Tuesday, 26 May 2020

Hydra : The Water Snake


ท้องฟ้าทิศใต้เวลาหัวค่ำ ในเดือนพฤษภาคม

เดือนพฤษภาคมตอนหัวค่ำ หากฟ้าเปิด ไร้หมอกควันและแสงรบกวนจากเมือง ทางขอบฟ้าใต้จะเห็นกลุ่มดาวเรืออาร์โก้ที่ปัจจุบันแบ่งย่อยออกเป็น 3 กลุ่มคือพัพพิส วีล่าและคารีน่า นอกจากนั้นยังมีเซ็นทอรัส และกางเขนใต้ วางอยู่บนทางช้างเผือกที่สว่างเรืองใกล้ขอบฟ้า

ด้านบนดาวพร่างพรายที่ขอบฟ้าดูคล้ายทะเลสีเข้มอ้างว้าง เยื้องไปทางตะวันตกเฉียงใต้ มีดาวสว่างแมกนิจูดที่สองสีแดงใสส่องประกายอยู่ดวงเดียวสมกับชื่อ "อัลพาร์ด" ที่หมายถึงผู้โดดเดี่ยวในภาษาอาหรับ

อัลพาร์ดเป็นดาวสว่างที่สุดในกลุ่มดาวงูไฮดร้า หนึ่งใน 48 กลุ่มดาวจากหนังสืออัลมาเจสของพโทเลมีในศตวรรษที่สอง เป็นกลุ่มดาวที่มีลักษณะยาวคล้ายเชือก มีพื้นที่มากที่สุดในบรรดากลุ่มดาวทั้งหมดบนท้องฟ้า หัวของงูอยู่ทางขวามือของอัลพาร์ดที่อยู่บริเวณคอหรือหัวใจของงูตัวนี้พอดี

กลุ่มดาวกลุ่มนี้ยาวขนานไปกับกลุ่มดาวจักรราศีและเส้นสุริยวิถี เริ่มจากหัวงูไฮดราทางทิศใต้ของกลุ่มดาวกรกฏ เรื่อยไปยังราศีสิงห์ ราศีกันย์ ปลายหางก็ไปชนกับราศีตุลย์พอดี ความยาวของกลุ่มดาวไฮดรานั้น แม้ว่าหัวงูจะอยู่กลางฟ้า หางงูยังไม่พ้นจากขอบฟ้าทางตะวันออก


ภาพพิมพ์ไม้โดย Cornelis Cort (1533-1578)
เฮอร์คิวลิสกำลังจัดการไฮดร้าโดยมีอิโอราอัสเป็นผู้ช่วย
กำลังใช้คบไฟเผาหัวงูไฮดร้าที่โดนตัดขาดไม่ให้งอกออกมาใหม่
ในรูปจะเห็นเฮอร์คิวลิสเหยียบปูไว้
ภาพจากวิกิคอมมอน


เครื่องปั้นดินเผากรีกโบราณเป็นรูปเฮอร์คิวลิส อิโอราอัสและงูเก้าหัวไฮดร้า
ศิลปะแบบ Caeretan Hydria อายุประมาณ 520-510ปีก่อนคริสตศักราช
ดูภาพและรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Getty Museum

ไฮดร้าเป็นงูเก้าหัวฆ่าไม่ตาย อาศัยในหนองน้ำใกล้เมืองเลนน่าในภารกิจที่สองของเฮอร์คิวลิส การกำจัดไฮดร้าต้องตัดหัวที่เป็นอมตะของงูตัวนี้จึงจะสำเร็จแต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นหัวไหน หากตัดผิด หัวที่โดนตัดก็จะงอกออกมาใหม่ทุกครั้ง

ภารกิจนี้เฮอร์คิวลิสต้องอาศัยความช่วยเหลือจากคนขับรถม้าของเขาที่ชื่อ "อิโอราอัส" คอยนำคบไฟไปเผาหัวงูที่เฮอร์คิวลิสตัดทิ้งทีละหัวเพื่อไม่ให้งอกขึ้นมาใหม่ และในขณะที่สาละวนกับการต่อสู้ เทพีเฮร่าที่ไม่ชอบเฮอร์คิวลิสแต่เดิม ส่งปูตัวใหญ่มาคอยรบกวนไม่ให้ไม่ให้จัดการไฮดร้าได้ง่าย

