฟิลด์เดียวกัน

หากดูในกล้องดูดาวที่กำลังขยายต่ำ ฟิลด์ภาพจะแคบลงแต่จะเห็นรายละเอียดที่ใจกลางกระจุกดาวมากขึ้น ซีต้าสคอร์ปีเป็นดาวคู่ที่แยกได้ง่ายและยังเป็นส่วนหนึ่งของ NGC6231 อีกด้วย ซีต้า 1 สีแดงอมเหลือง ซีต้า 2 สีแดงสดและสว่างกว่า





Catalog No.: NGC6231 
กลุ่มดาว: Scorpius 
ประเภท: Open Cluster 
Visual Magnitude: +2.6 
Apparent size: 14 arcmin 
ระยะทางจากโลก: 4100 ly 
R.A.: 16h 55m 35.85s 
Dec.: -41° 50’ 55.3” 
ความยาก: 1

Wednesday, 9 September 2020

สัญญาณที่มาตามสัญญา

 


     หนึ่งในการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในด้านดาราศาสตร์ในช่วงทศวรรษหลังๆ ก็คือการมีอยู่ของการปะทุคลื่นวิทยุเร็ว(fast radio burst; FRBs) ซึ่งเป็นการเปล่งพลังงานให้ตรวจจับได้ในช่วงคลื่นวิทยุยาวนานในระดับมิลลิวินาที

     ท่ามกลางเหตุการณ์เหล่านี้ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ FRB 121102 ซึ่งเป็นการปะทุคลื่นวิทยุเร็วเหตุการณ์แรกที่พบว่าเกิดซ้ำ คุณลักษณะอันแปลกประหลาดนี้ช่วยให้นักวิจัยได้ตามรอยมันกลับไปถึงกาแลคซีต้นกำเนิด และหาลำดับเหตุการณ์ต่างๆ นานาเพื่ออธิบาย และเมื่อไม่กี่เดือนก่อน Kaustubh Rajwade และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ได้รายงานหลักฐานที่บอกว่า FRB 121102 ประทุเป็นคาบเวลา ขณะนี้ รายงานฉบับใหม่ที่เผยแพร่ใน arXiv ได้เพิ่มการสำรวจที่ระบุการเกิดซ้ำเป็นคาบเวลาที่ชัดเจนมากขึ้น ทีมที่นำโดย Marilyn Cruce จากสถาบันมักซ์พลังค์เพื่อดาราศาสตร์วิทยุได้ตรวจจับการปะทุ 36 ครั้งจาก FRB 121102 โดยใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุเอฟเฟลสแบร์กขนาด 100 เมตร ระหว่างเดือนกันยายน 2017 ถึงมิถุนายน 2020 เมื่อรวมกับข้อมูลจากงานวิจัยของ Rajwade ทีมได้พบว่าระบบแห่งนี้ดูเหมือนจะมีวัฏจักรที่เกิดซ้ำทุกๆ 161± 5 วัน



วงกลมสีฟ้าระบุตำแหน่งของ FRB 121102 บนท้องฟ้า


      รายงานระบุเวลาระหว่าง 9 กรกฎาคมถึง 14 ธันวาคม 2020 ว่าจะเป็นช่วงที่แหล่งมีกิจกรรม แต่ Cruce และทีมของเธอก็ไม่ใช่ทีมเดียวที่ตรวจสอบ ทีมที่นำโดย Pei Wang จากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติจีน ใช้ FAST( Five-hundred-meter Aperture Spherical Radio Telescope) เพื่อจับตาดูตำแหน่งที่เกิด FRB 121102 ในหลายช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม 2020 ระหว่างช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงปลายกรกฎาคม พวกเขาไม่พบการปะทุใดๆ เลย แต่เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม FAST ได้พบการปะทุอย่างน้อย 12 ครั้งจาก FRB 121102 ซึ่งบอกว่าแหล่งนี้ตื่นขึ้นอีกครั้ง แม้ว่าทีมจะคำนวณช่วงคาบเวลาได้ค่าที่แตกต่างจากทั้งทีมของ Rajwade และ Cruce

