ในระหว่างการเดินทางขาเข้าเพื่อไปบินผ่านดาวพฤหัสฯ
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2019
ยานจูโน(Juno) ของนาซาได้บินเข้าไปในระยะใกล้กับขั้วเหนือของวัตถุที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับเก้าในระบบสุริยะ-ดวงจันทร์กานิมีด(Ganymede)
การถ่ายภาพในช่วงอินฟราเรดโดยเครื่องมือ JIRAM(Jovian
Infrared Auroral Mapper) ของยาน
ได้ให้แผนที่อินฟราเรดพื้นที่ส่วนเหนือของดวงจันทร์ยักษ์ดวงนี้เป็นครั้งแรก
กานิมีดเป็นดวงจันทร์เพียงดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีขนาดใหญ่กว่าดาวเคราะห์อย่างดาวพุธ(กานิมีดมีความกว้าง 5268 กิโลเมตร)
กานิมีดประกอบด้วยน้ำแข็งและหินซิลิเกตเป็นหลัก องค์ประกอบของมันให้เงื่อนงำพื้นฐานสู่การเข้าใจวิวัฒนาการของดวงจันทร์ดาวพฤหัสฯ
ทั้ง 79 ดวงตั้งแต่ช่วงเวลาที่ก่อตัวจนถึงปัจจุบัน
โดยมีชั้นเปลือกน้ำแข็งรอบๆ มหาสมุทรของเหลวที่ล้อมรอบแกนกลางเหล็กหลอมเหลว
กานิมีดจึงเป็นดวงจันทร์เพียงดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีสนามแม่เหล็กเป็นของมันเองซึ่งเกิดขึ้นจากการพาความร้อน(convection)
ในแกนกลาง
เปรียบเทียบขนาดดาวเคราะห์ กับดวงจันทร์ในระบบสุริยะ
บนโลก
สนามแม่เหล็กเบี่ยงเบนเส้นทางพลาสมา(อนุภาคมีประจุจากดวงอาทิตย์)
ให้เข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก และหลุดมาถึงพื้นที่ขั้วโลก สร้างแสงเหนือ-ใต้(aurora) ขึ้นจากการทำปฏิกิริยากับอะตอมในชั้นบรรยากาศ
ในเมื่อกานิมีดไม่มีชั้นบรรยากาศเพื่อปัดป้อง พลาสมาจำนวนมากจากมักนีโตสเฟียร์(magnetosphere)
ขนาดมหึมาของดาวพฤหัสฯ
ก็ชนกับพื้นผิวดวงจันทร์โดยตรง สนามแม่เหล็กของกานิมีดผันพลาสมาไปที่ขั้วทั้งสอง
ทำให้พื้นผิวที่ขั้วของมันถูกระดมชนด้วยพลาสมาอย่างคงที่
การระดมชนส่งผลอย่างมากต่อน้ำแข็งของกานิมีด
ข้อมูล JIRAM ได้แสดงว่าน้ำแข็งที่ขั้วเหนือกานิมีดและรอบๆ ถูกปรับแต่งโดยกระแสพลาสมาที่ตกลงมา Alessandro Mura ผู้นำร่วมปฏิบัติการจูโน นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ที่สถาบันเพื่อดาราศาสตร์ฟิสิกส์แห่งชาติ ในกรุงโรม กล่าว มันเป็นปรากฏการณ์ประหลาดที่เราจะได้เรียนรู้เป็นครั้งแรกด้วยจูโนเนื่องจากเราสามารถมองขั้วเหนือได้โดยทั่วทั้งหมด
น้ำแข็งใกล้ขั้วทั้งสองของดวงจันทร์เป็นแบบอสัณฐาน(amorphous; ไม่เกิดผลึก) นั้นเป็นเพราะอนุภาคมีประจุวิ่งตามสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์จนถึงขั้ว
ที่ซึ่งพวกมันจะชนและทำลายน้ำแข็งที่นั้น ทำให้น้ำแข็งไม่สามารถมีโครงสร้างที่เป็นระเบียบ(หรือเป็นผลึกหกเหลี่ยม)
