Thursday 30 January 2020

NGC281 : Pacman Nebula


ภาพสเก็ทช์ NGC281โดยผู้เขียน


ปลายมกราคม ค่อนข้างช้าไปสักหน่อยแล้วสำหรับออบเจคในกลุ่มดาวแคสสิโอเปีย ทำให้ต้องรีบดูตั้งแต่หัวค่ำ เพราะตัวเอ็มเริ่มตะแคงข้างไปแล้ว ไม่ถึงสององศาทางทิศตะวันออกของดาวสีแดงสด “ชีดาร์” ที่เป็นยอดแหลมสูงของตัวเอ็ม ผมพอเห็นแสงฟุ้งจางๆในกล้องเล็งรอบดาวดวงหนึ่งที่มีหมายเลข HD5005

NGC281 หรือ “Pacman” เนบิวล่าที่คล้ายตัวละครในวีดีโอเกมส์ “แพคแมน” ภาพในเลนส์ตากำลังขยายต่ำจากกล้องสะท้อนแสงขนาด 8 นิ้ว มองเห็นท้องฟ้าสว่างขาวจากหมอกควันบางๆที่สะท้อนแสงไฟจากอำเภอบ้านหมี่ แต่ก็ยังมีดาวสว่างน้อยใหญ่จำนวนหนึ่งพอให้หายเหงา มีแสงจางสีขาวที่ฟุ้งรอบดาวดวงหนึ่งและเมื่อเทียบรูปแบบดาวกับแผนที่ทำให้มั่นใจว่าไม่ผิดตัว

ผมเปลี่ยนเลนส์ตาเพิ่มกำลังขยาย สีท้องฟ้าเข้มขึ้น คอนทราสดีขึ้น มองเห็นดวงจางอีก 2 ดวงที่เป็นสมาชิกของระบบดาว HD5005 ถ้ามองเหลือบจะเห็นดาวเพิ่มอีกสองดวงและแสงฟุ้งที่มาจากกระจุกดาวที่จางและเล็กจิ๋ว IC1590 ผมลองใช้ฟิลเตอร์ UHC คอนทราสดีขึ้นมาก เนบิวล่าสว่างขึ้นเป็นวงกลมรอบ HD5005 ลองใช้ผ้าทึบแสงคลุมศรีษะเพื่อกันแสงรอบด้านที่เข้าตา ทำให้เห็นรายละเอียดมากขึ้นและดูง่ายขึ้น

เนบิวล่ามีลักษณะตัวอักษร "J" ที่ล้อมดาวเอาไว้ ส่วนที่เป็นหางยาวของตัว J จางมากต้องสังเกตให้ดี สีของเนบิวล่าสว่างกว่าสีท้องฟ้านิดเดียวและต้องอาศับมองเหลือบจึงจะพอเห็น เมื่อลองใช้ฟิลเตอร์ตัวอื่นพบว่าเนบิวล่าตัวนี้ก็ตอบสนองกับ H-beta ดี แต่ไม่ตอบสนองเลยกับ O-III

เทคนิคการใช้ฟิลเตอร์ดูเนบิวล่าที่เพิ่งได้ลอง คือสลับไปสลับมาระหว่างใช้ฟิลเตอร์กับไม่ใช้แบบเร็วๆ วิธีนี้จะทำให้เนบิวล่า “Blink” ขึ้นมา เป็นวิธีที่ได้ผลดีทีเดียว ช่วยให้ผมมองเห็นความแตกต่างของสีเนบิวล่ากับท้องฟ้าได้ดีขึ้น ทำให้คิดว่าเนบิวล่าตัวนี้ถ้าฟ้าดีมากก็ไม่จำเป็นต้องใช้ฟิลเตอร์ช่วยใดๆ และอาจจะมองเห็นด้วยตาเปล่าอย่างที่มีนักดูดาวตนหนึ่งบอกไว้

NGC281 ค้นพบโดย E.E. Barnard ในปี 1881 ด้วยกล้องดูดาวหักเหแสงขนาด 5 นิ้ว ส่วนกระจุกดาว IC1590 Guillaume Bigourdan เป็นผู้ค้นพบที่หอดูดาวปารีสในภายหลัง การศึกษาล่าสุดบอกว่ามีทั้งระบบมีอายุน้อยมากราว 3.5 ล้านปีเมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์ของเราที่อายุ 4,500 ล้านปี



