Thursday 30 April 2020

Iota Cancri




จากกระจุกดาวรวงผึ้งแต่เป็นในทิศทางตรงกันข้ามกับเอ็ม 67 ดาวที่เป็นก้ามปูทางทิศเหนือ “อิโอต้า แคนครี่” ถึงแม้ว่า ι เป็นตัวอักษรลำดับที่ 23 ของกรีก แต่อิโอต้ากลับสว่างเป็นลำดับที่สองในกลุ่มดาวปู


ในกลุ่มดาวแคนเซอร์เรียง 4 ลำดับแรกของความสว่างดาวแบบเบเยอร์ดังนี้ เบต้า อิโอต้า เดลต้า อัลฟ่า... จะเห็นว่าชื่อดาวไม่ได้เรียงตามลำดับความสว่างอย่างปกติ ทำให้ชวนสงสัยว่าเบเยอร์อาจมีวิธีการไล่เรียงชื่อดาวแบบอื่นที่เราไม่ทราบก็ได้

อิโอต้าแคนครี่เป็นดาวสว่าง 4 มัคนิจูดที่ไม่มีชื่อสามัญคล้ายว่าไม่ได้รับความสำคัญในยุคเก่า แต่ดาวดวงนี้เป็นดาวคู่ที่มีสีตัดกันสดใส ดูง่ายที่สุดคู่หนึ่งบนท้องฟ้า

ดาวหลัก อิโอต้าแคนครี่ เอ มีสีเหลืองทอง (G7.5) สว่าง 4 มัคนิจูด ส่วนดวงรอง อิโอต้าแคนครี่ บี สีฟ้าสดใส (A3) สว่าง 7 มัคนิจูด คู่นี้มีระยะแยกที่ 30.6 อาร์คเซั่นหรือ 30 ฟิลิบดา ห่างกันมากทีเดียวทำให้ดูได้ง่าย แต่ด้วยกล้องสองตาขนาด 8x40 ของผมก็ยังแยกไม่ได้ มองเห็นเป็นดาวเดี่ยวสีเหลืองใสกระจ่าง

ภาพสเก็ทช์เป็นภาพที่มองเห็นจากกล้องดูดาวหักเหแสง 5 นิ้วที่กำลังขยาย 100 เท่า แต่กล้องหักเหแสง 4 นิ้วที่กำลังขยายต่ำแค่ 20 เท่าก็แยกได้แล้วสีชัดเจนและสดสวยเช่นกัน


คลิกภาพเพื่อขยาย
Cartes du Ceil map


ข้อมูลทั่วไป
Catalog number: Iota Cancri
Type: Double Star
Constellation: Cancer
Visual Magnitude: +4.01, 6.58
Seperation: 31.3” at 308.0°
Distance: 330 ly


Coordinates
R.A. 8h 47m 54.2s
Dec. +28° 41’ 9.01”


อ้างอิง
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
SkySafari
http://stars.astro.illinois.edu/sow/nairalsaif.html

Friday 24 April 2020

Messier 67




จากกระจุกดาวรวงผึ้งไปทางตะวันอกเฉียงใต้ราว 9 องศา เป็นตำแหน่งของดาวชั้น A5 สีฟ้า-ขาวที่ชื่อว่า “อคูเบน” คำนี้แปลว่าก้ามปู ดาวดวงนี้สว่างอันดับสี่ในกลุ่มดาวแคนเซอร์แต่กลับได้ชื่อตามระบบของเบเยอร์ว่า “อัลฟ่า แคนครี่” หมายถึงดาวสว่างที่สุดในกลุ่มดาวแคนเซอร์

ทางตะวันตกของอคูเบนเกือบ 2 องศา ในคืนที่ฟ้าดีและไกลจากตัวเมืองสักหน่อยเราจะเห็นฝ้ากลมจางด้วยกล้องสองตา กะจุกดาวเปิดอีกตัวในกลุ่มดาวปู แมสซายเออร์ 67 มีขนาดเล็กกว่าพระจันทร์เต็มดวงเล็กน้อย สว่าง 7 มัคนิจูดทำให้ค่อนข้างยากสำหรับชานเมืองใหญ่ที่มีมลภาวะทางแสงสูง

ไม่นานนี้ผมดูด้วยกล้องหักเหแสง 4 นิ้วจากบางพลี แต่ท้องฟ้าค่อนข้างสว่างทำให้คอนทราสไม่ดี ต้องเพิ่มกำลังขยายเพื่อให้คอนทราสดีขึ้น ทำให้ภาพจางตามไปด้วย ที่กำลังขยาย 85 เท่ามองเห็นดาวราว 10-20 ดวง แต่ก็จางมาก

