Thursday 18 July 2019

รู้จักกับแมสซายเออร์แคตตาลอค (3/3)

นอกจากจะมีวัตถุล่องหนเป็นปริศนาแล้ว ยังมีวัตถุที่น่าสงสัยว่าเหตุใดถึงรวมอยู่ด้วย และบางตัวไม่น่าจะสบสนกับดาวหางตามจุดประสงค์การจัดทำแคตตาลอคได้เลย



M73 และ M40 โดยคุณภูมิภาค เส็งสาย

ตัวแรกคือเอ็ม73 มีลักษณะเป็นดาวสี่ดวงเรียงเป็นตัวอักษร Y แมสซายเออร์เป็นผู้ระบุว่ามีเนบูล่าเบาบางฟุ้งอยู่รอบดาวทั้งสี่ดวง ภายหลัง John Herschel และนักดาราศาสตร์คนอื่นตรวจสอบซ้ำก็ไม่พบเนบูล่าดังกล่าว

เอ็ม73 เป็นวัตถุที่ได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดว่าเป็นกระจุกดาวจริงหรือไม่มายาวนาน ข้อสรุปพลิกไปพลิกมา จนล่าสุดเมื่อปี 2002 สรุปว่าไม่ใช่กระจุกดาวเพราะดาวทั้งสี่เคลื่อนที่เป็นอิสระต่อกันไปคนละทิศทาง

เอ็ม40 ที่นอกจากปัญหาเรื่องพิกัดทำให้ล่องหนแล้ว เอ็ม40 ยังน่าสงสัยเพราะเป็นดาวสองดวงคู่กัน ดาวคู่นี้แมสซายเออร์สำรวจตาม Johann Hevelius ผู้ที่รายงานว่าพบเนบูล่าบริเวณนี้ แต่เมื่อแมสซายเออร์มาตรวจสอบซ้ำพบว่าไม่มีเนบูล่าแต่เป็นดาวสองดวงและยังได้อธิบายลักษณะไว้อย่างละเอียด

แล้วทำไมแมสซายเออร์ส่งดาวสองดวงนี้ไปเป็นเอ็ม40 คำตอบที่เป็นไปได้คือแมสซายเออร์น่าจะส่งข้อมูลผิดโดยไม่ตั้งใจ วัตถุชิ้นนี้ปัจจุบันสรุปว่าเป็นดาวเดี่ยวสองดวงที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน แต่บังเอิญมองเห็นคู่กันเมื่อมองจากโลก เราเรียกวัตถุประเภทนี้ว่า Optical double star


M45, M44 และ Double Cluster
ภาพโดยคุณตระกูลจิตร จิตตะไสยพันธ์และคุณกีรติ คำคงอยู่
ผมมีข้อสังเกตส่วนตัวว่าทำไมแมสซายเออร์ไม่ใส่กระจุกดาวคู่ในกลุ่มดาวเพอร์เซอุสที่มองเห็นด้วยตาเปล่าไว้ในแคตตาลอคด้วย ในขณะที่กระจุกดาวรวงผึ้งและกระจุกดาวลูกไก่กลับได้รับหมายเลขเป็นเอ็ม44และเอ็ม45 ซึ่งทั้งสามตัวมองเห็นด้วยตาเปล่าและไม่ใช่ดาวหาง

เมื่อลงมือค้นคว้าหาคำตอบ ผมมีความเห็นว่าตอนที่จะเสนอแคตตาลอคเวอร์ชั่นแรก แมสซายเออร์ต้องการแสดงให้เห็นว่าผลงานของเขาเหนือกว่า Lacaille’s catalog ที่มีอยู่ 42 ชิ้น เลยเพิ่มรายการจาก 41 ชิ้น ไปเป็น 45 ชิ้น ซึ่งก็เพียงพอ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มกระจุกดาวคู่เข้าไปอีก

ไม่ว่าอย่างไรชาร์ล แมสซายเออร์ได้สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่และเป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจ Deep Sky Object อย่างแท้จริง…