     เราได้รวมการปะทุที่รวบรวมโดย Rajwade et al.(2020) และ Cruces et al.(2020) เข้ากับการตรวจจับครั้งใหม่ที่ได้จาก FAST ในปี 2019 และ 2020 และได้คาบใหม่ที่สอดคล้องดีที่สุดที่ 156.1 วัน พวกเขาเขียนไว้ในโพสต์ที่ The Astronomer’s Telegram ตามการคำนวณของทีม Wang ช่วงตื่นน่าจะจบที่ระหว่าง 31 สิงหาคมถึง 9 กันยายน 2020 และถ้า FRB 121102 ยังคงแสดงกิจกรรมเลยจากช่วงเวลาข้างต้นนี้ ก็น่าจะบอกว่า คาบเวลาอาจไม่มีอยู่จริง หรือมีการปรับเปลี่ยนไป แน่นอนว่าเป็นไปได้ที่ต้องทำการคำนวณคาบเวลาเสียใหม่ ซึ่งหมายความว่าเราน่าจะยังต้องจับตาดู FRB 121102 ต่อไป



การปะทุซ้ำของ FRB 121102 ทำให้สามารถตามรอยกลับไปที่กาแลคซีต้นสังกัดการปะทุ เป็นกาแลคซีแคระซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 3 พันล้านปีแสง


     ทีม Rajwade เชื่อว่าแหล่งของ FRB นี้เป็นวัตถุขนาดกะทัดรัดชนิดหนึ่งที่มีสนามแม่เหล็กที่รุนแรงมาก อย่างเช่น ดาวนิวตรอนชนิดที่เรียกว่า มักนีตาร์(magnetar) ความจริงที่ว่าแหล่งเปล่ง FRBs นานราว 100 วันก่อนที่จะไม่มีอะไรออกมาเลยในอีกสองเดือนต่อไป ช่วยให้นักวิจัยได้แนวคิดว่ามักนีตาร์ดวงนี้กำลังโคจรรอบวัตถุอื่น วัตถุนี้อาจจะเป็นดาวนิวตรอนอีกดวง, เป็นหลุมดำ หรือดาวฤกษ์มวลสูง

     ในวงโคจร 161 วันบวกลบของมัน มักนีตาร์น่าจะใช้เวลาส่วนใหญ่ของคาบนี้ มีปฏิสัมพันธ์กับดาวข้างเคียงและสภาพแวดล้อมที่พวกมันอยู่ร่วมกัน ปฏิสัมพันธ์นี้อาจจะเป็นหนทางที่สร้าง FRBs ขึ้นมา ส่วนเวลาที่เหลือ มักนีตาร์น่าจะอยู่ไกลเกินไปจนปฏิสัมพันธ์ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ลำดับเหตุการณ์เช่นนี้ดูน่าจะเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมันไม่ใช่ FRB เพียงแห่งเดียวที่พบกับการเกิดวัฏจักร โดยมี FRB 180916 ก็มีคาบ 16 วัน


ภาพจากศิลปินแสดงแบบจำลองลักษณะการโคจรเมื่อต้นกำเนิด FRB(สีฟ้าอยู่ในวงโคจรกับวัตถุข้างเคียง(สีชมพู) จากการศึกษา FRB 121102 ของ Rajwade 

      ยังคงมีเรื่องที่ยังไม่ทราบอีกมากเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้โดยรวม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง FRB 121102 การเปล่งคลื่นวิทยุในช่วงเวลาเพียงเสี้ยววินาทีนั้นเทียบเท่ากับพลังงานทั้งหมดที่ดวงอาทิตย์ปล่อยออกมาตลอดสามวัน แต่การปะทุเหล่านี้ก็มีอะไรมากกว่าคลื่นวิทยุ การสำรวจในช่วงรังสีเอกซ์พร้อมๆ กับ FRB เหตุการณ์หนึ่งได้บอกว่าการปะทุอาจจะมีพลังงานเทียบเท่ากับที่ดวงอาทิตย์ปล่อยออกมาในช่วง 12 ปี


แหล่งข่าว iflscience.com : fast radio burst emissions confirm astronomer predictions and repeat right on schedule    
              
sciencealert.com : a mysterious radio burst that keeps repeating just woke up, right on schedule

Monday, 7 September 2020

ดาวเคราะห์รอบหลุมดำยักษ์ในใจกลางกาแลคซี

 

     หลุมดำมวลมหาศาลพบได้ทั่วเอกภพของเรา เป็นหลุมแรงโน้มถ่วงปีศาจที่ยึดเกาะกาแลคซีไว้ด้วยกันและพรางตัวมันเองไว้ในก้อนฝุ่นที่หมุนเวียน เปล่งรังสีเอกซ์สว่างออกมา บางครั้ง ลำวัสดุสารสว่างก็ปะทุออกจากขั้วของหลุมดำ ก่อตัวเป็นไอพ่นที่เห็นได้ข้ามห้วงอวกาศ และขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์บางคนก็สงสัยว่าปีศาจแรงโน้มถ่วงเหล่านี้อาจจะมีดาวเคราะห์รอบๆ พวกมันได้หลายพันดวง