คลิกภาพเพื่อขยาย


ข้อมูลทั่วไป
Name: Pacman Nebula
Catalog number: NGC891, IC1590
Type: Nebula & Open Cluster
Constellation: Cassiopeia
Visual Magnitude: +7.4
Apparent Size: 35’x30’
Distance: 4,100 ly

Coordinates
R.A. 00h 52m 39.54s
Dec. +56° 42’ 20.1”


อ้างอิง
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
SkySafari



Stephen O’Mera, Hidden Treasure

Wednesday 22 January 2020

Trapezium : Theta1 Orionis

Huygeniun region และ Trapezium ภาพสเกตที่กำลังขยาย 400 เท่าโดยผู้เขียน
กลุ่มดาวนายพรานขึ้นมาสูงราว 60 องศาจากขอบฟ้า กลุ่มดาวหมาใหญ่ตามติด ทางเหนือเพอร์ซิอุสมองเห็นไม่เต็มกลุ่ม เมอร์เฟคและอัลกอร์ไม่สดใสอย่างเคย พรานเบ็ดต้องดูสถานที่ ประเมินอุปกรณ์และเหยื่อที่จะใช้ นักดูดาวก็คล้ายกัน ต้องเลือกขนาดกล้องดูดาว ประมินสภาพท้องฟ้าเพื่อเลือกออบเจคเป้าหมาย และคืนนี้ผมต้องอาศัยโชคมากสักหน่อย

บริเวณที่ยังดูดีที่สุดคือกลุ่มดาวนายพราน เป้าหมายคืนนี้จำต้องเป็นกระจุกดาวหรือระบบดาวหลายดวง เพราะสภาพท้องฟ้าบังคับ ที่ใจกลางของแมสซายเออร์ 42 เนบูล่าที่สว่างที่สุดบนฟ้า มีระบบดาวหลายดวงที่น่าสนใจและผมยังไม่เคยได้สำรวจแบบจริงจัง

เอ็ม 42 หรือโอไรออน เนบูล่าเป็นออบเจคที่ทุกคนที่มีกล้องดูดาวนึกถึงเมื่อได้กล้องดูดาวมาครั้งแรก มันไม่ต้องอาศัยแผนที่ช่วยเพราะ “ดาบของนายพราน” โดดเด่นจนอธิบายตำแหน่งได้ด้วยปากเปล่า ผมเองก็ดูหลายครั้งจากกล้องดูดาวหลายขนาด หลายสถานที่ แต่ละครั้งไม่เคยเหมือนกันเพราะอุปกรณ์และสภาพท้องฟ้าต่างกัน

ภาพสเกต M42 จากกล้องดูดาวขนาด 4" ที่กำลังขยาย 70x
บริเวณที่สว่างตรงกลางคือ Trapezium ล้อมรอบด้วย Huygeniun Region

เกือบทั้งบริเวณของกลุ่มดาวนายพรานเต็มไปด้วยกลุ่มกาซบางเบาจนเราไม่สามารถมองเห็น มีแต่เอ็ม 42 ที่สว่างจนมองเห็นได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใดๆเป็นตัวช่วย ใจกลางเอ็ม 42 เป็นแหล่งอนุบาลดาวเคราะห์เกิดใหม่ที่สังเกตได้ง่าย มีรูปร่างเป็นเรขาคณิต บริเวณนี้ได้รับชื่อตามนักดาราศาสตร์ Christian Huyghens ที่ทำการศึกษาบริเวณนี้คนแรกในศตวรรษที่ 17 ว่า “พื้นที่ฮอยจีเนี่ยน” (Huygenian region)

ตรงกลางพื้นที่ฮอยจีเนี่ยนมีดาวสว่างชื่อเธต้า1 ออไรออนนิส (θ1 Orionis) มองเห็นได้ชัดเจนด้วยกล้องดูดาวขนาดทุกกำลังขยาย แต่หากใช้กล้องดูดาวขนาดตั้งแต่ 80มม หรือ 3 นิ้วขึ้นไป จะเห็นว่าเธต้า1 ออไรออนนิสเป็นระบบดาวหลายดวง และได้รับชื่อเรียกว่า “Trapezium” เพราะเรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู

