ภาพจากศิลปินแสดง VHS 1256b กับดาวฤกษ์แม่คู่ของมัน
นักวิจัยที่สำรวจด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์
ได้พบรายละเอียดเมฆซิลิเกตในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ห่างไกลดวงหนึ่ง
ชั้นบรรยากาศแห่งนี้ลอย, ผสม และเคลื่อนไหวอย่างคงที่ในวันที่ยาว 22 ชั่วโมง
นำพาวัสดุสารที่ร้อนลอยขึ้นและดึงวัสดุสารที่เย็นกว่าจมลง จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสว่างอย่างมากจนมันเป็นวัตถุขนาดพอๆ
กับดาวเคราะห์ที่มีการแปรความสว่างที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยพบมา
ทีมวิทยาศาสตร์ยังได้พบน้ำ, มีเธน
และคาร์บอนมอนอกไซด์ ในข้อมูลจากเวบบ์ด้วย และพบหลักฐานของคาร์บอนไดออกไซด์
นี่เป็นโมเลกุลกลุ่มใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยจำแนกพบในคราวเดียว
บนดาวเคราะห์ดวงหนึ่งที่อยู่นอกระบบสุริยะของเรา ดาวเคราะห์ VHS 1256b อยู่ห่างออกไป 40 ปีแสงและโคจรรอบดาวฤกษ์คู่หนึ่งในคาบ 1 หมื่นปี
Brittany Miles ผู้นำทีมวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอริโซนา
กล่าวว่า VHS 1256b อยู่ไกลจากดาวฤกษ์แม่ของมันราว
4 เท่าระยะทางพลูโตถึงดวงอาทิตย์
ซึ่งทำให้มันเป็นเป้าหมายที่ดีเยี่ยมสำหรับกล้องเวบบ์
ซึ่งหมายความว่าแสงของดาวเคราะห์จะไม่ผสมไปกับแสงของดาวฤกษ์คู่แม่ของมัน
ในชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้นไปซึ่งพบเมฆซิลิเกตอยู่ อุณหภูมิพุ่งสูงถึง 830 องศาเซลเซียส
ในเมฆซิลิเกตเหล่านั้น
กล้องเวบบ์ได้พบเม็ดฝุ่นซิลิเกตทั้งใหญ่และเล็ก ซึ่งปรากฏในสเปคตรัม Beth
Biller ผู้เขียนร่วมรายงานจากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ
ในสหราชอาณาจักร บอกว่า
เม็ดซิลิเกตที่ละเอียดมากขึ้นในชั้นบรรยากาศก็จะยิ่งดูคล้ายอนุภาคจิ๋วในควัน
ส่วนเม็ดที่ใหญ่ขึ้นก็อาจจะเหมือนเม็ดทรายขนาดเล็กมากที่ร้อนมาก
VHS 1256b เป็นวัตถุที่มีความซับซ้อน ด้วยมวลระหว่าง 12
ถึง 16 เท่าดาวพฤหัสฯ
วัตถุนี้จึงอยู่ที่รอยต่อดาวเคราะห์-ดาวแคระน้ำตาล(brown
dwarf) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์แท้ง(failed
star) มีมวลสูงไม่พอที่จะหลอมไฮโดรเจนปกติในแกนกลาง
ดาวเคราะห์มีความหนาแน่นต่ำใกล้เคียงกับดาวแคระน้ำตาล
ซึ่งก็หมายความว่าเมฆซิลิเกตของมันอาจปรากฏและคงอยู่สูงขึ้นไปในชั้นบรรยากาศได้อีก
อีกเหตุผลที่ท้องฟ้าของมันปั่นป่วนรุนแรงมากก็เพราะอายุของดาวเคราะห์
ในทางดาราศาสตร์แล้ว มันยังค่อนข้างอายุน้อย เพียง 150 ล้านปีเท่านั้น
และจะยังคงเปลี่ยนแปลงและเย็นตัวลงไปอีกหลายพันล้านปี
ทีมบอกว่าการค้นพบเหล่านี้เป็น
เหรียญทองกลุ่มแรกๆ ที่ดึงออกจากขุมทรัพย์ข้อมูลสเปคตรัม