อ้างอิง : messier.seds.org

Monday 15 July 2019

รู้จักกับแมสซายเออร์แคตตาลอค (2/3)



Messier Object ทั้ง 110 ตัวถ่ายโดยคุณภูมิภาค เส็งสาย

ย้อนไปเมื่อปี 2009 ผมมีโอกาสได้จัดทำโปสเตอร์แมสซายเออร์ให้คุณภูมิภาค เส็งสายผู้ถ่ายรูปวัตถุในรายการของแมสซายเออร์ได้ครบถ้วน ได้พิจารณาเอ็มออบเจคแบบละเอียดครบทุกชิ้นและการค้นข้อมูลทำให้ทราบว่าแมสซายเออร์แคตตาลอคมี “วัตถุที่ผิดพลาด” อยู่ด้วย

เริ่มจากเอ็ม 40 William Hershel ไม่พบวัตถุใดตามพิกัดที่แมสซายเออร์ให้ไว้ เวลาผ่านไปสองร้อยปี ในปี 1966 John Mallas พบว่าคำอธิบายของแมสซายเออร์เข้ากันได้กับดาวคู่ Winnecke4 ที่ Friedrich Winnecke สำรวจไว้เมื่อปี 1863 เอ็ม40 เลยกลับมามีตัวตนใหม่อีกครั้ง

ตัวที่สองเป็นกระจุกดาวเปิดในกลุ่มดาวท้ายเรือ เอ็ม 47 ไม่พบวัตถุใดตามพิกัดที่แมสซายเออร์ให้ไว้เช่นกัน ผู้ที่ไขความจริงว่าแมสซายเออร์ให้เครื่องหมายพิกัดผิดแบบไม่ตั้งใจ คือ T.F. Morris ในปี 1959

ตัวที่สามเอ็ม48 กระจุกดาวเปิดที่ห่างจากเอ็ม 47 แค่องศาเศษ แต่ตามพิกัดที่แมสซายเออร์ให้ไว้ก็ไม่พบอะไรเช่นกัน T.F. Morris เป็นผู้อธิบายในปี 1959 ว่ากระจุกดาวที่ติดกับเอ็ม47 นี้ลักษณะเข้ากันได้กับคำอธิบายของแมสซายเออร์ เรื่องนี้คาดกันว่าอาจเป็นข้อผิดพลาดของแผนที่ดาวที่แมสซายเออร์ใช้อยู่เพราะตำแหน่งผิดไปแค่สององศาครึ่ง

ตัวที่สี่เอ็ม91 กาแลกซี่ในกระจุกกาแลกซี่เวอร์โก้ ไม่พบวัตถุตามพิกัดที่แมสซายเออร์ให้ไว้ เพิ่งได้ข้อสรุปในปี 1969 นักดาราศาสตร์สมัครเล่นจากเท๊กซัส William C Williams เสนอว่าพิกัดของแมสซายเออร์นั้นใช้ M89 เป็นจุดอ้างอิงต่างหากไม่ใช่ M58 อย่างที่แมสซายเออร์บันทึกไว้ ซึ่งก็เป็นทฤษฎีที่ยอมรับกันเพราะตอบข้อสงสัยได้ทั้งหมด


Messier's missing objects หรือวัตถุที่ผิดพลาด
ภาพโดย ภูมิภาค เส็งสาย, กีรติ คำคงอยู่, ตระกูลจิตร จิตตะไสยพันธุ์

ตัวสุดท้าย เอ็ม102 ที่ค้นพบโดยปิแอร์ มีแชนท์ผู้ช่วยของแมสซายเออร์ ในช่วงสุดท้ายก่อนส่งต้นฉบับ แมสซายเออร์ตัดสินใจที่จะเพิ่มเอ็ม101ถึงเอ็ม103 เข้าไปจากที่มีแค่เอ็ม100 ตามที่ตั้งใจ อาจเป็นเพราะไม่มีเวลาตรวจสอบโดยละเอียดทำให้เกิดข้อผิดพลาด

