Wednesday 26 February 2020

Far, far away...



"ภูกระดึง" ภาพโดยสิทธิ สิทไทย

คืนหนึ่งผมเงยหน้ามองจุดแสงพราวพรายเต็มฟ้า มีคำถามเกิดขึ้นในใจ
“เรามองเห็นได้ไกลแค่ไหนหนอ?”

ในปี 1943 คาร์ล เซย์เฟิร์ทพบว่ากาแลกซี่จำนวน 12 ตัวมีแกนกลางสว่างกว่าปกติ 100 เท่า กาแลกซี่กลุ่มนี้ได้รับชื่อว่ากาแลกซี่แบบเซย์เฟิร์ท นับเป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า “ดาราจักรกัมมันตะ - Active galaxy”

ต่อมาในปี 1962 มาร์ติน ชมิดท์ ได้ใช้กล้องดูดาวขนาด 5 เมตรของหอดูดาวพาโลมาร์ศึกษาแหล่งคลื่นวิทยุที่ชื่อ 3C 48 ที่มีคลื่นวิทยุความเข้มสูงมากแผ่ออกมา แต่กลับพบดาวสีฟ้า-น้ำเงินดวงเดียว จึงได้ตั้งชื่อวัตถุนี้ว่า “ควอซาร์ - Quasar” มาจาก Quasi Stella Radio Source หรือ แหล่งคลื่นวิทยุคล้ายดาว

3C 48 อยู่ไกลมาก ห่างออกไปมากกว่า 2000 ล้านปีแสง ซึ่งแปลได้ว่าหากมองเห็นเป็นดาวหรี่จางจากโลกที่ระยะห่างขนาดนี้ วัตถุปริศนา 3C 48 ต้องสว่างกว่ากาแลกซี่ทางช้างเผือกเป็น 1000 เท่า เวลานั้นรู้จักกันว่าควอซาร์คือ “วัตถุที่หนาแน่น แผ่พลังงานสูงและไกลมาก”

ปี 1968 มีการค้นพบวัตถุอีกชนิดเรียกว่า “เบลซาร์- Blazar” เบลซาร์ยิ่งสว่างขึ้นไปอีก สว่างและแผ่พลังงานมากกว่าควอซ่าหลายพันเท่า! เป็นวัตถุที่ทรงพลังและสว่างที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน


ภาพจาก Hubble ยืนยันว่า Quasar คือแกนของดาราจักร
Cr: ESA/Hubble

ข้อสัณนิฐานของนักดาราศาสตร์ที่ว่าควอซาร์เป็นแก่นหรือหลุมดำของดาราจักรกัมมันตะ ได้รับการยืนยันโดยกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิ้ลในปี 1996 ภาพจากฮับเบิ้ลแสดงให้เห็นใจกลางที่สว่างมากและมีโครงสร้างของกาแลกซี่บางอย่างโดยรอบ

ปัจจุบันพบว่าควอซ่านั้นคือแก่นของดาราจักรกัมมันตะ มีหลุมดำยักษ์หรือ Massive Black Hole เป็นตัวขับเคลื่อน ดูดกลืนมวลสารจำนวนมหาศาลโดยรอบและมีลำอนุภาคพลังงานสูงพุ่งออกมา ควอซ่ากับเบลซ่าก็คือแก่นของดาราจักรกัมมันตะชนิดเดียวกันแต่คนละมุมมอง ควอซ่าคือแกนดาราจักรกัมมันตะที่เอียงเล็กน้อยเข้าหาเรา ส่วนเบลซาร์เป็นแกนดาราจักรกัมมันตะที่ลำอนุภาคพุ่งตรงมาที่เราพอดี



วีดีโอจำลองลักษณะของ Quasar
Credit:ESO, M. Kornmesser


ควอซาร์ 3C 273 ในกลุ่มดาวหญิงสาว ภาพจากฮับเบิ้ล
Credit: ESA/Hubble 

ในกลุ่มดาวหญิงสาวมีควอซาร์ที่สว่างที่พอจะสังเกตได้โดยอาศัยกล้องดูดาวขนาด 8 นิ้วขึ้นไป ควอซาร์ตัวนี้ชื่อ 3C 273 เป็นหนึ่งในตัวที่ใกล้เราที่สุด ในกล้องดูดาวสิ่งที่เราจะเห็นเป็นเพียงดาวจางหรี่ สว่างแมกนิจูด 13 ดวงหนึ่ง