หน้าหอดูดาวเวลาราวสามทุ่ม ดวงจันทร์คล้อยไปทางตะวันตกแล้ว สายตาที่ปรับคุ้นกับความมืดเมื่อรวมกับแสงจันทร์ขึ้น 8 ค่ำ ทำให้รอบด้านสว่างเห็นภาพชัดเจนไปไกล อากาศกำลังสบาย มีเสียงแมลงดังอยู่ทั่วไป ผมขยับกล้องดูดาวไปที่ดาบนายพรานดวงกลางที่มองตาเปล่าเป็นรอยฟุ้งไม่ชัดเจน

แม้จะถูกรบกวนจากเมฆหมอกและแสงจันทร์ แต่เนบูล่านายพรานก็ยังสว่างพอควร ที่กำลังขยายต่ำปีกทั้งสองฝั่งแสดงให้เห็นในเลนส์ตา ผมเพิ่มกำลังขยายไปเรื่อยๆ จนสุดทางของเลนส์ตาที่มีคือ 5 มิลลิเมตร เมื่อรวมกับบาร์โลว์ที่เพิ่มกำลังขยายได้อีก 2 เท่า ทำให้คืนนี้เป็นครั้งแรกที่ผมดูเอ็ม 42 ด้วยความรู้สึกแปลกใหม่ ที่กำลังขยาย 400 เท่า!

เมื่อกำลังขยายสูงขึ้นภาพที่เรามองเห็นจะแคบตามไปด้วย ใจกลางเอ็ม 42 หรือพื้นที่ฮอยจีเนี่ยนถูกขยายขึ้นมาเต็มพอดีที่เลนส์ตา มีเนบูล่าสว่างเรืองโดยรอบ ตรงกลางดาวเธต้า1 โอไรออนนิสทั้ง 4 ดวงเรียงเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู เปล่งแสงสีฟ้า-ขาวสดใสตามสีของดาวอายุน้อย ไล่ลำดับความสว่างตามลำดับเป็น C D A B

ดาวที่เป็นส่วนประกอบย่อยของ θ1 Ori ระยะห่างมีหน่วยเป็นอาร์คเซคั่น
E และ F ต้องใช้กล้องดูดาว 6 นิ้วขึ้นไป G และ H ต้องใช้ 12 นิ้วหรือใหญ่กว่า

เราควรจะมองเห็นอีก 2 ดวงคือ E และ F ด้วยกล้องดูดาวขนาด 6 นิ้วขึ้นไป คืนนั้นแม้ว่าผมจะใช้กล้องดูดาว 8 นิ้วที่ให้ภาพสว่างกว่า 6 นิ้ว ยังต้องใช้วิธีมองเหลือบสำหรับ E และเห็น F เพียงครั้งเดียวระหว่างขยับกล้องไปมา แสดงถึงคุณภาพท้องฟ้าได้เป็นอย่างดี

เนบูล่าที่สว่างเรืองในพื้นที่ฮอยจีเนี่ยนไม่ได้สว่างเรียบเนียนแบบในภาพสเก็ต บางครั้งลักษณะดูคล้ายเมฆอัลโตคิวมูลัสอยู่มาก คือมีก้อนสว่างเป็นจ้ำทั่วไป น่าเสียดายที่ฟ้าไม่นิ่งดูไม่ถนัดทำให้จับภาพมาวาดไม่ได้ มุมทางตะวันตกเป็นส่วนที่สว่างที่สุด ส่วนทางทิศตะวันออกจะเป็นเส้นตรงสว่างตรงนี้ Bob King คอลัมนิสต์ในวารสาร Sky & Telescope เรียกว่า “หน้าผา”

องค์ประกอบทั้งหมดนี้ส่งให้เวลาผมดูพื้นที่ฮอยจีเนี่ยน มีความรู้สึกคล้ายการดูภาพ 3 มิติมากที่สุดในเนบูล่าทั้งหมดบนท้องฟ้า มีตื้น มีลึก มีบริเวณที่สว่างเรืองเหมือนสะท้อนแสงจากดาวที่อยู่ใกล้ น่าชมมากครับ

คลิกภาพเพื่อขยาย


Catalog No.: θ1 Orionis
Name: Trapezium
Type: Multiple Star
Visual Magnitude: 6.7
Constellation: Orion
Distance: 1300 ly

Coordinates:
RA: 5h 36m 12s
DEC:-5° 22’ 46.8”

