Friday, 31 July 2020

Messier 6 : Butterfly Cluster




กลุ่มดาวแมงป่องสว่างเด่นมองเห็นชัดเจนแม้จากในเมือง ดาวแอนทาเรสหรือปาริชาติสีแดงสดอยู่ในตำแหน่งหัวใจแมงป่อง มีกระจุกดาวทรงกลมเอ็ม 4 เคียงข้าง

ลองสำรวจด้วยกล้องสองตาจากดาวชูล่าหรือหางแมงป่องไปทางทิศเหนือ 4 องศา จะพบกระจุกดาวเอ็ม 6 หรือกระจุกดาวผีเสื้อ สว่างสดใส แต่ต้องระวังจะสับสนกับเอ็ม 7 หรือปโตเลมี กระจุกดาวเปิดขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้กัน

ผู้ที่พบกระจุกดาวตัวนี้เป็นคนแรกคือ จีโอวานนี่ โฮเดียน่า ในช่วงปี 1654 ส่วนแมสซายเออร์บันทึกไว้ในปี1764 เป็นหนึ่งในกระจุกดาวที่สวยที่สุดสำหรับกล้องสองตาหรือกล้องดูดาวขนาดเล็ก

ในกล้องดูดาวเราจะเห็นดาวเรียงเป็นแนว 3 แถว สร้างเป็นภาพผีเสื้อกำลังกางปีกสองข้าง ที่ลำตัวผีเสื้อจะมีดาวดวงเล็กเรียงตัวเป็นอักษร “V” เป็นหนวดแมลงทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของใจกลาง ดาวในกระจุกส่วนมากอายุน้อยอยู่ในลำดับหลัก คลาส B สีขาว-ฟ้า มีดวงหนึ่งสว่างเด่นคลาส K2 สีส้ม

กระจุกดาวมีสมาชิกราว 120 ดวง ห่างออกไปราว 1600 ปีแสง เส้นผ่านศูนย์กลางราว 12 ปีแสง ขนาดที่เห็นจากโลกประมาณครึ่งองศา




ชื่อ: Butterfly Cluster
กลุ่มดาว: Scorpius
Catalog No.: Messier 6, NGC6405
ประเภท: Open Cluster
Visual Magnitude: +4.2
Apparent size: 20 arcmin
ระยะทางจากโลก: 1600 ly
R.A.: 17h 41m 38.91s
Dec.: -32° 15’ 32.3”
ความยาก: 1

Thursday, 23 July 2020

Messier 4 : Cat's Eye




หนึ่งในกระจุกดาวทรงกลมหรือ Globular Cluster ที่อยู่ใกล้และสว่างที่สุด ห่างจากดาวแอนทาเรสหรือปาริชาติไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1.3 องศา มีรายงานว่าสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหากฟ้ามืดพอ มีแถบสว่างและมืดผ่านกลางทำให้ดูคล้ายกับตาของแมวจึงได้ชื่อว่า “Cat’s Eye” 

เอ็ม 4 ค้นพบในปี 1746 โดย Philippe Loys de Cheseaux ในเดือนพฤษภาคม 1764 แมสซายเออร์ได้สังเกตุอีกครั้งและให้หมายเลข 4 มีคำบรรยายว่า “cluster of very small star; with an inferior telescope it appears like a nebula; this cluster is situated near the Antares and on the same parallel. 

หมายความว่าเอ็ม 4 สว่างจนยุคนั้นกล้องดูดาวของแมสซายเออร์สามารถมองเห็นดาวเป็นดวงได้แล้ว ส่วนแถบสว่างและแถบมืดที่พาดผ่าน พบว่ามีในบันทึกของ William Herchel และนายพลเรือ Smyth ชาวอังกฤษ

เมื่อเดือนมืด มิถุนายน 2563 ที่บางพลีมีคืนหนึ่งที่ฟ้าใสเป็นพิเศษ ในกล้องดูดาวที่กำลังขยายต่ำ เอ็ม 4 สว่างจนไม่น่าเชื่อ บอลฟุ้งแสงสีขาวสว่าง เริ่มมองเห็นดาวเป็นเม็ดได้ที่กำลังขยายปานกลาง ที่กำลังขยายสูงแถบมืดและแถบสว่างมองเห็นชัดเจน

