Sunday 23 June 2019

NGC4565 : Needle Galaxy




NGC4565 กาแลกซี่ที่หันด้านข้างเข้าหาเรา ทำให้มองเห็นในแนวระนาบพอดีจากโลก หรือที่เรียกว่า “Edge-on galaxy” อยู่ในกลุ่มดาวโคม่าเบเรนิซ หากเราอยากเห็นกาแลกซี่ทางช้างเผือกของเราจากระยะไกลก็เทียบเคียงได้กับตัวนี้

การดูกาแลกซี่ตัวนี้แนะนำให้ใช้กล้องดูดาวตั้งแต่ขนาด 6 นิ้วขึ้นไป สำหรับผมที่ใช้กล้องสะท้อนแสงขนาด 8 นิ้ว ในคืนที่ท้องฟ้าไม่ดีไม่แย่ที่บ้านหมี่ ต้องให้เวลากับดวงตาเราสักพักจะเริ่มมองเห็นได้ดีขึ้น

ที่กำลังขยายต่ำ NGC4565 เป้นขีดของแสงที่บางและจาง ยาวเหมือนเข็มและมีใจกลางที่สว่าง ต้องใช้วิธีมองเหลือบและผ้าคลุมหัวเพื่อบังแสงจากรอบด้าน ผมลองเพิ่มกำลังขยายคอนทราสดีขึ้นแต่ท้องฟ้าไม่ดีพอทำให้ยิ่งดูยากตามไปด้วย สำหรับแถบฝุ่นที่แบ่งกาแลกซี่ตัวนี้ออกเป็นสองส่วน ต้องใช้กล้องดูดาวขนาด 12 นิ้วขึ้นไป จึงจะมองเห็น

การฮอปหาตำแหน่งนั้นไม่ยากนัก เริ่มจากกระจุกดาวเมลล๊อต 111 ที่มองเห็นด้วยตาเปล่าในกลุ่มดาวโคม่าเบเรนิซ มองหาดาวคู่ทางทิศตะวันออกสุดของกระจุกดาว ที่ชื่อ 17Com NGC4575 จะห่างออกไป หนึ่งองศาครึ่งทางตะวันออก

Needle Galaxy เป็นตัวที่น่าดูและสว่างและดูง่ายที่สุดในบรรดากาแลกซี่รูปเข็มทั้งหมดแล้วครับ

คลิกภาพเพื่อขยาย


ข้อมูลทั่วไป
Name: Needle Galaxy
Catalog number: NGC4565
Type: Edge on Spiral Galaxy
Constellation: Coma Berenice
Visual Magnitude: +9.22
Apparent Size: 16.6’x2.9’
Distance: 39Mly

Coordinates
R.A. 12h 37m 17.6s
Dec. +25° 52’ 56.6”

Monday 17 June 2019

M105 Galaxy group - revisit


กาแลกซี่ในภาพสเก็ทช์เรียงจากล่างขึ้นบน M105, NGC3371, NGC3373

เดือนมีนาคม 62 เราเจอปัญหาเรื่องหมอกควันเกือบทั้งประเทศ ที่หอดูดาวบ้านหมี่ก็เช่นกัน ดาวที่เคยเกลื่อนฟ้าเหลือจนแทบนับดวงได้ ถัดมาในเดือนเมษายน ปัญหาหมอกควันทุเลาลงแต่ยังมีอยู่ดาวบนฟ้ามีจำนวนมากขึ้นประมาณด้วยสายตาราวเท่าตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน

จากที่ดูยากมากเพราะหมอกควันหนาตาทำให้ครั้งก่อนมองเห็นกาแลกซี่แค่สองตัวคือ M105 และ NGC3371 มารอบนี้เมฆมากตั้งแต่หัวค่ำ กว่าฟ้าจะเปิดได้เริ่มงานก็ใกล้เที่ยงคืน M105 กับผองเพื่อนอยู่กลางหัวพอดี ภาพที่เห็นมองง่ายขึ้นมาก

NGC3373 ตัวที่มองไม่เห็นเมื่อคราวก่อน ยังยากอยู่และต้องอาศัยการมองเหลือบ ปรากฎเป็นฝ้าจาง ไม่มีจุดสว่างตรงกลาง ตัวนี้ค่อนข้างจาง ฟ้าต้องดีกว่านี้จึงจะได้รายละเอียดมากขึ้น ส่วน M105 และ NGC3371 สว่างมองค่อนข้างง่าย สบายกว่าคราวที่แล้วมาก

