Wednesday 29 May 2019

Messier 3




ในเรื่องสั้นชื่อ Nightfall (1941) ของไอแซค อาสิมอฟ เหตุการณ์เกิดขึ้นบน "ลาเกช" โลกที่มีดวงอาทิตย์หกดวงสลับผลัดเปลี่ยนฉายแสงบนท้องฟ้า เป็นพิภพที่ไม่เคยขาดแสงสว่างหลายช่วงอารยธรรม แล้ววันหนึ่งมีข่าวลือว่าดวงอาทิตย์ทั้งหกดวงจะเกิดคราสพร้อมกัน และจะทำให้ทั้งพิภพตกอยู่ใน “รัตติกาล” ครั้งแรก

ผู้คนไม่รู้จักความมืดว่าเป็นอย่างไรและหวาดกลัวกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น เมื่อความมืดมาเยือน กลายเป็นว่าดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ใจกลาง ”กระจุกดาวทรงกลม” ขนาดใหญ่ ท้องฟ้าที่เคยสว่างกลับเต็มไปด้วยดาวสว่างนับไม่ถ้วน

เอตันนักจิตวิทยาตัวเอกของเรื่องถึงกับอุทานทั้งน้ำตาว่า

“เราไม่รู้อะไรเลย เราคิดว่าทั้งเอกภพมีดวงอาทิตย์หกดวงและลาเกช แต่ความจริงแล้วมีอยู่นับไม่ถ้วน เราไม่รู้อะไรเลย”

เริ่มต้นเล่าเรื่อง Nightfall ก็เพราะวันนี้ผมจะแนะนำกระจุกดาวทรงกลมตัวที่สวยที่สุดตัวหนึ่งคือ แมสซายเออร์ 3

M3 ค้นพบโดยแมสซายเออร์ในเดือนพฤษภาคมปี 1764 ในเวลานั้นยังไม่รู้จักกระจุกดาวทรงกลม แมสซายเออร์ยังอธิยาน M3 ว่าเนบูล่ากลมที่ใจกลางสว่างไม่มีดาวอยู่ภายใน 20 ปีต่อมา วิลเลี่ยม เฮอร์เชลล์อาศัยกล้องดูดาวที่ตัวใหญ่ขึ้นช่วยให้มองเห็นηดาวในกระจุกเป็นครั้งแรก

กระจุกดาวทรงกลมหรือ Gobular Cluster เป็นกลุ่มของดาวฤกษ์ที่เบียดกันแน่นจนดูเหมือนทรงกลม ดาวทั้งหมดถูกตรึงไว้ด้วยแรงดึงดูดที่สูงมากจากภายใน จะกระจายตัวอยู่รอบนอกทางช้างเผือก ทั้งหมดเป็นดาวฤกษ์ที่มีอายุมากและอาจจะมากกว่าทางเชือกเผือกเสียอีก

ตำแหน่งของ M3 อยู่ระหว่างกลุ่มดาวสุนัขล่าเนื้อและคนเลี้ยงสัตว์ การหาตำแหน่งจะค่อนข้างยากเพราะไม่มีดาวสว่างระหว่างทางให้ฮอพ จุดเริ่มต้นที่แนะนำก็คือเริ่มจาก อีต้าบูทิส (η Boo)

ผมดู M3 ครั้งแรกที่หอดูดาว TJ คืนนั้นท้องฟ้าแค่พอใช้ M3 เป็นฝ้ากลมที่กำลังขยายต่ำ เริ่มแยกดาวออกเป็นเม็ดได้ที่กำลังขยายปานกลางขึ้นไป ที่ 133 เท่า จับรายละเอียดในส่วนใจกลาได้มากขึ้น ดูไม่ยากนัก เริ่มมองเห็นรูปร่างชัดขึ้นและมีแถบมืดภายในด้วย เมื่อเทียบกับ M13 แล้ว M3 มีขนาดที่เล็กกว่ามาก

อันที่จริงขอบเขตของ M3 ออกไปไกลกว่าใจกลางพอสมควร แต่สภาพท้องฟ้าที่มองเห็นดาวราวแมกนิจูดที่ 4 ก็ไม่เอื้อให้มองเห็นมได้ไกลกว่าในภาพสเก็ตช์ และเราควรจะมองเห็น M3 ด้วยตาเปล่าเป็นจุดจางคล้ายกับดาวหากฟ้าดีพอ

ผมบันทึกไว้ว่า ใจกลางมีรูปร่างเหมือนลูกสตรอเบอรี่ คาดว่าตอนนั้นคงหิวเพราะตอนนั้นเวลาก็ตีสองครึ่งเข้าไปแล้ว...

คลิกภาพเพื่อขยาย


ข้อมูลทั่วไป
Catalog number: Messier 3
Type: Globula cluster
Constellation: Canes Venatici
Visual Magnitude: +6.19
Apparent Size: 18’
Distance: 33 Kly

Coordinates
R.A. 13h 43m 4.15s
Dec. +28° 16’ 25.5”

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...