ภาพจากศิลปินแสดงเหนือยอดเมฆในชั้นบรรยากาศดาวเคราะห์ในทางทฤษฎีที่อาจก่อตัวรอบหลุมดำมวลมหาศาลในใจกลางกาแลคซี 


      นักวิทยาศาสตร์เรียกดาวเคราะห์ของหลุมดำเหล่านี้ในชื่อเล่นว่า blanets บลาเนตเช่นนี้น่าจะก่อตัวขึ้นจากเมฆฝุ่นที่หมุนวนไปรอบๆ หลุมดำ และพวกมันก็ไม่น่าจะแตกต่างจากดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ปกติสักเท่าไหร่ บางดวงก็อาจแข็งแกร่งเป็นหินเหมือนอย่าง โลก แต่น่าจะมีขนาดใหญ่กว่าได้ถึงสิบเท่า และบางส่วนก็อาจเป็นดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ แต่แทบจะแน่นอนว่าเรามองไม่เห็นพวกมัน เมื่อพวกมันซ่อนตัวอยู่ในดิสก์มวลสารที่ให้กำเนิดรอบหลุมดำตัวแม่ แต่ในรายงานคู่หนึ่งซึ่งเผยแพร่ใน Astrophysical Journal ในเดือนพฤศจิกายน 2019 และบนเวบ arXiv เดือนกรกฎาคม 2020 ตามลำดับ ทีมนักวิจัยได้หาความเป็นไปได้ที่ดาวเคราะห์รอบหลุมดำเหล่านี้จะอยู่ได้

     ไม่ใช่ว่าหลุมดำมวลมหาศาล(supermassive black hole) ทุกแห่งน่าจะมีดาวเคราะห์อยู่รอบๆ ได้ การพัฒนาลูกบอลวัสดุสารรอบๆ หลุมดำนั้น ยุ่งยากกว่าในดิสก์กำเนิดดาวเคราะห์(protoplanetary disk) รอบดาวฤกษ์อายุน้อย ฝุ่นและก๊าซที่หมุนวนรอบหลุมดำมวลมหาศาลแห่งหนึ่งแห่งใด ก็มีความหนาแน่นน้อยกว่ามาก และสสารที่ตกลงสู่หลุมดำซึ่งเรืองร้อนจัดจนเปล่งโคโรนาที่ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ก็อาจจะร้อนเกินไปและสว่างเกินไปจนน้ำแข็งไม่สามารถก่อตัวขึ้นในส่วนใดของดิสก์ฝุ่นก๊าซนี้ได้เลย

     และน้ำแข็งก็เป็นองค์ประกอบหลักสำหรับการก่อตัวดาวเคราะห์ อนุภาคฝุ่นที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งดูจะเกาะเข้าด้วยกันเมื่อพวกมันชนกัน ลองคิดถึงว่าน้ำแข็งสองก้อนจะเกาะอยู่ด้วยกันอย่างไรเมื่อชนกันและกัน เมื่อเทียบกับก้อนกรวดสองก้อนที่แน่นอนว่าเกาะติดกันแทบไม่ได้ Keiichi Wada ผู้เขียนนำ นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยคาโกชิมา ในญี่ปุ่น กล่าว เมื่อเวลาผ่านไป ก้อนเหล่านั้นจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และมีแรงโน้มถ่วงที่พัฒนาจนรุนแรงมากพอที่จะดึงฝุ่นเพิ่มเข้ามาได้อีกมาก ก้อนฝุ่นจะมีขนาดใหญ่พอจนก่อตัวดาวเคราะห์หินได้

      คล้ายๆ กัน เมื่อไม่มีน้ำแข็งหรือน้ำแข็งแห้ง(dry ice; คาร์บอนไดออกไซด์ในรูปของแข็ง) ก็ยากมากๆ ที่จะสร้างบลาเนตขึ้นได้ Wada กล่าว หลุมดำบางแห่งมีเส้นหิมะ(snow lines) ในดิสก์มวลสารที่ล้อมรอบมัน ซึ่งเป็นพื้นที่ในอวกาศที่เย็นพอที่น้ำแข็งจะก่อตัวขึ้นได้ เลยจากเส้นนี้ไป อนุภาคฝุ่นจะถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง Wada กล่าว ด้วยเหตุนี้ จึงง่ายที่จะเกาะกันเมื่อพวกมันชนกัน



