Wednesday, 12 June 2019

Messier 17





น่าเสียดายที่ท้องฟ้าทางทิศใต้สวยที่สุดก็เป็นเวลาหน้าฝน เพราะใจกลางทางช้างเผือกบริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนูเต็มไปด้วยอัญมณีมากมาย เนบูล่ารูปหงส์หรือ M17 ก็เป็นหนึ่งในนั้น

บันทึกที่ “อาจจะ” กล่าวถึงเนบูล่าตัวนี้เป็นครั้งแรกเป็นของ Philippe Loys de Cheseaux ในักดาราศาสตร์ชาวสวิส ในฤดูใบไม้ผลิปี 1764 ไม่กี่เดือนก่อนที่ชาร์ล แมสซายเออร์จะใส่หมายเลข 17 ให้เนบูล่าตัวนี้ในเดือนมิถุนายนปี 1764

M17 มีชื่อเล่นหลายชื่อ ตั้งแต่ Omega Nebula, Swan ตามแต่นักดาราศาสตร์ที่สังเกตมาก่อนจะมองเห็นเป็นอะไร


ภาพสเก็ตช์ M17 โดย จอห์น เฮอเชลล์ เมื่อปี 1833 เป็นที่มาของชื่อ โอเมก้า
https://www.messier-objects.com/messier-17-omega-nebula/

ออบเจคตัวนี้เหมาะกับกล้องดูดาวขนาดเล็กหรือไม่ก็กล้องสองตา หากมีฟิลเตอร์ UHC จะช่วยได้มาก ผมสเก็ทช์ M17 ภาพนี้ในคืนที่ฟ้ากลางๆ ไม่ดีไม่แย่ มองเห็นดาวที่จางที่สุกบริเวณนี้ประมาณแมกนิจูดที่ 4 มองไม่เห็นกลุ่มดาวสคูตัมหรือโล่ที่อยู่ใกล้ๆ มีหมอกควันบางอยู่ทั่วไป

เริ่มต้นเส้นทางที่ดาว “คาอัสโบเรียลิส” หรือดวงที่เป็นยอดแหลมของฝากาน้ำชา แม้จะต้องฮอบไกลหน่อยแต่จุดเริ่มต้นมองเห็นชัดเจนดี การฮอบไม่ง่ายนัก เพราะใกล้ใจกลางทางช้างเผือกทำให้มีดาวยิบยับจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีเนบูล่าและกระจุกดาวอีกหลายตัวคอยสร้างความสับสน

จาก “คาอัสโบเรียลิส” เราต้องหา M24 หรือ Sagitarius star cloud ที่ห่างออกไปทางทิศเหนือ 7 องศาให้เจอก่อน M17 จะห่างไปอีก 2 องศาในทิศทางเดียวกัน ในกล้องเล็งเราจะเห็นเป็นฝ้าขาวขนาดเล็ก มีดาวสว่างดวงหนึ่งอยู่ไม่ไกล

ภาพจากกล้องสะท้อนแสง 8” ที่กำลังขยาย 56 เท่า เนบูล่าสว่างดูคล้ายเป็ดตัวน้อยลอยอยู่กลางทะเลดาว ระหว่างลำตัวและคอของเป็ดแยกห่างจากกัน ในเลนส์ตาจะเห็นเนบูล่าจางๆอยู่โดยรอบ

เป็นอีกตัวที่น่าชมครับ


คลิกภาพเพื่อขยาย


ข้อมูลทั่วไป
Catalog number: NGC6618, Messier17
Name: Swan Nebula, Omega Nebula, House shoe Nebula
Type: Nebula
Constellation: Centaurus
Visual Magnitude: +6.00
Apparent Size: 46’ x 37’
Distance: 4.2Kly

Coordinates
R.A. 18h 21m 54.08s
Dec. -16° 10’ 20.9”

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...