Leo I กาแลคซีเพื่อนบ้านที่สลัวมากของทางช้างเผือก ปรากฏเป็นปื้นลางๆ ทางขวาของดาวฤกษ์สว่าง เรกูลัส
นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์สองคนจากศูนย์ฮาร์วาร์ดสมิธโซเนียนเพื่อดาราศาสตร์ฟิสิกส์
ได้เสนอวิธีเพื่อสำรวจสิ่งที่อาจเป็นหลุมดำมวลมหาศาล(supermassive black
hole) ที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดเป็นอันดับสอง
คือหลุมดำที่มีมวลราว 3 ล้านเท่ามวลดวงอาทิตย์ในกาแลคซีแคระ
สิงห์โต 1(Leo I)
Leo I เป็นกาแลคซีในละแวกเพื่อนบ้านของทางช้างเผือก
มันเป็นกาแลคซีแคระ(dwarf spheroidal) ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่ถึง
1 ล้านปีแสง
ตัวกาแลคซีเองนั้นสำรวจได้ยากเนื่องจากความใกล้กับดาวฤกษ์สว่าง เรกูลัส(Regulus)
หลุมดำมวลมหาศาลซึ่งเรียกว่า Leo
I* ถูกเสนอเป็นครั้งแรกโดยทีมนักดาราศาสตร์อีกทีมในช่วงปลายปี
2021 ทีมสังเกตเห็นดาวที่มีความเร็วสูงขึ้นเมื่อพวกมันเข้าใกล้ใจกลางกาแลคซี(ซึ่งเป็นหลักฐานของหลุมดำ)
แต่เป็นไปไมได้ที่จะถ่ายภาพการเปล่งรังสีจากหลุมดำโดยตรง ขณะนี้ Fabio
Pacucci และ Avi
Loeb จาก CfA
ได้เสนอหนทางใหม่ในการตรวจสอบยืนยันการมีอยู่ของหลุมดำ
งานวิจัยเผยแพร่ใน Astrophysical Journal Letters
หลุมดำเป็นวัตถุที่แทบจะไร้ร่องรอย
และบางครั้งพวกมันก็ชอบเล่นซ่อนหากับเรา Pacucci ผู้เขียนนำ กล่าว
แสงไม่สามารถหนีออกจากขอบฟ้าสังเกตการณ์(event horizon) ของหลุมดำได้ แต่สภาพแวดล้อมรอบๆ
หลุมดำก็อาจสว่างจ้ามาก ถ้ามีวัสดุสารตกลงสู่หลุมแรงโน้มถ่วงเหล่านั้นมากพอ
แต่ถ้าหลุมดำไม่ได้สะสมมวล มันก็ไม่เปล่งแสงใดๆ
และเป็นไปไม่ได้ที่จะค้นหาด้วยกล้องโทรทรรศน์
นี่เป็นความท้าทายที่เกิดกับ Leo I
เมื่อกาแลคซีแคระแห่งนี้ขาดแคลนก๊าซอย่างมากที่จะป้อนลงสู่หลุมดำ
แล้วเราหมดหวังที่จะสำรวจมันแล้วหรือ บางทีอาจจะไม่ ในการศึกษาของเรา
เราเสนอว่ามวลจำนวนเล็กน้อยที่ดาวฤกษ์สูญเสียออกมาและวิ่งวนไปรอบหลุมดำนี้
น่าจะให้อัตราการสะสมมวลที่พอที่จะใช้สำรวจหลุมดำได้ Pacucci อธิบาย ดาวอายุมากจะมีขนาดใหญ่มากและมีสีแดง
เราเรียกพวกมันว่า ดาวยักษ์แดง
ดาวยักษ์แดงปกติจะมีลมดวงดาวที่รุนแรงซึ่งจะนำมวลสารส่วนหนึ่งออกสู่สิ่งแวดล้อม
อวกาศรอบๆ Leo I* ดูจะมีดาวเก่าแก่เหล่านี้มากพอที่จะสำรวจได้
การสำรวจ Leo I* น่าจะเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ Avi Loeb ผู้เขียนร่วมการศึกษานี้ กล่าว
มันอาจจะเป็นหลุมดำมวลมหาศาลที่อยู่ใกล้ที่สุดเป็นอันดับที่สองรองจากหลุมดำที่ใจกลางกาแลคซีของเรา
โดยมีมวลใกล้เคียงกันมากแต่กาแลคซีต้นสังกัดกลับมีมวลน้อยกว่าทางช้างเผือกของเราประมาณ
1 พันเท่า
ความจริงนี้ท้าทายทุกๆ สิ่งที่เรารู้ว่ากาแลคซีและหลุมดำในใจกลางของพวกมันมีวิวัฒนาการร่วมอย่างไร
เด็กที่ตัวโตขนาดนั้นไปถือกำเนิดจากพ่อแม่ที่เพรียวบางได้อย่างไร
การศึกษาตลอดหลายทศวรรษได้แสดงว่ากาแลคซีขนาดใหญ่เกือบทุกแห่งจะมีหลุมดำมวลมหาศาลในใจกลาง
และมวลของหลุมดำก็จะเป็นสัดส่วนประมาณ 0.1% ของมวลรวมของส่วนป่องดาวรอบๆ มัน Loeb อธิบายว่า ในกรณีของ Leo I เราคาดว่าจะพบหลุมดำขนาดเล็กกว่านี้มาก
แต่ดูเหมือนว่า Leo I มีหลุมดำขนาดหลายล้านเท่าดวงอาทิตย์
ใกล้เคียงกับหลุมดำในใจกลางทางช้างเผือก
นี่เป็นเรื่องที่สร้างความตื่นเต้นเนื่องจากวิทยาศาสตร์มักจะก้าวหน้าไปมากที่สุดเมื่อมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น
แล้ว
เราอาจจะได้เห็นภาพหลุมดำแห่งนี้เมื่อไหร่ Pacucci กล่าวว่า คงไม่ถึงขั้นนั้น
ทีมได้เวลาการสำรวจจากกล้องจันทราและกล้องโทรทรรศน์วิทยุเครือข่ายใหญ่มาก(VLA)
ในนิวเมกซิโก
และกำลังวิเคราะห์ข้อมูลใหม่นี้ Pacucci กล่าวว่า
Leo I* กำลังเล่นซ่อนหาอยู่
แต่มันก็เปล่งรังสีออกมามากเกินกว่าจะหลบซ่อนไปได้นานนัก
แหล่งข่าว sciencedaily.com
: astrophysicists hunt for second-closest supermassive black hole
universetoday.com : the
second-closest supermassive black hole might be in a nearby dwarf galaxy
No comments:
Post a Comment