ได้ ในความเป็นจริง โมเลกุลน้ำแข็งที่พบที่ขั้วทั้งสองไม่มีความเป็นระเบียบ
และน้ำแข็งอสัณฐานก็มีสัญญาณอินฟราเรดที่แตกต่างจากผลึกน้ำแข็งที่พบที่ศูนย์สูตรกานิมีด
พื้นที่กลางภาพคือขั้วเหนือของกานิมีด เส้นทึบคือ เส้นลองจิจูดที่ 0
ข้อมูลเหล่านี้เป็นอีกตัวอย่างของวิทยาศาสตร์อันยิ่งใหญ่ที่จูโนทำได้เมื่อสำรวจดวงจันทร์ของดาวพฤหัสฯ
Giuseppe Sindoni ผู้จัดการโครงการของเครื่องมือ
JIRAM ให้กับองค์กรอวกาศอิตาลี
กล่าว ปฏิบัติการหลักของจูโนก็เพื่อสำรวจดาวพฤหัสฯ JIRAM ถูกออกแบบมาให้จับแสงอินฟราเรดที่ผุดขึ้นจากเบื้องลึกภายในดาวพฤหัสฯ
ตรวจสอบชั้นต่างๆ ที่ลึกลงไป 50 ถึง 70
กิโลเมตรใต้ชั้นยอดเมฆของดาวพฤหัสฯ
แต่เครื่องมือก็สามารถใช้เพื่อศึกษาดวงจันทร์ไอโอ(Io), ยูโรปา(Europa), กานิมีด และคัลลิสโต(Callisto) ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า ดวงจันทร์กาลิเลโอ(Galilean
moons) ด้วย
ดวงจันทร์น้ำแข็งสามดวงของดาวพฤหัสฯ ยูโรปา,
คัลลิสโต และกานิมีด มีคุณสมบัติน้ำแข็งที่แตกต่างกัน
น้ำแข็งของคัลลิสโตนั้นเป็นผลึก ส่วนน้ำแข็งของยูโรปาเป็นอสัณฐาน
และกานิมีดก็มีทั้งสองอย่าง งานวิจัยก่อนหน้านี้พบว่านี่อาจเกิดจากความใกล้กับดาวพฤหัสฯ
โดยยูโรปาอยู่ใกล้ที่สุด จึงอาบรังสีจากแถบการแผ่รังสี(radiation belts) ที่สร้างโดยมักนีโตสเฟียร์ของดาวพฤหัสฯ
ในปริมาณที่สูงที่สุดด้วย ส่วนคัลลิสโตอยู่ไกลที่สุด จึงอาบรังสีน้อยที่สุด
การรู้ว่าจูโนมีโอกาสจะได้เห็นส่วนเหนือของกานิมีดในการบินผ่านดาวพฤหัสฯ
วันที่ 26 ธันวาคม
ทีมปฏิบัติการได้ตั้งโปรแกรมให้ยานหันเครื่องมืออย่าง JIRAM ไปเพื่อสำรวจพื้นผิวกานิมีด
ในช่วงเวลาที่เข้าใกล้กานิมีดมากที่สุดที่ราว 1 แสนกิโลเมตร JIRAM ได้เก็บภาพพื้นผิวในช่วงอินฟราเรดราว 300 ภาพ โดยมีความละเอียดที่ 23 กิโลเมตรต่อพิกเซล
ภาพถ่ายขั้วเหนือกานิมีดในช่วงอินฟราเรดจาก
JIRAM ในเส้นทางการโคจรของจูโน ภาพถ่ายห่างกันทุกๆ 20 นาที
โดยช่วงที่เข้าใกล้ดวงจันทร์มากที่สุดคือภาพซ้ายสุดที่ประมาณ 1 แสนกิโลเมตร
ความลับของดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวพฤหัสฯ ที่จูโนและ JIRAM ได้เผยออกมาจะเป็นประโยชน์กับปฏิบัติการต่อๆ
ไปสู่พิภพน้ำแข็งแห่งนี้
นอกจากข้อมูลใหม่ๆ แล้ว
จากการพิจารณาการสำรวจเก่าๆ
นักวิทยาศาสตร์ได้พบสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าอาจจะเป็นหลุมการชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่พบในระบบสุริยะ