ทั้งสามตัวเป็นกลุ่มย่อยของกลุ่มกาแลกซี่ที่เรียกว่าลีโอหนึ่ง ที่ยังมีอีกหลายตัวใกล้ๆ ใครอยากดูต้องใช้กล้องดูดาวตัวใหญ่และฟ้าที่ใสสักหน่อย กาแลกซี่ไวต่อหมอกควันมากครับ 

คลิกภาพเพื่อขยาย


ข้อมูลทั่วไป
Catalog number: Messier105, NGC3379
Type: Elliptical Galaxy
Constellation: Leo
Visual Magnitude: +9.3
Apparent Size: 4.9x4.4’
Distance: 37Mly

Coordinates
R.A. 10h 48m 49.43s
Dec. +12° 28’ 52.5”

Catalog number: NGC3371, NGC3384
Type: Elliptical Galaxy
Constellation: Leo
Visual Magnitude: +9.9
Apparent Size: 5.2x2.4’
Distance: 31Mly

Coordinates
R.A. 10h 49m 16.72s
Dec. +12° 31’ 44.3”

Catalog number: NGC3373, NGC3389
Type: Spiral Galaxy
Constellation: Leo
Visual Magnitude: +12.03
Apparent Size: 2.7x1.2’
Distance: 63Mly

Coordinates
R.A. 10h 49m 28.29s
Dec. +12° 25’ 53.5”

Thursday 13 June 2019

NGC5139 : Omega Centauri



ภาพสเก็ทช์จากกล้องดูดาวขนาดเล็กที่กำลังขยายต่ำมองเห็นเป็นฝ้ากลม
ภาพจากกล้องสองตาก็คล้ายกันแต่จะเล็กและจางกว่า

โอเมก้าเซ็นทอรี่ (ω Centauri) เป็นกระจุกดาวที่ใหญ่และสว่างที่สุดบนท้องฟ้า อยู่ในกลุ่มดาว Centaurus หรือคนครึ่งม้า สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในที่ไม่มีแสงรบกวนเป็นฝ้ากลมจางๆขนาดเล็กคล้ายดาว(ω Centauri)

หากมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า สามารถใช้กล้องสองตาเป็นตัวช่วยได้ และถ้าไม่มีแสงรบกวนและฟ้าดีพอ ด้วยกล้องสองตาเราจะเห็นโอเมก้าเซ็นทอรี่มีขนาดราวดวงจันทร์เต็มดวง

เมื่อใช้กล้องดูดาวขนาด 4 นิ้วจากชานเมือง ที่กำลังขยายต่ำโอเมก้าเซ็นทอรี่มองเห็นเป็นฝ้ากลมใจกลางสว่าง รายละเอียดของดาวในตัวกระจุกจะเริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อเพิ่มกำลังขยาย และขึ้นกับท้องฟ้าว่ามีหมอกควันแค่ไหน หากใสพอจะเริ่มมองเห็นเม็ดดาวในกระจุกได้ที่กำลังขยายสูงราว 100 เท่า


แต่หากใช้กล้องดูดาวขนาดใหญ่ขึ้นเช่น 8 นิ้ว ที่กำลังขยายสูงราว100เท่าขึ้นไป จะเห็นดาวในกระจุกเกาะกลุ่มรวมตัวกันหนาแน่นเป็นจำนวนมาก มีดวงที่สว่างน้อยกว่ามากกว่าเต็มไปหมดจนยากจะจับรูปร่างได้

รอบนอกมีแสงฟุ้งกระจายออกมาคล้ายควันลอยขึ้นไป เห็นชัดว่าโอเมก้าเซ็นทอรี่มีใจกลางที่โย้มาทางทิศเหนือ ควันที่เห็นมันคือพื้นที่ของดาวที่รวมตัวกันแต่จางเกินกว่าที่เราจะเห็นได้ด้วยกล้องดูดาวตัวนี้นั่นเอง สรุปเลยว่าเป็นภาพที่น่าดูยิ่ง

ภาพสเก็ทช์จากสิ่งที่เห็นจากกล้องสะท้อนแสง 8" รายละเอียดมากกว่า
ดาวจแยกเป็นเม็ดชัดเจนแม้ท้องฟ้ายังคงมีหมอกควันบัง

โอเมก้าเซ็นทอรี่ถูกระบุว่าเป็นดาวดวงหนึ่ง มีบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยปโตเลมี (200ปีก่อน ค.ศ.) Edmond Halley เป็นคนแรกที่บอกว่าไม่ใช่ดาวในปี 1677 ว่า "luminous spot or patch in Centaurus” คนที่ระบุว่าเป็นกระจุกดาวทรงกลมก็คือ John Herschel ในปี 1830

