Thursday, 18 July 2019

รู้จักกับแมสซายเออร์แคตตาลอค (3/3)

นอกจากจะมีวัตถุล่องหนเป็นปริศนาแล้ว ยังมีวัตถุที่น่าสงสัยว่าเหตุใดถึงรวมอยู่ด้วย และบางตัวไม่น่าจะสบสนกับดาวหางตามจุดประสงค์การจัดทำแคตตาลอคได้เลย



M73 และ M40 โดยคุณภูมิภาค เส็งสาย

ตัวแรกคือเอ็ม73 มีลักษณะเป็นดาวสี่ดวงเรียงเป็นตัวอักษร Y แมสซายเออร์เป็นผู้ระบุว่ามีเนบูล่าเบาบางฟุ้งอยู่รอบดาวทั้งสี่ดวง ภายหลัง John Herschel และนักดาราศาสตร์คนอื่นตรวจสอบซ้ำก็ไม่พบเนบูล่าดังกล่าว

เอ็ม73 เป็นวัตถุที่ได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดว่าเป็นกระจุกดาวจริงหรือไม่มายาวนาน ข้อสรุปพลิกไปพลิกมา จนล่าสุดเมื่อปี 2002 สรุปว่าไม่ใช่กระจุกดาวเพราะดาวทั้งสี่เคลื่อนที่เป็นอิสระต่อกันไปคนละทิศทาง

เอ็ม40 ที่นอกจากปัญหาเรื่องพิกัดทำให้ล่องหนแล้ว เอ็ม40 ยังน่าสงสัยเพราะเป็นดาวสองดวงคู่กัน ดาวคู่นี้แมสซายเออร์สำรวจตาม Johann Hevelius ผู้ที่รายงานว่าพบเนบูล่าบริเวณนี้ แต่เมื่อแมสซายเออร์มาตรวจสอบซ้ำพบว่าไม่มีเนบูล่าแต่เป็นดาวสองดวงและยังได้อธิบายลักษณะไว้อย่างละเอียด

แล้วทำไมแมสซายเออร์ส่งดาวสองดวงนี้ไปเป็นเอ็ม40 คำตอบที่เป็นไปได้คือแมสซายเออร์น่าจะส่งข้อมูลผิดโดยไม่ตั้งใจ วัตถุชิ้นนี้ปัจจุบันสรุปว่าเป็นดาวเดี่ยวสองดวงที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน แต่บังเอิญมองเห็นคู่กันเมื่อมองจากโลก เราเรียกวัตถุประเภทนี้ว่า Optical double star


M45, M44 และ Double Cluster
ภาพโดยคุณตระกูลจิตร จิตตะไสยพันธ์และคุณกีรติ คำคงอยู่
ผมมีข้อสังเกตส่วนตัวว่าทำไมแมสซายเออร์ไม่ใส่กระจุกดาวคู่ในกลุ่มดาวเพอร์เซอุสที่มองเห็นด้วยตาเปล่าไว้ในแคตตาลอคด้วย ในขณะที่กระจุกดาวรวงผึ้งและกระจุกดาวลูกไก่กลับได้รับหมายเลขเป็นเอ็ม44และเอ็ม45 ซึ่งทั้งสามตัวมองเห็นด้วยตาเปล่าและไม่ใช่ดาวหาง

เมื่อลงมือค้นคว้าหาคำตอบ ผมมีความเห็นว่าตอนที่จะเสนอแคตตาลอคเวอร์ชั่นแรก แมสซายเออร์ต้องการแสดงให้เห็นว่าผลงานของเขาเหนือกว่า Lacaille’s catalog ที่มีอยู่ 42 ชิ้น เลยเพิ่มรายการจาก 41 ชิ้น ไปเป็น 45 ชิ้น ซึ่งก็เพียงพอ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มกระจุกดาวคู่เข้าไปอีก

ไม่ว่าอย่างไรชาร์ล แมสซายเออร์ได้สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่และเป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจ Deep Sky Object อย่างแท้จริง…

อ้างอิง : messier.seds.org

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...