แต่สุดท้ายปูตัวนี้ก็โดนเฮอร์คิวลิสกระทืบจนตาย เทพีเฮร่าจึงส่งปูขึ้นไปเป็นกลุ่มดาวแคนเซอร์ประดับไว้บนฟ้า นอกจากนั้นยังเชื่อกันว่าไฮดร้าเป็นพี่น้องกับมังกรลาดอน ผู้ที่เฝ้าต้นแอปเปิ้ลทองคำในภารกิจที่สิบเอ็ดของเฮอร์คิวลิส ลาดอนก็คือกลุ่มดาวดราโกที่ล้อมกลุ่มดาวหมีเล็กใกล้ดาวเหนือ

ไฮดร้าบนฟ้าแสดงไว้แค่หัวเดียวอาจเป็นหัวอมตะกระมัง ยังมีนิทานอีกสายที่น่าสนใจ เป็นเรื่องของกลุ่มดาวไฮดร้าและกลุ่มดาวข้างเคียงคือคอร์วัสหรืออีกากับเครเตอร์หรือถ้วยน้ำ เรื่องมีว่า

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว อพอลโล่จะจัดงานเลี้ยงถวายจูปีเตอร์ จึงสั่งอีกาไปตักน้ำใส่ถ้วยมาเตรียมไว้รับรองแขก ระหว่างทางอีกาพบต้นมะเดื่อฝรั่งหรือต้นฟิกติดลูกเต็มต้น รู้สึกอยากกินจึงรอจนกระทั่งลูกฟิกสุก เมื่อกินจนอิ่มสบายใจก็ระลึกถึงงานที่อพอลโล่สั่ง ด้วยความกลัวที่กลับไปช้า ได้คิดอุบายและจับงูไปด้วย


กลุ่มดาวไฮดร้าและผองเพื่อน Urania's Mirror (1825) ภาพจาก Wikipedia
บางกลุ่มดาวในภาพนี้ยกเลิกไปแล้ว

อีกากลับไปทูลต่ออพอลโล่ว่า “ข้าถูกงูตัวนี้คอยทำร้ายและรบกวน ไม่ยอมให้ตักน้ำมาถวายทำให้มาช้า” อพอลโล่ซึ่งทราบความจริงอยู่แล้ว ไม่ยอมรับคำโกหก และลงโทษสาบให้อีกาไม่ได้ดื่มน้ำอีกเลยจนกว่าลูกฟิกจะสุก

หลังจากนั้นอพอลโล่ส่งงูไปเป็นกลุ่มดาวไฮดรา อีกาไปเป็นกลุ่มดาวคอร์วัส ถ้วยน้ำไปเป็นกลุ่มดาวเครเตอร์ ให้ทั้งหมดอยู่เคียงข้างกันไว้เตือนความจำ และอีกาจะไม่ได้ดื่มน้ำอีกตลอดกาลเพราะมีงูไฮดร้าคอยเฝ้าถ้วยน้ำเอาไว้

กลับมาที่ในกลุ่มดาวไฮดร้าบนท้องฟ้า บริเวณนี้มีจุดที่น่าสนใจอยู่หลายจุด ตัวแรก “v Hydrae” “วี ไฮเดร” ดาวคาร์บอนสีแดงที่ความสว่างเปลี่ยนแปลงได้ มีความสว่างระหว่าง 7-11 แมกนิจูด ดาวสีแดงเข้มแบบนี้ไม่กี่ดวงบนฟ้า ตำแหน่งอยู่ตรงกลางลำตัวของงู ช่วงใต้กลุ่มดาวเครเตอร์

แมสซายเออร์ 83 กาแลกซี่กังหันขนาดใหญ่ หนึ่งในกาแลกซี่ที่สว่างที่สุดในซีกฟ้าใต้ อยู่บริเวณรอยต่อระหว่างกลุ่มดาวไฮดรากับเซนทอร์ ด้วยความสว่างที่ 8 แมกนิจูดทำให้ติดอยู่ใน 25 กาแลกซี่ที่สว่างที่สุดบนฟ้า


ภาพสเก็ทช์ NGC3242 โดยผู้เขียน

NGC 3242 หรือ “Ghost of Jupiter” เนบูล่าดาวเคราะห์ที่มีสีออกเขียว ขนาดใกล้เคียงกับดาวพฤหัสเมื่อดูผ่านกล้องดูดาว แต่ในความจริงมีขนาดใหญ่และไกลออกไปกว่าดาวพฤหัสมาก อยู่บริเวณกลางลำตัวของงู

