Thursday 18 June 2020

Messier 83 : Southern Pinwheel


แมสซายเออร์ 83 มีจุดสังเกตคือดาวจางสามดวงที่เรียงเป็นแถวทางทิศใต้
เอ็ม83 จะอยู่บนดวงกลางพอดี


ค่ำวันที่ 11 มิถุนายน 2563 ที่บางพลีอากาศดี ใสกระจ่าง ไร้เงาจากจันทร์บนพื้น ลมโชยเป็นระยะ ท้องฟ้าฝั่งทะเลทางทิศใต้ไร้เมฆแม้สักน้อย เสียแต่ว่ายุงเยอะเป็นพิเศษเหตุจากฝนที่ตกต่อเนื่องกันมาเป็นสัปดาห์ ต้องอาศัยยากันยุงและพัดลมเป็นตัวช่วย

เซ็นทอรัสหรือคนครึ่งม้ามองเห็นได้เต็มตัวเหนือหลังคาบ้านตรงข้าม สูงขึ้นไปเป็นหางของงูไฮดร้า-กลุ่มดาวที่มีพื้นที่มากที่สุดบนฟ้า บริเวณเขตติดต่อระหว่างเซ็นทอร์กับไฮดร้ามีกาแลกซี่ที่สว่างที่สุดตัวหนึ่งในท้องฟ้าใต้ “แมสซายเออร์ 83” หรือ Sourthern Pinwheel ที่ได้ชื่อนี้เพราะ ได้มาจากลักษณะที่ดูคล้ายเอ็ม101 หรือ Pinwheel Galaxy ตรงหางของหมีใหญ่

แม้ท้องฟ้าใส แต่ด้วยมลภาวะทางแสงที่สูง ทำให้ชานเมืองหลวงยังไม่ดีพอที่จะมองเห็นเอ็ม 83 ผ่านกล้องสองตา สำหรับใครที่อยู่ไกลจากตัวเมืองผมชวนให้หยิบกล้องสองตาออกมาลอง วิธีการฮอบจะเริ่มจากทางไฮดราหรือเซ็นทอร์ก็ได้ แต่วันนี้ผมขอเริ่มข้อศอกข้างซ้ายของเซ็นทอร์หรือดาว “อิโอต้า เซ็นทอรี่” เพราะมองเห็นชัดเจนดี เอ็ม 83 จะห่างออกไปราว 3องศาครึ่งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ ดาว“ไอ เซ็นทอรี่”

กาแลกซี่เป็นหนึ่งในออบเจคที่ดูยาก ตาของเราต้องปรับมาเป็นอย่างดี หากมองไม่เห็นให้ใจเย็น รอ หรือเพิ่มกำลังขยาย เมื่อเราดูไปสักพัก แสงจางที่เดินทางมาไกลแสนไกลจะปรากฎให้เห็นเอง หากมีแสงสว่างรบกวนรอบพื้นที่ดูดาว ต้องหาทางกันแสงไม่ให้เข้าตา หรืออาจใช้ผ้าทึบแสงมาคลุมหัวเราไว้จะช่วยได้มาก

เอ็ม 83 เริ่มมองเห็นใน Borg 4” ที่กำลังขยาย 85เท่า เมื่อแรกดูเป็นฝ้ากลมจางขนาดราว 4-5 อาร์คมินิตด้วยวิธีมองเหลือบ สักพักเริ่มเห็นจุดสว่างที่ใจกลาง เวลาผ่านไปอีกจึงเห็นว่าจุดสว่างที่ใจกลางมีลักษณะเป็นแท่งหนายาวฟุ้งวางตามแนวตะวันออกเฉียงเหนือไปตะวันตกเฉียงใต้ ไม่พบแขนกังหัน แต่แค่นี้ก็เกินความคาดหมายไปมาก

หากอยู่ในที่ๆเหมาะสมหรือใช้กล้องดูดาวตัวใหญ่กว่านี้ ควรจะมองเห็นแขนกังหันทางเหนือและใต้เมื่อรวมกับส่วนประกอบอื่นจะเกิดภาพตัวอักษร “S” กลับด้าน มีรายงานว่ามองเห็นปมแสงตามจุดต่างๆในกาแลกซี่อีกด้วย สำหรับคนตาผีอาจมองเห็นเอ็ม 83 ได้ด้วยตาเปล่า!

กาแลกซี่กังหันแบบมีบาร์ตัวนี้ค้นพบโดยนิโคลาส หลุยส์ เดอ ลาแซลล์ที่แหลมกูดโฮบในปี 1752 ชาลล์ แมสซายเออร์ให้หมายเลข 83 ในปี 1981 และบันทึกไว้ว่าลาแซลล์เป็นผู้ค้นพบ

เอ็ม 83 ห่างออกไป 16 ล้านปีแสง เป็นเจ้าของสถิติการเกิดซุปเปอร์โนว่ามากที่สุดมาหลายสิบปีคือ 6 ครั้ง เพิ่งจะโดนล้มแชมป์ไปโดย NGC6546 ในกลุ่มดาวหงส์ที่ปัจจุบันพบถึง 9 ครั้งจนได้ชื่อว่า “Firework Galaxy” ช่างเหมาะจริงๆ




ข้อมูลทั่วไป
Catalog number: Messier83, NGC5236
Type: Spiral Galaxy
Constellation: Hydra
Visual Magnitude: +7.15
Apparent Size: 13.5x13.2’
Distance: 16 Mly

Coordinates
R.A. 13h 38m 09.04s
Dec. -29° 58’ 02.3”

อ้างอิง
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
SkySafari
Stephen O’Mera, Messier Objects

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...