Friday 21 August 2020

Messier 2

 

ภาพสเก็ทช์เอ็ม 2 จากกกล้องสะท้อนแสง 8" ที่ 266 เท่า โดยผู้เขียน
คืนนั้นฟ้าขุ่นดูยาก เชื่อว่าสามารถมองเห็นได้จากในเมือง


กลุ่มดาวราศีกุมภ์เป็นกลุ่มดาวที่มีรูปร่างซับซ้อนและไม่ค่อยสว่าง ทำให้แม้จะรู้ตำแหน่งกลุ่มดาวก็ยังค่อนข้างยาก กระจุกดาวทรงกลมแมสซายเออร์ 2 อยู่ในเขตกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำการหาให้เจอเป็นความท้าทายทั้งในเมืองและนอกเมือง

การหาตำแหน่งเอ็ม 2 ทำให้เราได้เรียนรู้ ทำความคุ้นเคยกับกลุ่มดาวสองกลุ่มคือ “ม้าเปกาซัส” และ “คนแบกหม้อน้ำ”หรือราศีกุมภ์ กลุ่มดาวเปกาซัสสังเกตง่ายกว่าเพราะมีดาวเรียงรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่เป็นลำตัวของม้า จากมุมทางตะวันตกที่สุดของรูปสี่เหลี่ยม (อัลฟ่า (α) เปกาชิ) เส้นกลุ่มดาวจะไปสุดที่ “แอพซิลอน (ε) เปกาชิ” ในตำแหน่งจมูกม้า

ส่วนกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำซึ่งเป็นกลุ่มดาวที่จางและรูปร่างไม่ชัดเจน ในแผนที่ดาวจะเป็นรูปผู้ชายแบกไหใส่น้ำที่กำลังไหลรินไว้บนไหล่ขวา ดาวสว่างที่พอจะมองเห็นได้มี “อัลฟ่า-α”(แมกนิจูด 2.4) เป็นไหล่ขวา “เบต้า-β” (แมกนิจูด 2.4) เป็นไหล่ซ้าย และ “ซีต้า1-ζ1” (แมกนิจูด 3.7) เป็นไหหรือหม้อน้ำแต่จะจางกว่าอัลฟ่าและเบต้ามาก


กลุ่มดาวเพกาซัส แอพซิลอนอยู่ตรงจมูกม้าพอดี
แผนที่ดาว Urania's Mirror ภาพจาก wiki common


เบต้าเป็นไหล่ข้างซ้ายของคนแบกหม้อน้ำ ตำแหน่งเอ็ม2 ประมาณใบหู ข้างซ้าย
แผนที่ดาว Urania's Mirror ภาพจาก wiki common


วิธีระบุตำแหน่งไหล่ทั้งสองข้างของคนแบกหม้อน้ำ เมื่อพบจมูกม้าหรือแอพซิลอนเปกาชิแล้ว มองไปทางใต้อีกราว 15 องศาจะพบ “เบต้าอความรี่” หรือไหล่ซ้ายของคนแบกหม้อน้ำ ไหล่ขวาหรืออัลฟ่าห่างออกไปจากไหล่ซ้ายทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 10 องศาสว่างพอกัน ส่วนไหจะจางกว่าสามารถใช้ไบนอคช่วยได้

เอ็ม 2 ห่างจากแอพซิลอนเปกาชิไปทางทิศใต้ประมาณ 10 องศา หรือประมาณสองในสามของระยะทางจากจมูกของเปกาซัส “แอพซิลอนเปกาซิ” ไปยังไหล่ซ้ายของคนแบกหม้อน้ำ “เบต้าอควารี่” มองเห็นได้ทั้งจากกล้องเล็งและกล้องสองตาเป็นจุดแสงฟุ้งขนาดจิ๋วคล้ายดาว คนตาดีอาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหากฟ้าดีมากและไร้มลภาวะทางแสง

ชาร์ล แมสซายเออร์พบเอ็ม 2 ในคืนวันที่ 11 กันยายน 1760 ราวสองปีหลังจากพบเอ็ม 1 บันทึกไว้ว่าเป็น “เนบิวล่าที่ไม่มีดาว” วิลเลี่ยม เฮอร์เชลล์ไป็นคนแรกที่พบว่าเป็นกระจุกดาวทรงกลม อันที่จริงผู้ที่พบวัตถุชิ้นนี้คนแรกคือ ยอง โดมินิค มาราลดิ ในปี 1746 สิบสี่ปีก่อนหน้าแมสซายเออร์

ผมเคยดูเอ็มสองในคืนที่ฟ้าไม่ดีนัก มีหมอกควันหนารวมกับเมฆฉาบไล้บางๆทั่วฟ้า แต่ยังพอมองเห็นเบต้าอควารี่จางๆด้วยตาเปล่า ในกล้องเล็งขนาด 8x50 เอ็มสองดูเบลอเหมือนดาวที่อยู่นอกจุดโฟกัส

ในกล้องดูดาวเอ็ม 2 มีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่ใจกลางสว่างและไม่อยู่ตรงกลาง เริ่มแยกดาวออกเป็นเม็ดได้ที่กำลังขยาย 133 เท่าบนกล้องดูดาวสะท้อนแสงขนาด 8นิ้ว มีแถบฝุ่นหรือโครงสร้างบางอย่างภายใน แต่จับภาพได้ไม่ดีนัก เพราะท้องฟ้าค่อนข้างแย่

แผนที่ท้องฟ้าเดือนสิงหาคมเวลาเที่ยงคืน
เอ็ม 2 อยู่ใกล้กลางฟ้าพอดี คลิกภาพเพื่อขยาย



แผนที่ตำแหน่งเอ็ม 2 คลิกภาพเพื่อขยาย


ข้อมูลเบื้องต้น 
กลุ่มดาว: Aquarius 
Catalog No.: Messier 2, NGC 7089 
ประเภท: Globular Cluster 
Visual Magnitude: +6.5 
dia: 16 arcmin 
ระยะทางจากโลก: 3800 ly
R.A.: 21h 34m 29.73s 
Dec.: 00° 43’ 57.0”

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...