ซากซุปเปอร์โนวา คาสสิโอเปีย เอ(Cassiopeia A) ในภาพรวมประกอบจากข้อมูลช่วงตาเห็น และรังสีเอกซ์ พร้อมแสดงสิ่งที่น่าจะเป็นดาวนิวตรอนที่เหลือจากการระเบิด
นักวิทยาศาสตร์ได้พบชิ้นส่วนของไทเทเนียมที่ระเบิดออกจากซุปเปอร์โนวาที่เป็นที่รู้จักกันดีแห่งหนึ่ง
การค้นพบซึ่งทำโดยหอสังเกตการณ์รังสีเอกจันทราของนาซา อาจจะเป็นก้าวย่างสำคัญสู่การระบุอย่างแน่ชัดว่าดาวฤกษ์ยักษ์บางดวงระเบิดได้อย่างไร
การสำรวจของกล้องจันทราทำกับซากซุปเปอร์โนวาแห่งหนึ่งที่เรียกว่า
คาสสิโอเปีย เอ(Cassiopeia A) ซึ่งอยู่ในกาแลคซีของเรา
ห่างจากโลกออกไปประมาณ 11000 ปีแสง
มันเป็นหนึ่งในซากซุปเปอร์โนวาที่มีอายุน้อยที่สุดแห่งหนึ่ง ด้วยอายุราว 350
ปี
เป็นเวลาหลายปีที่นักวิทยาศาสตร์อับจนที่จะเข้าใจว่าดาวฤกษ์มวลสูงซึ่งเป็นดาวที่มีมวลมากกว่า
10
เท่าดวงอาทิตย์ ระเบิดเมื่อพวกมันหมดเชื้อเพลิงลง ได้อย่างไร
ผลสรุปที่ได้จึงเป็นเงื่อนงำใหม่ที่ล้ำค่า Toshiki Sato จากมหาวิทยาลัยริคเคียว ในญี่ปุ่น
ซึ่งนำทีมการศึกษาเผยแพร่ใน Nature กล่าวว่า
นักวิทยาศาสตร์คิดว่าไทเทเนียม(titanium) เกือบทั้งหมดที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน
เช่น ในวงจรอิเลคทรอนิคส์หรือทำเครื่องประดับนั้น
ถูกสร้างขึ้นจากการระเบิดของดาวมวลสูง อย่างไรก็ตาม
กระทั่งตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่เคยได้พบช่วงเวลาที่ไทเทเนียมที่เสถียรเพิ่งถูกสร้างขึ้นเลย
เมื่อแหล่งพลังงานนิวเคลียร์ในดาวมวลสูงหมดลง
ใจกลางของดาวจะยุบตัวลงภายใต้แรงโน้มถ่วงและก่อตัวเป็นซากดาวที่หนาแน่นสูงที่เรียกว่า
ดาวนิวตรอน หรือไม่ก็กลายเป็นหลุมดำ เมื่อดาวนิวตรอนถูกสร้างขึ้น
ส่วนในของดาวมวลสูงที่ยุบตัวลงก็จะกระดอนออกจากพื้นผิวดาวนิวตรอน
ผลักการยุบตัวออกไป ความร้อนจากเหตุการณ์ทำลายล้างนี้ได้สร้างคลื่นกระแทก(shock
wave) ซึ่งคล้ายกับโซนิคบูมจากเครื่องบินที่บินเร็วเหนือเสียง
ซึ่งจะวิ่งออกผ่านซากที่เหลือของดาว สร้างธาตุใหม่ๆ
โดยปฏิกิริยานิวเคลียร์ตามเส้นทางที่มันผ่าน อย่างไรก็ตาม
ในแบบจำลองคอมพิวเตอร์หลายๆ งานที่จำลองกระบวนการนี้
พลังงานที่เกิดนั้นสูญเสียอย่างรวดเร็วและการเดินทางของคลื่นกระแทกออกข้างนอกก็ถูกหยุดไว้
ไม่เกิดการระเบิดซุปเปอร์โนวาขึ้น
แต่แบบจำลองคอมพิวเตอร์สามมิติล่าสุดได้บอกว่า นิวตริโน(neutrino) ซึ่งเป็นอนุภาคเสี้ยวอะตอมที่มีมวลต่ำมากๆ
ถูกสร้างขึ้นในการก่อตัวของดาวนิวตรอน มีบทบาทสำคัญในการผลักฟองวัสดุสารที่วิ่งออกจากดาวนิวตรอน
ฟองเหล่านี้จะผลักคลื่นกระแทกไปข้างหน้าจนระเบิดเป็นซุปเปอร์โนวาได้
ด้วยการศึกษา Cas A งานใหม่
