Monday 18 November 2019

Messier 33 : Triangulum Galaxy




ขอบเขตการมองเห็นดาวของมนุษย์โดยทั่วไปจะอยู่ที่ราว 6 แมกนิจูด กาแลกซี่ Triangulum หรือกาแลกซี่ Pinwheel ที่แปลว่ากังหันลมในกลุ่มดาวไทรแองกูลั่มหรือสามเหลี่ยม มีความสว่าง 5.8 แมกนิจูด ดูเหมือนจะสว่างจนมองเห็นได้แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นการยากที่จะมองเห็นด้วยตาเปล่า เพราะวิธีการคำนวณความสว่างนั้นจะมีพื้นที่ผิวมาเกี่ยวข้องด้วย

เอ็ม 33 หรือกาแลกซี่ไทรแองกูลั่มมีขนาดใหญ่พอสมควรทำให้ค่าความสว่างที่ 6 แมกนิจูดถูกกระจายออกไปทั้งพื้นที่ผิวของกาแลกซี่ ความสว่างพื้นผิวหรือ Surface Brightness ก็เลยต่ำ เป็นการยากที่จะมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่ก็เป็นไปได้ในคืนที่ฟ้าใส มืด และคนสังเกตมีทักษะการดูที่ดี

เมื่อปลายเดือนตุลาคมระหว่างรอชมดาวอัลกอลหรี่แสงที่อำเภอบ้านหมี่ ผมใช้กล้องสองตาขนาด 8x40 กวาดจากกาแลกซี่แอนโดรเมด้าผ่านดาวเบต้าแอนโดรเมเดไปอีกราวเท่าตัว ครั้งแรกมองข้ามไปไม่พบอะไรแต่เมื่อสายตาเริ่มชินก็มองเห็นฝ้าวงรีจางมาก ขนาดใหญ่พอสมควร

เมื่อดูด้วยกล้องสะท้อนแสง 8 นิ้ว เอ็ม33มีใจกลางสว่างฟุ้งเป็นรูปวงรี เมื่อดูไปนานๆจะเริ่มจับแขนกังหันสองฝั่งตรงข้ามกันได้ด้วยการมองเหลือบ ฝั่งทางทิศเหนือจะใหญ่และสว่างกว่าทางทิศใต้ กล้องดูดาว 8 นิ้วที่กำลังขยาย 56เท่า ภาพแขนกังหันจางมากจต้องใช้ผ้าคลุมศรีษะเพื่อกันแสงจากรอบข้าง แต่ก็รักษาภาพไว้ได้ไม่นาน หากใช้กล้องดูดาวขนาด 12 นิ้วจะทำให้ดูได้ง่ายขึ้นและเป็นไปได้ที่จะมองเห็นเนบูล่าสว่างที่แขนของกังหันด้วย

ผู้ที่ค้นพบอาจเป็น Giovanni Batista Hodiema ก่อนปี 1654 หลังจากนั้น Messier ก็มาเจออีกครั้งแล้วบรรจุลงไปในรายการลับดับที่ 33 ในวันที่ 25 สิงหาคม 1764 Messier บันทึกไว้ว่า

August 25, 1764. 33.
1h 40m 37s (20d 09' 17") +29d 32' 25"

Nebula discovered between the head of the Northern Fish [of Pisces] & the great Triangle, a bit distant from a star of 6th magnitude: The nebula is of a whitish light of almost even density [of brightness],
however a little brighter along two-third of its diameter, & contains no star. One sees it with difficulty with an ordinary telescope of 1-foot [FL].
Its position was determined from Alpha Trianguli. Seen again September 27, 1780. (diam. 15’)

เอ็ม 33 เป็นกาแลกซี่แบบกังหันอยู่ห่างจากเราราวสามล้านปีแสงและมีเส้นผ่านศูนย์กลางราวห้าหมื่นปีแสงหรือครึ่งหนึ่งของกาแลกซี่ทางช้างเผือก คาดว่ามีดาวอยู่ราว 30-40 พันล้านดวงเทียบกับ 200-400พันล้านดวงของทางช้างเผือกและหนึ่งหมื่นล้านดวงของแอนโดรเมด้า ทำให้กาแลกซี่ไทรแองกูลั่มมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามในกลุ่มกาแลกซีท้องถิ่นของเรา