Wednesday 15 January 2020

Messier 42 : The Great Nebula


ภาพสเก็ทช์กลุ่มดาวนายพรานโดยผู้เขียน

ในกลุ่มดาวนายพราน “บีเทลจูส” กำลังอยู่ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต แต่บริเวณที่เรียกกันว่า “ดาบ” หรือ “Sword” ใต้เข็มนายพราน กลับเป็นแหล่งของดาวเคราะห์เกิดใหม่ที่สว่างไสวที่สุดจุดหนึ่งบนท้องฟ้า

“A Single Misty Star” อาจแปลว่า “ดาวหมอก” เป็นคำอธิบายดาวดวงกลางของ “ดาบ” ดาวดวงนี้ดูฟุ้งแปลกกว่าดวงอื่น เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจว่ากาลิเลโอผู้เปิดศักราชดาราศาสตร์ยุคกล้องดูดาวก็ไม่ได้กล่าวถึงเนบิวล่าตัวนี้เลย

“The Great Nebula” หรือ “เนบิวล่าสว่างใหญ่” เนบิวล่าที่น่าจะรู้จักดีที่สุดในโลก การค้นพบจะให้เกียรติกับ Nicolas Peiresc ในปี 1611 และปี 1656 Cristian Huyghens เป็นคนแรกที่ให้ความสนใจกับใจกลางเนบิวล่าที่มีดาวสว่างหลายดวงเป็นพิเศษ ในปี 1769 ชาร์ล แมสซายเออร์ใส่หมายเลข 42 ให้วัตถุชิ้นนี้ในรายการชุดแรกของเขา


Sword of Orion เมื่อดูจากกล้องดูดาวที่กำลังขยายต่ำ
"ดาวหมอก" หรือ M42 คือจุดที่เป็นฝ้าฟุ้งกลางภาพ ภาพสเก็ทช์โดยผู้เขียน

หากใช้กล้องสองตาหรือกล้องดูดาวขนาดเล็กที่กำลังขยายต่ำส่องดู จะพบว่าบริเวณ “ดาวหมอก” ของนายพรานเต็มไปด้วยดาวน้อยใหญ่หลายสิบดวง และมีแสงสีขาวที่ดูเหมือนกลุ่มหมอกในป่ายามต้องแสงแดดยามเช้า มันดูฟุ้ง สว่างและจับรูปร่างได้ยาก


การดูเอ็ม 42 จะขึ้นกับสภาพท้องฟ้าและขนาดของกล้องดูดาว ภาพที่เห็นผ่านจากกล้องดูดาวขนาด 8นิ้วขึ้นไป หากฟ้าดีพอเราจะเห็นโครงสร้างและรายละเอียดเหมือนในภาพถ่าย เพียงแต่เป็นสีเดียวคือเทาอ่อนอมเขียวเล็กน้อย ผมเองเคยเห็นแบบนี้สองครั้งผ่านกล้องดูดาวแบบผสม 8 นิ้วที่ภูสวนทรายและแก่งกระจานเมื่อหลายปีก่อน หากฟ้ามีหมอกควันหรือแสงไฟรบกวนรายละเอียดก็จะลดทอนหายไปตามลำดับ


ภาพสเก็ทช์เอ็ม 42 จากกล้องดูดาว 8 นิ้วที่กำลังขยายต่ำโดยผู้เขียน
ยังพอมองเห็นว่าเนบิวล่าสว่าง มีขนาดใหญ่สว่งไปทั่วบริเวณแม้ฟ้าจะมีหมอกควันค่อนข้างหนา
โดยทั่วไปรูปร่างของเอ็ม 42 ที่มองเห็นผ่านกล้องดูดาว จะดูคล้ายปลาเทวดากำลังอ้าปาก หรือคล้ายนกกำลังบิน ส่วนที่สว่างที่สุดเรียกว่า “Huygenian” ตามชื่อคนที่ศึกษาบริเวณนี้คนแรก ภายในจะเห็นดาวสว่างสี่ดวงเรียงเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู ดาวทั้งสี่ดวงรู้จักกันในชื่อ “Trapizium” เป็นดาวเกิดใหม่ที่ส่องแสง ปล่อยพลังงานกระตุ้นให้กลุ่มกาซเอ็ม 42 สว่างเรืองขึ้นมา

