Wednesday, 24 June 2020

Porrima : The Perfect Twins





“พอร์ริม่า” หนึ่งในสองพี่น้องเทพธิดาพยากรณ์ในยุคเทพปกรนัม พอร์ริม่าเป็นผู้รู้อนาคตส่วนโพสท์เวอร์ต้าเป็นผู้รู้อดีต สองพี่น้องนอกจากจะเป็นเทพธิดาพยากรณ์แล้วในสมัยโรมันยังเป็นเทพธิดาแห่งการกำเนิดทารก สำหรับหัวเด็กออกก่อนก็คือพอร์ริม่า หากเท้าออกก่อนคือโพสท์เวอร์ต้า

บริเวณเอวของกลุ่มดาวหญิงสาวหรือเวอร์โก้มีดาวสว่างที่อยู่ในตำแหน่งใกล้จุดให้กำเนิด จึงได้รับชื่อว่า “พอร์ริม่า” ช่างเป็นความบังเอิญที่ปัจจุบันทราบกันว่า “พอร์ริม่า” เป็นดาวคู่แฝดงามหมดจดเหมือนสองพี่น้องเทพธิดาพยากรณ์ พอร์ริม่าและโพสท์เวอร์ต้า


แผนที่กลุ่มดาวเวอร์โก้ในยูราโนเมเตรียโดยโยฮานน์ โบนด์ปี 1801
Credit : The sky tonight

“พอร์ริม่า” หรือ “แกมม่า (γ) เวอร์จินิส” ตำแหน่งอยู่ราวครึ่งทางระหว่างสไปก้ากับเดเนบโบล่า(หางสิงโต) ดาวคู่นี้ห่างจากโลก 38 ปีแสง สเปคตรัม F0 สีขาวเหมือนกัน มีค่าความสว่างใกล้กันมากคือ 3.48 และ 3.50 เรียกว่าเป็นคู่แฝดที่เหมือนกันเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งความสว่างและสี

คืนฟ้าดีที่บางพลีผมมองเห็นพอร์ริม่าด้วยตาเปล่าเป็นดาวสว่างแมกนิจูด 3 ดวงหนึ่ง ภาพจาก Borg ตัวเดิมที่กำลังขยาย 85 เท่า พรอริม่าไม่ใช่จุดแสงคมแต่เป็นขีดสั้นๆสีขาวสว่าง แต่เมื่อดูสักพัก ขีดแสงที่ว่าถูกแบ่งเป็นสองด้วยเส้นสีดำบางเฉียบ! บางเสียยิ่งกว่าเส้นผม

เมื่อเพิ่มกำลังขยายไปอีกเท่าตัว พอร์ริม่าแยกออกจากกันได้ชัดเจนแต่ก็ใกล้กันมากอยู่ดี ในปีนี้ (2020) พรอริม่าเอ และ บี มีระยะแยกที่ 3 ฟิลิปดา ทำให้พอจะดูได้จากกล้องขนาดเล็กทั่วไปหลังจากนี้จะห่างออกไปเรื่อยๆตามวงโคจรที่เป็นวงรีที่เยื้องศูนย์และมีคาบโคจร 168 ปี หากเป็นเมื่อปี 2005 ที่อยู่ในระยะที่ใกล้กันมากที่สุดต้องอาศัยกล้องดูดาวขนาดใหญ่ถึงจะสามารถมองเห็นทั้งคู่เป็นสองดวง

เป็นอีกหนึ่งคู่สมบูรณ์แบบที่น่ารักและห้ามพลาด

คาบโคจรของ Porrima B
เครดิตภาพจาก dibonsmith.com [Click]





ข้อมูลทั่วไป
Catalog number: γ Virginis, STF1670
Type: Variable Binary Star
Constellation: Virgo
Visual Magnitude: +3.48, +3.53
Seperation : 3.0”@356.9°
Distance: 38 ly

Coordinates
R.A. 12h 42m 41.60s
Dec. -01° 33’ 33.8”

อ้างอิง
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
SkySafari
Jim Kaler, Stars http://stars.astro.illinois.edu/sow/porrima.html
http://dibonsmith.com/vir_g.gif

https://bestdoubles.wordpress.com/2010/06/07/porrima-gamma-virginis-29/
http://malcolmlowryatthe19thhole.blogspot.com/2010/12/retreat-of-howling-dog.html

Thursday, 18 June 2020

Messier 83 : Southern Pinwheel


แมสซายเออร์ 83 มีจุดสังเกตคือดาวจางสามดวงที่เรียงเป็นแถวทางทิศใต้
เอ็ม83 จะอยู่บนดวงกลางพอดี


