Friday, 12 June 2020

Messier 64 : Black-Eye Galaxy




แมสซายเออร์ 64 หรือ Black-Eye เป็นดาราจักรแบบแขนกังหัน Sb ที่มี Feature น่าสนใจคือแถบฝุ่นขนาดใหญ่ทางทิศตะวันออกไปถึงทิศเหนือใกล้ใจกลาง ทำให้ดาราจักรตัวนี้ดูคล้ายดวงตาที่เหลือบมองต่ำ มีเปลือกตาปิดลงมาครึ่งหนึ่งคล้ายพระเนตรของพระพุทธรูปที่มองเห็นตาดำอยู่เล็กน้อย ลองดูภาพที่คุณกีรติหนึ่งในแอดมินเคยถ่ายไว้ [คลิ๊ก]

ดาราจักรตัวนี้อยู่ในกลุ่มดาวผมของเบเรนิซเป็นบริเวณที่มีดาราจักรหนาแน่นที่สุดจุดหนึ่งบนฟ้า ผมของเบเรนิซเป็นกลุ่มดาวจางๆ มีกระจุกดาวขนาดใหญ่ที่ใกล้โลกที่สุดตัวหนึ่งชื่อว่า “เมลล๊อตต์111” ในที่ๆมืดสนิทกระจุกดาวตัวนี้จะระยิบระยับส่องประกายงามจนลืมหายใจเมื่อดูด้วยตาเปล่า

การหาตำแหน่งเอ็ม 64 เป็นความยากขึ้นมาอีกขั้นเพราะกลุ่มดาวผมของเบเรนิซค่อนข้างจาง อันดับแรกเราต้องหาตำแหน่งของ “อัลฟ่าโคเม่เบเรนิซ” เสียก่อน ดาวสว่างแมกนิจูด 4 ดวงนี้อยู่ครึ่งทางระหว่างอาร์คตุรุสกับเดเนบโบล่า(หางสิงโต)

เมื่อยืนยันตำแหน่งอัลฟ่าโคเม่เบเรนิซได้แล้ว ก่อนที่จะไปต่อลองแวะชมเอ็ม 53 ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไม่ถึงหนึ่งองศาของอัลฟ่า เอ็ม53 ต้องอาศัยกำลังขยายกลางถึงสูงเป็นกระจุกดาวทรงกลมที่งามไม่แพ้ใคร

จากอัลฟ่าโคเม่เบเรนิซให้ไปที่ 35 โคเม่ดาวดวงนี้ห่างออกไป 5 องศาครึ่งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอัลฟ่า จาก 35 แค่องศาครึ่งไปทางตะวันออกเฉียงเหนือก็เป็นเอ็ม64

ภาพจากกล้องหักเหแสง 4 นิ้วของผมมองเห็นเป็นปื้นของแสงสว่างทรงรี ที่กำลังขยายปานกลางมองเห็นแสงสว่างทางทิศใต้เป็นแนวยาว คาดว่าเป็นใจกลางและแขนกังหัน แต่มองไม่เห็นแถบฝุ่นทางทิศเหนือของใจกลางดาราจักรที่น่าจะต้องใช้กล้องดูดาวขนาด 8 นิ้วขึ้นไปสำหรับท้องฟ้าระดับปานกลางและสายตาที่ปรับมาอย่างดีแล้ว

Edward Pigott เป็นคนแรกที่ค้นพบในวันที่ 23 มีนาคม 1779 ส่วน Messier ได้พบวัตถุชิ้นนี้แล้วก็ระบุเป็นหมายเลข 64 ในปี 1780 ส่วนผู้ที่พบแถบฝุ่นอันเป็นเครื่องหมายการค้าของดาราจักรตัวนี้คือ William Herschel

มีรายงานจากหลายแหล่งว่าเอ็ม 64 สามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องสองตาครับ




ข้อมูลทั่วไป
Catalog number: Messier 64, NGC4826
Type: Spiral Galaxy 
Constellation: Vergo
Visual Magnitude: +8.38
Apparent Size: 10.5x5.3’
Distance: 4.4 Mly
Coordinates
R.A. 12h 57m 42.85s
Dec. +21° 34’ 24.8”

อ้างอิง 
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook 
SkySafari 
Stephen O’Mera, Messier Objects

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...