โดยรอยแผลเป็นนี้ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่บนกานิมีด
นักวิทยาศาสตร์เบื้องหลังงานวิจัยใหม่ต้องการกลับมาพิจารณาดูการสำรวจเก่าๆ
จากปฏิบัติการในอดีตของนาซาที่ศึกษาดวงจันทร์ยักษ์ดวงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
พวกเขาสนใจรายละเอียดชุดหนึ่งซึ่งเรียกว่า เฟอร์โรว์(furrows) ซึ่งเป็นร่องมีขอบคมชัดที่ปรากฏอยู่บนพื้นที่ที่เก่าแก่ที่สุดบนดวงจันทร์นี้
นักวิจัยก่อนหน้านี้ได้บอกว่าเฟอร์โรว์ที่เป็นวงแหวนซ้อนเหล่านี้เป็นหลักฐานของการชนครั้งใหญ่เหตุการณ์หนึ่ง
ซึ่งมีความรุนแรงมากพอที่จะทิ้งรอยแผลเป็นไว้ทั่วซีกโลกฟากหนึ่งของกานิมีดเลยทีเดียว
แต่เมื่อกลับไปพิจารณาโครงสร้างเหล่านี้ซ้ำอีก
นักวิทยาศาสตร์ในงานวิจัยใหม่ซึ่งนำโดย Naoyuki Hirata นักดาวเคราะห์วิทยาที่มหาวิทยาลัยโกเบ เชื่อว่า
เป็นการประเมินที่ต่ำเกินไป เฟอร์โรว์นี้เป็นการชนที่ใหญ่มากจนส่งผลต่อดวงจันทร์ทั้งดวง
พื้นที่ที่สว่าง(bright
terrain)
และพื้นที่ที่มืด(dark terrain) สามารถแยกแยะได้ง่าย
โดยมีร่องซ้อนๆ ปรากฏบนพื้นที่ที่มืดเหล่านั้น
นักวิจัยเริ่มต้นด้วยการสะสมข้อมูลที่รวบรวมได้จากปฏิบัติการวอยยาจเจอร์(Voyager)
แฝดของนาซาซึ่งต่างก็บินผ่านระบบดาวพฤหัสฯ
ในปี 1979 และจากปฏิบัติการกาลิเลโอ(Galileo)
ของนาซาซึ่งใช้เวลาแปดปีตั้งแต่ 1995
ถึง 2003 เพื่อศึกษาดาวเคราะห์ยักษ์ซึ่งแบ่งพื้นที่ได้เป็น
2 ชนิดคือ
พื้นที่สีสว่าง(bright terrain) ซึ่งมีสีอ่อนและค่อนข้างขาดแคลนร่องรอยการชน
และพื้นที่สีมืด(dark terrain) ซึ่งปุปะด้วยรอยแผลน่าจะเป็นพื้นผิวที่เก่าแก่ที่สุดของกานิมีดอยู่ด้วย
ซ้ำอีกครั้ง ทั่วพื้นที่สีมืดนี้ แบบจำลองใหม่บอกว่า
เฟอร์โรว์ทั้งหมดแม้แต่ที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามของดวงอาทิตย์
ก็แผ่เป็นวงระลอกออกจากจุดหนึ่งจุดเดียว
นักวิจัยบอกว่าเฟอร์โรว์เป็นตัวระบุถึงเหตุการณ์การชนที่ส่งผลต่อกานิมีดทั้งปวง
ไม่เพียงแต่ซีกโลกฝั่งเดียวอย่างที่เคยจำแนกก่อนหน้านี้ว่าเกิดการเปลี่ยนรูปร่างจากการชน
แม้ว่าการจำแนกพื้นที่ชนจะใช้หลักฐานมากกว่าแค่วงแหวนที่น่าสงสัยเหล่านี้
แต่ถ้าการชนเกิดขึ้นจริง ก็น่าจะมาจากดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่
ความกว้างอย่างน้อย 50 กิโลเมตร
หรืออาจจะใหญ่ถึง 150 กิโลเมตรเลย
ชนกับดวงจันทร์ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อวินาที
ทิ้งวงแหวนและรอยแตกซ้อนชุดหนึ่งคล้ายกับตาวัว(bullseye) ไปทั่วดวงจันทร์ ซึ่งน่าจะเกิดในระหว่างการระดมชนอย่างหนักครั้งล่าสุด(Late
Heavy Bombardment) เมื่อราว 4