ว่ากันว่าหากควอซาร์ดวงนี้อยู่ห่างจากจากเรา 30ปีแสงหรือประมาณ 7 เท่าของดาวฤกษ์ที่ใกล้โลกมากที่สุดอย่างอัลฟ่าเซนทอรี่ ความสว่างที่เราได้เห็นบนโลกจะเท่าดวงอาทิตย์ของเราเอง!

เรื่องที่เหลือเชื่ออีกอย่างคือ ระยะทางที่ไกลขนาดแสงใช้เวลาเดินทางถึง 2400 ล้านปี แล้วเรายังมองเห็นแสงที่เก่าแก่ขนาดนั้นด้วยตาเราเองแม้จะเป็นจุดแสงก็ตาม


ระยะทางที่ว่าไกลหากจะนับเป็นกิโลเมตรก็แค่ 2.2705753 x 10^22 เท่านั้นเอง


แผนที่ตำแหน่งของ 3C 273 เดือนที่เหมาะกับการสังเกตคือ มีนาคมถึงเมษายน
(คลิกเพื่อขยาย)

อ้างอิง
วิภู รุจิโรปการ, เอกภพ
Sky Safari software
Bob King, Twinkle, Twinkle Quasi-Star — 12 Quasars for Spring Evenings 



Friday 21 February 2020

Messier 1 : Crab Nebula



แมสซายเออร์ 1 หรือ NGC1952 เป็นซากจากการระเบิดของดาวฤกษ์ใกล้ดาวซีต้า ทอรี่หรือปลายเขาวัวฝั่งทางทิศใต้ พบเป็นครั้งแรกโดย จอนห์ เบวิส นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวอังกฤษในปี 1731 เบวิสเพิ่มออบเจคชิ้นนี้ลงไปในแผนที่ท้องฟ้าของเขาที่ชื่อ Uranographia Britanica

อีก 27 ปีต่อมาชาร์ล แมสซายเออร์ได้ค้นพบด้วยตัวเองอีกครั้งในคืนวันที่ 28 สิงหาคม 1758 แมสซายเออร์พบว่าเนบิวล่าตัวนี้มีลักษณะที่เหมือนดาวหาง แต่ไม่เคลื่อนที่ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการรวมรวมวัตถุที่ดูคล้ายดาวหางทั้ง 110 ชิ้นที่ปัจจุบันเรารู้จักกันดีในชื่อ “แมสซายเออร์ แคตตาลอค”


Crab Nebula โดย Lord Rosse
Cr: Wiki Common [click]
เอ็ม 1 ได้รับชื่อว่าเนบิวล่าปูก็เพราะลอร์ดโรส (William Persons, 3rd Earl of Rosse) ได้สังเกตด้วยกล้องสะท้อนแสงขนาด 36นิ้วในปี 1844 และเห็นว่าเอ็ม 1 มีโครงสร้างเป็นเส้นใยยื่นออกมาจากเนบิวล่า คล้ายกับระยางค์ที่ยื่นออกมาจากตัวปู ในยุคนั้นเชื่อว่า M1 เป็นกระจุกดาว กว่าจะพบความจริงว่าเป็นกลุ่มก๊าซก็ล่วงมาจนศตวรรษที่ 19 เมื่อการถ่ายภาพได้รับการพัฒนาขึ้นมา

เอ็ม 1 มองเห็นได้ง่ายแม้แต่จากกล้องสองตา 10x50 เมือดูจากกล้องดูดาวขนาดเล็กจะเป็นปื้นแสงวงรีหรือรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ซึ่งเป็นส่วนสว่างใจกลางเนบิวล่า เป็นออบเจคที่ไวต่อหมอกควันและมลภาวะทางแสงมาก ทำให้จำเป็นต้องอาศัยคุณภาพท้องฟ้าที่ดีหากต้องรายละเอียดที่มากขึ้นด้วยกำลังขยายสูง