มีความเป็นไปได้ที่เอ็ม 33 จะโคจรรอบกาแลกซี่แอนโดรมีด้า จากการคำนวณการเคลื่อนที่ทำให้ต่อไปข้างหน้าทางช้างเผือก แอนโดรเมด้าและไทรแองกูลั่ม จะชน ควบรวมหรือเฉี่ยวกัน


คลิกภาพเพื่อขยาย


Name: Triangulum Galaxy, Pinwheel Galaxy
Catalog number: M33, NGC598
Type: Spiral Galaxy
Constellation: Trianulum
Visual Magnitude: +5.8
Apparent Size: 61.7’x31.3’
Distance: 3000 kly
R.A. 01h 34m 57.2s
Dec. +30° 45’ 32.9”

อ้างอิง
SkySafari
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook

Thursday 14 November 2019

Messier 15


ภาพสเก็ทช์เอ็ม 15 จากกล้องสะท้อนแสง 8" ที่กำลังขยาย 133 เท่า


หนึ่งในห้ากระจุกดาวทรงกลมในแมสซายเออร์แคตตาลอคที่สว่างกว่าแมกนิจูด 7 เอ็ม15 สว่างคาบเส้นกับขอบเขตที่จะมองเห็นด้วยตาเปล่าพอดีคือแมกนิจูด 6 ตำแหน่งหาไม่ยากอยู่ใกล้หัวม้าเปกาซัส ให้ลากเส้นจากดาว Theta Pegasi (θ Peg)ไปที่ Epsilon Pegasi (ε Peg), เอ็ม 15 จะอยู่เลยออกไป 4 องศา

หากฟ้ามืดพอบางคนก็เห็นได้ด้วยตาเปล่า ถ้าดูด้วยกล้องสองตาหรือกล้องเล็งจะคล้ายดาวแต่ไม่สว่างคมเป็นปลายเข็ม เอ็ม 15เป็นวัตถุที่ดูได้สนุกเพราะมองเห็นต่างกันเมื่อใช้กล้องดูดาวต่างขนาดต่างกำลังขยาย ทำให้เหมาะมากสำหรับงาน Star Party

ผมเคยดูด้วย Borg 4 นิ้วที่กำลังขยาย 35เท่ามองเห็นเป็นลูกบอลฝ้าทรงกลมขนาดเล็ก ที่ 85เท่าขนาดใหญ่ขึ้น มีลักษณะไม่สมมาตร ฝั่งทางทิศเหนือจะใหญ่และสว่างกว่าทางทิศใต้ มองเหลือบจะเห็นแถบมืดพาดยาวตามแนวตะวันออกะวันตกทำให้ดูเหมือนมีแขนยืดออกไปสองข้าง ใจกลางสว่างมาก แยกดาวออกเป็นเม็ดได้บริเวณใจกลางด้วยการมองเหลือบราว 10-20 ดวง


ภาพเสก็ทช์จากกล้องดูดาวหักเหแสงขนาด 4" ที่กำลังขยาย 85 เท่า ลองเปรียบเทียบกับภาพบน


เมื่อดูด้วยกล้องสะท้อนแสง 8 นิ้ว กำลังขยาย 33เท่าเป็นทรงกลมฝ้าขนาดเล็ก ที่ 133เท่าเมื่อใช้วิธีมองเหลือบจะห็นดาวมากกว่า 100 ดวงขึ้นไป มีแถบมืดทางทิศเหนือและตะวันออก แต่เในคืนที่ท้องฟ้ามีหมอกควันหนา ภาพที่เห็นจะคล้ายกับที่ได้จากกล้องหักเหแสง 4 นิ้วมาก

คนแรกที่พบคือ Jean-Dominique Maraldi ในปี 1746 ระหว่างมองหาดาวหาง De Chéseaux แมสซายเออร์บันทึกลงใน Messier catalog เมื่อ 3 มิถุนายน 1764 มีขนาดปรากฎในกล้องดูดาวราว 7-8 อาร์มินิท มีความสว่างแมกนิจูด 6.2 อยู่ไกลออกไป 34,000 ปีแสง เป็นตัวที่มีใจกลางที่หนาแน่นมากที่สุดตัวหนึ่งของกระจุกดาวทรงกลมในทางช้างเผือก

