Wednesday 29 May 2019

Messier 3




ในเรื่องสั้นชื่อ Nightfall (1941) ของไอแซค อาสิมอฟ เหตุการณ์เกิดขึ้นบน "ลาเกช" โลกที่มีดวงอาทิตย์หกดวงสลับผลัดเปลี่ยนฉายแสงบนท้องฟ้า เป็นพิภพที่ไม่เคยขาดแสงสว่างหลายช่วงอารยธรรม แล้ววันหนึ่งมีข่าวลือว่าดวงอาทิตย์ทั้งหกดวงจะเกิดคราสพร้อมกัน และจะทำให้ทั้งพิภพตกอยู่ใน “รัตติกาล” ครั้งแรก

ผู้คนไม่รู้จักความมืดว่าเป็นอย่างไรและหวาดกลัวกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น เมื่อความมืดมาเยือน กลายเป็นว่าดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ใจกลาง ”กระจุกดาวทรงกลม” ขนาดใหญ่ ท้องฟ้าที่เคยสว่างกลับเต็มไปด้วยดาวสว่างนับไม่ถ้วน

เอตันนักจิตวิทยาตัวเอกของเรื่องถึงกับอุทานทั้งน้ำตาว่า

“เราไม่รู้อะไรเลย เราคิดว่าทั้งเอกภพมีดวงอาทิตย์หกดวงและลาเกช แต่ความจริงแล้วมีอยู่นับไม่ถ้วน เราไม่รู้อะไรเลย”

เริ่มต้นเล่าเรื่อง Nightfall ก็เพราะวันนี้ผมจะแนะนำกระจุกดาวทรงกลมตัวที่สวยที่สุดตัวหนึ่งคือ แมสซายเออร์ 3

M3 ค้นพบโดยแมสซายเออร์ในเดือนพฤษภาคมปี 1764 ในเวลานั้นยังไม่รู้จักกระจุกดาวทรงกลม แมสซายเออร์ยังอธิยาน M3 ว่าเนบูล่ากลมที่ใจกลางสว่างไม่มีดาวอยู่ภายใน 20 ปีต่อมา วิลเลี่ยม เฮอร์เชลล์อาศัยกล้องดูดาวที่ตัวใหญ่ขึ้นช่วยให้มองเห็นηดาวในกระจุกเป็นครั้งแรก

กระจุกดาวทรงกลมหรือ Gobular Cluster เป็นกลุ่มของดาวฤกษ์ที่เบียดกันแน่นจนดูเหมือนทรงกลม ดาวทั้งหมดถูกตรึงไว้ด้วยแรงดึงดูดที่สูงมากจากภายใน จะกระจายตัวอยู่รอบนอกทางช้างเผือก ทั้งหมดเป็นดาวฤกษ์ที่มีอายุมากและอาจจะมากกว่าทางเชือกเผือกเสียอีก

ตำแหน่งของ M3 อยู่ระหว่างกลุ่มดาวสุนัขล่าเนื้อและคนเลี้ยงสัตว์ การหาตำแหน่งจะค่อนข้างยากเพราะไม่มีดาวสว่างระหว่างทางให้ฮอพ จุดเริ่มต้นที่แนะนำก็คือเริ่มจาก อีต้าบูทิส (η Boo)

ผมดู M3 ครั้งแรกที่หอดูดาว TJ คืนนั้นท้องฟ้าแค่พอใช้ M3 เป็นฝ้ากลมที่กำลังขยายต่ำ เริ่มแยกดาวออกเป็นเม็ดได้ที่กำลังขยายปานกลางขึ้นไป ที่ 133 เท่า จับรายละเอียดในส่วนใจกลาได้มากขึ้น ดูไม่ยากนัก เริ่มมองเห็นรูปร่างชัดขึ้นและมีแถบมืดภายในด้วย เมื่อเทียบกับ M13 แล้ว M3 มีขนาดที่เล็กกว่ามาก

อันที่จริงขอบเขตของ M3 ออกไปไกลกว่าใจกลางพอสมควร แต่สภาพท้องฟ้าที่มองเห็นดาวราวแมกนิจูดที่ 4 ก็ไม่เอื้อให้มองเห็นมได้ไกลกว่าในภาพสเก็ตช์ และเราควรจะมองเห็น M3 ด้วยตาเปล่าเป็นจุดจางคล้ายกับดาวหากฟ้าดีพอ

ผมบันทึกไว้ว่า ใจกลางมีรูปร่างเหมือนลูกสตรอเบอรี่ คาดว่าตอนนั้นคงหิวเพราะตอนนั้นเวลาก็ตีสองครึ่งเข้าไปแล้ว...