ผมดูผ่านกล้องสะท้อนแสงขนาด 8 นิ้วที่ชานเมืองบ้านหมี่ ท้องฟ้ามีหมอกควันคลุมอยู่ทั่วไป กลางฟ้าเห็นดาวสว่างน้อยที่สุดราวแมกนิจูด 3+ ที่กำลังขยายต่ำไม่มีปัญหาอะไร เอ็ม 1 มองคล้ายเมฆก้อนเล็กรูปวงรีออกไปทางข้าวหลามตัด

เมื่อเพิ่มกำลังขยายเป็น 133 เท่า ภาพจางมาก พอจับได้ว่ามีแสงวงรีสองวงวางเยื้องกัน มีแขนยื่นออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ แสงวงรีทางทิศเหนือจะสว่างกว่าวงรีทางทิศใต้ ผมดูอยู่หลายคืนเพราะท้องฟ้าไม่ค่อยเอื้ออำนวยจากปัญหาเรื่องหมอกควัน ทำให้ดูยาก เห็นบ้างไม่เห็นบ้าง

แต่เชื่อว่าหากฟ้าดึพอ น่าจะมองเห็นเส้นใยและรายละเอียดอื่นมากขึ้นได้จากกล้องสะท้อนแสง 8 นิ้วครับ



Name: Crab Nebula
Catalog Number : Messier 1, NGC1952
Type: Supernova Remnent
Magnitude: 8.40
Surface brightness: 11.00
Dimension: 8.0 x 4.0 '
Constellation: Taurus

Coordinate:
RA: 05h34m 30.0s
DEC:+22°01’00"


อ้างอิง
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
SkySafari
http://www.astronomy.com/news/2007/06/crab-nebula-exploded-in-1054
https://en.wikipedia.org/wiki/SN_1054
http://www.messier.seds.org/m/m001.html
http://www.lesa.biz/astronomy/star/neutron
https://jusci.net/node/2957
https://mgronline.com/science/detail/9600000061563

Wednesday 12 February 2020

Iota Orionis


อิโอต้าโอไรออนนิสเป็นระบบดาวสามดวง
อิโอต้าโอไรออนนิสเอ เป็นดวงหลักสว่างใจกลางภาพ
อิโอต้าโอไรออนนิสบี เป็นติ่งเล็กทางด้านบน
อิโอต้าโอไรออนนิสซี จากห่างออกไปแถวหนึ่งนาฬิกา
ภาพสเก็ทช์โดยผู้เขียน

ใครที่เคยดูเอ็ม 42 แบบมุมกว้างผ่านกล้องดูดาว โดยเฉพาะในคืนที่ฟ้าดีมาก มักจะจมลงไปในความงามของเนบิวล่าจนอาจไม่ทันสังเกตดาวทางทิศใต้ที่อยู่ใกล้ปลายของเนบิวล่าส่วนที่เรียกว่า “ดาบ” ดาวสีฟ้าสดใสที่มีค่าความสว่างแมกนิจูด 3 ดวงนี้คือ “อิโอต้า (ι )โอไอรอนนิส” อัญมณีที่ถูกลืม

อิโอต้า โอไรออนนิส หรือในชื่อภาษาอาราบิค “Na’ir Al Saif” คำนี้แปลว่า “(ดาว)สว่างที่สุดในดาบ” คำแปลตรงกับความจริงเพราะดาวดวงนี้อยู่ตรงปลายดาบ มองเห็นด้วยตาเปล่าและสว่างที่สุดในดาบของนายพราน

คนที่ตาไวจะเห็นว่าดาวดวงนี้มีเนบิวล่าเห็นเป็นแสงฟุ้งโดยรอบ อิโอต้าโอไรออนเป็นระบบดาวหลายดวงที่งามตัวหนึ่ง มีดาวดวงน้อย อิโอต้า โอไรออน บี ใกล้ชิดติดกับดวงหลักเป็นภาพที่น่ารักระยะแยก 11 อาร์คเซคั่น (ฟิลิปดา) ในขณะที่อิโอต้า โอไรออน ซีเป็นดาวจางสีแดง อยู่ค่อนข้างไกลไปทางทิศตะวันออก 50 อาร์คเซคั่น