เหนือฮอยจีเนี่ยนขึ้นไปมีเงามืดที่แลดูเหมือนปากของปลา มักเรียกกันว่า “fish-mount” เนบูล่าฝั่งตะวันตกจะสว่างเรืองกว้างใหญ่คล้ายใบเรือได้รับชื่อว่า “Sail” ส่วนอีกฝั่งจะมีขอบโค้งด้านบนสว่างเด่นคล้ายดาบเรียกกันว่า “Sword” แนวเส้นโค้งของดาบหากฟ้าดีพอจะเห็นว่าเป็นเส้นโค้งวิ่งลงมาที่ดาวสว่างมัคนิจูด 3 “อิโอต้า โอไรออนนิส” แล้วโค้งไปบรรจบกับปีกฝั่งใบเรือเป็นวงกลม

ชื่อเรียกส่วนต่างๆของเอ็ม 42
แผนที่จาก Cart du Ceil


นอกจากนั้นเหนือ “ปากปลา” ยังมีเนบิวล่าอีกตัวหนึ่ง แมสซายเออร์ 43 หรือ Mairan’s Nebula เป็นเนบิวล่ารูปเครื่องหมายลูกน้ำกลับข้างที่มีดาวสว่างมัคนิจูด 7 ภายใน

John Herschel เขียนคำบรรยายโอไรออนเนบิวล่าได้น่าสนใจไว้ว่า

“I know not how to describe it better than by comparing it to a curdling liquid, or to breaking up of mackerel sky when the clouds of which it consists begin to assume a cirrus appearance..”

“ผมไม่สามารถหาคำบรรยายมาสู้กับการเปรียบเอ็ม 42กับของเหลวที่ถูกทำให้ข้นหนืด หรือท้องฟ้าที่เมฆปลาแมคเคอเรลกำลังแตกตัว โดยมีเมฆซีร์รัสมาร่วมในองค์ประกอบ...”


เมฆปลาแมคเคอเรลเป็นลักษณะเมฆที่เป็นลอนคลื่นคล้ายน้ำแข็งที่เกาะในช่องแช่แข็ง เมฆแบบนี้มีชื่อเป็นทางการว่า Cirrocumulus Undulatus ส่วนซีรัสเป็นเมฆระดับสูงลักษณะคล้ายขนนกบางเบา เบิร์นแฮมอ้างไว้ในหนังสือของเขาว่าเมฆแมคเคอเรลที่ว่าอยู่ทางเหนือของใจกลางที่สว่างของเอ็ม 42 ใครมีกล้องดูดาวตัวใหญ่ๆฟ้าดีๆน่าลุ้นว่าจะมองเห็นภาพที่ John Herschel บรรยายไว้หรือเปล่า


Mackerel sky จะคล้ายลายข้างลำตัวของปลา Mackerel, Cr: Wikipedia
ตัวอย่างเมฆซีร์รัสหลายแบบรวมกัน, Cr: Wikipedia

Name: The Great Orion Nebula
Catalog number: M42, M43
Type: Nebula
Constellation: Orion
Visual Magnitude: +4
Apparent Size: 85’ x 60’
Distance: 1400 ly

Coordinates :
R.A. 05h 36m 22.37s
Dec. +-5° 526’ 19.0”



อ้างอิง
บัญชา ธนบุญสมบัติ -ผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ คอลัมน์ Cloud Lover มติชนออนไลน์
https://www.matichon.co.th/columnists/news_782873

Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook

SkySafari

Thursday 2 January 2020

NGC2244, NGC2237 : Rosette Nebula


ภาพสเก็ทช์เนบูล่าโรเซ็ทท์โดยผู้เขียน

กลุ่มดาวม้ายูนิคอร์นหรือโมโนเซรอสเป็นกลุ่มดาวจางมองเห็นค่อนข้างยาก แต่ก็เป็นแหล่งเพาะฟักตัวอ่อนดาวฤกษ์ขนาดใหญ่จุดหนึ่งบนฟ้า เรียกว่า Monoceros Nebula Complex ทั้งยังมีเนบูล่า กระจุกดาว จำนวนมาก เช่นเนบูล่าโคนและกระจุกดาวต้นคริสตมาส

เนบูล่ากุหลาบหรือ Rosette Nebula ก็เป็นหนึ่งในนั้น ตัวเนบูล่ามีขนาดใหญ่และซับซ้อน ประกอบด้วย กระจุกดาว NGC2244 อยู่ตรงกลาง ล้อมด้วย NGC ถึง 4 ตัวคือ 2237 2238 2239 และ 2246 โดยทั่วไปเราจะใช้ชื่อ NGC2244 สำหรับกระจุกดาวที่ใจกลางและ NGC2237 หมายถึง Rosette Nebula ทั้งตัวซึ่งกินบริเวณราวหนึ่งองศา