ปัญหาเหมือนจะคลี่คลายเมื่อสองปีถัดมามีแชนท์แจ้งเป็นจดหมายไปยัง Prussian Royal Academy ในกรุงเบอร์ลินว่า “เอ็ม102 เป็นวัตถุที่ซ้ำกับ เอ็ม101 เพราะแผนที่ดาวผิดพลาดทำให้สับสน”

แต่ว่าเมื่อพิจารณาจากคำอธิบาย เอ็ม101 กับ เอ็ม102 ของแมสซายเออร์เองแล้ว ไม่น่าจะเป็นวัตถุเดียวกันได้ สุดท้ายนักประวัติศาสตร์และนักดาราศาสตร์ต่างให้น้ำหนักไปว่า เอ็ม102 คือ NGC5866 เพราะลักษณะและการอ้างอิงตรงกับคำอธิบายของแมสซายเออร์พอดี

แต่ก็ยังติดปัญหาเรื่องจดหมายของมีแชนท์อยู่ ปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อสรุปสำหรับเอ็ม 102 เพราะหลักฐานขัดแย้งกันเอง เปิดโอกาสให้เราเลือกเองว่าจะให้เป็นตัวไหน

ข้อผิดพลาดของแมสซายเออร์ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเครื่องมือที่มีในยุคนั้น ข้อมูลของแมสซายเออร์ได้รับการเชื่อถือและส่งผลต่อการสำรวจท้องฟ้าในยุคของ William Herschel ผู้เริ่มต้นจัดทำ NGC Catalog ที่มีวัตถุมากกว่า 7000 ตัวในปัจจุบัน

บทความยังไม่จบ ตอนหน้าเป็นเรื่องของวัตถุที่น่ากังขาบางตัว

อ้างอิง : messier.seds.org

Sunday 14 July 2019

รู้จักกับแมสซายเออร์แคทตาลอค (1/3)


Chales Messier 1730-1817
Cr: wikipedia
ราวสองร้อยห้าสิบปีก่อน นักดาราศาสตร์ชื่อชาร์ล แมสซายเออร์ (Charles Messier) มีความหวังว่าจะพบดาวหางฮัลเลย์ที่จะวนกลับมาใกล้โลกอีกครั้งตามคำทำนายของเอ็ดมัลด์ ฮัลเลย์เป็นคนแรก เขาเฝ้าสำรวจดาวหางจากหอดูดาวมารีนในกรุงปารีสประเทศฝรั่งเศสทุกค่ำคืน

จนกระทั่งคืนวันที่ 28 สิงหาคม 1758 แมสซายเออร์กวาดกล้องดูดาวไปเจอรอยฝ้าใกล้กับดาวซีต้า ทอรี (ζ Tauri)ในกลุ่มดาววัว เขาคิดว่าเจอดาวหางดวงใหม่ แต่แสงฟุ้งจางที่พบไม่ได้เคลื่อนที่เหมือนดาวหางทั่วไป

วัตถุปริศนาตัวนี้เลยได้รับการบันทึกลงในสมุดที่เรียกว่า “รายการเจ้าปัญหา” (Embarrassing Catalog) สิ่งที่แมสซายเออร์จดบันทึกชิ้นแรกนั้นคือ Messier 1 หรือเนบูลาปูซึ่งปัจจุบันทราบดีว่าเป็นกลุ่มก๊าซที่เหลือจากดาวระเบิด (supernava remnant)



ปี 1771 แมสซายเออร์เสนอรายการที่ไม่ใช่ดาวหางที่รวบรวมไว้ในชื่อ Chales Messier’s Catalog of Nebulae and Star Cluster ที่มีวัตถุจำนวน 45 ชิ้นแก่ Académie des sciences ในกรุงปารีส หลังจากนั้นก็ร่วมมือกับผู้ช่วยชื่อ ปิแอร์ มีแชนท์ (Pierre Méchain) เพิ่มวัตถุลงไปในรายชื่อนี้เรื่อยมา

