Thursday 26 December 2019

NGC869, NGC884 : Perseus Double Cluster




“ …the color, the winding patterns as the dense cores of the cluster thin out slowly to merge finally into the star-rich background of the galaxy itself.”
“…สีและลวดลายที่สลับซับซ้อน จากใจกลางกระจุกดาวที่เปี่ยมล้น แล้วละลายหายไปกับดาวนับล้านในทางช้างเผือก” 
Walter Scott Houston, Deep-Sky Wonder, Sky&Telescope Publishing 1999

บนทางช้างเผือกระหว่างกลุ่มดาวแคสสิโอเปียกับกลุ่มดาวเพอร์เซอุส ท่ามกลางดาวระยิบ มีรอยฟุ้งเด่นชัดที่สุดอยู่จุดหนึ่ง นี่คือ “กระจุกดาวคู่เพอร์เซอุส” หรือ “Perseus Double Cluster” กระจุกดาวที่เป็นที่รู้จักดีคู่หนึ่งบนท้องฟ้า

กระจุกดาวคู่เพอร์เซอุสประกอบด้วยกระจุกดาวเปิดสองตัวคือ NGC869 และ NGC884 เป็นที่รู้จักอย่างน้อยก็ตั้งแต่ 130 ปีก่อนคริสตศักราช  Hipparchus และ Ptoleme อธิบายว่าคือ Nebula ซึ่งเป็นภาษาละติน แปลว่าเมฆหมอก เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่าทำไมถึงไม่ถูกรวมเข้าไปใน Messier catalog ทั้งที่เป็นที่รู้จักแล้วในยุคนั้น

ทั้งสองห่างจากโลกประมาณ 7500 ปีแสง และอายุยังน้อย NGC884 อายุประมาณ 5.6ล้านปี ขณะที่ NGC869 ผู้พี่อายุราว 8ล้านปี ดาวส่วนมากในกระจุกจะเป็นดาวยักษ์น้ำเงิน - Blue-white super giant แต่ก็มีบางดวงที่เป็นดาวยักษ์แดง - Red super giant

ถ้ามีโอกาสดูกระจุกดาวคู่ผ่านกล้องดูดาว ลองสังเกตว่ามีดาวสีแดงอยู่กี่ดวงและอยู่บริเวณไหน วิธีดูสีของดาวนั้นใช้วิธีมองตรงๆไม่ต้องมองเหลือบเพราะเซลล์ที่ไวต่อสีจะอยู่หนาแน่นกลางเรติน่า และลอง de-focus เป็นเทคนิคที่ช่วยให้ดูสีของดาวได้ง่ายขึ้น

หากฟ้าไม่มืดพอที่จะมองเห็นกระจุกดาวคู่ด้วยตาเปล่า เราสามารถอาศัยกลุ่มดาวแคสสืโอเปียหรือค้างคาวนำทาง ให้ลากเส้นสมมติจากดาว “เนวี” หรือแกมม่าแคสสิโอปี -γ Cas ผ่านดาว “รัคบา” หรือเดลต้าแคสสิโอปี -δ Cas กระจุกดาวคู่จะห่างออกไปตามทิศทางนี้อีกสามเท่า

ภาพกระจุกดาวคู่จากกล้องสองตาหรือกล้องดูดาวขนาดเล็กที่ให้มุมกว้าง จะสวยกว่ากล้องตัวใหญ่ที่ให้มุมแคบ ทั้งคู่อยู่ห่างกันราวครึ่งองศา NGC884 จะดูแน่นกว่า มีดาวสองดวงอยู่เกือบกลางกระจุก ส่วน NGC869 จะมีแถบมืดพาดผ่านตรงกลางทำให้มองดูเหมือนโดนแยกเป็นสองส่วน


คลิกภาพเพื่อขยาย


Name: Double Cluster
Catalog number: NGC869
Type: Star cluster
Constellation: Perseus
Visual Magnitude: +5.3
Apparent Size: 18’
Distance: 6,800 ly
R.A. 02h 20m 23.54s
Dec. +57° 12’ 20.5”

Name: Double Cluster
Catalog number: NGC884
Type: Star cluster
Constellation: Perseus
Visual Magnitude: +6.1
Apparent Size: 18’
Distance: 9,600 ly
R.A. 02h 23m 47.02s
Dec. +57° 12’ 17.2”

อ้างอิง
SkySafari
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
http://www.messier.seds.org
https://www.wikipedia.org