หัวค่ำเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เป็นช่วงที่กลุ่มดาวเซ็นทอรัส ขึ้นสูงสุดทางทิศใต้แต่ก็เป็นช่วงที่เป็นหน้าฝนสำหรับประเทศไทย ดังนั้นหากมีจังหะที่ฟ้าเปิดทางทิศใต้เราต้องรีบฉวยโอกาสทันที

วิธีการฮอบไม่ยาก เริ่มจากมองหากลุ่มดาวเซ็นทอรัสทางทิศใต้ โอเมก้าเซ็นทอรี่จะอยู่ประมาณหนึ่งในสามบนหลังม้าหรือเส้นที่ลากจากดาวสว่างชื่ออัลแนร์ (Alnair)กับดาวมูนอิฟแอน (Muhlifain) หรือห่างจาก ดาวอลันแนร์ 7 องศา


คลิกภาพเพื่อขยาย


ข้อมูลทั่วไป
Name: Omega Centauri
Catalog number: NGC 5139, C 80
Constellation: Centaurus
Visual Magnitude: +3.68
Apparent Size: 10.0’
Distance: 17 ly

CoordinateR.A. 13h 27m 49.04s
Dec. -47° 33’ 58.0”

Wednesday 12 June 2019

Messier 17





น่าเสียดายที่ท้องฟ้าทางทิศใต้สวยที่สุดก็เป็นเวลาหน้าฝน เพราะใจกลางทางช้างเผือกบริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนูเต็มไปด้วยอัญมณีมากมาย เนบูล่ารูปหงส์หรือ M17 ก็เป็นหนึ่งในนั้น

บันทึกที่ “อาจจะ” กล่าวถึงเนบูล่าตัวนี้เป็นครั้งแรกเป็นของ Philippe Loys de Cheseaux ในักดาราศาสตร์ชาวสวิส ในฤดูใบไม้ผลิปี 1764 ไม่กี่เดือนก่อนที่ชาร์ล แมสซายเออร์จะใส่หมายเลข 17 ให้เนบูล่าตัวนี้ในเดือนมิถุนายนปี 1764

M17 มีชื่อเล่นหลายชื่อ ตั้งแต่ Omega Nebula, Swan ตามแต่นักดาราศาสตร์ที่สังเกตมาก่อนจะมองเห็นเป็นอะไร


ภาพสเก็ตช์ M17 โดย จอห์น เฮอเชลล์ เมื่อปี 1833 เป็นที่มาของชื่อ โอเมก้า
https://www.messier-objects.com/messier-17-omega-nebula/

ออบเจคตัวนี้เหมาะกับกล้องดูดาวขนาดเล็กหรือไม่ก็กล้องสองตา หากมีฟิลเตอร์ UHC จะช่วยได้มาก ผมสเก็ทช์ M17 ภาพนี้ในคืนที่ฟ้ากลางๆ ไม่ดีไม่แย่ มองเห็นดาวที่จางที่สุกบริเวณนี้ประมาณแมกนิจูดที่ 4 มองไม่เห็นกลุ่มดาวสคูตัมหรือโล่ที่อยู่ใกล้ๆ มีหมอกควันบางอยู่ทั่วไป

เริ่มต้นเส้นทางที่ดาว “คาอัสโบเรียลิส” หรือดวงที่เป็นยอดแหลมของฝากาน้ำชา แม้จะต้องฮอบไกลหน่อยแต่จุดเริ่มต้นมองเห็นชัดเจนดี การฮอบไม่ง่ายนัก เพราะใกล้ใจกลางทางช้างเผือกทำให้มีดาวยิบยับจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีเนบูล่าและกระจุกดาวอีกหลายตัวคอยสร้างความสับสน

จาก “คาอัสโบเรียลิส” เราต้องหา M24 หรือ Sagitarius star cloud ที่ห่างออกไปทางทิศเหนือ 7 องศาให้เจอก่อน M17 จะห่างไปอีก 2 องศาในทิศทางเดียวกัน ในกล้องเล็งเราจะเห็นเป็นฝ้าขาวขนาดเล็ก มีดาวสว่างดวงหนึ่งอยู่ไม่ไกล

ภาพจากกล้องสะท้อนแสง 8” ที่กำลังขยาย 56 เท่า เนบูล่าสว่างดูคล้ายเป็ดตัวน้อยลอยอยู่กลางทะเลดาว ระหว่างลำตัวและคอของเป็ดแยกห่างจากกัน ในเลนส์ตาจะเห็นเนบูล่าจางๆอยู่โดยรอบ