คลิกภาพเพื่อขยาย


ข้อมูลทั่วไป
Catalog number: Messier 3
Type: Globula cluster
Constellation: Canes Venatici
Visual Magnitude: +6.19
Apparent Size: 18’
Distance: 33 Kly

Coordinates
R.A. 13h 43m 4.15s
Dec. +28° 16’ 25.5”

Wednesday 22 May 2019

Messier 13 : Great Hercules Cluster


 ภาพสเก็ตช์แบบ Composit  ของ Messier 13 ที่กำลังขยาย 111 เท่า และเพิ่มรายละเอียดที่ 133 เท่า

กระจุกดาวทรงกลมในกลุ่มดาวเฮอคิวลิส เป็นหนึ่งในห้ากระจุกดาวทรงกลมที่สวยที่สุดบนท้องฟ้า เอ็ดมันด์ ฮัลเล่ย์เป็นคนแรกที่กล่าวถึงว่า “it shows itself to naked eye when the sky is serene and the Moon absent”

ห้าสิบปีต่อมาแมสซายเออร์ได้ใส่ไว้ในแคตตาลอคเป็นลำดับที่ 13 แต่เดิมเอ็ม13 ได้รับการระบุว่าเป็นเนบูล่าทรงกลมที่มีใจกลางสว่าง เซอร์วิลเลี่ยม เฮอร์เชลล์เป็นคนแรกที่เปิดเผยความจริงว่าเอ็ม 13 เป็นกระจุกดาว โดยใช้กล้องดูดาวขนาดใหญ่ที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น

ในปี 1974 กล้องโทรทรรศน์วิทยุ Arecibo ได้เลือกเอ็ม 13 เป็นเป้าหมายแรกที่จะส่งข้อความออกไปจากโลกเพื่อติดต่อภูมิปัญญาอื่นที่อยู่ไกลออกไป เหตุที่เลือกเอ็ม13ก็เพราะมีดาวฤกษ์อัดกันอย่างหนาแน่น อาจเป็นได้ที่จะมีดาวเคราะห์และใครสักกลุ่มหนึ่งอยู่ที่นั่นแต่กว่าพวกเขาจะได้รับข้อความก็ต้องรอไปอีกราว 25000 ปี

ภาพที่รู้จักกันในชื่อ "Arecibo Message" เป็นข้อความแรกที่มนุษย์ส่งไปยังอวกาศ
ข้อความที่ส่งออกไปเช่น ตัวเลข องค์ประกอบ DNA ตำแหน่งของโลก ฯลฯ
ภาพจาก Messier.seds.org

เฮอร์เชลล์ประมาณว่าดาวในกระจุกมีราว 14,000 ดวง ในปัจจุบันคาดว่ามีดาวในกระจุกราว 200,000-300,000 ดวง มีขนาดประมาณ 20 อาร์คมินิตหรือเกือบครึ่งองศา มีความสว่างแมกนิจูด 5.8 ไกลออกไป 23000ปีแสง อายุประมาณ 12พันล้านปี

การหาตำแหน่งให้มองหาดาวเรียงรูปสี่เหลี่ยมคางหมูใจกลางกลุ่มดาวเฮอร์คิวลิส เอ็ม 13 อยู่ที่ระยะทางหนึ่งในสามจากดาวอีต้าเฮอร์คิวลิส(η Her) ไปซีต้าเฮอร์คิวลิส(ζ Her) หากฟ้าเป็นใจและอยู่ในที่ๆเหมาะสมเราจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นฝ้ากลมเล็กจาง

ที่บ้านหมี่ ลพบุรี ท้องฟ้ามองเห็นดาวเกือบแมกนิจูดที่ 4 ท้องฟ้ามีเมฆเป็นบางจุดและยังคงขุ่นจากหมอกควันไม่ใสอย่างที่หวัง เอ็ม13 มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ในไบนอคและกล้องเล็งเห็นเป็นฝ้ากลมคล้ายดาว ภาพจากนิวโตเนี่ยนขนาด 8 นิ้วเริ่มมองเห็นดาวในกระจุกแยกออกมาเป็นเม็ดที่กำลังขยาย 111 เท่าด้วยการมองเหลือบ เมื่อเพิ่มกำลังขยายเป็น 133 เท่า ดูได้ง่ายและสบายตากว่า

เอ็ม 13 เป็นกระจุกดาวทรงกลมที่ดูมีพลังและน่าสนใจมาก ผมมองเห็นใจกลางสว่าง เมื่อใช้เวลาสักพักเราจะเริ่มเห็นดาวจาง เรียงตัวเป็นเหมือนแขนขาออกมาทุกด้านและมีแถบมืดอยู่ภาพใน ภาพสเก็ตของนักดูดาวหลายคนระยางทั้งหมดจะโค้งไหลไปทางทิศตะวันตก เชื่อว่าหากฟ้าดีกว่านี้ภาพที่เห็นคงไม่ต่างกัน

เป็นกระจุกดาวทรงกลมที่ห้ามพลาด แนะนำให้ดูด้วยกล้องดูดาวขนาด 6-8 นิ้วที่กลังขยายปานกลางหรือ 100 เท่าขึ้นไปครับ

คลิกภาพเพื่อขยาย

ข้อมูลทั่วไป
Catalog number: Messier 13 : Great Hercules Cluster
Type: Spiral Globula cluster
Constellation: Hercules
Visual Magnitude: +5.78
Apparent Size: 20’
Distance: 23 Kly

Coordinates
R.A. 16h 42m 21.94s
Dec. +36° 25’ 31.5”

Sunday 12 May 2019

Messier 51 : Whirlpool Galaxy




หนึ่งในดาราจักรที่รู้จักมากที่สุด อย่างน้อยก็ต้องเคยเห็นภาพผ่านตามาบ้าง ค้นพบโดยแมสซายเออร์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1773 เป็นดาราจักรตัวแรกที่พบโครงสร้างของแขนกังหัน โดยลอร์ดโรส (William Parsons, 3rd Earl of Rosse) ในปี 1845

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...