ใกล้ๆกัน เราจะมองเห็นดาวคู่ที่ดูง่ายอีกสองคู่คือ สตูว์ป 747 และสตูว์ป 745 อิโอต้าโอไรออนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของกระจุกดาวเกิดใหม่ NGC 1980 ที่มีอายุมากกว่าทราเปซเซี่ยมไม่มาก องค์ประกอบทั้งหมดทำให้ภาพในบริเวณนี้ดูงดงามไม่น้อย

อีกเรื่องที่น่าสนใจของอิโอต้าโอไรออนนิสเอที่เป็นดาวดวงหลักของระบบคือดาวดวงนี้เองก็เป็นดาวคู่ และไม่ได้เป็นดาวคู่ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกันเหมือนคู่อื่นแต่เกิดจากการจับยึดเข้ามาด้วยแรงโน้มถ่วง และอยู่ใกล้ชิดกันจนแยกออกไม่ได้ด้วยสายตา

นักดาราศาสตร์สัณนิฐานว่าเมื่อสองล้านห้าแสนปีก่อนมีดาวคู่สองระบบชนกัน ทำให้มีดาวสองดวงกระเด็นออกไปจากระบบ และเกิดการจับคู่ใหม่เป็นอิโอต้าโอไรออนนิสดวงนี้ ส่วนสองดวงที่กลายเป็น Runaway Stars ก็คือเออีออริเกในกลุ่มดาวออริก้าและมิวโคลอมเบในกลุ่มดาวโคลอมบ้าที่ได้เขียนไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว [กลับไปอ่านคลิก]


คลิกภาพเพื่อขยาย


Catalog number: Iota Orionis
Type: Multiple Stars
Constellation: Orion
Visual Magnitude: +2.77, +7.7, +9.8
Seperation : AB 11”@141° , AC 49.4”@103°
Distance: 2300 ly

Coordinates :
R.A. 05h 36m 24.14s
Dec. +-5° 53’ 54.8”



อ้างอิง
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
SkySafarihttp://stars.astro.illinois.edu/sow/nairalsaif.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Iota_Orionis

Wednesday 5 February 2020

AE Aurigae & IC405 Flaming Star Nebula


AE Aurigae คือดาวตรงลูกศรชี้
ดาวสว่างเป็นกลุ่มทางทิศตะวันออกเฉียงใต้คือ 16, 17,18, 19 Aur
มองเห็นด้วยตาเปล่าเป็นแถบฟุ้งใจกลางกลุ่มดาวออริก้า
ดูรายละเอียดได้ที่แผนที่ด้านล่าง ภาพสเก็ทช์ โดยผู้เขียน

Flaming Star เป็นเนบิวล่าในกลุ่มดาวออริก้าที่ดูค่อนข้างยาก ทำให้ไม่น่าสนใจนักสำหรับการดูด้วยตา แต่ดาวสว่างในเนบิวลาที่ชื่อเออี (AE) ออริเก กลับน่าสนใจเสียจนยากจะมองข้าม

เรื่องเริ่มต้นที่บริเวณโอไรออนเนบิวล่าเมื่อสองล้านห้าแสนปีก่อน เวลานั้นระบบดาวทราเปสเซี่ยมที่ใจกลางโอไรออนเนบิวล่ายังไม่กำเนิดขึ้นมา มีดาวฤกษ์สองดวงกระเด็นออกไปจากเนบิวล่า ด้วยความเร็วกว่า 100 กิโลเมตรต่อวินาทีในทิศทางตรงกันข้าม

ดวงหนึ่งไปทางทิศเหนือ ตอนนี้อยู่ในกลุ่มดาวออริก้าหรือสารถีและเป็นที่มาของบทความนี้ “เออี (AE) ออริเก” อีกดวงไปทางทิศใต้ในกลุ่มดาวโคลอมบาหรือนกพิราบคือ “มิว (μ) โคลอมเบ” ไม่มีใครทราบแน่นอนว่าเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่เป็นไปได้คือระบบดาวคู่ขนาดใหญ่สองระบบชนกัน ทำให้เกิดแรงอะไรบางอย่างเหวี่ยงดาวฤกษ์สองดวงนี้ออกไป