Thursday 19 December 2019

NGC2264 : Christmas Tree Cluster




บนทางช้างเผือกจางๆระหว่างเท้าของพอลลักซ์หรือดาวซาย เจอมิโนรุมกับเขายูนิคอร์นหรือดาว 13 โมโนเซโรติส มีกระจุกดาวที่สว่างจนมองเห็นด้วยตาเปล่า ด้วยกล้องสองตาจะพบว่ามีรูปร่างเหมือนต้นคริสต์มาสหรือหัวลูกศร นี่คือกระจุกดาว NGC2264 หรือ Christmas tree cluster ค้นพบโดยวิลเลี่ยม เฮอร์เชลล์เมื่อปี 1784

ในยุคปัจจุบันพบว่า NGC2264 มีทั้งกระจุกดาวขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่ากระจุกดาวต้นคริสต์มาส มีเนบูล่าขนจิ้งจอกหรือ Fox Fur และเนบูล่ารูปกรวยที่มีชื่อเสียง Cone Nebula เนบูล่ามืดรูปกรวยอยู่บนยอดของต้นคริสต์มาสพอดี วิลเลี่ยม เฮอร์เชลล์บันทึกไว้ในปี 1785 เมื่อกลับมาสังเกต NGC2264 อีกครั้ง พบว่ามีเนบูล่าจางมากสีน้ำนม

ผมเคยดูผ่านกล้องดูดาวหักเหแสง 5" TOA130 ตัวเนบูล่าต้องใช้ฟิลเตอร์ UHC เป็นตัวช่วยและมองเห็นแค่แสงฟุ้งรอบดาวแบบในภาพสเก็ตช์ แต่ก็เป็นไปได้ว่าหากกล้องดูดาวตัวใหญ่พอและท้องฟ้่าเป็นใจ เราอาจมองเห็นทั้ง Fox Fur และ Cone ได้ด้วยกล้องดูดาวขนาด 13 นิ้วและฟิลเตอร์ UHC เหมือนรายงานบนเวบไซด์ Cloudynight (คลิก)

ในการศึกษาในช่วงคลื่นอินฟราเรดพบว่า NGC2264 เป็นแหล่งอนุบาลดาวฤกษ์จำนวนมาก ภาพจากกล้องสปริตเซอร์พบกระจุกดาวเกิดใหม่รูปวงล้อซ่อนอยู่หลังฝุ่นและเนบูล่าใกล้บริเวณยอดโคน กระจุกดาวตัวนี้มีชื่อเรียกว่า Snowflake Cluster

Christmas tree ห่างจากโลกออกไปราว 2500 ปีแสง มีอายุแค่ 3-30 ล้านปี น้อยกว่าโลกที่ 4,500ล้านปีมาก 


ภาพถ่าย NGC2264 เทียบกับภาพสเก็ทช์ที่เราจะมองเห็นจากกล้องดูดาว
ในภาพถ่ายจะเห็นเนบูล่าฟุ้งกระจายทั่ว โคนเนบูล่าจะอยู่ด้านบน ส่วน Fox fur จะอยู่ทางซ้ายมือ
ของดาวสว่างชื่อ 15 Monocerotis ด้านล่างของภาพ ตัวกระจุกดาวมองเห็นเป็นต้นคริสต์มาสจาก
กล้องสองตาหรือกล้องดูดาวง่ายกว่า, ภาพถ่ายโดยกีรติ คำคงอยู่ ภาพสเก็ทช์โดยผู้เขียน

NGC2264 ในช่วงคลื่นอินฟราเรดโดยกล้อง Spitzer, Cr: NASA/JPL-Caltech via Wikipedia
ดาวสว่างในภาพคือดาว 15 Monocerotis กระจุกดาว Snowflake อยู่รอบดาวสว่างใกล้กลางภาพ
เทียบกับภาพช่วงแสงปกติคือบริเวณเนบูล่าสีฟ้า จะเห็นว่ากระจุกดาวโดนเนบูล่าบังไว้เกือบทั้งหมด

คลิกภาพเพื่อขยาย



Name: Christmas TreeClusterCatalog number: NGC2264
Type: Star cluster with Nebula
Constellation: Monoceros
Visual Magnitude: +3.9
Apparent Size: 60’x30’
Distance: 2500 ly
R.A. 06h 42m 11.14s
Dec. +09° 51’ 47.2”

อ้างอิง

Thursday 12 December 2019

Messier 78 : Ghost Nebula




เนบูล่าเป็นกลุ่มกาซและฝุ่นในอวกาศ เราจะมองเห็นต่อเมื่อมีแหล่งกำเนิดแสงอย่างดาวฤกษ์อยู่ใกล้เคียง หากพลังงานมีความเข้มข้นมากพอจะสามารถกระตุ้นให้อะตอมของกาซแตกตัวและเรืองแสงขึ้นได้ เราเรียกเนบูล่าแบบนี้ว่า "เนบูล่าเรืองแสง" เนบูล่ากลุ่มนี้มักจะมีสีออกไปทางแดงเพราะกลุ่มกาซมักมีไฮโดรเจนเป็นส่วนประกอบหลัก