พันล้านปีก่อน ซึ่งหลังจากหลายสหัสวรรษของกระบวนการทางธรณีวิทยา
ก็กลายเป็นร่องและราง(troughs) ที่นักวิทยาศาสตร์ได้เห็นในขณะนี้
ถ้าแบบจำลองนี้ถูกต้อง
นักวิทยาศาสตร์บอกว่าพวกเขาก็ได้พบรอยแผลเป็นจากการชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะแล้ว
โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 7800 กิโลเมตร
ใหญ่เป็นสองเท่าของความยาวแม่น้ำมิสซิสซิปปี้
ระบบแอ่งการชนที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบในปัจจุบันเรียกว่า หลุมอุกกาบาตวัลฮัลลา(Valhalla
crater) ที่พบบนคัลลิสโต(Callisto)
ดวงจันทร์ขนาดใหญ่อีกดวงของดาวพฤหัสฯ
ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3800 กิโลเมตร
ดูเล็กไปทีเดียว
บน: แผนที่ซึ่งมีศูนย์กลางที่ 20 องศาใต้ 180 องศาตะวันตก แสดงพื้นที่ที่มืดของกานิมีด
และเฟอร์โรว์(ระบุด้วยเส้นสีเหลือง) ล่าง: แผนที่ซึ่งมีศูนย์กลางที่ 20 องศาเหนือ 0 องศาตะวันตก แสดงซีกโลกฝั่งตรงกันข้ามกับภาพบน
บนกานิมีด พื้นที่สีขาวคือ พื้นที่ที่สว่าง(Bright terrain)
นักวิทยาศาสตร์ในงานใหม่ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Icarus วันที่ 15 กรกฎาคม
หวังว่าข้อมูลใหม่จะช่วยพวกเขาให้แปลผลเฟอร์โรว์บนกานิมีดได้ดีขึ้น
และให้เข้าใจอย่างแม่นยำว่าพวกมันก่อตัวได้อย่างไร ถ้าเฟอร์โรว์เหล่านี้เกิดขึ้นจากการชนครั้งใหญ่
ก็น่าจะพบความผิดปกติในแรงโน้มถ่วง(gravitational anomaly) ที่ตำแหน่งชนด้วย
คล้ายกับที่พบบนโครงสร้างการชนขนาดใหญ่อื่นๆ เช่น แอ่งขั้วใต้-ไอท์เค่น(South Pole-Aitken basin) บนดวงจันทร์ของโลก
ขณะนี้ เรารู้ว่าจะต้องมองหามัน
บางทียานจูโนอาจจะถูกใช้เพื่อสำรวจความผิดปกติในแรงโน้มถ่วงนี้ นอกจากนี้ปฏิบัติการ
JUICE(Jupiter Icy Moons Explorer) ขององค์กรอวกาศยุโรป(ESA)
ซึ่งมีกำหนดออกสู่อวกาศในปี 2022 นอกจากจะทำการสำรวจชั้นมักนีโตสเฟียร์ของดาวพฤหัสฯ,
ชั้นบรรยากาศที่ปั่นป่วนของมัน ยังอุทิศให้กับการศึกษาดวงจันทร์น้ำแข็งกานิมีด, คัลลิสโตและยูโรปา
ตั้งแต่ปี 2030 เป็นเวลาอย่างน้อยสามปีครึ่ง
แหล่งข่าว spaceref.com
: Juno takes first images of Ganymede’s north pole
sciencealert.com : Juno
delivers first images of the north pole of Ganymede, where it rains plasma
space.com :
Jupiter’s huge moon Ganymede may have the largest impact scar in the solar
system
sciencealert.com :
astronomers may have identified the biggest impact structure in our solar
system
No comments:
Post a Comment