ผ่านไปสิบปีในปี 1781 Chales Messier’s Catalog of Nebulae and Star Cluster มีวัตถุที่ไม่ใช่ดาวหางทั้งหมด 103 ชิ้น และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารที่เก่าแก่ที่สุดในโลก Connaisance des Temps for 1784

ภาพสเก็ทช์ M42 โดยแมสซายเออร์
Cr: http://www.messier.seds.org/xtra/history/m-cat71.html

ร้อยสี่สิบปีต่อมามีการเสนอให้เพิ่มวัตถุเข้าไปใน Messier อีกสามครั้งคือ ในปี1921 เพิ่ม M104 โดย Camille Flammarion ในปี1947 Helen Sawyer Hogg เพิ่ม M105ถึงM107 ในปีเดียวกัน Owen Gingerish เสนอเพิ่ม M108 จนถึง M109 และครั้งสุดท้ายในปี1966 เพิ่ม M110 โดย Kenneth Glyn Jones

รายการทั้งหมดที่เพิ่มเติม เกิดจากการศึกษาบันทึกของแมสซายเออร์และมีแชนท์แล้วพบว่ายังมีวัตถุอื่นๆที่แมสซายเออร์และมีแชนท์บันทึกไว้ภายหลังการตีพิมพ์เมื่อปี 1784  ดังนั้นในปัจจุบันจึงเป็นที่ทราบและยอมรับกันว่า Messier Object Catalog มีวัตถุอยู่ในรายการทั้งหมด 110 ชิ้น



เหตุที่แมสซายเออร์แคตตาลอคได้รับความนิยม ก็เพราะมีตัวอย่างของออบเจคเกือบทุกชนิดบนท้องฟ้าในจำนวนที่พอเหมาะพอดี ออบเจคในรายการมีตั้งแต่ซากการระเบิดของดวงดาว เนบูล่า กาแลกซี่ กระจุกดาวเปิดและกระจุกดาวทรงกลม และทั้งหมดสามารถดูได้จากกล้องดูดาวระดับมือสมัครเล่นในปัจจุบันซึ่งคุณภาพดีกว่าในยุคแมสซายเออร์มาก

การที่สำรวจท้องฟ้าตามแมสซายเออร์จนครบทั้ง 110 ตัวเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินกว่าที่จะทำได้ และเชื่อหรือไม่ว่าเราสามารถดูได้จนครบทั้ง 110 ตัวในคืนเดียวตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดินไปจนถึงรุ่งเช้าของอีกวันในเดือนมีนาคม กิจกรรมนี้เรียกว่า “แมสซายเออร์มาราธอน”

แต่ Messier Catalog ยังมีข้อผิดพลาดและข้อสงสัยในวัตถุบางชิ้น ตลอดเวลาที่ผ่านมานักดาราศาสตร์ได้พยายามค้นหาแก้ไขได้เกือบทั้งหมด จะขอเล่าต่อในตอนต่อไปครับ


Messier Marathon น่าลองนะ
https://www.youtube.com/watch?v=lB8Yffe1Ezc



อ้างอิง : messier.seds.org

Tuesday 9 July 2019

Messier107





กระจุกดาวทรงกลมในกลุ่มดาวออพอียูคัสหรือคนแบกงู ผู้ที่พบคือปิแอร์ เมอร์แชนด์ ผู้ช่วยของแมสซายเออร์ในปี 1782 มีความเป็นไปได้ว่าเป็นออบเจคที่ค้นพบเป็นตัวสุดท้ายในการจัดทำแมสซายเออร์แคตตาลอค แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับการบรรจุเพิ่มเข้าไป

จนกระทั่งในปี 1947 เฮเลน ซอร์เยอร์ ฮอกส์ ได้เสนอให้เพิ่มเอ็ม105, เอ็ม106, เอ็ม107 ในแมสซายเออร์แคตตาลอค โดยอาศัยหลักฐานเป็นจดหมายของปิแอร์ เมอร์แชนท์ที่เธอค้นพบ