กลไกการก่อตัววัตถุดิบสำหรับดาวเคราะห์ โดยบอกว่ารอบเม็ดฝุ่นมีน้ำแข็งบางๆ เคลือบไว้เมื่อเม็ดฝุ่นชนกัน ความร้อนจะทำให้ชั้นน้ำแข็งนี้หลอมเหลว และแข็งตัวในสภาพแวดล้อมในอวกาศอีกครั้ง ยึดเกาะเม็ดฝุ่นไว้


     เลยจากเส้นหิมะออกไป บลาเนตหินน่าจะก่อตัวขึ้นจากก้อนฝุ่นน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ได้ภายใน 10 ล้านปี ถ้าบลาเนตทารกหินเหล่านี้ ดึงดูดก๊าซได้มากพอ พวกมันก็จะก่อตัวดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ได้ แต่จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าปราศจากฟิล์มน้ำแข็งบางๆ บนเม็ดฝุ่น และเนื่องจากการก่อตัวของบลาเนตไม่ถูกจำกัดไว้เหมือนกรณีดาวเคราะห์ปกติ พวกมันจึงมีขนาดใหญ่มโหฬารมาก ดังนั้น SMBHs ที่มืดกว่าเย็นกว่า(อย่างหลุมดำที่ใจกลางทางช้างเผือก) ก็น่าจะเป็นบ้านของดาวเคราะห์ประหลาดเหล่านี้ที่เป็นไปได้มากที่สุด

      ด้วยเหตุผลเหล่านี้ Wada บอกว่าบลาเนตก็ไม่ได้น่าประหลาดใจมากมายอะไรนัก ดิสก์กำเนิดดาวเคราะห์ก็ไม่ต่างกับดิสก์มวลสารที่หมุนวนรอบหลุมดำ แต่ไม่มีใครเคยสนใจจะสืบหาว่าจะมีดาวเคราะห์ก่อตัวขึ้นรอบ SMBH มาก่อนเลย บางทีอาจเป็นเพราะนักวิจัยในแขนงการก่อตัวดาวเคราะห์ ไม่รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับนิวเคลียสกาแลคซีกัมมันต์(active galactic nuclei) และก็ในทางกลับกันด้วย Wada กล่าว

      สำหรับการเป็นนิวเคลียสกาแลคซีกัมมันต์ ซึ่งเป็นสถานะหนึ่งในวิวัฒนาการกาแลคซี ที่เกิดขึ้นราว 1 ร้อยล้านปี ก็จะเพิ่มความจำกัดเรื่องพื้นที่ที่บลาเนตจะสามารถก่อตัวขึ้นได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมการก่อตัวบลาเนตด้วย เนื่องจากผลกระทบจากการแผ่รังสีจากนิวเคลียสกาแลคซีกัมมันต์ที่มีต่อเมฆฝุ่น น่าจะผลักดันให้อนุภาคไหลออกจากหลุมดำสร้างเป็นลมวัสดุสารใหม่ๆ ให้กับการก่อตัวดาวเคราะห์ ที่พัดอย่างคงที่ ภายใต้สภาวะพิเศษนี้ บลาเนตก็จะยิ่งเจริญได้เร็วขึ้นและอาจมีขนาดใหญ่ถึง 3000 เท่ามวลโลก(ซึ่งก็ใหญ่พอที่จะก่อตัวดาวแคระน้ำตาลได้ทีเดียว) แต่ถ้าปราศจากลมฝุ่น บลาเนตก็น่าจะเจริญไม่เกิน 6 เท่ามวลโลก ผลสรุปของเราบอกว่าบลาเนตน่าจะก่อตัวรอบนิวเคลียสกาแลคซีกัมมันต์ที่มีกำลังสว่างค่อนข้างต่ำได้ทันเวลาช่วงสถานะนั้น พวกเขาเขียนไว้ในรายงาน


หลุมดำที่มีกิจกรรมสูง ที่เรียกว่า active galactic nucleus


     
Wada และเพื่อนร่วมงานยังคงค้นหารายละเอียดทฤษฎีบลาเนตของพวกเขาต่อไป ในรายงานปี 2020 ทีมได้ปรับแต่งและอัพเดทแบบจำลองที่เผยแพร่ในปี 2019 แบบจำลองเดิมนั้น เขาบอกว่ามันปุกปุยเกินไป จะก่อตัวดาวเคราะห์ที่บวมพองขนาดใหญ่ แต่มีความหนาแน่นต่ำ แต่แบบจำลองใหม่สร้างดาวเคราะห์ที่สมจริงมากกว่า มีความหนาแน่นสูงกว่า มีชั้นก๊าซห่อหุ้มที่เล็กกว่ามาก และพวกเขายังได้ปรับปรุงความเข้าใจว่าฝุ่นรอบๆ SMBH ซึ่งพวกมันกระจายอยู่เบาบางกว่าในดิสก์กำเนิดดาวเคราะห์ น่าจะมีพฤติกรรมอย่างไร เมื่อมันเกาะกลุ่มกันในสภาพแวดล้อมก๊าซเบาบางในดิสก์รอบหลุมดำ Wada กล่าว