ต่างจากที่เคยดูที่หมูสี เชิงเขาใหญ่ด้วยอุปกรณ์ชุดเดียวกัน ครั้งนั้นแค่กำลังขยายต่ำกระจุกดาวก็สว่างดูง่าย แถมยังมองเห็นได้จากกล้องสองตาขนาด 8x40 ด้วย

กระจุกดาวตัวนี้ค้นพบโดยโยฮานน์ ก็อตฟรายด์ โคห์เลอร์ก่อนปี 1779 แต่บันทึกไว้ว่าเป็นเนบิวล่า แมสซายเออร์พบกระจุกดาวตัวนี้ในเดือนเมษายน ปี1780 และพบว่าเป็นกระจุกดาวไม่ใช่เนบิวล่าเป็นคนแรก

เอ็ม 67 ห่างจากราวราว 2500-3000 ปีแสงเป็นหนึ่งในกระจุกดาวที่มีอายุมากที่สุดที่ค้นพบ คาดว่าอายุประมาณ 3,500ล้านปี น้อยโลกของเราที่ 4,500ล้านปีไม่มากนัก ถือเป็นเรื่องไม่ปกติ เพราะกระจุกดาวเกือบทั้งหมดอายุไม่มาก เมื่อเวลาผ่านไปดาวฤกษ์ในกระจุกจะกระจายตัวออกไป ไม่เหลือความเป็นกระจุกดาวอีก ทำให้ไม่ค่อยพบกระจุกดาวที่เก่าแก่ขนาดนี้

ภาพเอ็ม 67 ข้างบนสเก็ทช์จากกล้องหักเหแสงขนาด 5 นิ้วที่กำลังขยาย 76 เท่า กระจุกดาวสว่างชัดเจน เมื่อมองเหลือบจะเห็นแสงฟุ้งตามแนวดาวในกระจุก คืนนั้นฟ้าไม่ดีนัก ความชื้นสูงทำให้มองเห็นดาวได้น้อยกว่าที่เป็น และหากดูด้วยกล้องดูดาวขนาดสัก 10 นิ้วขึ้นไปน่าจะเป็นอีกตัวที่สวยตรึงตาตรึงใจอีกตัว

นายพลเรือนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ W.H Smyth บันทึกว่ามองเห็นเป็นหมวก Phrygian หรือหมวกทรงแหลมแบบคนแคระในการ์ตูน บางคนก็เห็นเป็นรูปฝักข้าวโพด สำหรับผมดูเหมือนมือปีศาจที่พร้อมขย้ำเหยื่อ

ใครมีโอกาสลองดูครับ เป็นตัวที่ดีตัวนึงสำหรับกล้องสองตาครับแม้ว่าค่อนข้างจางก็ตาม


คลิกภาพเพื่อขยาย
Cartes du Ciel Map


ข้อมูลทั่วไป
Catalog number: Messie67, NGC2682
Type: Open Cluster
Constellation: Cancer
Visual Magnitude: +6.90
Apparent Size: 25’
Distance: 2600 ly


Coordinates
R.A. 8h 52m 23.38s
Dec. +11° 43’ 27.6”

อ้างอิง
SkySafari
Stephen O'Mera, Messier Object
Robert Burnham, Celestial Handbook
Walter Scott, Deep Sky Wonder

Friday 17 April 2020

ไปให้สุดที่รวงผึ้ง




อาทิตย์สุดท้ายของเดือนเมษายนใกล้เข้ามา หกเหลี่ยมฤดูหนาวที่เคยมองเห็นได้เต็มวงมาตอนนี้ลับขอบฟ้าไปบางส่วนแล้ว กลุ่มดาวนายพรานแตะแคงข้างใกล้ลับฟ้าทางตะวันตก ดาวพอลลักซ์และคาสเตอร์ยังค่อนข้างสูงบนฟ้า

กลางศรีษะมีดาวสว่างเด่นชื่อเรกูลัสดาวดวงนี้อยู่ในตำแหน่งหัวใจของสิงห์ในกลุ่มดาวสิงโตพอดี พื้นที่ว่างระหว่างเรกูลัสและคู่แฝดพอลลักซ์กับคาสเตอร์มีกลุ่มดาวจางกลุ่มหนึ่ง กลุ่มดาวแคนเซอร์หรือปูกลุ่มดาวประจำเดือนกรกฏาคม ที่แม้จะมองไม่เห็นแต่ก็หาตำแหน่งได้ง่าย

กลุ่มดาวแคนเซอร์หรือกรกฎหรือปู
กระจุกดาวจะเกาะกับเส้นสมมติระหว่างดาวสองดวงด้านบน
ทำให้ดูเหมือนรวงผึ้งเกาะกับกิ่งไม้