หากพลังงานไม่พอที่จะกระตุ้นให้กาซเรืองแสง แสงก็จะกระเจิงหรือสะท้อนออกมา เนบูล่ากลุ่มนี้จะจางกว่าแบบแรกและมักจะมีสีโทนฟ้า เรียกว่า "เนบูล่าสะท้อนแสง" กระบวนการกระเจิงของแสงนี้จะคล้ายกับที่เรามองเห็นท้องฟ้าเป็นสีฟ้า

แต่ถ้าไม่มีแหล่งกำเนิดแสงอยู่ใกล้เคียง ก็เป็นกลุ่มกาซกับฝุ่นที่มืดและทึบแสง กระจายตัวในอวกาศเรียกกันว่า "เนบูล่ามืด" ซึ่งบดบังแสงจากดาวฤกษ์หรือเนบูล่าที่อยู่ด้านหลัง เนบูล่ามืดมีกระจายอยู่ทั่วไปเต็มทางช้างเผือกของเรา

แมสซายเออร์ 78 เป็นเนบูล่าชนิดสะท้อนแสงที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า ค้นพบโดยปิแอร์เมอร์แชนท์ในปี 1780 ข้อมูลในปัจจุบันระบุว่าเอ็ม 78 เป็นส่วนหนึ่งของ Orion Nebula Complex ที่อยู่ห่างออกไปจากเราประมาณ 1600ปีแสงหรือ 1.51368454 × 10^16 กิโลเมตร ตำแหน่งอยู่ไม่ไกลนักจากเข็มขัดของนายพรานหรือดาวไถที่เรารู้จัก

ที่จริงเอ็ม78 ห่างจากดาวซีต้าโอไรออนนิส (ζ Ori)หรืออัลนิทัคแค่สององศาครึ่งทางตะวันออกเฉียงเหนือ แต่เนื่องจากขนาดเล็ก มองไม่เห็นในกล้องเล็งและไม่มีดาวสว่างใกล้เคียงให้อ้างอิงทำให้เพิ่มระดับความยากในการฮอบขึ้นมา

วิธีการฮอบนั้นให้ใช้เลนส์ตาที่ให้มุมกว้างที่สุดที่มี เริ่มจากอัลนิทัคจากนั้นไปที่ดาวสว่างแมกนิจูด 5 ที่ห่างออกไปเกือบ 1 องศาทางทิศเหนือ ฮอบครั้งที่สองไปที่ดาวสว่างแมกนิจูด 6 ที่ห่างไปในทิศเดียวกันอีกหนึ่งองศาครึ่ง สุดท้ายเอ็ม78 จะอยู่ห่างออกไปหนึ่งองศาครึ่งทางทิศตะวันออกของดาวดวงนี้

เมื่อดูด้วยกล้องดูดาวจะเห็นเป็นฝ้าจางครึ่งวงกลม มีดาวสองอยู่ภายใน ทำให้เป็นที่มาของชื่อ Ghost Nebula เพราะดูเหมือนผีในการ์ตูน บันทึกของ William Herschel ได้บรรยายไว้ว่ามีดาวอีกดวงที่จางกว่ามาก ซึ่งผมก็ไม่เห็น และ Stephen O’meara ที่ใช้กล้องดูดาวขนาดสี่นิ้วเช่นกันกล่าวไว้ว่ามีโครงสร้างที่คล้ายกับดาวหางอยู่ข้างในเนบูล่าซึ่งผมก็ไม่เห็นเช่นกัน ดังนั้นจะต้องกลับมาเยือนอีกครั้งเมื่อโอกาส

ตาผีคู่นี้ยังชี้ไปที่เนบูล่าอีกตัวหนึ่งใกล้ๆคือ NGC2071 สามารถเห็นได้ด้วยการมองเหลือบ จะเห็นเป็นรอยแต้มจางๆอยู่รอบดาวแมกนิจูด 9 ชื่อ V1380 Ori ดาวดวงนี้เป็นดาวแปรแสงชนิดคู่คราสที่ยังไม่ทราบคาบการโคจร

มีรายงานว่าสามารถมองเห็น M78 ได้ด้วยกล้องสองตาถ้าฟ้าดี ผมเชื่อว่าจะเห็นได้ฟ้าต้องดีจริงและกล้องสองตาก็ต้องมีเลนส์ที่ดีเช่นกัน