กระจุกดาว NGC2244 ที่ใจกลางกลางมองเห็นได้ง่ายจากกล้องสองตาและกล้องเล็ง เป็นดาวสว่างเรียงตัวยาวและแคบสว่างเด่นชัด เนบูล่าที่เป็นรูปดอกกุหลาบจางมากวอลเตอร์ สก็อตบอกว่าสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าและกล้องสองตาที่ดีได้ใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม

สำหรับการสังเกตด้วยกล้องดูดาว เนื่องจากมีเนบูล่าขนาดใหญ่ทำให้ต้องใช้กล้องดูดาวที่ทางยาวโฟกัสไม่มากเกินไป เริ่มจากกำลังขยายต่ำ ใช้เลนส์ตามุมกว้างและฟ้าต้องดีพอ เพื่อให้ได้มุมมองที่กว้างที่สุด หลังจากนั้นค่อยเพิ่มกำลังขยายเพื่อสำรวจแบบละเอียด

ที่จริง NGC2244 อยู่ใกล้ดาวแอพซิลอนโมโนเซรอส (ε Mon) แต่ดาวดวงนี้ค่อนข้างจาง ทำให้เราไปเริ่มต้นที่ดาวแกมม่าเจมิโนรุม (γ Gem) หรืออัลฮิน่าจะสะดวกกว่า เส้นทางฮอบคือแกมม่าเจมิโนรุมไปกระจุกดาวต้นคริสต์มาส (NGC2264) ทางทิศใต้ จากนั้นก็เลยไปอีก 5 องศาจะมองเห็น NCG2244 ได้ในกล้องเล็ง

ผมดูโรเซ็ทท์เนบูล่าผ่านกล้องดูดาว 8 นิ้วที่กำลังขยายต่ำสุด 33x ได้ฟิลด์ประมาณ 1.5 องศา คืนนั้นหมอกควันค่อนข้างหนาตา มองเห็นดาวบนฟ้าราว 40 ดวง แต่บริเวณหมาใหญ่และนายพรานยังค่อนข้างดี มองเห็นดาวราวแมกนิจูดที่สี่ กระจุกดาว NGC2244 สว่างเด่น หากดูให้ดีจะพบว่าสีท้องฟ้าด้านหลังกระจุกดาวมีสีเข้มอ่อนที่แตกต่างกันเล็กน้อย แต่ก็จางมากจนยากที่จะจับรูปร่าง

เมื่อใช้ฟิลเตอร์ UHC เพิ่มคอนทราส มองเห็นเนบูล่าชัดเจนขึ้น รอบกระจุกดาวตรงกลางเป็นเหมือนหลุมมืด เพราะมีเนบูล่าที่มีหลายส่วนล้อมรอบออกไปถึงด้านนอก โดยฝั่งทางทิศเหนือสว่างและมีขนาดใหญ่ที่สุด มีข้อสังเกตว่ามีแสงสว่างเรืองกว้างขวางอยู่ทั่วบริเวณจนล้นออกไปจากฟิลด์ภาพ ทำให้ผมคิดว่าต้องไปดูอีกครั้งด้วยกล้องดูดาวที่ความยาวโฟกัสสั้นลง ฟิลด์จะกว้างขึ้น น่าจะได้ภาพที่ดีกว่านี้


คลิกภาพเพื่อขยาย

Name: Rosette Nebula
Catalog number: NGC2244, NGC2237-2239
Type: Open cluster with Nebula
Constellation: Monoceros
Visual Magnitude: +4.8
Apparent Size: 60’x80’
Distance: 5,500 ly
R.A. 06h 31m 21.53s
Dec. +05° 02’ 06.5”



อ้างอิง
SkySafari
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
Walter Scott Houston, Deep-Sky Wonders, Sky Publishing

Messier45 : Pleaides


เอ็ม45 สเก็ทช์โดยผู้เขียน จากภาพที่เห็นในกล้องดูดาว

อากาศยามโพล้เพล้กำลังสบาย ดวงดาวเริ่มส่องประกายพราวฟ้า คุณตาชี้ให้หลานชายดูดาวกระจุกหนึ่งบนฟ้าระหว่างเดินเล่น “เห็นดาวลูกข่อยมั๊ย” หลายชายแหงนมองฟ้าคอตั้งบ่าแต่ก็ยังมองไม่เห็น “ไหนครับ?” คุณตาฉวยโอกาสกำหมัดต่อยคางหลานเบาๆ “ดาวลูกข่อยก็ต่อยลูกคางไง”