ทีมได้พบหลักฐานที่ชัดเจนของการระเบิดที่ขับเคลื่อนโดยนิวตริโนเช่นนั้น
ในข้อมูลจากจันทรา พวกเขาได้พบโครงสร้างคล้ายนิ้วมือที่ชี้ออกจากแหล่งการระเบิด
ซึ่งมีธาตุไทเทเนียมและโครเมียมอยู่ด้วย ซ้อนทับในตำแหน่งที่พบซากของเหล็กที่จันทราเคยตรวจพบก่อนหน้านี้
สภาวะที่ต้องการเพื่อสร้างธาตุเหล่านั้นในปฏิกิริยานิวเคลียร์ เช่น
อุณหภูมิและความหนาแน่นวัสดุสาร ก็สอดคล้องกับฟองในแบบจำลองที่ผลักดันการระเบิด
ไทเทเนียมที่พบโดยจันทราใน Cas A และที่ทำนายไว้ในแบบจำลองเสมือนจริง เป็นไอโซโทปที่เสถียร
ซึ่งหมายความว่าจำนวนของนิวตรอนที่มีในอะตอมจะบอกว่าธาตุจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงโดยกิจกรรมกัมมันตรังสี
กลายเป็นธาตุใหม่ที่เบาลง นักดาราศาสตร์ก่อนหน้านี้ที่ใช้ NuSTAR ได้พบไทเทเนียมไอโซโทปที่ไม่เสถียรในตำแหน่งที่แตกต่างออกไปใน
Cas A ไอโซโทปไทเทเนียมกัมมันตรังสีนี้
ครึ่งหนึ่งจะถูกเปลี่ยนเป็นสแกนเดียม(scandium) ทุกๆ 60 ปี
และจากนั้นก็เป็นคัลเซียม
เราไม่เคยได้เห็นสัญญาณของฟองไทเทเนียมในซากซุปเปอร์โนวามาก่อนเลย
ซึ่งเป็นผลสรุปที่เป็นไปได้ก็เพราะภาพที่คมชัดอย่างไม่น่าเชื่อจากจันทรา Keiichi
Maeda ผู้เขียนร่วม
จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ในญี่ปุ่น กล่าว
ผลสรุปของเราเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการไขปัญหาว่าดาวเหล่านี้ระเบิดเป็นซุปเปอร์โนวาได้อย่างไร
Shigehiro Nagataki ผู้เขียนร่วมจาก
RIKEN Cluster for Pioneering Research ในญี่ปุ่น
กล่าวว่า เมื่อเกิดซุปเปอร์โนวาขึ้น
ชิ้นส่วนไทเทเนียมจะถูกสร้างขึ้นลึกภายในดาวมวลสูง
ชิ้นส่วนจะแทรกผ่านพื้นผิวดาวมวลสูง ก่อตัวเป็นขอบของซากซุปเปอร์โนวา Cas A
นี้
ผลสรุปเหล่านี้สนับสนุนแนวคิดการระเบิดที่ขับเคลื่อนด้วยนิวตริโนอย่างชัดเจน
เพื่ออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างน้อยก็ในซุปเปอร์โนวาบางแห่งอย่าง Cas A Takashi Yoshida จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ผู้เขียนร่วม กล่าวว่า
งานวิจัยของเราน่าจะเป็นผลสรุปจากการสำรวจที่สำคัญที่สุดที่พิสูจน์ถึงบทบาทของนิวตริโนในการระเบิดของดาวมวลสูง
นับตั้งแต่การตรวจพบนิวตริโนจากซุปเปอร์โนวา 1987A เป็นต้นมา
นักดาราศาสตร์ใช้เวลามากกว่า 18 วันสำรวจ Cas A ด้วยกล้องจันทราตั้งแต่ปี 2000 ถึง 2018 ระดับของไทเทเนียมเสถียรที่ถูกสร้างใน
Cas A นั้นสูงกว่ามวลของโลกเสียอีก
แหล่งข่าว sciencedaily.com
: bubble with titanium trigger titanic explosions
astronomy.com – snapshot:
Chandra spots evidence for long-standing theory of how stars explode
No comments:
Post a Comment