นอกจากนั้น ยังมีแกแลกซี่อีกมากกว่า 60 ตัวกระจายทั่วในกลุ่มดาวไฮดรา ส่วนมากสว่างราวแมกนิจูดที่ 12 ทำให้ต้องอาศัยกล้องดูดาวขนาดกลางขึ้นไป (8-10 นิ้ว) เมื่อรวมกับลักษณะที่ยาวข้ามฟ้าแล้วทำให้ไฮดรากลายเป็นสวนสนุกสำหรับ Star Hopping ทันที เพราะไม่ต้องขยับไปไหนไกลนักก็สนุกได้ตลอดคืน

ใครมีกล้องดูดาวสัก 10 นิ้วขึ้นไปน่าลอง มันน่าสนใจพอๆกับแมสซายเออร์มาราธอนทีเดียว


แผนที่กลุ่มดาวไฮดร้า คลิกภาพเพื่อขยาย


อ้างอิง
Ian Ridpath's Star tale website
Sky Safari
http://www.perseus.tufts.edu/Herakles/hydra.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Caeretan_hydria

Thursday, 21 May 2020

Messier 106





เวลาเราดูกาแลกซี่ผ่านกล้องดูดาว ส่วนมากจะมีลักษณะเป็นฝ้ารีหรือกลม บางตัวมีใจกลางที่สว่างกว่าด้านนอก มีไม่กี่ตัวที่มองเห็นลักษณะโครงสร้างแปลกๆของกาแลกซี่ได้ หนึ่งในนั้นคือเอ็ม 106 กาแลกซี่มีขนาดจริงใกล้เคียงกับแอนโดรเมด้าแต่ไกลว่า 10 เท่า

ดาราจักรตัวนี้ค้นพบโดยเมอร์แชนท์ผู้ช่วยของแมสซายเออร์เมื่อปี 1947 แต่เพิ่งจะได้รับการเพิ่มเข้าไปในแมสซายเออร์แคตตาลอคโดย เฮเลน ฮอกก์ เมื่อปี 1947 นี่เอง

เอ็ม106 อยู่ในกลุ่มดาวสุนัขล่าเนื้อ ครึ่งทางระหว่างดาวที่เป็นมุมของก้นกระบวยหรือแกมม่า (γ) เออร์ซ่าเมเจอริสกับเบต้า (β) คานุม เวอแนตติโครุมพอดี ดาว γ UMa สว่างมองเห็นได้แม้จากชานเมือง จะเริ่มฮอบจากด้านนี้ก็ได้หากมองไม่เห็น β CVn

ภาพที่เห็นจากกล้องสะท้อนแสง 8 นิ้วในคืนที่ฟ้าขุ่น ยังพอมองเห็นที่กำลังขยาย 56 เท่าด้วยการมองเหลือบแต่ก็จางและดูยาก ภาพที่พอจับได้ดูแปลกกว่าดาราจักรตัวอื่น มีใจกลางที่หนาและสว่างมีแขนออกไปสองข้างทางทิศเหนือและใต้ การวางตัวของแขนทั้งสองเยี้องกันทำให้ดูเหมือนตัวอักษร S 

ภาพที่เห็นทำให้เอ็ม106 เป็นดาราจักรที่ดูแปลกตาและน่าสนใจมากทีเดียว ใครมีกล้องดูดาวไม่ควรข้าม แต่ต้องอาศัยฟ้าที่ดีสักหน่อยจึงจะดึงรายละเอียดออกมาได้


คลิกภาพเพื่อขยาย



ข้อมูลทั่วไป

Catalog number: Messier 106
Type: Spiral Galaxy
Constellation: Canes Venatici
Visual Magnitude: +8.43
Apparent Size: 17’x7.2’
Distance: 25 Mly


Coordinates
R.A. 12h 19m 53.35s
Dec. +47° 11’ 55.7”


Thursday, 14 May 2020

Messier104 : Sombrero Galaxy



ภาพสเก็ทช์ซอมเบรโล่กาแลกซี่ จากกล้องสะท้อนแสง 8" ที่กำลังขยาย 110 เท่า


อาทิตย์สองอาทิตย์นี้หากฟ้าเปิด เอ็ม104 หรือดาราจักรซอมเบรโร่จะอยู่ในตำแหน่งสูงสุดราวสามทุ่มทางฟ้าใต้พอดี ดาราจักรตัวนี้อยู่ตรงเขตติดต่อระหว่างกลุ่มดาวเวอร์โก้กับคอร์วัส และไม่ไกลจากดาวสไปก้านัก