“ดาวลูกไก่” หรือ “กระจุกดาวลูกไก่” ที่มาของดาวลูกข่อยของคุณตา สว่างโดดเด่นมองเห็นด้วยตาเปล่า เป็นที่รู้จักอย่างน้อยก็ 750 ปีก่อนคริสตศักราชจากมหากาพย์โอดิสซี่ มีการอ้างถึงในคัมภีร์ ตำนาน บทกวีและนิทานปรำปราในหลากหลายวัฒนธรรม ทั้งยุโรป ฮิบรู ตะวันออกกลาง อินเดีย จีน ญี่ปุ่น อัฟริกา บอเนียว อบอริจิน อินเดียนแดง แอซแทก มายัน โพลินีเชี่ยน ฯลฯ

นอกจากนั้นยังพบว่าเป็นสัญลักษณ์ฤดูเกษตรกรรม ฤดูดอกไม้บาน เป็นส่วนของเทศกาลเฉลิมฉลองในบางที่ เชื่อมโยงกับโลกแห่งความตายในบางแห่ง เกี่ยวข้องกับทิศของปิระมิดของชาวแอซแทก วิหารในกรีกและอื่นๆอีกมาก เรียกว่ามนุษยชาติรู้จักและให้ความสำคัญกับกระจุกดาวลูกไก่มาตั้งแต่โบราณ

ชื่อเรียกมีหลากหลายตามวัฒนธรรมเช่นดาวลูกไก่ในไทย กฤติกาในอินเดีย ซูบารุในญี่ปุ่น เหม่าในจีน นอกจากนี้ยังมี มาตาริอิ พี่น้องทั้งเจ็ด ฯลฯ สำหรับดาราศาสตร์สากลใช้ชื่อตามปกรณัมกรีกว่า “พลีอาเดส”

พลีอาเดสหมายถึงพี่น้องทั้งเจ็ดผู้เป็นลูกสาวของแอทลาธและพลีโอเน่ พี่น้องพลีอาเดสมีชื่อปรากฎในบทกวีของอราตัสตั้งแต่ 300 ปี ก่อนคริสตศักราชดังนี้ อัลไซโอเน่ มีโรเป้ เซเลโน่ ไทย์เจต้า สเตอร์โรเป้หรือแอสเตอร์โรเป้ อิเลคตร้าและเมียยา ทั้งเจ็ดเป็นชื่อดาวหลักเจ็ดดวงในกระจุกดาวพลีอาเดส นอกจากนั้นยังมีดาวอีกสองดวงชื่อแอทลาธผู้เป็นบิดาและพลีโอเน่ผู้เป็นมารดาด้วย


ภาพถ่ายเอ็ม 45 โดยตระกูลจิตร จิตไสยพันธุ์


กรีกมีตำนานเรื่อง “The lost Pleiades” พี่น้องทั้งเจ็ดได้หายไปหนึ่งคน ซึ่งอาจเป็นอิเลคตร้า เมโรเป้หรือเซเลโนยังไม่ชัดเจน แต่ที่น่าสนใจคือมีเรื่องที่คล้ายกันนี้ในญี่ปุ่น ในชนเผ่าอะบอริจิ้น ในอัฟริกา และในบอเนียว แปลว่าเรื่องที่มีดาวดวงหนึ่งหรี่แสงหรือหายไปอาจเป็นข้อเท็จจริง

ซึ่งหากดูตามดาราศาสตร์สมัยใหม่แล้ว ดาวพลีโอเน่เป็นดวงที่มีโอกาสเป็น “ดาวที่หายไป” มากที่สุดเพราะเป็นดาวแปรแสงชนิดพิเศษ มีความเปลี่ยนแปลงของความสว่างเกือบหนึ่งแมกนิจูด มีรอบราว 35ปี

จอห์น มิเชลล์เป็นคนแรกที่พิสูจน์ว่าพรีอาเดสเป็นกระจุกดาวในปี 1767 ชาร์ล แมสซายเออร์ได้เพิ่มพรีอาเดสเข้าไปในแคตาลอคชุดแรกและให้หมายเลข 45 ในปี 1769 ไม่มีใครทราบถึงเหตุผลที่แมสซายเออร์เพิ่ม M45 เข้าไปทั้งที่เป็นที่รู้จักดีอยู่แล้วในยุคนั้น