ค่ำวันที่ 11 มิถุนายน 2563 ที่บางพลีอากาศดี ใสกระจ่าง ไร้เงาจากจันทร์บนพื้น ลมโชยเป็นระยะ ท้องฟ้าฝั่งทะเลทางทิศใต้ไร้เมฆแม้สักน้อย เสียแต่ว่ายุงเยอะเป็นพิเศษเหตุจากฝนที่ตกต่อเนื่องกันมาเป็นสัปดาห์ ต้องอาศัยยากันยุงและพัดลมเป็นตัวช่วย

เซ็นทอรัสหรือคนครึ่งม้ามองเห็นได้เต็มตัวเหนือหลังคาบ้านตรงข้าม สูงขึ้นไปเป็นหางของงูไฮดร้า-กลุ่มดาวที่มีพื้นที่มากที่สุดบนฟ้า บริเวณเขตติดต่อระหว่างเซ็นทอร์กับไฮดร้ามีกาแลกซี่ที่สว่างที่สุดตัวหนึ่งในท้องฟ้าใต้ “แมสซายเออร์ 83” หรือ Sourthern Pinwheel ที่ได้ชื่อนี้เพราะ ได้มาจากลักษณะที่ดูคล้ายเอ็ม101 หรือ Pinwheel Galaxy ตรงหางของหมีใหญ่

แม้ท้องฟ้าใส แต่ด้วยมลภาวะทางแสงที่สูง ทำให้ชานเมืองหลวงยังไม่ดีพอที่จะมองเห็นเอ็ม 83 ผ่านกล้องสองตา สำหรับใครที่อยู่ไกลจากตัวเมืองผมชวนให้หยิบกล้องสองตาออกมาลอง วิธีการฮอบจะเริ่มจากทางไฮดราหรือเซ็นทอร์ก็ได้ แต่วันนี้ผมขอเริ่มข้อศอกข้างซ้ายของเซ็นทอร์หรือดาว “อิโอต้า เซ็นทอรี่” เพราะมองเห็นชัดเจนดี เอ็ม 83 จะห่างออกไปราว 3องศาครึ่งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ ดาว“ไอ เซ็นทอรี่”

กาแลกซี่เป็นหนึ่งในออบเจคที่ดูยาก ตาของเราต้องปรับมาเป็นอย่างดี หากมองไม่เห็นให้ใจเย็น รอ หรือเพิ่มกำลังขยาย เมื่อเราดูไปสักพัก แสงจางที่เดินทางมาไกลแสนไกลจะปรากฎให้เห็นเอง หากมีแสงสว่างรบกวนรอบพื้นที่ดูดาว ต้องหาทางกันแสงไม่ให้เข้าตา หรืออาจใช้ผ้าทึบแสงมาคลุมหัวเราไว้จะช่วยได้มาก

เอ็ม 83 เริ่มมองเห็นใน Borg 4” ที่กำลังขยาย 85เท่า เมื่อแรกดูเป็นฝ้ากลมจางขนาดราว 4-5 อาร์คมินิตด้วยวิธีมองเหลือบ สักพักเริ่มเห็นจุดสว่างที่ใจกลาง เวลาผ่านไปอีกจึงเห็นว่าจุดสว่างที่ใจกลางมีลักษณะเป็นแท่งหนายาวฟุ้งวางตามแนวตะวันออกเฉียงเหนือไปตะวันตกเฉียงใต้ ไม่พบแขนกังหัน แต่แค่นี้ก็เกินความคาดหมายไปมาก

หากอยู่ในที่ๆเหมาะสมหรือใช้กล้องดูดาวตัวใหญ่กว่านี้ ควรจะมองเห็นแขนกังหันทางเหนือและใต้เมื่อรวมกับส่วนประกอบอื่นจะเกิดภาพตัวอักษร “S” กลับด้าน มีรายงานว่ามองเห็นปมแสงตามจุดต่างๆในกาแลกซี่อีกด้วย สำหรับคนตาผีอาจมองเห็นเอ็ม 83 ได้ด้วยตาเปล่า!

กาแลกซี่กังหันแบบมีบาร์ตัวนี้ค้นพบโดยนิโคลาส หลุยส์ เดอ ลาแซลล์ที่แหลมกูดโฮบในปี 1752 ชาลล์ แมสซายเออร์ให้หมายเลข 83 ในปี 1981 และบันทึกไว้ว่าลาแซลล์เป็นผู้ค้นพบ

เอ็ม 83 ห่างออกไป 16 ล้านปีแสง เป็นเจ้าของสถิติการเกิดซุปเปอร์โนว่ามากที่สุดมาหลายสิบปีคือ 6 ครั้ง เพิ่งจะโดนล้มแชมป์ไปโดย NGC6546 ในกลุ่มดาวหงส์ที่ปัจจุบันพบถึง 9 ครั้งจนได้ชื่อว่า “Firework Galaxy” ช่างเหมาะจริงๆ