นอกจากนั้นเอ็ม 15 ยังพบว่ามีเนบูล่าดาวเคราะห์เป็นฟีเจอร์เสริมเพิ่มความน่าสนใจอีก แต่มีต้องใช้กล้องดูดาวขนาดอย่างน้อย 16 นิ้วและฟิลเตอร์ OIII ในการดู



คลิกภาพเพื่อขยาย



Catalog number: Messier 15, NGC 7078
Type: Globular Cluster
Constellation: Pegasus
Visual Magnitude: +6.2
Apparent Size: 18’
Distance: 34,000 ly
R.A. 21h 30m 54.80s
Dec. +12° 15’ 12.3”



อ้างอิง
SkySafari
http://www.messier.seds.org/m/m015.html

Wednesday 13 November 2019

NGC7662 : Blue Snowball


 


ฟ้าจะดีหรือไม่ดีนอกเหนือการควบควบคุมของมนุษย์ สิ่งที่นักดูดาวพอจะทำได้ยามฟ้าปกคลุมด้วยหมอกควันและมลภาวะทางแสงคือเลือกออบเจคที่เหมาะสม

หากยังจำกันได้ปลายกันยายน 2562 มีความกดอากาศสูงแผ่ลงมาสองสามวันแล้วถอยกลับไป คืนวันที่ 28 ต่อ 29 กันยายน 2562 เป็นช่วงที่ความกดอากาศสูงถอยกลับไปได้วันสองวัน ผลที่ตามมาคือท้องฟ้าขุ่นเต็มไปด้วยหมอกควัน ดาวที่เคยเต็มฟ้าเหลือแค่กลางศรีษะ มีน้อยดวงจนนับได้

ฟ้าแบบนี้ตัวเลือกก็คือกระจุกดาวที่สว่างและเนบูล่าดาวเคราะห์ที่มักจะเล็กแต่สว่างมากจนดูได้แม้กระทั่งจากในเมือง ผมเลือกลูกบอลสีฟ้า Blue snowball หรือ NGC7662 เนบูล่าดาวเคราะห์ที่พอดูได้ยามฟ้าเป็นแบบนี้

NGC7662 อยู่ตรงปลายแขนแอนโดรเมด้าฝั่งที่ถูกล่ามโซ่ ท้องฟ้าชานเมืองในคืนฟ้าใส เราน่าจะพอมองเห็นโอมิครอน (ο And) และอิโอต้าแอนโดรเมเด (ι And) ที่สว่างประมาณแมกนิจูดที่สี่ (ดาวทั้งสองเรียงเป็นโซ่ตรึงแขนแอนโดรเมด้าเอาไว้) NGC7662 อยู่ระหว่างดาวสองดวงนี้ แต่หากฟ้าแย่จนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าก็ต้อง Hop ไกลหน่อย จุดเริ่มอาจเป็นกาแลกซี่แอนโดรเมด้าก็ได้

ในกล้องเล็ง Blue snowball ดูเหมือนดาวแต่มีสีฟ้า กล้องดูดาวขนาด 8” ที่กำลังขยาย 33เท่าก็ยังเป็นจุดแสงสีฟ้า มีดาวสว่างใกล้เคียงกันอยู่ไม่ห่าง เริ่มมองเห็นว่าเป็นแผ่นดิสก์สีเทาอมฟ้าขนาดจิ๋วที่ 56เท่า เพิ่มกำลังขยายไปจนถึง 200 เท่า แผ่นดิสก์กลมมีขนาดใหญ่ขึ้นมองไม่เห็นสีฟ้ากลายเป็นสีเทาแทน คืนนั้นผมได้ลองเพิ่มกำลังขยายอีกแต่ภาพค่อนข้างมืดและไม่มีดาวอื่นใดใน FOV เลย

เมื่อมาสืบค้นทีหลังพบว่าเราสามารถมองเห็น Dark spot หรือพื้นที่สีเข้มใจกลางเนบูล่าได้หากใช้กำลังขยาย 250เท่าขึ้นไป ซึ่งคืนนั้นท้องฟ้าไม่ค่อยเอื้ออำนวยนัก ทำให้ Blue snowball เป็นอีกออบเจคที่อยู่ในรายการที่ต้องกลับไปดูใหม่อีกรอบ

