กาแลคซี NGC
4666 เป็นหนึ่งในกาแลคซีสตาร์เบิร์ส(starburst
galaxy) ที่อยู่ใกล้เรามากที่สุด
เราจะมองมันในมุมหันข้างเกือบพอดี
ก่อนระเบิดเป็นซุปเปอร์โนวา
ดาวฤกษ์สีเหลืองดวงหนึ่งได้ทำให้นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ต้องกลับไปประเมินทางเลือกในการตายของดาวที่มีมวลสูงที่สุดในเอกภพเสียใหม่
ทีมอธิบายดาวประหลาดดวงนี้และซุปเปอร์โนวาที่เกิดขึ้นในการศึกษาใหม่ที่เผยแพร่ใน Monthly
Notices of the Royal Astronomical Society วันที่
5 พฤษภาคม
ในช่วงบั้นปลายชีวิต
ดาวฤกษ์สีเหลืองที่เย็นมักจะปกคลุมไปด้วยไฮโดรเจน
ซึ่งจะปกปิดภายในสีฟ้าที่ร้อนแรงของดาวไว้ แต่ดาวสีเหลืองดวงนี้ซึ่งอยู่ห่างออกไป 35
ล้านปีแสงจากโลกในกระจุกกาแลคซีหญิงสาว(Virgo
cluster) กลับไม่มีชั้นไฮโดรเจนที่ช่วยปกปิดนี้ในช่วงเวลาที่เกิดการระเบิด
Charles Kilpatrick นักวิจัยหลังปริญญาเอกที่ศูนย์เพื่อการสำรวจและวิจัยสหวิทยาการดาราศาสตร์ฟิสิกส์(CIERA)
ของมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น
ซึ่งนำทีมศึกษา กล่าวว่า เราไม่เคยเห็นเหตุการณ์อย่างนี้มาก่อน ถ้าดาวระเบิดโดยไม่มีไฮโดรเจน
มันก็น่าจะมีสีฟ้าจัดมากก็คือ ร้อนมากๆ
แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ดาวจะเย็นแบบนี้โดยไม่มีชั้นไฮโดรเจนข้างนอก
เราพิจารณาแบบจำลองดาวทุกๆ แบบที่มีที่จะช่วยอธิบายดาวแบบนี้ได้ และแบบจำลองทุกๆ
อันก็บอกว่าดาวต้องมีไฮโดรเจน ซึ่งจากซุปเปอร์โนวาที่เกิดขึ้นเราทราบว่ามันไม่มีอยู่
มันยืดความเป็นไปได้ในทางกายภาพออกไปอีก
Kilpatrick ยังเป็นสมาชิกของกลุ่มการทดลองซุปเปอร์โนวาอายุน้อย
ซึ่งใช้กล้องโทรทรรศน์ Pan-STARRS ที่ฮาลีคาลา
ฮาวาย เพื่อจับซุปเปอร์โนวาแทบจะทันทีที่เกิดการระเบิด หลังจากกลุ่มการทดลองซุปเปอร์โนวาอายุน้อย
ได้พบซุปเปอร์โนวา SN 2019yvr ในกาแลคซีกังหันที่อยู่ไม่ไกล
NGC 4666 และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
มันเป็นกาแลคซีที่กำลังก่อตัวดาวอย่างคึกคักมาก(starburst galaxies)
ซึ่งถูกศึกษาโดยนักดาราศาสตร์ทั้งสมัครเล่นและอาชีพอย่างทะลุปรุโปร่ง
จึงมีโอกาสมากมายที่จะได้พบดาวที่อาจเป็นต้นเหตุของ SN 2019yvr ในภาพเก่าๆ ได้
ทีมได้ใช้ภาพห้วงลึกที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลจับไว้
ซึ่งก็ได้สำรวจท้องฟ้าส่วนนี้โดยบังเอิญสองปีครึ่งก่อนดาวจะระเบิด
สิ่งที่ดาวมวลสูงทำก่อนที่พวกมันจะระเบิดเป็นปริศนาใหญ่ที่ยังไม่ได้ถูกไข เขากล่าว
มันยากมากที่จะได้เห็นดาวประเภทนี้ก่อนที่มันจะระเบิดเป็นซุปเปอร์โนวา ภาพจากกล้องฮับเบิลแสดงแหล่งของซุปเปอร์โนวา
เป็นดาวมวลสูงที่ถูกถ่ายภาพเพียงไม่กี่ปีก่อนการระเบิด เมื่อมันระเบิด
