ภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลแสดงกระจุกกาแลคซีขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่า WHL0137-08 ซึ่งเกิดปรากฏการณ์เลนส์ความโน้มถ่วงจากมวลที่สูงมากของกระจุกแห่งนี้ การขยายแสงที่สูงมากทำให้ดาวฤกษ์ในกาแลคซีด้านหลังกระจุกนี้ ปรากฏให้เห็น ซึ่งนักดาราศาสตร์เรียกชื่อว่า เออาเรนเดล(Eareldel)
ในเดือนมีนาคม 2022 นักดาราศาสตร์ได้ประกาศการค้นพบดาวฤกษ์ที่พบอยู่ไกลที่สุดในภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล
พวกเขาให้ชื่อมันว่า เออาเรนเดล(Earendel) ตามชื่อ
morning star ในภาษาอังกฤษโบราณ
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ได้ติดตามการสำรวจดาวฤกษ์นี้ในเอกภพไกลโพ้นมากในช่วง
1 พันล้านปีแรกหลังจากบิ๊กแบง
กล้องอินฟราเรดใกล้(NIRCam) ของเวบบ์ได้เผยให้เห็นว่าดาวฤกษ์นี้เป็นดาวมวลสูงสีฟ้าชนิดบี(B-type
star) ที่ร้อนเป็นสองเท่าของดวงอาทิตย์กำลังเผาไหม้ไฮโดรเจน(หรือที่เรียกว่าวิถีหลัก;
main sequence phase)
และส่องด้วยกำลังสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ 1 ล้านเท่า
เออาเรนเดลอยู่ในกาแลคซีซันไรส์อาร์ค(Sunrise
Arc galaxy) และถูกพบได้เพราะการรวมพลังของเทคโนโลจีมนุษย์กับธรรมชาติผ่านปรากฏการณ์ที่เรียกว่า
เลนส์ความโน้มถ่วง(gravitational lensing) ทั้งฮับเบิลและเวบบ์สามารถตรวจจับเออาเรนเดลได้ก็เพราะการเรียงตัวโดยบังเอิญอยู่เบื้องหลังรอยยับบนผืนกาลอวกาศที่เกิดจากกระจุกกาแลคซีขนาดใหญ่
WHL0137-08 กระจุกแห่งนี้คั่นอยู่ระหว่างเรากับเออาเรนเดล
มีมวลสูงมากจนมันบิดผืนอวกาศ สร้างผลการขยายแสง
ช่วยให้นักดาราศาสตร์มองผ่านกระจุกนี้ได้ราวกับเป็นแว่นขยาย
ในขณะที่รายละเอียดอื่นๆ
ในกาแลคซีปรากฏขึ้นซ้ำๆ อันเนื่องจากเลนส์ความโน้มถ่วง
แต่เออาเรนเดลปรากฏเป็นเพียงจุดแสงจุดเดียวแม้กระทั่งภายใต้การถ่ายภาพความละเอียดสูงของเวบบ์ก็ตาม
อ้างอิงจากสิ่งนี้ นักดาราศาสตร์ตรวจพบวัตถุพบว่ามันถูกขยายแสงขึ้นอย่างน้อย 4000
เท่าและจึงมีขนาดที่เล็กสุดขั้ว
เป็นดาวที่ห่างไกลที่สุดเท่าที่เคยพบมา โดยพบในช่วง 1 พันล้านปีแรกหลังจากบิ๊กแบง
ผุ้ครองสถิติดาวห่างไกลที่สุดก่อนหน้านี้ถูกพบโดยกล้องฮับเบิล
และสำรวจว่ามันอยู่ที่ราว 4 พันล้านปีหลังจากบิ๊กแบง
ทีมวิจัยทีมอื่นที่ใช้กล้องเวบบ์ก็เพิ่งจำแนกดาวที่ผ่านปรากฏการณ์เลนส์ซึ่งให้ชื่อเล่นว่า
Quyllur เป็นดาวยักษ์แดงที่พบที่
3 พันล้านปีหลังจากบิ๊กแบง
ดาวที่มีขนาดใหญ่อย่างเออาเรนเดลมักจะมีดาวข้างเคียง
นักดาราศาสตร์ไม่คาดหวังว่าเวบบ์จะเผยให้เห็นดาวข้างเคียงใดๆ ของเออาเรนเดล
เนื่องจากพวกมันน่าจะอยู่ใกล้กันมากและแยกออกจากกันไม่ได้ อย่างไรก็ตาม
อ้างอิงจากแค่สีของเออาเรนเดล
นักดาราศาสตร์ก็คิดว่าพวกเขาได้เห็นร่องรอยดาวข้างเคียงที่เย็นกว่าและแดงกว่า
แสงนี้ยืดออกอันเนื่องจากการขยายตัวของเอกภพ
ไปสู่ช่วงความยาวคลื่นที่ยาวกว่าที่เครื่องมือของฮับเบิลจะตรวจจับได้
ดังนั้นจึงตรวจจับได้ด้วยเวบบ์เท่านั้น
NIRCam ของเวบบ์ยังแสดงรายละเอียดที่น่าสนใจอื่นๆ
ในกาแลคซีซันไรส์อาร์คด้วย