      มันยากที่จะจินตนาการว่าบลาเนตเหล่านี้จะมีพื้นผิวเป็นอย่างไร นอกเหนือจากความประหลาดที่โคจรรอบหลุมดำมวลมหาศาลแล้ว ตัวบลาเนตเองก็น่าจะโคจรอยู่ห่างจากกันและกัน และจากหลุมดำ มากกว่าที่โลกห่างจากดาวเคราะห์พี่น้อง หรือดวงอาทิตย์ ในกรณีบลาเนตอาจจะอยู่ห่างไกลจากหลุมดำได้ถึงระดับร้อยล้านล้านกิโลเมตร หรือหลายสิบปีแสงเลยทีเดียว ซึ่งต้องใช้เวลาโคจรถึง 1 ล้านปีเพื่อให้ครบรอบ ทำให้พวกมันโดดเดี่ยวจนน่าพิศวง

     และในตอนนี้ ก็ไม่มีทางทราบว่าจะมีชีวิตอุบัติบนบลาเนตได้หรือไม่ การแผ่รังสีอุลตราไวโอเลตและรังสีเอกซ์จากกลุ่มก๊าซร้อนจัด(corona) เหนือหลุมดำจะยอมให้สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่ในส่วนที่โดดเดี่ยวในอวกาศได้หรือไม่ แล้วผู้อาศัยบนบลาเนตที่มองหาดาวฤกษ์แม่และจะแปลกใจว่าที่นั้นก็มีลูกบอลหินและก๊าซล้อมรอบ ด้วยหรือไม่  

 

แหล่งข่าว space.com - thousands of Earthlike blanetsmight circle the Milky Way’s central black hole   
              
astronomy.com – blanet: a new class of planet that could form around black holes
             sciencealert.com – we have ploonets. We have moonmoons. Now hold onto your hats for..blanets

Friday, 4 September 2020

GW 150921 การควบรวมของหลุมดำที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา

     เมื่อกว่าเจ็ดพันล้านปีก่อน มีหลุมดำขนาดใหญ่สองแห่งโคจรรอบกันและกัน จนกระทั่งพวกมันชนและควบรวมกัน เป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงมากจนส่งระลอกวิ่งผ่านห้วงกาลอวกาศ ในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2019 โลกก็ไหวสะเทือนจากระลอกที่คู่ยักษ์ที่อยู่ไกลโพ้นนี้ส่งออกมา เป็นเงื่อนงำให้นักดาราศาสตร์ได้เห็นการชนในอวกาศครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยตรวจพบ และเป็นการชนที่ท้าทายต่อความคาดหมายในทางทฤษฎี




     สัญญาณที่หอสังเกตการณ์สองแห่งคือ LIGO ในสหรัฐอเมริกา และ Virgo ในอิตาลีจับได้นั้นมาในรูปของคลื่นความโน้มถ่วง ซึ่งเป็นการรบกวนในผืนกาลอวกาศเมื่อมีวัตถุมวลสูงเคลื่อนที่ สัญญาณซึ่งเรียกว่า GW 150921 มาจากการชนที่ใหญ่โตอย่างแท้จริง นักวิจัยประเมินว่าหลุมดำสองแห่งนี้มีมวลที่ 66 และ 85 เท่ามวลดวงอาทิตย์ หมุนวนเข้าหากันและกัน จนประสานรวมเป็นหลุมดำแห่งเดียวที่มีมวล 142 เท่ามวลดวงอาทิตย์

     เหตุการณ์ซึ่งเพิ่งประกาศใน Physical Review Letters วันที่ 2 กันยายน 2020 โดยรวมแล้วเป็นการตรวจจับที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบผ่านคลื่นความโน้มถ่วงมา ในเสี้ยววินาที หลุมดำที่กำลังควบรวมกันได้เปล่งพลังงานเทียบเท่ากับ 8 เท่ามวลของดวงอาทิตย์ ออกมาในรูปของคลื่นความโน้มถ่วง ปริมาณพลังงานนี้เทียบเท่ากับการจุดระเบิดปรมาณู 1 พันล้านล้านลูกในทุกๆ วินาที ไปตลอด 13.8 พันล้านปี ซึ่งเป็นอายุของเอกภพที่สังเกตการณ์ได้