ก็ดูเหมือนเป็นซุปเปอร์โนวาที่ปราศจากไฮโดรเจนทั่วๆ ไป ไม่มีอะไรโดดเด่นเลย
แต่ดาวต้นกำเนิดไม่ได้สอดคล้องกับสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับซุปเปอร์โนวาชนิดนี้
ภาพจากกล้องฮับเบิลแสดงพื้นที่ระเบิดของ SN 2019yvr จากสองปีครึ่งก่อนการระเบิด ซ้ายบน: ซุปเปอร์โนวาเองปรากฏอยู่ในภาพจากกล้องโทรทรรศน์เจมิไนใต้ 72 วันหลังจากที่เกิดระเบิด ซ้ายล่าง: ซูมพื้นที่เดียวกันในภาพก่อนระเบิดจากกล้องฮับเบิล แสดงให้เห็นแหล่งเพียงแหล่งเดียวที่ดูจะเป็นดาวต้นกำเนิดซุปเปอร์โนวาได้
ดาวสีเหลืองนี้ก็เหมือนกับดวงอาทิตย์
แม้ว่าจะร้อนเพียงพอที่จะให้พลังกับชีวิตบนดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างออกไปหลายล้านกิโลเมตรได้
แต่ดาวสีเหลืองก็ยังเย็นกว่าดาวสีฟ้าที่จะเป็นต้นกำเนิดซุปเปอร์โนวาอย่างมาก
แต่ดาวสีเหลืองบางดวงก็เกิดซุปเปอร์โนวาได้จริงๆ แต่ในหลายกรณีก่อนหน้านี้
มันมีสีเหลืองก็เพราะมีชั้นไฮโดรเจนปกคลุมซ่อนสีฟ้าที่แท้จริงไว้
อย่างไรก็ตาม หลายเดือนหลังจากการระเบิด Kilpatrick
และทีมได้พบว่าวัสดุสารที่ผลักออกมาในการระเบิดสุดท้ายของดาว
ดูเหมือนจะชนกับไฮโดรเจนก้อนใหญ่
นี่ทำให้ทีมตั้งสมมุติฐานว่าดาวต้นกำเนิดน่าจะขับไฮโดรเจนออกมาในช่วงเพียงสองสามปีก่อนที่จะระเบิด
นักดาราศาสตร์สงสัยว่าดาวเกิดการปะทุอย่างรุนแรงในไม่กี่ปีก่อนที่เราจะเห็นซุปเปอร์โนวา
Kilpatrick กล่าว การค้นพบดาวดวงนี้ได้ให้หลักฐานโดยตรงที่สุดบางส่วนที่เคยพบมาว่า
ดาวจะผ่านการปะทุอย่างรุนแรงหลายครั้ง
ซึ่งเป็นสาเหตุให้พวกมันสูญเสียมวลออกมาก่อนการระเบิด
ถ้าดาวจะต้องมีการปะทุเหล่านี้
จากนั้นพวกมันก็น่าจะผลักไฮโดรเจนของมันออกมาหลายสิบปีก่อนที่จะระเบิด
แต่ในการศึกษาใหม่
ทีมยังได้เสนอความเป็นไปได้อื่น ก็คือ
มีดาวข้างเคียงทีมีมวลต่ำกว่าอาจจะดึงไฮโดรเจนออกจากดาวต้นกำเนิดซุปเปอร์โนวา
อย่างไรก็ตาม
ทีมจะไม่สามารถสำรวจหาดาวข้างเคียงได้จนกระทั่งความสว่างของซุปเปอร์โนวาลดลงซึ่งจะต้องใช้เวลาเป็นสิบปี
ไม่เหมือนกับพฤติกรรมทั่วไปหลังจากที่เกิดการระเบิด
ปฏิสัมพันธ์กับไฮโดรเจนได้เผยให้เห็นว่ามันเป็นซุปเปอร์โนวาที่ผ่าเหล่า Kilpatrick
กล่าว
แต่มันก็พิเศษขึ้นไปอีกเมื่อเราสามารถหาดาวต้นกำเนิดของมันได้ในข้อมูลฮับเบิล
ในอีกสี่หรือห้าปีข้างหน้า ผมคิดว่าเราจะสามารถเรียนรู้ได้มากขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้น
แหล่งข่าว phys.org
: mysterious hydrogen-free supernova sheds light on stars’ violent death throes
sciencedaily.com : “oddball supernova” appears strangely cool before
exploding
iflscience.com : super
weird supernova had a surprisingly cool star before exploding
No comments:
Post a Comment