กลุ่มดาวกลุ่มแคนเซอร์เป็นกลุ่มที่ท้าทายสำหรับมือใหม่ ดาวในกลุ่มเรียงเป็นตัวอักษร “Y” จางทีเดียวมองได้ยากแม้จะอยู่ชานเมืองเล็กๆ ใจกลางกลุ่มดาวปูมีกระจุกดาวเปิดขนาดใหญ่ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในที่มืดสนิท กระจุกดาวเปิด Preasepe (พรี-ซี-พี) หรือกระจุกดาวรวงผึ้ง ดูผ่านกล้องสองตาจะสวยที่สุดและทำให้ทราบที่มาของชื่อ “รวงผึ้ง” ได้

เพื่อนสมาชิกน่าจะเคยดูกระจุกดาวรวงผึ้งมาก่อน แต่คราวนี้หากฟ้าเปิดลองหยิบเกล้องดูดาวมาเจาะให้ลึกกว่าเดิม พรีซีพีหรือเอ็ม 44 มีดาวสว่างเรียงเป็นรูปตัวอักษร “V” และดาวเกาะกลุ่มเป็นรูปสามเหลี่ยมหลายจุด บางจุดเป็นดาวคู่และดาวพหุ(ระบบดาวหลายดวง) มีที่น่าสนใจหลายตัว

ดาวคู่และพหุในกระจุกดาวรวงผึ้งเกือบทั้งหมดดูได้จากกล้องสองตา
ตัวเลขทางขวามือ สองชุดแรกเป็นค่าความสว่างหน่วยเป็น มัคนิจูด
ชุดที่ความคือระยะห่าง (Seperation) หน่วยเป็นอาร์คเซคั่น

เริ่มจากรูปสามเหลี่ยมขนาดจิ๋วใกล้ใจกลางก่อน STF1254 เป็นดาวพหุ 5 ดวงหากเห็นแค่ 4 ให้ลองเพิ่มกำลังขยาย อันที่จริงมี 5 ดวง แต่ดวงสุดท้ายจางและชิดมากดูยาก ดวงสว่างสองดวงดวงหนึ่งสีส้ม อีกดวงสีขาว ลองสังเกตความแตกต่างของสี

  • Epsilon Cancri หรือ S574 ดาวคู่ที่ดูง่ายมีแค่ 2 ดวงคู่กัน
  • S571 ดาวพหุ 4 ดวงคู่ AB ชิดกันมากห่างแค่ 1 อาร์คเซคั่น เราจะมองเห็น 3 ดวงแยกได้ตั้งแต่กำลังขยายต่ำ มีดวงหนึ่งสีออกส้มกว่าดวงอื่น
  • S570 ดาวพหุ 3 ดวงดูง่าย ระยะแยก AB 1ลิดาส่วน AC 3 ลิปดา
  • 39 Cancri หรือ ENG37 ระบบดาวพหุ 4 ดวงที่ดูง่ายเช่นกัน เรียงเป็นแถวเป็นแนว

ติดอยู่บ้านก็สนุกกับดูดาวได้ครับ :)


อ้างอิง
Su French, Celestial sampler
View from Whitby Observatory

Thursday 9 April 2020

ดาวศุกร์ ดาวประจำเมืองและดาวประกายพรึก


ภาพสเก็ทช์ดาวศุกร์ในวันที่ 2 เมษายน 2563 จะเห็นว่าดาวศุกร์มีเสี้ยวสว่างน้อยกว่าครึ่งเล็กน้อย
สเก็ทช์จากกล้องหักเหแสง 4" ที่กำลังขยาย 170 เท่า โดยผู้เขียน

เมื่อต้นเดือนเมษายนหน้าฟีด เพจ กลุ่มและข่าวดาราศาสตร์เต็มไปด้วยดาวศุกร์สุกสว่างผ่านเข้าไปในกระจุกดาวลูกไก่ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกแปดปี 

ดาวศุกร์หรือดาวประจำเมืองของไทยเราในวันนั้น หากดูด้วยกล้องดูดาวจะเป็นเสี้ยวสว่าง เล็กกว่าครึ่งดวงเล็กน้อย กาลิเลโอคือผู้พบเสี้ยวดาวศุกร์เป็นคนแรกด้วยกล้องดูดาวที่ทำขึ้นเอง การสังเกตเสี้ยวดาวศุกร์ทำให้กาลิเลโอสรุปว่าโลกและดาวศุกร์โคจรรอบดวงอาทิตย์

ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ชั้นใน หมายถึงอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก การที่อยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ความสัมพันธ์ของตำแหน่งระหว่างโลก ดาวศุกร์และดวงอาทิตย์ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นดาวศุกร์แบบเต็มดวงจากโลกได้