คลิกภาพเพื่อขยาย

Name: Ghost Nebula
Catalog number: Messier 78, NGC2068
Type: Nebula
Constellation: Orion
Visual Magnitude: +8.3
Apparent Size: 8’x6’
Distance: 1600 ly
R.A. 05h 47m 42.20s
Dec. +00° 03’ 20.0”




อ้างอิง
SkySafari
http://www.messier.seds.org/
Stephen O’Mera, Messier Objects

Thursday 5 December 2019

Messier 77 : Cetus A




ซีตัสเป็นกลุ่มดาวขนาดใหญ่ที่พาดผ่านเส้นศูนย์สูตรฟ้า ดาวในกลุ่มพอเห็นแต่ไม่ค่อยเด่นทำให้ต้องใช้เวลามองหา ซีตัสเป็นสัตว์ประหลาดลูกผสมที่มีหัวเป็นสัตว์บกและลำตัวกับหางเป็นปลา รูปร่างของกลุ่มดาวมีส่วนหัวและลำตัวแยกจากกันและมีคอที่ออกจะยาวสักหน่อย

บริเวณคอของซีตัสมีดาวสว่างแมกนิจูด 4 ชื่อเดลต้าเซติ (δ Ceti) เด่นอยู่หนึ่งดวง ห่างออกไปแค่หนึ่งองศาทางตะวันออกของเดลต้าเซติก็คือกาแลกซี่ที่แมสซายเออร์ให้หมายเลข 77 ถูกค้นพบเมื่อปี 1780 โดยปิแอร์ เมอร์แชนท์ผู้ช่วยของแมสซายเออร์ ได้รับคำอธิบายที่ยังเป็นข้อกังขาทั้งจากแมสซายเออร์และเฮอร์เชลล์ว่าเป็นกระจุกดาวที่มีเนบูล่า จนกระทั่งในปี 1850 ลอร์ดโรสได้ระบุว่าเป็นกาแลกซี่แบบกังหัน

ลักษณะพิเศษของเอ็ม 77 คือเป็นกาแลกซี่แบบก้นหอยที่มีใจกลางสว่างกว่าปกติประมาณ 100 เท่า นักดาราศาสตร์เรียกกาแลกซี่แบบนี้ว่ากาแลกซี่เซเฟิร์ต ที่เป็นแบบนี้เพราะเอ็ม 77 มีหลุมดำยักษ์เป็นใจกลาง ยืนยันได้จากที่เป็นแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุกำลังค่อนข้างแรง ทำให้เอ็ม 77 รู้จักกันอีกชื่อว่า “ซีตัส เอ” หรือแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุ 3C71

เอ็ม 77 อยู่ใกล้กับเดลต้าเซติทำให้หาตำแหน่งได้ง่าย ในกล้องเล็งจะดูคล้ายดาวที่มีแสงฟุ้งโดยรอบ ภาพที่เห็นทำให้ผมคิดถึงกาแลกซี่เอ็ม 51 หรือ Wirlpool มากเพราะมีดาวอีกดวงหนึ่งอยู่เคียงกัน แต่เมื่อดูผ่านกล้องดูดาวเอ็ม 77 เป็นแสงฟุ้งกลมมีจุดสว่างเหมือนดาวอยู่ตรงกลาง จุดสว่างตรงนิวเคลียสนี้เป็นลักษณะเด่นที่สำคัญพราะมีกาแลกซี่ไม่กี่ตัวที่เห็นจุดสว่างแบบนี้ตรงกลาง อาจเป็นควอซ่าหรือหลุมดำก็ได้

ภาพจากกล้อง 8 นิ้วมองไม่เห็นแขนกังหันทั้ง 3 แขนที่เป็นลักษณะเด่น ต้องอาศัยกล้องดูดาวที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือไม่ก็ฟ้าต้องดีกว่านี้ บริเวณที่เห็นได้ในเลนส์ตาจะเป็นชั้นในของกาแลกซี่ที่สว่างเป็นพิเศษ และเป็นดาวเกิดใหม่มีแสงสีฟ้า ส่วนด้านนอกที่เลยออกไปมองไม่เห็นจากกล้องดูดาวจะเป็นดาวที่อายุมากกว่า มีขอบเขตกว้างมาก คาดว่าราว 170,000 ปีแสงทีเดียว


คลิกภาพเพื่อขยาย


Name: Cetus A
Catalog number: Messier 77, NGC1068
Type: Spiral Galaxy
Constellation: Cetus
Visual Magnitude: +9
Apparent Size: 6.2’x5.6’
Distance: 33 Mly
R.A. 02h 43m 40.58s
Dec. +00° 04’ 06.3”

อ้างอิง
SkySafari

http://www.messier.seds.org/m/m077.html

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...