แนะนำว่าควรใช้กล้องดูดาวขนาด 8 นิ้วขึ้นไปจะดูง่ายและสวยกว่า เราเริ่มฮอบจากดาวเดลต้า คอร์วี (δ Crv)ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 5องศาครึ่ง ฮอบไม่ยากนักเพราะมีดาวเรียงช่วยนำทางถึงสองจุด มองเห็นชัดเจนในกล้องเล็ง กลุ่มดาวคอร์วัสที่ดาวสี่ดวงเรียงตัวเป็นรูปสี่เหลี่ยมสว่างพอสมควรทีเดียว มองเห็นได้ชัดเจนจากบางพลี

เอ็ม104 ค้นพบโดยปิแอร์ เมอร์แชนท์ผู้ที่เป็นทั้งเพื่อนและผู้ช่วยของแมสซายเออร์ในปี 1767 แต่ไม่ได้ถูกรวมไว้ในรายชื่อแมสซายเออร์ออบเจคที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1771 เพิ่งจะได้รับการเพิ่มเข้าไปอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1926 โดย Camille Flammarion ผู้พบบันทึกส่วนตัวของ Messier ที่กล่าวถึง Object นี้ว่า "Very faint nebula"


ซอมเบรโล่กาแลกซี่จากกล้องหักเหแสง 4" ที่ 38 เท่าที่บางพลี เล็กและจางมาก แต่มุมมองกว้างกว่ามาก
หากเพิ่มกำลังขยายอีกจะมองไม่เห็น สังเกตุดาวสามดวงเรียงเป็นเส้นตรงจะชี้ไปที่ M104 พอดี

ผมดูครั้งแรกเมื่อปลายปี2009 ที่บางพลีด้วยกล้องดูดาวหักเหแสง 4” ที่กำลังขยาย 40 เท่าต้องใช้มองเห็นเป็นขีดจางและเล็กมาก ต้องใช้วิธีมองเหลือบขอบทางเหนือโค้งเล็กน้อยส่วนทางใต้เรียบตัดเป็นเส้นตรงและมีจุดสว่างกลางขอบที่ตัดเรียบพอดี และมีดาวสว่างสามดวงเรียงเป็นเส้นตรงช่วยชี้ตำแหน่งของ เอ็ม104

ครั้งที่สองผมดูด้วยกล้องสะท้อนแสงขนาด 8 นิ้วที่หอดูดาว TJ อำเภอบ้านหมี่เมื่อต้นเดือนมีนาคมปี 2019 ฟ้าเปิดแต่ก็มีฝุ่นควันรอบด้าน บริเวณกลุ่มดาวคอร์วัสฟ้ายังดูดีหน่อย เอ็ม104 ที่กำลังขยาย 110 เท่าสว่างกว่าคิดมาก

แรกเริ่มผมมองเห็นเป็นแสงฟุ้งรูปทรงรีปลายแหลม เมื่อดูไปสักพักเริ่มมองเห็นรายละเอียดมากขึ้น มีจุดสว่างตรงกลาง โดมแสงฝั่งเหนือสว่างและใหญ่กว่าฝั่งใต้ ปลายสองข้างโค้งเล็กน้อยมาทางเหนือ โดมแสงฝั่งทางทิศใต้จางกว่า

คืนนั้นผมมองไม่เห็นแถบมืดที่แบ่งกาแลกซี่ออกเป็นซีกเหนือและใต้ แถบมืดอันนี้นี่เองทำให้เอ็ม104 ได้ชื่อว่า “ซอมเบรโล่” หรือ “Sombrero” ซึ่งชื่อเรียกหมวกปีกของชาวเม็กซิกัน



คลิกภาพเพื่อขยาย


ข้อมูลทั่วไป
Catalog number: Messier104, NGC4594
Type: Spiral Galaxy
Constellation: Vergo
Visual Magnitude: +8.17
Apparent Size: 8.5x4.9’
Distance: 28 Mly

Coordinates
R.A. 12h 40m 58.48s
Dec. -11° 43’ 35.4”

Thursday, 7 May 2020

Zeta Cancri : Tegmine






ดาวที่อยู่บนฟ้าส่วนหนึ่งมีชื่อสามัญเช่น ไรเจล บีเทลจูส ซิริอุส พอลลักซ์ คาสเตอร์ เกือบทั้งหมดเป็นดาวที่เด่นสว่างและจะอยู่ในเส้นรูปร่างของกลุ่มดาว ในกลุ่มดาวปูหรือแคนเซอร์มีดาวพิเศษดวงหนึ่งที่มองแทบไม่เห็นและไม่ได้อยู่ในเส้นรูปร่างแต่ก็ยังมีชื่อเฉพาะนั่นคือ “แทกมินอี”