เอ็ม 107 สว่างแค่แมกนิจูดที่9 ทำให้ไม่เห็นด้วยตาเปล่า เหมือนเอ็ม13 หรือเอ็ม 5ที่อยู่ละแวกนั้น แต่น่าจะเห็นจากกล้องสองตาขนาด 10x50 คล้ายดาวจางหากฟ้าดี

ในกล้องดูดาวขนาด 8 นิ้ว ที่กำลังขยายต่ำ(56เท่า) เอ็ม107มองเห็นเป็นฝ้ากลมจาง ดาวในกระจุกจางเกินกว่าที่กล้องดูดาวขนาดนี้จะแยกออกมาเป็นเม็ดได้ อาจต้องใช้กล้องดูดาวที่มีขนาด 12 นิ้วขึ้นไปหากต้องการแยกดาวภายในกระจุกออกมาเป็นดวงให้ชัดเจน

เอ็ม107 ห่างจากดาว ซีต้า ออพอียูชิ (ζ Oph) หรือไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว 3 องศา อยู่ในฟิลด์ของกล้องเล็งพร้อมกันได้เลย


คลิกภาพเพื่อขยาย


ข้อมูลทั่วไป
Catalog number: NGC6171, Messier 107
Constellation: Ophiuchus
Visual Magnitude: +7.92
Apparent Size: 13’
Distance: 21 kly

Coordinates
R.A. 16h 33m 36.46s
Dec. -13° 05’ 33.2”

NGC4631 : Whale Galaxy






กาแลกซี่กังหันแบบ edge-on หรือหันข้างเข้ามาหาเรา ห่างจากดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวคาเนสเวอแนตติซายหรือสุนัขล่าเนื้อทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว 6.5องศา ค้นพบโดย วิลเลี่ยม เฮอเชลล์ในปี 1787

NGC4631 เป็นหนึ่งใน edge-on ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนท้องฟ้า รูปร่างที่บิดเบี้ยวเล็กน้อย เหตุเพราะแรงกระทำจากกาแลกซี่ขนาดเล็ก NGC4627 ที่อยู่ใกล้ๆ จากที่มีรูปร่างที่โค้งเล็กน้อยนี่เอง ทำให้ดูคล้ายปลาวาฬหรือปลาแฮริ่งอันเป็นที่มาของชื่อ

ภาพในกล้องดูดาวขนาด8นิ้ว มองเห็นแสงฟุ้งจางเป็นทางยาว ส่วนที่สว่างที่สุดจะอยู่ชิดมาทางขอบด้านทิศเหนือ ถือว่าสว่างมากทีเดียวเพราะมองเห็นแสงเป็นจุดได้หลายจุดด้วยวิธีมองเหลือบ ส่วนNGC4627จางเกินกว่าจะมองเห็นได้จากกล้องดูดาว 8 นิ้ว

การสังเกตุ Whale Galaxy ให้ดีควรดูผ่านกล้องดูดาวขนาด 12 นิ้วขึ้นไปเพราะจะเห็นคู่ของมันได้ชัดเจนกว่า หากฟ้าดีพอ อาจจะได้เห็นว่ากาแลกซี่ตัวนี้บิดโค้งเล็กน้อยด้วยก็เป็นไปได้

NGC4631 ตำแหน่งอยู่ราวครึ่งทางจากดาวอัลฟ่าคาเนสเวอร์แนตติซิหรือดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวสุขนัขล่าเนื้อไปดาวแกมม่าโคเม่เบอเรนิซ เนื่องจากมองไม่เห็นในกล้องเล็งจึงต้องอาศัยดาวเรียงใกล้เคียงเป็นหมาย ไม่ยากเกินไปครับ


คลิกภาพเพื่อขยาย

ข้อมูลทั่วไป
Name: Whale Galaxy, Herring Galaxy
Catalog number: NGC4631
Constellation: Serpens
Visual Magnitude: +8.90
Apparent Size: 14.4’x2.2’
Distance: 24 Mly