     Matthew Graham นักดาราศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลจีแห่งคาลิฟอร์เนีย(Caltech) ซึ่งไม่ได้มีส่วนในโครงการ LIGO หรือ Virgo เลย เรียกเหตุการณ์นี้ว่า อาจจะเป็นการระเบิดที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เราเคยพบในเอกภพ





     การควบรวมของหลุมดำเหตุการณ์นี้ได้สร้างความตื่นเต้นทางวิทยาศาสตร์อย่างมาก ด้วยเหตุผลสามสี่ประการ ประการแรก หลุมดำที่เกิดขึ้นใหม่ไปอยู่ในช่องว่างในการสำรวจ จนกระทั่งบัดนี้ นักวิจัยได้พบแค่หลุมดำที่มีมวลหลายสิบเท่าดวงอิทตย์ และหลุมดำยักษ์ที่เรียกว่า supermassive black hole ซึ่งมีมวลหลายล้านจนถึงหลายพันล้านเท่าดวงอาทิตย์ แต่ไม่เคยยืนยันหลุมดำแห่งใดที่มีมวลระหว่าง 100 ถึง 100,000 เท่ามวลดวงอาทิตย์เลย การพบหลุมดำ 142 เท่ามวลดวงอาทิตย์ หลุมดำจาก GW 150921 จึงเป็นหลุมดำแห่งแรกที่เคยพบในช่วงรอยต่อนี้

      สัญญาณคลื่นความโน้มถ่วงจากการชนนี้ ยังสั้นมากๆ เมื่อเทียบกับการตรวจจับการชนก่อนหน้านี้ และการวิเคราะห์อย่างเข้มข้นก็เผยมวล 66 และ 85 เท่าดวงอาทิตย์ได้ในที่สุด ซึ่งก็ใหญ่กว่าการชนหลุมดำใดๆ ที่เคยตรวจพบมาในช่วงห้าปีนับตั้งแต่ที่เราตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงได้เป็นครั้งแรก Alessandra Bounanno นักฟิสิกส์ทฤษฎีจากสถาบันมักซ์พลังค์เพื่อฟิสิกส์ความโน้มถ่วงในเจอรมนี และมหาวิทยาลัยมารีแลนด์ กล่าวว่า นับตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณนี้เกิดก็นานเพียง 0.1 วินาทีเท่านั้น ท้าทายเราที่จะจำแนกกำเนิดของมัน แต่แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่สั้นมากๆ เราก็สามารถจับสัญญาณนี้กับการควบรวมหลุมดำเหตุการณ์หนึ่ง ตามที่ทำนายโดยทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ได้ และเราก็ตระหนักว่าเป็นครั้งแรกที่เราได้พบการกำเนิดของหลุมดำมวลปานกลาง(intermediate-mass black holes) จากหลุมดำพ่อแม่ที่น่าจะเป็นผลจากการควบรวมหลุมดำคู่ก่อนหน้านั้นอีก





     ขณะนี้ เราสามารถจบกรณีต้องสงสัยและบอกได้ว่าหลุมดำมวลปานกลางมีอยู่จริง Christopher Berry สมาชิกทีม LIGO นักฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น กล่าว แต่สำหรับ Berry และคนอื่นๆ แล้ว หลุมดำที่สร้างความตื่นเต้นให้มากกว่า กลับไม่ใช่หลุมดำที่เกิดมาจากการควบรวม แต่เป็นหลุมดำตั้งต้นที่มีมวลสูงกว่าในคู่ควบรวมนี้ ด้วยมวลที่ราว 85 เท่าดวงอาทิตย์ เนื่องจากในทางทฤษฎีแล้ว ไม่น่าจะมีหลุมดำในช่วงมวลนี้ นี่จึงเป็นเรื่องที่ช๊อค เพราะว่ามันอยู่ในที่ที่เราคิดว่าจะไม่มีหลุมดำขนาดนี้ เขากล่าว

     สำหรับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ดวงดาวทั้งหลาย ดาวฤกษ์เป็นวัตถุที่พึ่งพาสมดุล: แรงโน้มถ่วงจะบีบอัดดาว แต่เมื่อแสงวิ่งออกจากแกนกลาง มันจะผลักดาวออกไป แต่บางครั้งดาวมวลสูงก็เผาไหม้อย่างรุนแรงในแกนกลาง สมดุลนี้จึงเสียไป อนุภาคแสงที่เรียกว่า โฟตอน(photons) จะดึงพลังงานออกมาด้วยเพียงพอที่จะเปลี่ยนเป็นคู่อิเลคตรอน-โพสิตรอน ซึ่งเป็นปฏิสสารของอิเลคตรอน การเปลี่ยนแปลงนี้ลดความดันภายในแกนกลางลงได้ชั่วคราว ซึ่งทำให้ดาวบีบอัดตัวมากขึ้นและร้อนขึ้น