ซึ่งเป็นกาแลคซีที่ถูกขยายแสงอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่เคบพบในช่วงหนึ่งพันล้านปีแรกของเอกภพ
รายละเอียดเหล่านี้ยังรวมถึงพื้นที่ที่กำลังก่อตัวดาวฤกษ์อายุน้อย
และกระจุกดาวอายุมากกว่าที่มีความกว้าง 10 ปีแสง
ที่อีกด้านของรอยยับจากการขยายแสงสูงสุดซึ่งพาดผ่านเออาเรนเดล
รายละเอียดเหล่านี้ก็เป็นภาพในกระจกปรากฏขึ้นมาเนื่องจากการรบกวนของเลนส์ความโน้มถ่วง
พื้นที่ที่กำลังก่อตัวดาวมีลักษณะปรากฏที่เรียวยาว
และคาดว่าจะมีอายุไม่ถึง 5 ล้านปี
ส่วนจุดขนาดเล็กกว่าที่แต่ละด้านของเออาเรนเดลนั้นเป็นภาพ 2 ภาพจากกระจุกดาวอายุมากขึ้นอีกแห่งหนึ่ง
ซึ่งคาดว่าจะมีอายุอย่างน้อย 10 ล้านปี
นักดาราศาสตร์ได้ตรวจสอบกระจุกดาวแห่งหนึ่งว่ายึดเกาะด้วยแรงโน้มถ่วงและน่าจะคงอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน
เผยเงื่อนงำให้เราเห็นว่ากระจุกดาวทรงกลม(globular cluster) ในทางช้างเผือกของเราเองก็น่าจะมีสภาพอย่างไรเมื่อพวกมันก่อตัวขึ้นเมื่อ
1.3 หมื่นล้านปีก่อน
ขณะนี้
นักดาราศาสตร์กำลังวิเคราะห์ข้อมูลจากสเปคโตรกราฟอินฟราเรดใกล้(NIRSpec) ซึ่งสำรวจกาแลคซีซันไรส์อาร์ค และเออาเรนเดล
ซึ่งจะระบุองค์ประกอบและระยะทางของกาแลคซีได้อย่างแม่นยำ
นับตั้งแต่ที่ฮับเบิลได้พบเออาเรนเดล เวบบ์ก็พบดาวที่ห่างไกลมากดวงอื่นๆ
โดยใช้เทคนิคนี้ด้วย แต่ไม่มีดวงใดที่อยู่ไกลเท่ากับเออาเรนเดล
การค้นพบนี้จึงเปิดพรมแดนใหม่ของเอกภพสู่ฟิสิกส์ดาวฤกษ์
และหัวข้อใหม่ให้กับนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเอกภพยุคต้น
ซึ่งครั้งหนึ่งกแลคซีเป็นวัตถุขนาดเล็กที่สุดเท่าที่ตรวจจับได้
ทีมวิจัยกำลังหวังอย่างหวั่นไหวว่านี่อาจจะเป็นอีกก้าวสู่การตรวจจับหนึ่งในดาวฤกษ์รุ่นแรกสุดหรือที่เรียกว่า
ประชากรดาวกลุ่มสาม(Population III stars) ได้ซึ่งอาจปรากฏได้ตั้งแต่เพียง
1 ร้อยล้านปีหลังจากบิ๊กแบง
ซึ่งจะมีแต่ไฮโดรเจนและฮีเลียมซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ถูกสร้างในบิ๊กแบงล้วนๆ
ภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์แสดงกระจุกกาแลคซีขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่า
WHL0137-08 ซึ่งเกิดปรากฏการณ์เลนส์ความโน้มถ่วงจากมวลที่สูงมากของกระจุกแห่งนี้
ภาพกระจุกกาแลคซี
WHL0137-08 จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ ซึ่งมีกาแลคซีที่ถูกขยายด้วยเลนส์อย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยพบในเอกภพช่วงพันล้านปีแรกคือ
กาแลคซีซันไรส์อาร์ค(Sunrise Arc) และภายในกาแลคซีแห่งนี้ก็ตรวจพบดาวที่ห่างไกลที่สุดด้วย
ซึ่งมีชื่อเล่นว่า เออาเรนเดล(Earendel) ถูกพบเป็นครั้งแรกโดยกล้องฮับเบิล
การสำรวจติดตามผลด้วยเวบบ์เผยให้เห็นว่ามันเป็นดาวมวลสูงสีฟ้า(B-type star)
แหล่งข่าว webbtelescope.org
: Webb reveals colors of Earendel, most distant star ever detected
iflscience.com : JWST
reveals color of the most distant known star
sciencealert.com : JWST
reveals intriguing new details about Earendel, the farthest star ever detected
No comments:
Post a Comment