Thursday 7 May 2020

Zeta Cancri : Tegmine






ดาวที่อยู่บนฟ้าส่วนหนึ่งมีชื่อสามัญเช่น ไรเจล บีเทลจูส ซิริอุส พอลลักซ์ คาสเตอร์ เกือบทั้งหมดเป็นดาวที่เด่นสว่างและจะอยู่ในเส้นรูปร่างของกลุ่มดาว ในกลุ่มดาวปูหรือแคนเซอร์มีดาวพิเศษดวงหนึ่งที่มองแทบไม่เห็นและไม่ได้อยู่ในเส้นรูปร่างแต่ก็ยังมีชื่อเฉพาะนั่นคือ “แทกมินอี”

แทกมินอีหรือซีต้า (ζ) แคนครี่เป็นดาวสว่างแมกนิจูด 6 ทำให้ไม่ง่ายที่หาดาวดวงนี้ให้เจอด้วยตาเปล่า คำว่าแทกมินอีเป็นภาษาละตินหมายถึงกระดองปู อันที่จริงชื่อดาวที่ถูกไวยากรณ์ภาษาละตินจะต้องเป็น “แทกเมน (Tegmen)“ แต่มีเหตุผลบางอย่างทำให้ต้องใช้คำผิดไวยากรณ์มาจนบัดนี้

ประวัติของดาวดวงนี้นั้นในปี 1756 โยฮานน์ เบเยอร์เป็นผู้พบว่าดาวดวงนี้เป็นดาวคู่ ได้รับชื่อเป็น ซีต้า1 และซีต้า2 ในปี 1781 วิลเลี่ยม เฮอร์เชลล์พบว่าซีต้า1 มีคู่ของตัวเองทำให้แทกมินอีกลายเป็นระบบดาวสามดวง และพบดวงที่สี่ที่มองไม่เห็นจากการคำนวณในศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันคาดว่ามีดาวในระบบอีกสองสามดวงที่ยังซ่อนอยู่อีกในระบบ

แทกมินอีเป็นระบบดาวสามดวงที่ดาวทั้งสามสว่างใกล้เคียงกันประมาณมัคนิจูด 6 มีสีแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ความน่าสนใจอยู่ที่คู่ AB ที่มีระยะแยกแค่ 1 อาร์คเซคั่นซึ่งชิดกันมากเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ส่วน AB -C ระยะแยก 5 อาร์คเซคั่นนั้นแม้จะชิดกันค่อนข้างมากแต่ก็ไม่ยากนักสำหรับกล้องดูดาวขนาดเล็กทั่วไป

ด้วยเหตุนี้แทกมินอีจึงเป็นเหมือนเป้าหมายสำหรับทดสอบกล้องดูดาว ท้องฟ้าและทักษะการสังเกตของเราว่าสามารถแยกออกเป็นสามดวงได้หรือเปล่า การแยก AB-C ไม่ยาก ระยะ 5 อาร์คเซคั่นมองเห็นได้จากที่บางพลีด้วยกล้องหักเหแสงขนาด 4 นิ้ว ความยาวโฟกัส 640 มิลลิเมตรตั้งแต่กำลังขยาย 36เท่า แต่คู่ A-B ผมไม่สามารถแยกออกจากกันได้ แม้ว่าจะเพิ่มกำลังขยายไปจนสุดทางที่ 250 เท่า

กว่าสถานะการณ์โควิดจะเป็นปกติแทกมินอีคงลับฟ้าไปแล้ว ทำให้ต้องรอไปจนถึงต้นปีหน้าถึงจะได้ทดสอบอีกครั้ง คาดว่าต้องใช้กล้องดูดาวที่มีความยาวโฟกัสราว 900-1000 มม เป็นอย่างน้อย

แทกมินอีอยู่ไปทางทิศใต้ 7 องศาจากกระจุกดาวรวงผึ้ง ฮอบไม่ยาก มีดาวสว่างเป็นหมายตลอดทาง เชิญชวนมาทดสอบกันว่าจะมองเห็นแทกมินอีเป็นสองดวงหรือสามดวงผ่านกล้องดูดาวครับ :)




แผนที่จาก Cartes du Ceil



Name: Tegmine
Catalog number: ζ Cancri
Type: Multiple Stars
Constellation: Cancer
Visual Magnitude: +5.58, +5.99, +6.12
Seperation : AB 1.1”@2.6° , AC 5.9”@63.9°
Distance: 81.8 ly

Coordinates :R.A. 08h 13m 21.12s
Dec. +17° 35’ 13.2”



อ้างอิง
SkySafarihttp://stars.astro.illinois.edu/sow/nairalsaif.html
https://roslistonastronomy.uk/heads-up-tegmine-zeta-cancri
http://www.backyard-astro.com/deepsky/top100/05.html

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...