     ทฤษฎีปัจจุบันทำนายว่าเมื่อดาวที่มีมวลราว 60 ถึง 130 เท่าดวงอาทิตย์ การบีบอัดและสภาพที่ร้อนขึ้น จะนำไปสู่การระเบิดแบบกู่ไม่กลับที่เรียกว่า ซุปเปอร์โนวาแบบคู่ไร้เสถียรภาพ(pair-instability supernova) เหตุการณ์เช่นนี้จะทำลายดาวอย่างสิ้นเชิงจนเศษซากที่กระจายออกมาไม่สามารถยุบตัวเป็นหลุมดำได้ สิ่งที่ประหลาดก็คือ หลุมดำตัวใหญ่ที่คู่ที่สร้าง GW 190521 อยู่ในช่วงมวลที่คาดว่าน่าจะเกิด(ซุปเปอร์โนวา) คู่ไร้เสถียรภาพ Berry กล่าว พูดง่ายๆ คือ ดาวในช่วงมวลนี้ไม่ควรจะสร้างหลุมดำขึ้นมาได้


ดาวมวลสูงในระดับหนึ่ง จบชีวิตด้วยการสร้างหลุมดำโดยผ่านกระบวนการเกิดซุปเปอร์โนวา 2 แบบที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับมวลตั้งต้นของดาวฤกษ์

     ถ้าคุณพบหลุมดำที่มีมวลระหว่าง 52 ถึง 133 เท่ามวลดวงอาทิตย์ หรือที่เรียกว่า ช่องว่างมวลค่าบน(upper mass gap) มันก็ไม่น่าจะถูกสร้างขึ้นมาจากดาวฤกษ์เดี่ยวที่ยุบตัวลงเปรี้ยงเดียว Priyamvada Natarajan นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ทฤษฎีที่มหาวิทยาลัยเยล ผู้เชี่ยวชาญหลุมดำซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษานี้ อธิบาย ธรรมชาติกำลังบอกเราว่ามีหนทางมากมายที่จะไปถึงหลุมดำในช่วงมวลนี้

     ไม่เพียงแต่ผลสรุปเหล่านี้จะเปิดประตูบานใหม่สู่หลุมดำมวลปานกลางและหลุมดำในช่องว่างมวลค่าบน แต่ยังเป็นกุญแจสู่ความเข้าใจปริศนาหลุมดำอีกอย่างว่า หลุมดำมวลมหาศาล ได้ความใหญ่โตของพวกมันมาอย่างไร

     หลุมดำเป็นปริศนาแทบจะตลอดกาล เนื่องจากพวกมันไม่เปล่งรังสีหรือสะท้อนรังสีใดๆ ให้เราตรวจจับได้ เราจึงไม่ทราบกระทั่งว่ามีพวกมันอยู่ที่นั้น จนกว่าพวกมันจะเริ่มกลืนมวลสารอย่างกระตือรือร้น ซึ่งเป็นกระบวนการที่เปล่งรังสีจำนวนมหาศาลจากส่วนที่อยู่นอกหลุมดำออกมาเล็กน้อย แต่หลุมดำมวลปานกลางกลับยิ่งเป็นปริศนาในหมู่มวลปริศนา เนื่องจากดูเหมือนว่าพวกมันจะมีอยู่ไม่มากนัก

     นักดาราศาสตร์เคยตรวจจับสิ่งที่พวกเขาคิดว่าน่าจะเป็นหลุมดำมวลปานกลาง แต่ก็เช่นเดียวกับการตรวจจับหลุมดำเกือบทั้งหมดที่ไม่ใช่หลักฐานทางตรง จึงไม่สามารถสรุปแน่ชัดได้ แต่คลื่นความโน้มถ่วงช่วยให้เราได้ตรวจจับหลุมดำคู่ และผลผลิตจากการควบรวมของพวกมันได้โดยตรง ซึ่งทำให้สัญญาณจาก GW 190521 เป็นหลักฐานโดยตรงของหลุมดำมวลปานกลางชิ้นแรก