เส้นทางการเคลื่อนที่ของเออี ออริเกและมิว โคลอมเบ
เริ่มต้นจากบริเวณเนบิลล่าสว่างใหญ่ในกลุ่มดาวโอไรออน
นอกจากนั้น ยังมีดาวอีกดวงในกลุ่มดาวอารีส์หรือแกะชื่อ 53 อารีติส ที่พบว่า
เส้นทางการเคลื่อนที่ก็มาจาก โอไรออนเนบิวล่าเช่นกันแต่เป็นคนละเหตุการณ์
 53 อารีติสหลุดออกมาจากโอไรออนเมื่อ 4-5 ล้านปีก่อน
ภาพประกอบโดยผู้เขียน - ขอสงวนลิขสิทธิ

เออี ออริเกเป็นดาวฤกษ์สว่างแมกนิจูด 6 หาตำแหน่งง่ายเป็นระยะทางหนึ่งในสามจากอิโอต้า (ι) ออริเก  ไปเดลต้า (δ) ออริเก (ดูในแผนที่) และใกล้กันทางทิศตะวันออกมีดาวสว่างแมกนิจูด 4 ถึง 6 ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหกดวงเรียงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นจุดสังเกตในกล้องเล็ง 

ในภาพถ่ายจะเห็นเนบิวล่าสีแดงอยู่รอบบริเวณ เนบิวล่าตัวนี้คือ IC405 หรือเป็นกลุ่มกาซและฝุ่นที่ เออี ออริเก บังเอิญวิ่งผ่านเข้ามาทำให้ดูเป็น “Flaming Star” โดดเด่นกว่าพี่น้องอีกคนในกลุ่มดาวนกพิราบมาก เพราะมิว โคลอมเบไม่มีอะไรน่าสนใจมากไปกว่าเป็นดาวสีขาวแมกนิจูด 6 ดวงหนึ่ง

Flaming Star Nebula เป็นเนบิวล่าที่จางแต่ก็ใช่ว่าจะมองไม่เห็นเสียเลย ปัญหาหลักคือขนาดที่ใหญ่ทำให้ต้องการมุมมองที่กว้าง 2.5 องศาขึ้นไป การใช้ฟิลเตอร์ UHC จะเป็นตัวช่วยเพิ่มคอนทราสที่ดี ผมพบว่าฟิลเตอร์ H-beta ทำให้เห็นเนบิวล่าได้กว้างขวางมากขึ้น ส่วน O-III ไม่ได้ช่วยนัก ทักษะการมองเหลือบและการใช้ผ้าคลุมหัวเพื่อกันแสงจากรอบด้านมีความจำเป็น

เออี ออริเกและมิว โคลอมเบเป็นตัวอย่างของ Runaway Stars ที่มักจะได้รับกล่าวถึงเสมอ ดาวในคลาส OB แบบเดียวกับเออี ออริเก อีกร้อยละ 10-15 ยังต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกัน สาเหตุของการโดนเนรเทศมีหลากหลาย ทั้งจากหลุมดำ ซูเปอร์โนว่า หรือการชนกันของดาวคู่

Runaway Star บางดวงอย่าง US 708 ที่ตอนนี้อยู่ในกลุ่มดาวหมีใหญ่ กำลังเคลื่อนที่อยู่ด้วยความเร็วที่ไม่น่าเชื่อในระดับ 1200 กิโลเมตรต่อวินาที!

ธรรมชาติมีเรื่องให้ประหลาดใจอยู่เสมอและยังคงเป็นเช่นนั้นตลอดไป


คลิกภาพเพื่อขยาย


ข้อมูลพื้นฐาน
Name: Flaming Star Nebula
Catalog Number : IC405
Type: Nebula
Visual Magnitude: +10
Dimension: 30x19 arcmin
Constellation: Auriga
Distance: 1400 ly

Coordinates:
R.A. 5h 17m 30.47s
Dec. +34° 17' 13.1”



อ้างอิง
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
SkySafari
Wikipedia

Bob King, Runaway with These Run Away Stars
https://www.skyandtelescope.com/observing/run-away-with-these-runaway-stars12062105/

Jim Kaler, STARS Webite
http://stars.astro.illinois.edu/sow/aeaur.html

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...