Monday 15 July 2019

รู้จักกับแมสซายเออร์แคตตาลอค (2/3)



Messier Object ทั้ง 110 ตัวถ่ายโดยคุณภูมิภาค เส็งสาย

ย้อนไปเมื่อปี 2009 ผมมีโอกาสได้จัดทำโปสเตอร์แมสซายเออร์ให้คุณภูมิภาค เส็งสายผู้ถ่ายรูปวัตถุในรายการของแมสซายเออร์ได้ครบถ้วน ได้พิจารณาเอ็มออบเจคแบบละเอียดครบทุกชิ้นและการค้นข้อมูลทำให้ทราบว่าแมสซายเออร์แคตตาลอคมี “วัตถุที่ผิดพลาด” อยู่ด้วย

เริ่มจากเอ็ม 40 William Hershel ไม่พบวัตถุใดตามพิกัดที่แมสซายเออร์ให้ไว้ เวลาผ่านไปสองร้อยปี ในปี 1966 John Mallas พบว่าคำอธิบายของแมสซายเออร์เข้ากันได้กับดาวคู่ Winnecke4 ที่ Friedrich Winnecke สำรวจไว้เมื่อปี 1863 เอ็ม40 เลยกลับมามีตัวตนใหม่อีกครั้ง

ตัวที่สองเป็นกระจุกดาวเปิดในกลุ่มดาวท้ายเรือ เอ็ม 47 ไม่พบวัตถุใดตามพิกัดที่แมสซายเออร์ให้ไว้เช่นกัน ผู้ที่ไขความจริงว่าแมสซายเออร์ให้เครื่องหมายพิกัดผิดแบบไม่ตั้งใจ คือ T.F. Morris ในปี 1959

ตัวที่สามเอ็ม48 กระจุกดาวเปิดที่ห่างจากเอ็ม 47 แค่องศาเศษ แต่ตามพิกัดที่แมสซายเออร์ให้ไว้ก็ไม่พบอะไรเช่นกัน T.F. Morris เป็นผู้อธิบายในปี 1959 ว่ากระจุกดาวที่ติดกับเอ็ม47 นี้ลักษณะเข้ากันได้กับคำอธิบายของแมสซายเออร์ เรื่องนี้คาดกันว่าอาจเป็นข้อผิดพลาดของแผนที่ดาวที่แมสซายเออร์ใช้อยู่เพราะตำแหน่งผิดไปแค่สององศาครึ่ง

ตัวที่สี่เอ็ม91 กาแลกซี่ในกระจุกกาแลกซี่เวอร์โก้ ไม่พบวัตถุตามพิกัดที่แมสซายเออร์ให้ไว้ เพิ่งได้ข้อสรุปในปี 1969 นักดาราศาสตร์สมัครเล่นจากเท๊กซัส William C Williams เสนอว่าพิกัดของแมสซายเออร์นั้นใช้ M89 เป็นจุดอ้างอิงต่างหากไม่ใช่ M58 อย่างที่แมสซายเออร์บันทึกไว้ ซึ่งก็เป็นทฤษฎีที่ยอมรับกันเพราะตอบข้อสงสัยได้ทั้งหมด


Messier's missing objects หรือวัตถุที่ผิดพลาด
ภาพโดย ภูมิภาค เส็งสาย, กีรติ คำคงอยู่, ตระกูลจิตร จิตตะไสยพันธุ์

ตัวสุดท้าย เอ็ม102 ที่ค้นพบโดยปิแอร์ มีแชนท์ผู้ช่วยของแมสซายเออร์ ในช่วงสุดท้ายก่อนส่งต้นฉบับ แมสซายเออร์ตัดสินใจที่จะเพิ่มเอ็ม101ถึงเอ็ม103 เข้าไปจากที่มีแค่เอ็ม100 ตามที่ตั้งใจ อาจเป็นเพราะไม่มีเวลาตรวจสอบโดยละเอียดทำให้เกิดข้อผิดพลาด

ปัญหาเหมือนจะคลี่คลายเมื่อสองปีถัดมามีแชนท์แจ้งเป็นจดหมายไปยัง Prussian Royal Academy ในกรุงเบอร์ลินว่า “เอ็ม102 เป็นวัตถุที่ซ้ำกับ เอ็ม101 เพราะแผนที่ดาวผิดพลาดทำให้สับสน”

แต่ว่าเมื่อพิจารณาจากคำอธิบาย เอ็ม101 กับ เอ็ม102 ของแมสซายเออร์เองแล้ว ไม่น่าจะเป็นวัตถุเดียวกันได้ สุดท้ายนักประวัติศาสตร์และนักดาราศาสตร์ต่างให้น้ำหนักไปว่า เอ็ม102 คือ NGC5866 เพราะลักษณะและการอ้างอิงตรงกับคำอธิบายของแมสซายเออร์พอดี

แต่ก็ยังติดปัญหาเรื่องจดหมายของมีแชนท์อยู่ ปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อสรุปสำหรับเอ็ม 102 เพราะหลักฐานขัดแย้งกันเอง เปิดโอกาสให้เราเลือกเองว่าจะให้เป็นตัวไหน

ข้อผิดพลาดของแมสซายเออร์ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเครื่องมือที่มีในยุคนั้น ข้อมูลของแมสซายเออร์ได้รับการเชื่อถือและส่งผลต่อการสำรวจท้องฟ้าในยุคของ William Herschel ผู้เริ่มต้นจัดทำ NGC Catalog ที่มีวัตถุมากกว่า 7000 ตัวในปัจจุบัน

บทความยังไม่จบ ตอนหน้าเป็นเรื่องของวัตถุที่น่ากังขาบางตัว

อ้างอิง : messier.seds.org

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...