     Berry กล่าวว่า หนึ่งในปริศนาข้อใหญ่ที่สุดในดาราศาสตร์ฟิสิกส์ก็คือ แล้วหลุมดำมวลมหาศาลก่อตัวอย่างไร ลองนึกว่ามีช้างระดับหลักล้านเท่ามวลดวงอาทิตย์อยู่ในห้อง แล้วพวกมันเจริญจากหลุมดำมวลดวงดาวซึ่งก่อตัวเมื่อดาวยุบตัวลง หรือว่า พวกมันก่อตัวผ่านหนทางอื่นที่ยังไม่พบ เป็นเวลานานที่เราสำรวจหาหลุมดำมวลปานกลางเพื่อเชื่อมต่อช่องว่างระหว่างหลุมดำมวลดวงดาวกับมวลมหาศาล ขณะนี้ เรามีข้อพิสูจน์แล้ว


     ในรายงานคู่เคียงที่เผยแพร่ใน Astrophysical Journal Letters ทีม LIGO-Virgo ได้หาลำดับเหตุการณ์จำนวนหนึ่งว่าการควบรวมนี้และหลุมดำตัวประหลาดที่เกี่ยวข้อง เกิดขึ้นอย่างไร แนวคิดที่น่าสนใจมากที่สุดก็คือ อย่างน้อยมีหลุมดำแห่งหนึ่ง(แต่ไม่ใช่ทั้งคู่) ที่ก่อตัวขึ้นจากการควบรวมของหลุมดำขนาดเล็กกว่า 2 แห่ง นี่เป็นลำดับเหตุการณ์ที่ผมชื่นชอบ Steinn Sigurdsson นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยเพนน์ซิลวาเนียสเตท ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษานี้ กล่าว

     ในสภาพแวดล้อมที่เฉพาะน่าจะสร้างการควบรวมแบบสองขั้นตอนขึ้นได้มากกว่า ความเป็นไปได้ทางหนึ่งที่อาจจะเพิ่มโอกาสในการควบรวมแบบนี้ก็คือ ถ้ามันเกิดขึ้นภายในดิสก์ก๊าซที่โคจรรอบหลุมดำมวลมหาศาลในใจกลางกาแลคซี ซึ่งก็มีร่องรอยหลักฐานว่า GW 150921 อาจจะเกิดขึ้นในลักษณะตั้งต้นแบบนี้ ในเดือนมิถุนายน Graham เป็นผู้เขียนร่วมในการศึกษาชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ใน Physical Review Letters ที่อธิบายว่าแสงวาบในพื้นที่ใกล้เคียงกันบนท้องฟ้ากับ GW 150921 ประมาณ 34 วันหลังจากคลื่นความโน้มถ่วงวิ่งผ่านโลก ทีมบอกว่าแสงนี้น่าจะก่อตัวขึ้นเมื่อหลุมดำที่ควบรวมได้วิ่งผ่านดิสก์ก๊าซที่ล้อมรอบหลุมดำยักษ์แห่งหนึ่งไว้ ทำให้ก๊าซร้อนขึ้นจนเรืองสว่าง



     แต่ Natarajan ก็มีอีกทฤษฎีหนึ่ง ในการศึกษาที่เธอร่วมเขียนในปี 2014 เธอได้คำนวณว่าในเอกภพยุคต้น หลุมดำขนาดเล็กสามารถพองตัวด้วยความเร็วที่สูงมากๆ โดยกระเด้งไปรอบๆ กระจุกดาวที่อุดมด้วยก๊าซ ในการศึกษาต่อๆ มา เธอก็รวบยอดความคิดว่า จะต้องมีกระจุกดาวชนิดหนึ่งๆ ที่สามารถให้กำเนิดหลุมดำคู่ขึ้นมา ซึ่งแต่ละแห่งจะมีมวลประมาณ 50 ถึง 75 เท่าดวงอาทิตย์ ซึ่งหลังจากนั้นพวกมันก็ควบรวมกัน

     ไม่ว่างานทางทฤษฎีกับ GW 190521 จะเบ่งบานไปแค่ไหน แต่นักวทิยาศาสตร์บอกว่าพวกเขาจะไม่สามารถเผยปริศนาของมันได้ จนกว่าหลังจากที่ LIGO และ Virgo จะตรวจจับการชนที่คล้ายๆ กันนี้ได้มากขึ้น ด้วยเหตุการณ์เดียว คุณก็ยังคงมีคำอธิบายมากมายให้กับสิ่งที่คุณบอกว่าเป็นข้อยกเว้น Sigurdsson กล่าว ทันทีที่คุณสามารถสำรวจเหตุการณ์ได้จำนวนหนึ่ง คุณก็จะกำจัดแบบจำลองไปได้ส่วนหนึ่ง

 


แหล่งข่าว sciencealert.com : most massive black hole collision detected confirms elusive middleweight black holes
                nationalgeographic.com : the birth of a massive intermediate black hole would have been observed for the first time

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...