ผู้ค้นพบ NGC7662 คือวิลเลี่ยม เฮอร์เชลล์ เมื่อ 6 ตุลาคม 1784 ระยะห่างจากเราไม่ชัดเจนนักคาดว่าประมาณ 3,600 ปีแสง ทำให้ขนาดไม่แน่นอนไปด้วยคาดว่าอยู่ราว 0.35-0.7ปีแสง


คลิกภาพเพื่อขยาย


Name: blue snowball
Catalog number: NGC7662
Type: Planetary Nebula
Constellation: Andromeda
Visual Magnitude: +8.3
Apparent Size: 0.5’x0.5’
Distance: 3,600 ly
R.A. 23h 126m 50.25s
Dec. +42° 38’ 32.7”


อ้างอิง
SkySafari
https://freestarcharts.com/ngc-7662

Sunday 3 November 2019

NGC6888 : Crescent Nebula


NGC6888 สเก็ทช์โดยผู้เขียน
WR136 คือดาวสว่างดวงทางซ้ายมือของสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด

NGC 6888 ในกลุ่มดาวหงส์ เป็น Emissions Nebula ที่อยู่ห่างออกไป 5,000 ปีแสง เกิดจากฟองกาซร้อนที่ถูกพัดออกมาจากดาวประเภทวูล์ฟ-ราเยท์ ชื่อWR136 ที่ปล่อยพลังงานออกมาเท่าๆกับดวงอาทิตย์หนึ่งดวงทุก 10,000 ปี และดาวWR136 ก็อยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต คาดว่าจะระเบิดเป็นซุปเปอร์โนว่าอีกราวหนึ่งล้านปีข้างหน้า

ตำแหน่งห่างจากดาวใจกลางหงส์หรือแกมม่าซิกนี่ (γ Cygni) ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 3 องศา วัดความสว่างรวมได้ 7.4 แมกนิจูด เนื่องจากมีขนาดใหญ่พอควรทำให้ความสว่างพื้นผิวต่ำมาก เนบูล่ามองเห็นเป็นรูปโค้งเกือบครึ่งวงกลมทำให้ได้ชื่อว่า Crescent ค้นพบโดยวิลเลี่ยม เฮอร์เชลล์ ในวันที่ 15 ธันวาคม ปี 1792

การสังเกตครีสเซนท์เราต้องการกล้องดูดาวขนาด 8 นิ้วขึ้นไป ท้องฟ้าต้องใส มืดพอและต้องมีฟิลเตอร์ OIII หรือ UHC ในคืนที่ผมดูแม้ฟ้ารอบด้านไม่ดีนัก โชคดีที่แถวหงส์ฟ้าใสพอดี ตำแหน่งแน่นอนหายากหน่อยเพราะเรามองไม่เห็นเนบูล่า ให้สังเกตดาวสว่างสี่ดวงเรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด

ตัวเนบูล่าดูยากมาก ฟิลเตอร์UHC ช่วยเพิ่มคอนทราสได้ดี OIII ให้ภาพมืดกว่า และถึงจะมีฟิลเตอร์ช่วยผมยังต้องใช้ผ้าคลุมหัวบังแสงจากทุกด้าน หลับตาสักพักแล้วใช้วิธีมองเหลือบจึงเห็นแสงเรืองสว่างรูปเสี้ยวจันทร์ บริเวณที่สว่างที่สุดจะอยู่ตรงดาวทิศเหนือของสี่เหลี่มข้าวหลามตัด

เป็นออบเจคที่ผมต้องดูภาพสเก็ทช์ของนักดูดาวท่านอื่นเทียบเคียงว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นถูกต้องหรือเปล่า ถือว่าดูยากที่สุดตัวหนึ่งและเป็น Challenging ของ Visual Observer ครับ


คลิกภาพเพื่อขยาย


Name: Crescent Nebula
Catalog number: NGC6888
Type: Nebula
Constellation: Cygnus
Visual Magnitude: +7.4
Apparent Size: 20’x10’
Distance: 5000 ly
R.A. 20h 13m 12.64s
Dec. +38° 28’ 35.2”

อ้างอิง
SkySafari
https://freestarcharts.com/ngc-6888

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...