ในปี 1859 Prof. Wilhelm Tempel พบเนบูล่ารอบดาวมีโรเป้ด้วยกล้องหักเหแสง 4 นิ้วที่เวนิส เนบูล่าตัวอื่นพบทีละตัวต่อเนื่องกันโดยการภาพถ่ายตั้งแต่ปี 1885 เป็นต้นมา แต่ในความเป็นจริงเนบูล่าสะท้อนสีฟ้ารอบเอ็ม 45 นี้ “ไม่ใช่” เนบูล่าที่ส่วนหนึ่งกับกระจุกดาวมาตั้งแต่ต้น แต่เป็นกลุ่มกาซที่เอ็ม 45เคลื่อนผ่าน

ตัวกระจุกดาวมีอายุราว 100ล้านปี ข้อมูลปัจจุบันระบุว่ามีขนาดปรากฎถึง 4 องศา ประกอบด้วยดาวอย่างน้อย 500 ดวง และห่างออกไป 380 ปีแสงเป็นหนึ่งในกระจุกดาวที่ใกล้เราที่สุด


แผนที่กระจุกดาวลูกไก่แสดงชื่อดาวแต่ละดวง [คลิกภาพเพื่อขยาย]

ตำแหน่งไม่ยากเพราะโดดเด่นและสว่าง ให้ลากเส้นต่อเนื่องจากเข็มขัดนายพรานไปทางตะวันตกจะพบกระจุกดาวขนาดใหญ่รูปตัววีชื่อว่าไฮยาเดส มีดาวสว่างสีแดง-ส้มชื่ออัลเดอร์เบอรันหรือโรหิณีอยู่ภายใน ให้มองเลยไปก็จะพบกระจุกดาวลูกไก่หรือเอ็ม 45 หากมองด้วยตาเปล่าจะเห็นดาว 6-7 ดวงเรียงเป็นรูปกระบวยขนาดจิ๋ว หากฟ้าเป็นใจ คนตาดีอาจมองเห็น 9-11 ดวง มีรายงานว่าบางคนมองเห็นได้ถึง 16 ดวง!

เอ็ม 45 จะดูสวยมากด้วยกล้องสองตาหรือกล้องดูดาวที่กำลังขยายต่ำและให้ภาพมุมกว้าง เราจะเห็นดาวหลักทั้ง 9 ในกระจุก มีขนาดรวมๆกันถึง 1 องศา ช่องว่างระหว่างมีโรเป้ อิเลคตร้า เมียอาและอัลไซโอเน่สามารถใส่พระจันทร์ลงไปได้ทั้งดวง

คืนวันที่ 26 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา กระจุกดาวลูกไก่อยู่กลางฟ้าฟิตพอดีกับฟิล์ดกล้องดูดาว Borg 101ED ที่กำลังขยาย 21 เท่า เป็นเรื่องแปลกที่ผมมองเห็นเนบูล่าฟุ้งกระจายทั่วไปจางๆ โดยเฉพาะรอบดาวสว่างแม้จะมีฝุ่นควันหนาตาที่ขอบฟ้า

จุดที่น่าสนใจมี เนบูล่ารอบมีโร้เป้จะสว่างที่สุด แต่ที่กินบริเวณกว้างที่สุดกลับเป็นเนบูล่ารอบดาวอัลไซโอเน่ตรงกลาง ดาวเล็กๆที่เรียงเป็นรูปสามเหลี่ยมข้างอัลไซโอเน่ แอทลาธและพลีโอเน่เป็นดาวคู่ของกันและกัน

ฟิลเตอร์อย่าง UHC และการมองเหลือบจะช่วยเพิ่มคอนทราสและทำให้เห็นเนบูล่าได้มากขึ้นครับ


 [คลิกภาพเพื่อขยาย]

Name: Pleiades
Catalog number: M45
Type: Open cluster
Constellation: Taurus
Visual Magnitude: +1.5
Apparent Size: 120’
Distance: 430 ly
R.A. 03h 48m 12.01s
Dec. +24° 10’ 40.0”

อ้างอิง
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
SkySafari
Stephen O’Mera, Messier Objects
http://www.messier.seds.org/m/m045.html
http://stars.astro.illinois.edu/sow/pleione.html
https://th.wikipedia.org/wiki/กระจุกดาวลูกไก่
http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-article/2490-astronomy-thailand-china-korea-08

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...