ข้อมูลทั่วไป
Catalog number: Messier83, NGC5236
Type: Spiral Galaxy
Constellation: Hydra
Visual Magnitude: +7.15
Apparent Size: 13.5x13.2’
Distance: 16 Mly

Coordinates
R.A. 13h 38m 09.04s
Dec. -29° 58’ 02.3”

อ้างอิง
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
SkySafari
Stephen O’Mera, Messier Objects

Friday, 12 June 2020

Messier 64 : Black-Eye Galaxy




แมสซายเออร์ 64 หรือ Black-Eye เป็นดาราจักรแบบแขนกังหัน Sb ที่มี Feature น่าสนใจคือแถบฝุ่นขนาดใหญ่ทางทิศตะวันออกไปถึงทิศเหนือใกล้ใจกลาง ทำให้ดาราจักรตัวนี้ดูคล้ายดวงตาที่เหลือบมองต่ำ มีเปลือกตาปิดลงมาครึ่งหนึ่งคล้ายพระเนตรของพระพุทธรูปที่มองเห็นตาดำอยู่เล็กน้อย ลองดูภาพที่คุณกีรติหนึ่งในแอดมินเคยถ่ายไว้ [คลิ๊ก]

ดาราจักรตัวนี้อยู่ในกลุ่มดาวผมของเบเรนิซเป็นบริเวณที่มีดาราจักรหนาแน่นที่สุดจุดหนึ่งบนฟ้า ผมของเบเรนิซเป็นกลุ่มดาวจางๆ มีกระจุกดาวขนาดใหญ่ที่ใกล้โลกที่สุดตัวหนึ่งชื่อว่า “เมลล๊อตต์111” ในที่ๆมืดสนิทกระจุกดาวตัวนี้จะระยิบระยับส่องประกายงามจนลืมหายใจเมื่อดูด้วยตาเปล่า

การหาตำแหน่งเอ็ม 64 เป็นความยากขึ้นมาอีกขั้นเพราะกลุ่มดาวผมของเบเรนิซค่อนข้างจาง อันดับแรกเราต้องหาตำแหน่งของ “อัลฟ่าโคเม่เบเรนิซ” เสียก่อน ดาวสว่างแมกนิจูด 4 ดวงนี้อยู่ครึ่งทางระหว่างอาร์คตุรุสกับเดเนบโบล่า(หางสิงโต)

เมื่อยืนยันตำแหน่งอัลฟ่าโคเม่เบเรนิซได้แล้ว ก่อนที่จะไปต่อลองแวะชมเอ็ม 53 ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไม่ถึงหนึ่งองศาของอัลฟ่า เอ็ม53 ต้องอาศัยกำลังขยายกลางถึงสูงเป็นกระจุกดาวทรงกลมที่งามไม่แพ้ใคร

จากอัลฟ่าโคเม่เบเรนิซให้ไปที่ 35 โคเม่ดาวดวงนี้ห่างออกไป 5 องศาครึ่งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอัลฟ่า จาก 35 แค่องศาครึ่งไปทางตะวันออกเฉียงเหนือก็เป็นเอ็ม64

ภาพจากกล้องหักเหแสง 4 นิ้วของผมมองเห็นเป็นปื้นของแสงสว่างทรงรี ที่กำลังขยายปานกลางมองเห็นแสงสว่างทางทิศใต้เป็นแนวยาว คาดว่าเป็นใจกลางและแขนกังหัน แต่มองไม่เห็นแถบฝุ่นทางทิศเหนือของใจกลางดาราจักรที่น่าจะต้องใช้กล้องดูดาวขนาด 8 นิ้วขึ้นไปสำหรับท้องฟ้าระดับปานกลางและสายตาที่ปรับมาอย่างดีแล้ว

Edward Pigott เป็นคนแรกที่ค้นพบในวันที่ 23 มีนาคม 1779 ส่วน Messier ได้พบวัตถุชิ้นนี้แล้วก็ระบุเป็นหมายเลข 64 ในปี 1780 ส่วนผู้ที่พบแถบฝุ่นอันเป็นเครื่องหมายการค้าของดาราจักรตัวนี้คือ William Herschel

มีรายงานจากหลายแหล่งว่าเอ็ม 64 สามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องสองตาครับ




ข้อมูลทั่วไป
Catalog number: Messier 64, NGC4826
Type: Spiral Galaxy 
Constellation: Vergo
Visual Magnitude: +8.38
Apparent Size: 10.5x5.3’
Distance: 4.4 Mly
Coordinates
R.A. 12h 57m 42.85s
Dec. +21° 34’ 24.8”

อ้างอิง 
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook 
SkySafari 
Stephen O’Mera, Messier Objects