Corodinates
R.A. 12h 43m 03.80s
Dec. +33° 41’ 55.6”

Wednesday 3 July 2019

Messier 5






เอ็ม 5 ในกลุ่มดาวงูเซอร์เพนส์ หนึ่งในสามกระจุกดาวทรงกลมที่สวยที่สุดบนท้องฟ้าซีกเหนือ อันมีเอ็ม13 เอ็ม3 และเอ็ม5 ด้วยค่าความสว่าง 5.6 แมกนิจูด ทำให้มองเห็นเอ็ม5 ได้ด้วยตาเปล่าในที่มืดสนิท

ผู้ที่พบคนแรกได้แก่นักดาราศาสตร์เยอรมันชื่อ Gotifried Kirch และภรรยา Maria Margarethe ระหว่างที่ทั้งสองคนสำรวจดาวหางในปี 1702  Kirch อธิบายไว้ว่า “Nebulous Star” หรือ “ดาวที่ฟุ้งมัว” แมสซายเออร์พบอีกครั้งในปี 1764 และวิลเลี่ยม เฮอร์เชล เป็นคนแรกที่ระบุว่าเอ็ม 5 เป็นกระจุกดาวทรงกลมด้วยกล้องดูดาวขนาด 40 ฟุตในปี 1791

แมสซายเออร์หมายเลข 5 เป็นวัตถุที่เหมาะกับกล้องดูดาวทุกขนาด ด้วยกล้องดูดาวขนาดเล็กหรือกล้องสองตาจะเห็นเป็นจุดฟุ้งขนาดเล็กคล้ายกับดาวแต่ไม่ใช่ เราจะเริ่มแยกดาวในกระจุกออกเป็นมาเป็นเม็ดได้ต้องอาศัยกล้องดูดาวที่ขนาดราว 4นิ้วขึ้นไป กล้องดูดาวขนาดยิ่งใหญ่รายละเอียดก็จะยิ่งมากตามไปด้วย

ภาพจากกล้องดูดาว 8 นิ้ว เอ็ม5 มีขนาดใกล้กับเอ็ม 13 แต่รายละเอียดต่างกัน ในขณะที่เอ็ม 13 เต็มไปด้วยระยางค์จำนวนมากทำให้คิดถึงปลาหมึกหรือแมงกระพรุน แต่เอ็ม 5 ทำให้ผมคิดถึงปูมะพร้าว แต่ก็สวยงามทั้งคู่

การฮอบหาตำแหน่งไม่ยากเกินไป ให้เริ่มจากดาวปลายขาของกลุ่มดาวเวอร์โก้หรือหญิงสาว ที่ชื่อ 109 Vir แล้วฮอบไปทางทิศตะวันออก 4 องศาจะเจอดาวสว่างแมกนิจูด 4 ดวงนึงชื่อ 110 Vir เอ็ม 5 จะห่างจากดาวดวงนี้ไปทางตะวันออกอีก 4 องศา

เอ็ม 5 เป็นหนึ่งในกระจุกดาวทรงกลมที่เก่าแก่ที่สุดประมาณหนึ่งพันสามร้อยล้านปี เป็นไปได้ว่ามีดาวในกระจุกมากถึง 500,000 ดวง มีขนาดกว้างราว 165 ปีแสงทำให้เป็นหนึ่งในกระจุกดาวทรงกลมที่ใหญ่ที่สุดบนท้องฟ้าอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีดาวแปรแสงอยู่ในกระจุกราว 200 ดวง

เรียกว่าเป็นกระจุกดาวทรงกลมที่ห้ามพลาดอีกตัว


คลิกภาพเพิ่อขยาย


ข้อมูลทั่วไป
Catalog number: NGC5904, Messier5
Constellation: Serpens
Visual Magnitude: +5.65
Apparent Size: 23’
Distance: 24 kly


Coordinates
R.A. 15h 19m 31.50s
Dec. +02° 00’ 45.9”

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...