แล้วเหตุใดดาวศุกร์หรือดาวประจำเมืองที่เห็นตอนหัวค่ำถึงย้ายข้างไปเป็นดาวประกายพรึกในตอนเช้ามืดได้ เรามาทำความเข้าใจจากภาพวงโคจรของดาวศุกร์รอบดวงอาทิตย์กัน

ความสัมพันธระหว่างดาวศุกร์ โลก และดวงอาทิตย์





จากรูปด้านบนดาวศุกร์วิ่งวนวงโคจรแบบทวนเข็มนาฬิกา เริ่มจากตำแหน่ง A เรียกว่าว่าซูพิเรียคอนจังชั่น ตำแหน่งนี้ดาวศุกร์จะไกลจากโลกมากที่สุดและเราจะมองไม่เห็นเพราะจากโลกดวงอาทิตย์จะบังไว้ 

(ภาพซ้าย) บนโลกเมื่อสังเกตดาวศุกร์ทุกวันในเวลาเดียวกัน เราจะเห็นดาวศุกร์สูงขึ้นจากขอบฟ้าทีละน้อยหลังพระอาทิตย์ตกดิน คนไทยเรียกดาวศุกร์ตอนนี้ว่า “ดาวประจำเมือง” มีเสี้ยวสว่างมากกว่าครึ่งดวงดวงเหมือนพระจันทร์ใกล้เต็มดวง 

เวลาผ่านไปเมื่อดาวศุกร์มาถึงตำแหน่ง B หรืออีลองเกชั่นสูงสุดทางตะวันออก เราจะเห็นดาวศุกร์ครึ่งดวง อยู่ในตำแหน่งสูงที่สุดบนท้องฟ้า จากนั้นจะค่อยๆต่ำใกล้ขอบฟ้าพร้อมดวงอาทิตย์ เสี้ยวสว่างก็จะบางลง จนในที่สุดเราจะมองไม่เห็นดาวศุกร์ช่วงหัวค่ำ

ตอนนี้ดาวศุกร์มาอยู่ในตำแหน่ง C หรืออินฟีเรียคอนจังชั่นเป็นเวลาที่ดาวศุกร์อยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นได้ในเวลากลางคืน ในบางปีที่ตำแหน่งเหมาะสม จะเกิดปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ที่สังเกตได้ในเวลากลางวันจากกล้องดูดาวติดฟิลเตอร์กรองแสง ครั้งสุดท้ายที่เกิดคือปี 2012 และครั้งต่อไปในปี 2117!!!








(ภาพขวา) จากนั้นเราจะเริ่มเห็นดาวศุกร์ที่กลายมาเป็น “ดาวประกายพรึก” ทุกเช้ามืดก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ในมุมมองจากบนโลก เมื่อเราสังเกตในเวลาเดียวกันทุกวันจะเห็นดาวประกายพรึกสูงขึ้นบนท้องฟ้าทีละน้อย


ดาวประกายพรึกช่วงแรกที่กลับมาจะสว่างเหมือนดาวประจำเมืองก่อนจะลับฟ้าช่วงหัวค่ำ และก็เป็นเสี้ยวเหมือนกันแต่คนละฝั่ง เมื่อเคลื่อนที่ไปสู่จุด D หรืออีลองเกชั่นสูงสุดทางตะวันตกและเป็นจุดสูงสุดบนฟ้าก่อนที่จะวนกลับไปที่ตำแหน่ง A เหมือนเดิม

ตำแหน่ง A ดาวศุกร์จะอยู่ไกลโลกที่สุดทำให้ความสว่างน้อยและขนาดเล็กที่สุดด้วย ยิ่งดาวศุกร์ใกล้ตำแหน่ง C มากขึ้นขนาดก็จะใหญ่และสว่างมากขึ้นเพราะใกล้โลกมากกว่านั่นเอง

ดาวศุกร์มีคาบโคจร 225 วัน น้อยกว่าโลกที่ 365 วันและจะเข้าตำแหน่ง C หรืออินฟิเรียคอนจั่งชั่นในวันที่ 4 มิถุนายนที่จะถึงนี้ แปลว่าอีกราวสองเดือนดาวประจำเมืองตอนนี้จะแปลงร่างเปล่งประกายเป็นดาวประกายพรึกตอนเช้ามืดตั้งแต่เดือนมิถุนายนไปอีกราวหนึ่งร้อยวัน ก่อนจะวนกลับมาเป็นดาวประจำเมืองอีกครั้ง



ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ภาพโดยคุณตระกูลจิตร จิตตไสยพันธุ์เมื่อปี 2004

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...