คุณภาพท้องฟ้ามีผลอย่างมาก เพราะคืนก่อนหน้าฟ้าก็เปิดโล่งแต่ผมมองไม่เห็นเอ็ม 4 แม้เงา จากที่สังเกตท้องฟ้ามากว่ายี่สิบปี เชื่อว่าความใสหรือขุ่นของท้องฟ้าเกิดจากความชื้นและมลภาวะในอากาศที่เกิดจากภาวะโลกร้อนและฝุ่นละอองจากเมืองและเกษตรกรรม เกิดเป็นเมฆและหมอกควัน

เมื่อรวมเข้ากับมลภาวะทางแสงสถานณะการณ์ก็ยิ่งแย่ลง บดบังการรับรู้ของผู้คนให้ห่างออกไปจากธรรมชาติกับดวงดาวมากขึ้นทุกที





ข้อมูลเบื้องต้น
ชื่อ: Cat’s Eye 
กลุ่มดาว: Scorpius 
Catalog No.: Messier 4, NGC 6121 
ประเภท: Globular Cluster 
Visual Magnitude: +5.6 
dia: 8.7 arcmin 
ระยะทางจากโลก: 7200 ly 

R.A.: 16h 24m 37.83s 
Dec.: -26° 33’ 43.2” 

ความยาก: 1


Friday, 17 July 2020

Messier 11 : Wild duck cluster

ภาพสเก็ตช์เอ็ม 11 ที่เห็นจากกล้องสะท้อนแสง 8" ที่กำลังขยาย 133 เท่า


แมสซายเออร์ 11 กระจุกดาวเป็ดป่า ตรงเขตติดต่อระหว่างกลุ่มดาวนกอินทรีกับโล่ เป็นกระจุกดาวอัดแน่นไปด้วยดาวละเอียดยิบดั่งเม็ดทราย ที่กำลังขยายปานกลางก็งามแต่มองไม่เห็น “ฝูงเป็ดป่า” ของนายพลเรือสมิธ 

ที่กำลังขยายสูงอย่างภาพนี้ เราจะเห็นดาวดวงเล็กที่วางตัวเป็นตัววีเหมือนฝูงบินเป็ดป่าที่กำลังบินมุ่งหน้าทางทิศใต้  เอ็ม 11 สว่างในกล้องดูดาวแม้ว่าจะมี Haze หนารอบด้าน ถ้าใช้วิธีมองเหลือบจะมองเห็นดาวราว 100-200 ดวง เป็นกระจุกดาวที่มีดาวเยอะมากตัวหนึ่ง 

ในกระจุกดาวมีแถบมืดหลายแถบภายใน เป็นกระจุกดาวที่แนะนำอย่างยิ่ง ภาพถ่ายหรือสเก็ตช์ไม่สามารถทดแทนความรู้สึกการมองเห็นด้วยตาตัวเองได้เลย 

ต้องดูด้วยตาตัวเองเท่านั้นครับ

บล๊อกกระจุกดาวเป็ดป่าที่กำลังขยายปานกลาง คลิกตรงนี้



คลิกภาพเพื่อขยาย


Name: Wild duck cluster
Catalog number: Messier11, NGC6705
Type: Star Cluster
Constellation: ScutumVisual Magnitude: +5.8
Apparent Size: 32’
Distance: 6100 ly
R.A. 18h 52m 07.42s
Dec. -06° 14’ 31.8”

Friday, 10 July 2020

α Canum Venaticorum : Cor Caroli




“Canes Venatici” - “คาเนส เวอแนทติซาย” กลุ่มดาวที่ชื่อยาวและอ่านยากที่สุดกลุ่มหนึ่ง เชียนย่อเป็น CVn มีชื่อภาษาไทยคือ “หมาล่าเนื้อ” เป็นกลุ่มดาวยุคใหม่ไม่ได้ตกทอดผ่านหนังสือ “อมาเจส” ของปโตเลมี แนะนำโดย โยฮานเนส เฮฟวิเลียสในปี 1687 มีดาวหลักสองดวงคือ อัลฟ่า และเบต้า คานุม เวอแนทติโครุม ที่มีชื่อว่า “คาร่า” 

α CVn ได้รับชื่อว่า Cor Caroli หมายถึง “ดวงใจของชาร์ล” ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแด่ “กษัตริย์ชาร์ลที่หนึ่งแห่งอิงแลนด์” ดาวดวงนี้สว่าง 2.8 มัคนิจูด สว่างพอที่จะมองเห็นได้จากชานเมือง ตำแหน่งตั้งฉากกับปลายด้ามของกระบวยใหญ่ทำให้หาไม่ยาก ส่วน β CVn ได้ชื่อไพเราะว่า “Chara”-“คาร่า” 