เป็นอีกตัวที่น่าชมครับ


คลิกภาพเพื่อขยาย


ข้อมูลทั่วไป
Catalog number: NGC6618, Messier17
Name: Swan Nebula, Omega Nebula, House shoe Nebula
Type: Nebula
Constellation: Centaurus
Visual Magnitude: +6.00
Apparent Size: 46’ x 37’
Distance: 4.2Kly

Coordinates
R.A. 18h 21m 54.08s
Dec. -16° 10’ 20.9”

Tuesday 4 June 2019

NGC5128 : Centaurus A, Hamburger Galaxy





ราวห้าทุ่มเดือนเมษายน มองไปทางใต้กลุ่มดาวเซ็นทอรัสหรือคนครึ่งม้าปรากฎให้เห็นเต็มตัว กลุ่มดาวกางเขนใต้สว่างเด่นใต้ท้องของเซ็นทอร์พอดี

คืนนี้ที่บ้านหมี่แม้จะเห็นเซ็นทอร์ แต่ก็มองไม่เห็นกระจุกดาวทรงกลมโอเมก้าเซ็นทอรี่ที่มีค่าความสว่างแมกนิจูด 3.7 ด้วยตาเปล่า ทั้งที่โดยปกติหากอยู่ชานเมืองขนาดเล็กอย่างบ้านหมี่มองเห็นได้สบาย หมายความว่า ท้องฟ้าที่เห็นยังมีหมอกควันคลุมอยู่ทั่วไป

ผมหยิบกล้องสองตากวาดไปมา โอเมก้าเซ็นทอรี่ยังยังสว่างเป็นฝ้ากลมอยู่บนหลังเซ็นทอร์ จากนั้นมองหากาแลกซี่ Centaurus A หรือ NGC5128 ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศเหนือ 4.5 องศา ด้วยกล้องสองตาขนาด 8x40 ก็ไม่พบอะไร

ย้ายมาดูที่กล้องดูดาว การฮอบไม่ยากเลย ยิ่งถ้าใช้เม้าท์แบบอิควอเทอเรียลก็ยิ่งง่าย จากโอเมก้าเซ็นทอรี่ ล็อคแกน RA แล้วขยับแกน DEC ไปทางเหนือ 4.5 องศาก็จบ

NGC5128 เป็นกาแลกซี่ที่สว่างเป็นอันดับห้าบนท้องฟ้าแต่คืนนี้มองยากเพราะจางมาก ผมต้องเช็คกับภาพสเก็ตช์ของนักดูดาวท่านอื่นเพื่อยืนยันสิ่งที่เห็นว่าใช่หรือเปล่า

ที่กำลังขยาย 111 เท่า ปรากฎฝ้าจางเป็นคล้ายแฮมเบอร์เกอร์ครึ่งซีก มีดาวหนึ่งดวงอยู่ภายใน เมื่อใช้วิธีมองเหลือบและเลื่อนกล้องไปมา ก็เริ่มมองเห็นแฮมเบอร์เกอร์อีกซีกที่จางกว่ามากโดยมีแถบมืดคั่นระหว่างกลางไม่มีดาวใดที่ฝั่งนี้

กาแลกซี่ตัวนี้เชื่อว่าอยู่ในระยะการชนกันระหว่างกาแลกซี่แบบวงรีและกาแลกซี่แบบกังหัน ทำให้เรามองเห็น NGC5128 มีรูปร่างแบบวงรีและมี แผ่นจานฝุ่นล้อมรอบตรงกลางแบบในภาพถ่าย กล้องดูดาวขนาดใหญ่น่าจะมองเห็นโครงสร้างของแถบฝุ่นได้มากขึ้นครับ

ปัญหาเรื่องมลภาวะเป็นเรื่องใหญ่ที่รุนแรงขึ้นทุกปี ผมพบว่าแสงดาวและจำนวนดาวบนฟ้านั้นบอกถึงระดับของมลภาวะได้เช่นกันครับ


คลิกภาพเพื่อขยาย

ข้อมูลทั่วไป
Catalog number: NGC5128, Centaurus A, Hamburger Galaxy
Type: Galaxy
Constellation: Centaurus
Visual Magnitude: +6.78
Apparent Size: 25.7 x 19.5’
Distance: 11 Mly

Coordinates
R.A. 13h 26m 35.77s
Dec. -43° 06’ 59.8”

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...