พวกเขาเพิ่งเริ่มจำแนกองค์ประกอบของมันเท่านั้น Miles กล่าวว่า เราจำแนกพบซิลิเกต แต่ความเข้าใจที่ดีขึ้นว่าเม็ดฝุ่นในขนาดและรูปร่างใดที่สอดคล้องกับชนิดของเมฆ
ก็ยังต้องทำงานเพิ่มเติมอีกมาก
นี่ยังไม่ใช่คราวสุดท้ายที่ได้ยินเกี่ยวกับดาวเคราะห์นี้
นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นความพยายามในการทำแบบจำลองขนาดใหญ่เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลที่ซับซ้อนจากเวบบ์
แม้ว่ารายละเอียดทั้งหมดที่ทีมได้สำรวจก็พบเห็นได้บนดาวเคราะห์อื่นๆ
ทั่วทางช้างเผือกด้วย
แต่ทีมวิจัยอื่นมักจะจำแนกรายละเอียดได้เพียงอย่างเดียวในช่วงเวลาหนึ่ง
ไม่มีกล้องโทรทรรศน์อื่นใดที่จำแนกรายละเอียดมากมายจากวัตถุดวงเดียวได้ในคราวเดียว
Andrew Skemer ผู้เขียนร่วมจากมหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย
ซานตาครูซ กล่าว เรากำลังได้เห็นโมเลกุลจำนวนมากในสเปคตรัมเดียวที่ได้จากเวบบ์
ซึ่งบอกถึงระบบเมฆและอากาศที่มีพลวัตบนดาวเคราะห์
ทีมได้ข้อสรุปจากการวิเคราะห์ข้อมูลสเปคตรัมที่รวบรวมได้จากเครื่องมือสองชิ้นบนกล้องเวบบ์
คือ สเปคโตรกราฟอินฟราเรดใกล้(NIRSpec) และ
เครื่องมือในอินฟราเรดกลาง(MIRI) เนื่องจากดาวเคราะห์โคจรอยู่ห่างจากดาวฤกษ์แม่ๆ
ของมันอย่างมาก นักวิจัยจึงสามารถสำรวจมันได้โดยตรง แทนที่จะใช้เทคนิคการผ่านหน้า(transit
technique) หรือใช้ม่านโคโรนากราฟ(coronagraph)
เพื่อให้ได้ข้อมูลนี้
ยังมีอะไรต้องเรียนรู้อีกมากเกี่ยวกับ VHS 1256b
ในอีกไม่กี่เดือนและไม่กี่ปีที่จะมาถึง เมื่อทีมนี้และทีมอื่นๆ
ยังคงตรวจสอบสเปคตรัมอินฟราเรดความละเอียดสูงที่ได้จากเวบบ์อย่างขะมักเขม้น
เป็นสิ่งตอบแทนก้อนใหญ่มากจากเวลาการใช้กล้องที่ไม่นาน เพียงไม่กี่ชั่วโมงการสำรวจ
เราก็มีสิ่งที่น่าจะนำไปสู่การค้นพบอย่างไม่รู้จบ
แล้วจะเกิดอะไรกับดาวเคราะห์นี้ในอีกหลายพันล้านปีข้างหน้า
เพราะมันอยู่ไกลจากดาวฤกษ์แม่อย่างมาก มันก็จะเย็นตัวลงเรื่อยๆ ตามเวลา
และท้องฟ้าของมันก็อาจจะเปลี่ยนจากสภาพเมฆมากไปเป็นฟ้าใส
นักวิจัยสำรวจ VHS
1256b
อันเป็นส่วนหนึ่งของ Early Release Science program ของเวบบ์
ซึ่งออกแบบมาให้ช่วยเปลี่ยนแปลงความสามารถของประชาคมดาราศาสตร์เพื่อจัดจำแนกดาวเคราะห์และดิสก์ที่ก่อตัวดาวเคราะห์
รายงานของทีมเผยแพร่ใน Astrophysical Journal Letters วันที่ 22 มีนาคม
แหล่งข่าว esawebb.org
: Webb spots swirling, gritty clouds on remote planet
iflscience.com : JWST
spots hot gritty silicate clouds on nearby exoplanet orbiting two stars
space.com : James Webb
Space Telescope spies hot, gritty clouds in skies of huge exoplanet with 2 suns
No comments:
Post a Comment