ในกล้องดูดาวคอร์คาโรลิเป็นดาวคู่ที่ดูได้ง่าย ระยะแยกที่ 19 อาร์คมินิต ดวงหลักสีขาว-ฟ้า ดวงรองสีเหลืองตุ่น เป็นหนึ่งในดาวคู่ที่รู้จักกันดีและเป็นที่นิยมเพราะสีสวยตัดกัน ดวงที่สว่างกว่าทางทิศตะวันออกเรียกกันว่า  “α2 CVn” อีกดวงชื่อ “α1 CVn” 

α2 CVn น่าสนใจเพราะเป็นตัวอย่างของดาวแปรแสงที่มีส่วนประกอบของธาตุที่ไม่พบทั่วไปทำให้เกิดสนามแม่เหล็กความเข้มข้นสูง จึงมีจุดมืดบนดาวมากตามไปด้วย และความสว่างของดาวแปรเปลี่ยนไปตามการหมุนรอบตัวเองกับตำแหน่งของจุดมืดบนผิวดาว 


คลิกภาพเพื่อขยาย



ข้อมูลทั่วไป 
Name: Cor Caroli 
Catalog number: Alpha Canum Venaticorum 
Type: Variable Double Star 
Constellation: Canes Venatici 
Visual Magnitude: +2.89, +5.52 
Seperation : 19.3”@227.0° 
Distance: 115 ly 

Coordinates 
R.A. 12h 56m 58.56s 
Dec. +38° 12’ 33.8” 

อ้างอิง 
Ian Ridpath. Startales 
Robert Burnham, Celestial Handbook 
Sky Safari

Thursday, 2 July 2020

Messier 87 : Virgo A





เมื่อปีที่แล้วนักดาราศาสตร์เผยภาพหลุมดำเป็นครั้งแรก หากยังจำกันได้เป็นภาพหลุมดำในกาแลกซี่วงรี “แมสซายเออร์ 87” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “Virgo A” หรือ “3C 274” ที่เป็นแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุกำลังแรงที่พุ่งมาจากหลุมดำที่ถ่ายรูปมาได้นั่นเอง

เอ็ม 87 เป็นกาแลกซี่วงรีขนาดใหญ่และสว่างที่สุดในกระจุกกาแลกซี่เวอร์โก้ มีรูปร่างเกือบกลม ค้นพบโดยแมสซายเออร์ในปี 1781

เรื่องที่น่าสนใจนอกจากขนาดที่ใหญ่มากแล้ว ยังพบว่ามีกระจุกดาวทรงกลมโคจรเป็นบริวารโดยรอบมากกว่า 12,000 ดวง เทียบกับทางช้างเผือกของเราที่มีราว 150-200 ดวงเท่านั้นเอง

กาแลกซี่ตัวนี้สว่างจนมองเห็นได้จากบางพลีด้วยกล้องดูดาวขนาด 4” ใจกลางสว่าง มองเห็นขอบเขตฟุ้งออกไปโดยรอบขนาดใหญ่พอสมควรด้วยการมองเหลือบ นับว่าเกินความคาดหมาย

ตำแหน่งของเอ็ม 87 อยู่กลางทางระหว่างดาวแอพซิลอนเวอร์จินิสกับหางสิงโต-เดเนบโบล่า บริเวณนั้นเป็นดงกาแลกซี่ ต้องเทียบดาวที่เห็นกับแผนที่ให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจดูผิดตัวได้

จากเอ็ม 87 ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 1 องศามีกลุ่มของกาแลกซี่เกือบ 10 ตัวที่เรียงตัวเป็นเส้นโค้งที่เรียกว่า “มาร์คาเรี่ยนเชน” เป็นเป้าหมายที่น่าสนใจยิ่งสำหรับนักดูดาว

ใครอยากเห็นก็ต้องอาศัยฟ้าที่ดีและกล้องดูดาวที่ให้มุมกว้างสักหน่อย ขนาดมุมมองสักสามองศากำลังดี เพราะทั้งวงของมาร์คาเรี่ยนเชนกว้างราว 2 องศา


มุมกว้าง



ละเอียด

ข้อมูลทั่วไป
Catalog number: Messier87, NGC4486
Type: SElliptical Galaxy
Constellation: Vergo
Visual Magnitude: +8.68
Apparent Size: 7.1x6.6’
Distance: 55 Mly
Coordinates


R.A. 12h 31m 57.96s
Dec. -12° 16’ 48.9”


อ้างอิง

SkySafari

Celestial Handbook

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...