แทกมินอีหรือซีต้า (ζ) แคนครี่เป็นดาวสว่างแมกนิจูด 6 ทำให้ไม่ง่ายที่หาดาวดวงนี้ให้เจอด้วยตาเปล่า คำว่าแทกมินอีเป็นภาษาละตินหมายถึงกระดองปู อันที่จริงชื่อดาวที่ถูกไวยากรณ์ภาษาละตินจะต้องเป็น “แทกเมน (Tegmen)“ แต่มีเหตุผลบางอย่างทำให้ต้องใช้คำผิดไวยากรณ์มาจนบัดนี้

ประวัติของดาวดวงนี้นั้นในปี 1756 โยฮานน์ เบเยอร์เป็นผู้พบว่าดาวดวงนี้เป็นดาวคู่ ได้รับชื่อเป็น ซีต้า1 และซีต้า2 ในปี 1781 วิลเลี่ยม เฮอร์เชลล์พบว่าซีต้า1 มีคู่ของตัวเองทำให้แทกมินอีกลายเป็นระบบดาวสามดวง และพบดวงที่สี่ที่มองไม่เห็นจากการคำนวณในศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันคาดว่ามีดาวในระบบอีกสองสามดวงที่ยังซ่อนอยู่อีกในระบบ

แทกมินอีเป็นระบบดาวสามดวงที่ดาวทั้งสามสว่างใกล้เคียงกันประมาณมัคนิจูด 6 มีสีแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ความน่าสนใจอยู่ที่คู่ AB ที่มีระยะแยกแค่ 1 อาร์คเซคั่นซึ่งชิดกันมากเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ส่วน AB -C ระยะแยก 5 อาร์คเซคั่นนั้นแม้จะชิดกันค่อนข้างมากแต่ก็ไม่ยากนักสำหรับกล้องดูดาวขนาดเล็กทั่วไป

ด้วยเหตุนี้แทกมินอีจึงเป็นเหมือนเป้าหมายสำหรับทดสอบกล้องดูดาว ท้องฟ้าและทักษะการสังเกตของเราว่าสามารถแยกออกเป็นสามดวงได้หรือเปล่า การแยก AB-C ไม่ยาก ระยะ 5 อาร์คเซคั่นมองเห็นได้จากที่บางพลีด้วยกล้องหักเหแสงขนาด 4 นิ้ว ความยาวโฟกัส 640 มิลลิเมตรตั้งแต่กำลังขยาย 36เท่า แต่คู่ A-B ผมไม่สามารถแยกออกจากกันได้ แม้ว่าจะเพิ่มกำลังขยายไปจนสุดทางที่ 250 เท่า

กว่าสถานะการณ์โควิดจะเป็นปกติแทกมินอีคงลับฟ้าไปแล้ว ทำให้ต้องรอไปจนถึงต้นปีหน้าถึงจะได้ทดสอบอีกครั้ง คาดว่าต้องใช้กล้องดูดาวที่มีความยาวโฟกัสราว 900-1000 มม เป็นอย่างน้อย

แทกมินอีอยู่ไปทางทิศใต้ 7 องศาจากกระจุกดาวรวงผึ้ง ฮอบไม่ยาก มีดาวสว่างเป็นหมายตลอดทาง เชิญชวนมาทดสอบกันว่าจะมองเห็นแทกมินอีเป็นสองดวงหรือสามดวงผ่านกล้องดูดาวครับ :)




แผนที่จาก Cartes du Ceil



Name: Tegmine
Catalog number: ζ Cancri
Type: Multiple Stars
Constellation: Cancer
Visual Magnitude: +5.58, +5.99, +6.12
Seperation : AB 1.1”@2.6° , AC 5.9”@63.9°
Distance: 81.8 ly

Coordinates :R.A. 08h 13m 21.12s
Dec. +17° 35’ 13.2”



อ้างอิง
SkySafarihttp://stars.astro.illinois.edu/sow/nairalsaif.html
https://roslistonastronomy.uk/heads-up-tegmine-zeta-cancri
http://www.backyard-astro.com/deepsky/top100/05.html

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...