Thursday, 4 June 2020

Algieba : Gamma Leonid


ภาพสเก็ทช์และสีของแกมม่าลีโอนิสโดยผู้เขียน สีที่มองเห็น
ไม่เหมือนกับสีจริงที่ควรเป็นคือ สีเหลืองอมส้มทั้งสองดวง
แต่ก็มีบางคนที่เห็นเหมือนผู้เขียนแบบในภาพนี้


กลุ่มดาวลีโอหรือสิงโต กลุ่มดาวจักราศีประจำเดือนสิงหาคม มองเห็นได้ง่ายแม้จากในเมืองโดยเฉพาะดาวเรียงส่วนหัวของสิงโตที่เป็นรูปเคียวหรือเครื่องหมายคำถามกลับด้าน ปลายด้ามเคียวเป็นดาวสว่างที่สุดในกลุ่มชื่อว่าเรกูลัส และยังมีดาวสว่างอีกดวงตรงส่วนโค้งของเคียวชื่อว่า “อัลจีบ้า”

อัลจีบ้าดาวสว่างแมกนิจูด 2 ที่สว่างเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มดาวสิงโตจึงได้ชื่อตามระบบเบเยอร์ว่า “แกมม่าลีโอนิส” คำว่า”อัลจีบ้า” “ Algieba” มาจากภาษาอาราบิก “Al Jabhah” หมายถึงแผงคอสิงโตซึ่งก็เป็นตำแหน่งของดาวดวงนี้พอดี

ดาวที่เห็นด้วยตาเปล่าว่าเป็นดวงเดียวดวงนี้ แท้จริงเป็นระบบดาวคู่ที่สวยที่สุดคู่หนึ่งบนท้องฟ้า ไกลจากเราไปราว 130 ปีแสง อัลจีบ้า เอ มีค่าความสว่าง 2.28 แมกนิจูด สว่างกว่าดวงอาทิตย์ 180 เท่า ขนาดใหญ่กว่า 23 เท่า สเปคตรัม K1 ให้สีเหลืองอมส้ม ส่วนอัลจีบ้า บี มีค่าความสว่าง 3.51 แมกนิจูด สว่างกว่าดวงอาทิตย์ 50 เท่า ใหญ่ว่า 50 เท่า สเปคตรัม G7 สีเหลืองอมส้ม

จะเห็นได้ว่าทั้งคู่มีสี “เหลืองอมส้ม” ที่ใกล้เคียงกันมาก แต่เป็นเรื่องแปลกที่นักดาราศาสตร์ทั้งอาชีพและสมัครเล่นหลายคนมองเห็นเป็นสี “ส้มและเขียว” รวมถึงผมเองด้วย ต้องลองกันเองครับว่าคุณจะมองเห็นเป็นสีอะไร เมื่อดูจากโลกอัลจีบ้า เอ และ บี ห่างกันราว 4.7 ฟิลิปดา แต่ในความเป็นจริงทั้งคู้ห่างกันราว 170 AU หรือประมาณ 4 เท่าของระยะห่างจากโลกถึงพลูโต คาบวงโคจร 500 ปี 



ฝนดาวตกลีโอนิดส์ปี 1833
ภาพจากวิกิ รายละเอียดของภาพดูที่นี่


ผู้ที่พบว่าแกมม่าลีโอนิสเป็นระบบดาวคู่คือวิลเลี่ยม เฮอร์เชลล์ในปี 1782  นอกจากนยั้นนังมีอีกเรื่องที่น่าสนใจ ประมาณ 2 องศาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแกมม่าลีโอนิสเป็นจุดเรเดียนท์ของฝนดาวตกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดชุดหนึ่งคือ “ฝนดาวตกลีโอนิส” เป็นฝนดาวตกที่เกิดราวกลางเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เกิดจากโลกผ่านเข้าไปในฝุ่นที่ดาวหาง “เทมเปิล-ทัตเทิล” (1866 I) ทิ้งเอาไว้ ซึ่งเราต้องรอจนกว่าดาวหางดวงนี้จะกลับมาอีกครั้งเพื่อจะได้เห็นฝนดาวตกในระดับ 1000 ดวงต่อชั่วโมงเหมือนในปี 2002

ในปี 2010 นักดาราศาสตร์พบดาวเตราะห์ที่มีขนาดอย่างน้อย 8.8 เท่าของดาวพฤหัส โคจรรอบ แกมม่าเอ ที่ระยะห่างใกล้เคียงกับวงโคจรโลกถึงดวงอาทิตย์หรือราว 1.0-1.4 AU อีกด้วย

คลิกภาพเพื่อขยาย



อ้างอิง 
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook 
SkySafari
http://stars.astro.illinois.edu/sow/algieba.html

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...